พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971
จะเป็นอย่างไรถ้าทุกคนในประเทศ อ่านทำความเข้าใจและมีส่วนร่วม ด้วยพระคำของพระเจ้า?
ความเป็นมาและจุดประสงค์ของการจัดทำพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971
พระคัมภีร์เล่มนี้เป็นผลงานแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์ฉบับ 1940 โดยงานแก้ไขคำแปลเริ่มต้นในปี ค.ศ.1954 ต่อมาอีก 13 ปี คือในปี ค.ศ.1967 การแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์ภาคพันธ-สัญญาใหม่ก็สำเร็จและจัดพิมพ์ขึ้นในปีเดียวกันนั้นเอง หลังจากนั้นอีก 4 ปีคือในปี ค.ศ.1971 งานแก้ไขคำแปลก็สำเร็จสมบูรณ์และมีการจัดเรียงพิมพ์พระคัมภีร์รวมเล่มทั้งภาคพันธ-สัญญาเดิมและภาคพันธสัญญาใหม่ในปีนั้น
พระคริสตธรรมคัมภีร์มีสองภาค คือ ภาคพันธสัญญาเดิมและภาคพันธสัญญาใหม่ งานแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์นี้ ได้จัดทำขึ้นโดยบุคคลมากมายหลายท่านด้วยกัน มีกรรมการยกร่างคำแปลสามคน กรรมการตรวจสอบแก้ไขฉบับยกร่างแปดคน และกรรมการที่ปรึกษาอีกยี่สิบห้าคน งานแก้ไขนี้ใช้เวลาถึง 17 ปี เพื่อให้คำแปลฉบับแก้ไขนี้มีใจความถูกต้องตรงกับสำเนาโบราณมากที่สุด โดยกรรมการต้องนำคำแปลพันธสัญญาเดิมเทียบกับสำเนาโบราณภาษาฮีบรู และนำคำแปลพันธสัญญาใหม่เทียบกับสำเนาโบราณภาษากรีก ซึ่งเป็นภาษาเดิมที่ใช้ในการเขียน ขั้นสุดท้ายต้องนำงานทั้งหมดนี้ให้นักลีลาภาษาไทยเกลาภาษาให้ทันสมัย เมื่อใกล้จะทำต้นร่างฉบับภาษาไทยของพันธสัญญาเดิมเสร็จ ดังที่ได้พิมพ์ขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรกนั้น บรรดาท่านผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายคาธอลิกได้ตกลงว่าจะไม่จัดการแปลพันธสัญญาเดิมขึ้นเองต่างหาก จะใช้พันธสัญญาเดิมนี้ไปพลางๆ จนกว่าจะถึงสมัยที่มีกรรมการสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย คือทางฝ่ายคาธอลิกและโปรเตสแตนท์เพื่อทำงานแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์ร่วมกัน เนื่องด้วยเหตุนี้เองคำวิสามานยนามในพันธสัญญาเดิมฉบับนี้จึงได้เปลี่ยนแปลงไป และยังได้ตกลงเปลี่ยนแปลงคำวิสามานยนามในพันธสัญญาใหม่ล่วงหน้าไว้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นผลงานสำเร็จที่ทั้งสองฝ่ายตกลงใช้ร่วมกัน นอกจากนั้นยังต้องหารือตกลงกันในเรื่องคำศัพท์ศาสนศาสตร์อีกด้วย เพราะแต่เดิมต่างฝ่ายต่างก็เลือกใช้ศัพท์ตามความเห็นเหมาะสมของแต่ละฝ่าย คำศาสนศาสตร์ซึ่งจะได้ตกลงกันนี้ จะมีบัญชีคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นพิมพ์ไว้ต่างหาก
คำแปลพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับภาษาไทยเล่มนี้ มิใช่ฉบับแปลเล่มแรกที่มีขึ้น เพราะพระธรรมลูกาได้พิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1834 พันธสัญญาใหม่ฉบับแรกพิมพ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ.1893 และพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับสมบูรณ์ก็พิมพ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ.1896 ซึ่งมีส่วนแก้ไขของฉบับแรกรวมอยู่ด้วย ฉบับแก้ไขใหม่อีกฉบับหนึ่งได้พิมพ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ.1930 ซึ่งยังมี คริสตชนใช้กันอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตามความต้องการที่จะแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์เสียใหม่อีกครั้งหนึ่งก็ยังมีอยู่ ทั้งนี้เป็นความรู้สึกที่มีอยู่นานมาแล้ว เพราะภาษาต่างๆ ที่มนุษย์ยังใช้พูดจากันอยู่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงต้องมีการแก้ไขคำแปลของพระคัมภีร์ตามไป เพื่อให้คำและความหมายถูกต้องทันสมัยเป็นที่ประจักษ์ว่า คำแปลฉบับก่อนๆ มีสิ่งที่แปลผิดพลาดปะปนอยู่ด้วยก็ต้องแปลแก้ไขกันใหม่ให้ถูกต้อง
ผู้ศึกษาค้นคว้าได้ศึกษาพระคัมภีร์ฉบับภาษาเดิม มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความหมายของคำเพิ่มเติมถูกต้องยิ่งขึ้น จึงเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขคำแปลใหม่อีกด้วย
ผลงานของการแก้ไขคำแปลที่ปรากฏในเล่มที่ท่านถืออยู่นี้ มิใช่เป็นฉบับสุดท้ายที่ไม่ต้องแก้ไขกันอีกต่อไปแล้ว ที่เห็นความจริงได้ก็เพราะมีพันธสัญญาใหม่ฉบับแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ที่เรียกกันว่าฉบับประชานิยม พิมพ์ออกมาใช้กันอยู่บ้างแล้ว งานแปลพระวจนะของพระเจ้าจึงเป็นงานที่มุ่งจะพูดให้ง่ายๆ เพื่อคนธรรมดาสามัญทั่วๆ ไปจะอ่านเข้าใจได้ ยิ่งสังคมมนุษย์ในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอยู่ด้วย การแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีวันสิ้นสุดลงได้
พระคริสตธรรมคัมภีร์ไทยฉบับ ๑๙๗๑ มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก นอกจากจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์และส่งแล้ว ยังเป็นอุปสรรคในการพกพาไปยังที่ต่างๆ ด้วย สมาคมพระคริสตธรรมไทยจึงได้จัดรูปหน้า เลือกชนิดและขนาดของตัวอักษรใหม่ เพื่อให้ขนาดของพระคัมภีร์เล็กกระทัดรัดลง ขณะเดียวกันยังคงไว้ซึ่งการอ่านและตีพิมพ์ชัดเจน
ในการจัดรูปหน้าและเปลี่ยนขนาดของตัวอักษรใหม่นี้ ทางสมาคมฯ ได้แก้ไขคำผิดจากการพิมพ์ครั้งแรก อาทิ
- “ดีฉัน” เป็น “ดิฉัน” ในยอห์น ๔:๙, ๑๕, ๑๗, ๑๙, ๒๕
- และเปลี่ยนคำว่า “ไทย” เป็น “ไท” ในยอห์น ๘:๓๒, ๓๓, ๓๖ ฯลฯ
- นอกจากนั้นได้มีการแก้ไขเล็กน้อยในส่วนที่จำเป็นเช่น
- คำว่า “ต่างชาติ” เปลี่ยนเป็น “กรีก” ในยอห์น ๑๒:๒๐, ๒๑
- คำว่า “มา” เป็น “ไป” ในฟีลิปปี ๒:๒๓, ๒๔
- คำว่า “ยูดา” เป็น “ยูดาห์” ใน วิวรณ์ ๕:๕ เป็นต้น
การแก้ไขนี้ทางสมาคมพระคริสตธรรมไทยได้กระทำอย่างระมัดระวัง และเท่าที่จำเป็นเพียงไม่กี่แห่ง และปรับปรุงระบบข้ออ้างโยง จึงไม่ถือเป็นฉบับแก้ใหม่อีกฉบับหนึ่ง พระคัมภีร์ย่อขนาดฉบับนี้ช่วยลดจำนวนหน้าลงโดยรวมถึงประมาณร้อยละ ๓๐ คือเมื่อจัดเรียงในรูปแบบใหม่ทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่แล้ว ทำให้ลดจำนวนหน้าลงกว่า ๗๐๐ หน้า
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดทำพระคัมภีร์ฉบับย่อขนาดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคริสตชนไทยต่อไป