พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน
ถูกต้อง ชัดเจน เห็นภาพ สอดคล้องกับบริบทไทย ได้มาตรฐานสากล ยังช่วยให้ผู้อ่านรู้พระประสงค์ของพระเจ้า ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ความเป็นมาและจุดประสงค์ของการจัดทำพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน
พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011 นี้ เป็นการแก้ไขคำแปลพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเป็นเวลายาวนานในหมู่คริสเตียนไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเวลาผ่านไป ภาษาไทยก็เปลี่ยนแปลง การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระคัมภีร์ รวมทั้งภาษาที่ใช้บันทึกพระคัมภีร์ ซึ่งแต่แรกคือ ภาษาฮีบรู ภาษาอาราเมค และภาษากรีก ได้พัฒนาขึ้นมาก อีกทั้งมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารโบราณเพิ่มขึ้น ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่ไม่ชัดเจนในอดีตได้ดียิ่งขึ้น การแก้ไขคำแปลในครั้งนี้ จึงเป็นการเก็บรักษาส่วนที่ดีของพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971 ไว้ และในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงคำแปลให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม และได้แก้ไขหลายส่วนในพระคัมภีร์ที่ไม่ชัดเจนให้ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น
โครงการแก้ไขคำแปลนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 และเสร็จสิ้นในปี ค.ศ.2010 ซึ่งใช้เวลานานถึง 14 ปี สาเหตุที่ต้องใช้เวลานานในการแก้ไขก็เนื่องจากเนื้อหาของพระคริสตธรรมคัมภีร์นี้มีมาก อีกทั้งมีผู้เขียนหลายคน ซึ่งผู้เขียนแต่ละคนนั้นก็เขียนในต่างยุคต่างสมัย บางยุคก็ห่างกันนับเป็นพันปี อนึ่งในการแปลในครั้งนี้เราแปลมาจากฉบับภาษาฮีบรูและภาษากรีกที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล (United Bible Societies) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่แปลพระคัมภีร์มากที่สุดในโลก และการแปลนี้ก็ได้ดำเนินตามมาตรฐานของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล ภาษาที่ใช้เขียนพันธสัญญาเดิมนั้นคือภาษาฮีบรูและภาษาอาราเมคสมัยโบราณ ส่วนภาษาที่ใช้เขียนพันธสัญญาใหม่คือภาษากรีกซึ่งไม่ได้ใช้แล้วในปัจจุบัน คำศัพท์จำนวนมากที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์จึงเป็นคำศัพท์ที่คนในสมัยปัจจุบันไม่เข้าใจ ผู้แปลต้องบัญญัติศัพท์เฉพาะขึ้น และได้เพิ่มหน้าประมวลศัพท์ไว้ท้ายเล่มเพื่ออธิบายความหมายของคำเฉพาะเหล่านี้ คำศัพท์คำเดียวกันที่ถูกใช้ต่างสมัย ความหมายก็ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ผู้แปลจะยึดหลักการแปลที่จะแปลคำในภาษาฮีบรูหรือภาษากรีกให้เป็นคำเดียวกันอย่างสม่ำเสมอในภาษาไทย แต่ผู้แปลจำเป็นต้องพิจารณาบริบทของคำนั้นๆ ด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถแปลคำเดียวกันจากภาษาเดิมให้เป็นคำไทยที่เหมือนกันตลอดทั้งเล่ม
การแก้ไขปัญหาด้านความแตกต่างทางไวยากรณ์ของภาษาเดิมในพระคัมภีร์และภาษาไทย
ภาษาไทยมีไวยากรณ์ที่แตกต่างจากภาษาฮีบรูและภาษากรีก ยกตัวอย่างเช่น การเรียงประโยคในภาษาไทยจะเป็น ประธาน กริยา กรรม แต่ภาษาฮีบรูเรียงประโยคต่างไปคือ กริยา ประธาน กรรม โดยมีเครื่องหมายที่บ่งบอกการเป็นกรรมของคำนามนั้นอยู่ด้วย ส่วนการเรียงประโยคของภาษากรีกนั้นยืดหยุ่นกว่าทั้งสองภาษาคือ ประธานจะอยู่ส่วนไหนของประโยคก็ได้ แต่การจะรู้ว่าคำไหนเป็นประธานหรือกรรมก็ต้องอาศัยคำที่บ่งบอกประธานหรือกรรมกำกับด้วย
นอกจากนี้ ทั้งไวยากรณ์ภาษาฮีบรูและภาษากรีกยังให้ความสำคัญเรื่องพจน์ได้แก่ เอกพจน์ พหูพจน์ และทวิพจน์ ส่วนไวยากรณ์ภาษาไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องพจน์ อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยให้ผู้อ่านตีความหมายพระคัมภีร์ได้อย่างถูกต้อง ผู้แปลจึงได้เพิ่มคำบ่งบอกพจน์เข้าไปเท่าที่จำเป็น ทำให้บางครั้งอาจไม่เป็นไปตามสำนวนธรรมชาติของภาษาไทยบ้าง แต่จำเป็นต้องทำเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด มีคำหนึ่งที่ปรากฏบ่อยในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ซึ่งผู้อ่านหลายท่านอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นคำพหูพจน์ ทั้งๆ ที่เป็นคำเอกพจน์คือ คำว่า “ประชาชาติ” หากจะทำให้เป็นพหูพจน์ต้องเพิ่มคำบ่งบอกพหูพจน์เข้าไปข้างหน้าหรือข้างหลังเป็น “บรรดาประชาชาติ” หรือ “ประชาชาติทั้งหลาย” คำว่า “ประชาชาติ” หมายถึงประชาชนหลายคนในประเทศเดียว หรือ หมายถึง ประเทศชาติใดประเทศชาติหนึ่ง ในขณะที่ “บรรดาประชาชาติ” หรือ “ประชาชาติทั้งหลาย” หมายถึง หลายชาติ ผู้แปลได้พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะรักษาความสมดุลระหว่างความเป็นสากลและความเป็นท้องถิ่นในการแปลครั้งนี้ คือรักษาความสมดุลระหว่างความถูกต้องของภาษาฮีบรูและภาษากรีกกับความชัดเจนของภาษาไทย
การแปลตามรูปแบบของบทประพันธ์ในพระคัมภีร์
นอกจากเรื่องของภาษาและไวยากรณ์ที่แตกต่างกันแล้ว ผู้แปลยังพบอุปสรรคและปัญหาสำคัญที่ยากต่อการถ่ายทอดมาถึงผู้อ่านคือ ปัญหาที่เกิดจากรูปแบบของบทประพันธ์ ในพระคริสตธรรมคัมภีร์นี้มีรูปแบบของบทประพันธ์อยู่หลายรูปแบบได้แก่ เรื่องราว อุปมา คำเปรียบเทียบ สุภาษิต บทกลอน คำอธิษฐาน คำเผยพระวจนะ เรื่องอวสานของโลก ฯลฯ รูปแบบของบทประพันธ์แต่ละรูปแบบนั้นมีการถ่ายทอดที่แตกต่างกัน ดังนั้นการแปลที่จะรักษารูปแบบเดิมไว้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในการแปลบทกลอนภาษาฮีบรูมาเป็นภาษาไทยนั้น สิ่งที่ผู้แปลสามารถรักษาไว้ได้คือ ความหมาย แต่ไม่สามารถรักษาการเล่นคำและการเล่นเสียงของผู้เขียนได้ ดังนั้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นความสัมพันธ์ทางความคิดที่ซ่อนอยู่ในบทกลอน ผู้แปลจึงได้จัดวางเนื้อความเป็นบรรทัด และมีย่อหน้าคู่ขนานให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วย
ความพิถีพิถันในการใช้ราชาศัพท์และสรรพนาม
ภาษาไทยยังคงให้ความสำคัญในเรื่องราชาศัพท์ ดังนั้นเมื่อผู้แปลต้องแปลพระธรรมสดุดีซึ่งเป็นคำอธิษฐานที่มีลักษณะเป็นบทเพลง โดยไม่มีเครื่องหมายคำพูด และไม่มีการบอกกล่าวอย่างชัดเจนว่าผู้ประพันธ์กำลังพูดกับใคร เพื่อช่วยให้ผู้อ่านรู้ว่าผู้ประพันธ์กำลังพูดกับใคร ผู้แปลจำเป็นต้องพิถีพิถันในเรื่องสรรพนามที่ใช้ในการกล่าวถึงตนเองคือ “ข้าพเจ้า” และ “ข้าพระองค์” ถ้าผู้ประพันธ์อธิษฐานกับพระเจ้าก็จะใช้สรรพนามแทนตนเองว่า “ข้าพระองค์” หากผู้ประพันธ์พูดกับประชาชนในระหว่างการอธิษฐานก็ใช้สรรพนามแทนตนเองว่า“ข้าพเจ้า” ดังนั้นการมีคำว่า “ข้าพเจ้า”กับ “ข้าพระองค์” อยู่ในสดุดีบทเดียวกันนี้ไม่ได้เป็นการแปลผิด หรือ ความไม่สม่ำเสมอในการแปล แต่แท้ที่จริงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้อ่านรู้ว่า ผู้ประพันธ์กำลังพูดกับใคร นอกจากนี้ในบทสนทนาที่เป็นร้อยแก้ว ก็จะใช้คำว่า “ข้าพระบาท” กับ “ฝ่าพระบาท” เมื่อคนสามัญพูดกับกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ แต่หากผู้พูดรำพึงรำพันกับตัวเองก็จะใช้สรรพนาม “ข้า” ด้วย
คำว่า “พระองค์” เป็นสรรพนามราชาศัพท์ที่เป็นบรุษที่ 2 หรือ 3 ก็ได้ หากคำนี้ถูกใช้ในบริบทที่ไม่ชัดเจนว่า หมายถึง บุรุษที่ 2 หรือบุรุษที่ 3 ผู้แปลก็จำเป็นต้องเพิ่มเชิงอรรถเข้าไปเพื่อช่วยให้ผู้อ่านตีความหมายได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นหากท่านอ่านพบข้อความใดในพระคริสตธรรมคัมภีร์เล่มนี้ ซึ่งทำให้ท่านฉงน ขอความกรุณาอย่าด่วนสรุปเร็วเกินไปว่าแปลผิด แต่ขอท่านได้โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบและตรวจสอบดูที่เชิงอรรถก่อน เพราะในเชิงอรรถของข้อความบางตอนที่เข้าใจยาก ผู้แปลมักจะเพิ่มเชิงอรรถว่า “แปลตรงตัวว่า” หรือ “แปลได้อีกว่า”
คำราชาศัพท์ที่ใช้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับนี้เป็นราชาศัพท์ในระดับที่ง่ายคือ คำราชาศัพท์ที่เป็นคำกริยา ก็มักจะใช้คำว่า “ทรง” นำหน้าคำกริยาสามัญ แต่หากมีคำกริยาราชาศัพท์ซึ่งเป็นคำที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยอยู่แล้ว ก็ใช้คำกริยานั้นเลย โดยไม่ต้องมีคำว่า “ทรง” นำหน้า นอกจากนี้ได้มีการลดการใช้คำราชาศัพท์ที่มากเกินความจำเป็นที่อยู่ในฉบับ 1971 ลง เช่น ได้เลิกใช้คำว่า “ทรงโปรด” แต่จะใช้คำว่า “โปรด” เท่านั้น และได้เลิกใช้คำว่า “ทรงเสด็จ” และใช้ “เสด็จ” แทน ส่วนคำนามราชาศัพท์ที่ยากมากๆ ก็จะใช้คำนามสามัญ เช่น “พระแกล” ก็จะใช้ “หน้าต่าง” แทน ส่วนคำราชาศัพท์ที่พอรู้จักกันก็จะรักษาไว้โดยมีเชิงอรรถอธิบายความหมาย
นอกเหนือจากเรื่องของราชาศัพท์แล้ว คนไทยยังให้ความสำคัญกับฐานะที่แตกต่างกัน ผู้แปลได้พยายามที่จะเลือกใช้สรรพนามบุรุษที่ 1,2 และ 3 ให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละตอน โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ของคู่สนทนา ฐานะ และการให้เกียรติต่อผู้ที่ถูกกล่าวถึง ซึ่งในภาษาฮีบรูไม่ได้แบ่งแยกอย่างละเอียดเท่าภาษาไทย ผู้แปลจึงต้องตกลงกันและเลือกคำที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย เช่น เมื่อยาโคบสนทนากับลาบันผู้เป็นญาติ ถึงแม้ว่าในภาษาฮีบรูจะใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 แต่ผู้แปลก็ต้องปรับเปลี่ยนจาก “ท่าน” มาเป็น “ลุง” เพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย ดังนั้นใน ปฐก.30:29 จึงมีเนื้อความว่า ยาโคบตอบว่า “ลุงทราบอยู่ว่า...”
การอ้างอิงพระคัมภีร์เดิมในพระคัมภีร์ใหม่
ในกรณีที่พระคัมภีร์ใหม่อ้างอิงพระคัมภีร์เดิม แล้วผู้อ่านเปรียบเทียบคำแปลในส่วนของพระคัมภีร์เดิมแล้ว พบว่าแตกต่างกัน ก็ขอให้ทราบว่า ในการแปลนี้ผู้แปลได้แปลข้อความอ้างอิงตามฉบับภาษากรีก ไม่ได้แปลตามฉบับภาษาฮีบรู นอกจากนี้ต้องเข้าใจว่า ผู้เขียนพระคัมภีร์ใหม่ก็อ้างอิงพระคัมภีร์เดิมฉบับภาษากรีก (ฉบับเซปทัวจินต์) ด้วย
การแปลงมาตราชั่ง ตวง วัด จากระบบโบราณเป็นระบบเมตริก
เพื่อให้ผู้อ่านจินตนาการน้ำหนัก ปริมาณ ระยะทาง หรือขนาดของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวถึงในพระคริสตธรรมคัมภีร์ได้ ผู้แปลจึงแปลงมาตราชั่ง ตวง วัดจากระบบโบราณเป็นระบบเมตริก แต่ส่วนสกุลเงินตราโบราณยังรักษาไว้ เนื่องจากมูลค่าของเงินจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย
การป้องกันการเข้าใจผิด
ในการแก้ไขคำแปลนี้ นอกจากจะพยายามทำให้ชัดเจนและเข้าใจง่ายแล้ว ผู้แปลก็ระมัดระวังไม่ให้ความเข้าใจง่ายกลายเป็นความเข้าใจผิดไป ยกตัวอย่างคำว่า “โคเฮน” ในภาษาฮีบรูจะไม่แปลเป็นภาษาไทยว่า “พระ” หรือ “นักบวช” แต่แปลว่า “ปุโรหิต” ในขณะที่พระคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษมักจะแปลว่า “Priest” ทั้งนี้เพราะว่า พระในบริบทไทยนั้นคือผู้ที่จะต้องโกนศีรษะและโกนคิ้ว ส่วนปุโรหิตนั้น ต้องไม่โกนศีรษะและไม่โกนหนวดเครา พระในบริบทไทยจะไม่สามารถอยู่กินกับภรรยาถึงแม้จะแต่งงานกันอย่างถูกต้องก่อนที่จะบวชเป็นพระ แต่ปุโรหิตจะสามารถอยู่กินกับภรรยาได้ นอกจากนี้การเป็นปุโรหิตไม่ได้เกิดจากการบวช แต่เป็นการสืบเชื้อสายมาจากอาโรน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ คำสรรพนามบุรุษที่ 3 พหูพจน์ในภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า “เขาทั้งหลาย” หากมีพระเยซูร่วมอยู่ด้วย ก็จำเป็นต้องแปลว่า “เมื่อพระเยซูกับพวกสาวก” ที่ต้องแปลเป็นภาษาไทยเช่นนี้เพราะว่า คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจผิดว่า มีแต่พวกสาวกเป็นผู้กระทำ โดยพระเยซูไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย เช่นในมธ.17:14 แปลว่า “เมื่อพระเยซูกับพวกสาวกเสด็จมาถึงฝูงชนแล้ว...” แทนที่จะแปลว่า “เขาทั้งหลายมาถึงฝูงชนแล้ว...”
เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ผู้แปลยังได้ให้ความสำคัญกับวรรคตอนของประโยคด้วย เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาที่ไม่มีการเว้นวรรคระหว่างคำ ดังนั้นผู้แปลจำเป็นต้องตรวจทานการเว้นวรรคให้ดี ไม่เช่นนั้นแล้วอาจทำให้ตีความหมายผิดได้ แม้แต่ตัวเลขเชิงอรรถก็มีผลต่อการเว้นวรรค เพื่อไม่ให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่ามีการเว้นวรรค จึงกำหนดให้เลขเชิงอรรถเป็นเลขหลักเดียวคือเลข ๑-๙ และใช้เวียนกันอยู่เพียงเท่านั้น
ข้อความบางตอนในพระคัมภีร์ที่อาจจะอ่านเข้าใจยาก หรือฟังแล้วขัดกับความรู้สึกนั้น เป็นไปได้ว่า เกิดจากข้อจำกัดของผู้แปล หรือเป็นความจงใจของผู้เขียนที่ต้องการให้ผู้อ่านหยุดคิด เช่นใน มธ.19:24 ที่กล่าวว่า “เราบอกพวกท่านอีกว่า ตัวอูฐจะลอดรูเข็มก็ยังง่ายกว่าที่คนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า” คำพูดเช่นนี้เป็นคำพูดที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย เพราะอูฐตัวใหญ่ รูเข็มเล็กกว่าตัวอูฐมาก ตัวอูฐจะลอดได้อย่างไร? และใน มก.4:9 “ใครมีหู จงฟังเถิด” สิ่งที่ผู้อ่านจะรู้สึกขัดแย้งคือ คนที่มีหู จึงฟังได้ คนไม่มีหู ถึงจะฟังก็ไม่ได้ยิน ทำไมต้องพูดแบบนี้ด้วย?
การแปลพระนามของพระเจ้า
ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่มีการแปลแตกต่างจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971 คือเรื่องการแปลพระนามของพระเจ้า ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971 แปลพระนามของพระเจ้าว่า “พระเยโฮวาห์” และมีหลายครั้งที่แปลพระนามของพระเจ้าว่า “พระเจ้า” หรือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แทนที่จะแปลว่า “พระเยโฮวาห์” แต่เมื่อได้ศึกษาอย่างรอบคอบแล้ว คณะผู้แปลจึงได้ตกลงที่จะแปลพระนามของพระเจ้าว่า “พระยาห์เวห์” เมื่อผู้อื่นกล่าวถึงพระองค์ แต่หากพระเจ้าตรัสเรียกพระองค์เอง จะแปลว่า “ยาห์เวห์” และทุกครั้งที่ภาษาฮีบรูใช้พยัญชนะ 4 ตัวที่หมายถึงพระนามพระเจ้า ก็จะแปลพระนามของพระองค์ออกมาทุกครั้ง สำหรับท่านที่เคยอ่านพระคัมภีร์ ฉบับ 1971 ก็จะพบว่า ฉบับมาตรฐานมีพระนามของพระเจ้าปรากฏมากขึ้น ส่วนคำฮีบรูว่า “อาโดนาย” จะแปลว่า “องค์เจ้านาย” และคำฮีบรูว่า “เอโลฮิม” จะแปลว่า “พระเจ้า”
การแปลคำสั่งที่เด็ดขาด
สิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งคือกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับที่เป็นคำสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด จะแปลว่า “ห้าม” แทนคำว่า “อย่า” ที่ปรากฏในฉบับ 1971 ซึ่งเป็นไปตามไวยากรณ์ภาษาฮีบรูและความเข้าใจในภาษาไทย
ส่วนประกอบต่างๆ ที่เสริมความเข้าใจ
พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐานนี้ได้พัฒนารูปแบบหลายอย่างเพิ่มเติมจากฉบับ 1971 คือ พระธรรมทุกเล่มจะมีบทนำและโครงร่าง เพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรวมของเนื้อหาแต่ละเล่ม แผนที่ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ที่นอกจากจะเป็นภาพสี่สีแล้ว ยังแสดงระดับความสูงความลึกของบริเวณต่างๆ และยังได้เพิ่มหน้าประมวลศัพท์เพื่อช่วยอธิบายให้ผู้อ่านได้รู้จักและเข้าใจความหมายของคำเฉพาะในพระคริสตธรรมคัมภีร์ และได้เพิ่มเติมความรู้เรื่องอัญมณีที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์พร้อมภาพประกอบเข้าไปด้วย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักอัญมณีเหล่านี้
จุดเด่นของพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับนี้คือ เข้าใจง่าย รู้เรื่อง ถูกต้อง ชัดเจน เห็นภาพ สอดคล้องกับบริบทไทย ได้มาตรฐานสากล และยังช่วยให้ผู้อ่านรู้พระประสงค์ของพระเจ้า ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต