การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู ความหวังอันน่ายินดี (ตอนที่ 2)
ความเดิมจากตอนที่แล้ว ผู้เขียนกล่าวถึงคำสอนเรื่องการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู ซึ่งเป็นความหวังอันสูงสุดของผู้เชื่อพระเยซู การเสด็จมาครั้งที่สองคือศูนย์กลางแห่งความหวังของเรา คำศัพท์ที่อัครทูตใช้สื่อสารกับผู้เชื่อเกี่ยวกับการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู ได้แก่“ความหวัง” และ “มารานาธา” นอกจากนี้ยังมีคำอื่นอีกที่เราควรรู้จักได้แก่
- การขอบพระคุณ คำนี้มีปรากฏอยู่ในพิธีต่างๆของคริสตจักรยุคแรกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีมหาสนิท อัครทูตเปาโลใช้คำว่า“ขอบพระคุณ” ในอารัมภบทของจดหมายที่ส่งไปยังคริสตจักรต่างๆ คำว่า ขอบพระคุณ แสดงถึงความเชื่อที่ผู้พูดมีต่อพระเจ้า เมื่ออัครทูตเขียนไปยังคริสตจักรต่างๆ หนุนใจให้ขอบพระคุณ ผู้อ่านจะกล่าวคำว่า “อาเมน” คำขอบพระคุณมักลงท้ายด้วยการกล่าวถึงการเสด็จกลับมาครั้งที่สอง(1 คร.1:7 อฟ. 1:10,1 ธก.1:6, 2 ธก.1:7-10 และ 1 ปต.1:5) การกล่าวถึงการเสด็จกลับมาครั้งที่สองในการขอบพระคุณแสดงให้เห็นว่า ความหวังใจในการเสด็จกลับมาเป็นสิ่งที่อยูในแก่นของความเชื่อและการนมัสการของคริสตจักรยุคอัครสาวก สำหรับคริสตจักร “การเสด็จมา” ของพระเยซูปรากฏอยู่ในการประทับอยู่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นมัดจำมรดกที่จะได้รับ (อฟ.1:13-14) การเสด็จมาของพระวิญญาณไม่ใช่พระสัญญาสุดท้าย บุตรมนุษย์ยังจะต้องเสด็จมาบนท้องฟ้า
- บุตรมนุษย์ พระเยซูทรงกล่าวถึงพระองค์เป็น“บุตรมนุษย์” หลายครั้ง คำนี้มาจากดาเนียล 7:13 ซึ่งกล่าวถึงบุตรมนุษย์ซึ่งจะปรากฏในวาระสุดท้าย ในฐานะของพระเมสสิยาห์ ซึ่งพระเยซูตรัสไว้ว่า พระองค์จะเสด็จมาด้วยฤทธานุภาพ เพื่อพิพากษา(ดนล.7:13-14)
พระนาม“บุตรมนุษย์” ที่พระเยซูทรงนำมาใช้เรียกพระองค์เองขณะประทับอยู่ในโลก และลักษณะการเสด็จกลับมาและเหตุผลการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์
ประการแรก
พระองค์ผู้จะเสด็จมา คือพระองค์ผู้เคยเสด็จมาแล้ว ผู้พบเห็นพระคริสต์เมื่อทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย จดจำพระลักษณะความเป็นมนุษย์ของพระองค์(ลก.24:30, 31, 41-43 ยน.20:20, 27)
ประการที่สอง
พระองค์ทรงถูกรับขึ้นไปในหมู่เมฆ(กจ.1:9)พระองค์จะเสด็จกลับมาด้วยลักษณะเดียวกัน (วว.1:7) ดังที่กล่าวไว้ในดาเนียลบทที่ 7 พระองค์จะเสด็จมาพิพากษาโลก (มธ. 25:31-33) และสุดท้ายพระองค์จะเสด็จมาในยุคสิ้นโลกดังที่ปรากฏอยู่ในคำพยากรณ์ที่เชื่อมต่อกันของดาเนียลบทที่2 และ7 พระเยซูตรัสว่าพระองค์คือพระศิลา ตรงกับดาเนียลบทที่ 2 หินก้อนใหญ่ซึ่งหมายถึงราชอาณาจักรของพระองค์ที่จะมา อาณาจักรต่างๆ ในโลกจะล่มสลาย (ดนล.2:34 ลก.20:18) ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะมาพร้อมกับบุตรมนุษย์และดำรงตลอดนิรันดร์ (มธ.25:31)
แผ่นดินของพระเจ้า
การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูจะไม่สมบูรณ์หากไม่กล่าวถึง“แผ่นดินของพระเจ้า” ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจแห่งความหวังของเหตุการณ์ยุคสุดท้ายของพันธสัญญาเดิม หากพระยาห์เวห์คือพระองค์ผู้จะครอบครองโลกและบรรดาประชาชาติ(สดด.29, 47, 74, 89, 93, 96-99) มีความคาดหวัง ในราชอาณาจักรนิรันดร์(ดนล.2:34, 44) ซึ่งจะสถาปนาขึ้นในวันยิ่งใหญ่ของพระยาห์เวห์ (ศคย.14:9 อบด.15, 21 อสย.2:12-21, 24:21-23) ก่อนการสถาปนาราชวงศ์ดาวิด มีการฉลองราชอาณาจักรของพระเจ้าในบทเพลง (อพย.15:1-18กดว.23:21, 22 ฉธบ.33:5) ในคำสอนของพระเยซูพระองค์ทรงกล่าวถึงบทบาทของแผ่นดินสวรรค์อย่างมีนัยสำคัญ
1. อาณาจักรอยู่เหนือความเข้าใจ ผู้เขียนพระกิตติคุณกล่าวถึง“แผ่นดินของพระเจ้า”มากกว่า 100 ครั้ง (มก.1:15 ลก.9:60, 22:18) ในมัทธิว พระเยซูตรัสถึง “แผ่นดินสวรรค์” 32 ครั้ง(มธ. 3:2, 7:21, 8:11) ในสมัยของพระเยซู ชาวยิวคาดหวังว่าพระเมสสิยาห์จะเสด็จมาสถาปนาราชอาณาจักรของพระองค์ แม้หลังจากทรงเป็นขึ้นมาจากความตายสาวกยังคงรอด้วยความหวังว่าพระองค์จะทรงตั้งราชอาณาจักรเพื่ออิสราเอล(กจ.1:6) ต่างจากที่มัทธิวเน้นถึงราชอาณาจักรแห่งสวรรค์ที่อยู่เหนือความเข้าใจ อยู่บนสวรรค์มากกว่าอยู่บนโลก ยอห์นก้าวหน้ากว่ามัทธิวและมาระโกท่านบันทึกพระดำรัสของพระเยซูต่อหน้าปีลาตว่า“ราชอำนาจของเราไม่ได้เป็นของโลกนี้” (ยน.18:46) พระเยซูไม่ได้ประกาศว่าราชอาณาจักรของพระองค์จัดตั้งขึ้นจากความพยายามของมนุษย์หรือแม้แต่โดยบรรดาธรรมิกชน ลักษณะราชอาณาจักรของพระองค์แตกต่างจากอาณาจักรของโลกนี้ เป็นราชอาณาจักรแห่งอนาคต จัดตั้งขึ้นเมื่อบุตรมนุษย์เสด็จมาปรากฏ(2ทธ.4:1) พระเยซูทรงสอนไว้ในอุปมาคนหว่านพืช แผ่นดินสวรรค์เปรียบได้กับชายคนหนึ่ง ออกไปหว่านพืชที่ดี ผู้หว่านคือ บุตรมนุษย์ และราชอาณาจักรนี้คือ แผ่นดินของพระเจ้า (มธ.13:24-30) บุตรมนุษย์จะเสด็จมาจากสวรรค์พร้อมกับอาณาจักรของพระองค์(16:28) ด้วยเหตุนี้ พระเยซูจึงสอนให้สาวกอธิษฐานว่า “ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่”(6:10)
2. แผ่นดินลึกลับ พระเยซูตรัสว่าแผ่นดินสวรรค์มาตั้งอยู่ท่ามกลางพวกอัครสาวกแล้ว(ลก.17:20-21) เพราะเมื่อพระเยซูประทับอยู่ที่ใดแผ่นดินของพระองค์อยู่ที่นั่นด้วย (มธ.12:28) มีเพียงผู้เกิดใหม่เท่านั้นที่มองเห็นได้ (ยน.3:3) เป็นสิ่งลึกลับเปิดเผยแก่ผู้เชื่อเท่านั้น (มก.4:11) ไม่ใช่อาณาจักรแห่งพระสิริ แต่เป็นอาณาจักรแห่งพระคุณ เห็นได้ในขณะนี้ด้วยความเชื่อเท่านั้น ในอุปมาเรื่องเมล็ดพืช แผ่นดินสวรรค์ไม่ใหญ่กว่าเมล็ดมัสตาร์ด (มธ.13:31, 32) คริสตจักรของพระคริสต์เหมือนต้นมัสตาร์ดงอกจากเมล็ดเล็กๆเริ่มต้นจากความอ่อนแอและบอบบาง ดังที่เห็นในปัจจุบัน สักวันหนึ่งแผ่นดินนี้จะกลายเป็นราชอาณาจักรที่มีพลังอำนาจและรัศมียิ่งใหญ่ รัศมีของบรรดาคนชอบธรรมจะปรากฏให้เห็นในแผ่นดินของพระบิดาเช่นเดียวกัน (มธ.13:43) เปาโลกล่าวถึงอาณาจักรที่จะมา ผู้ที่จะเข้าไปจะผ่านการทนทุกข์ทรมาน (รม. 8:17; 2 ธก.1:5, 2 ทธ.4:17-18) เปาโลกล่าวถึงแผ่นดินของพระเจ้า มีลักษณะขัดกับความคิดของคนทั่วไปเป็นอาณาจักรแห่งพระสิริ แต่ผู้จะเข้าไปต้องผ่านความทุกข์ยาก (กจ.14:22; 2 ธก.1:4, 5) ขณะเดียวกันท่านกล่าวว่า บรรดาผู้เลือกสรรแล้วได้ย้ายเข้าไปในแผ่นดินนั้นและนั่งในสวรรค์กับพระเยซูคริสต์ (คส.1:13 อฟ.2:6) อย่างไรก็ตาม ชีวิตของผู้เชื่อเหมือนกับรัศมีของแผ่นดินนั้น ยังคงซ่อนไว้จะไม่เผยให้เห็นจนกว่าพระคริสต์เสด็จมาปรากฏด้วยพระรัศมี(1 ธก.1:7 คส.3:3, 4)จากเหตุผลดังที่กล่าวมาพลเมืองของแผ่นดินสวรรค์จึงไม่เป็นที่รู้จักด้วยรัศมีที่ห่อหุ้มไว้ หรือเห็นจากคำพูดของเขา (1 คร.2:1, 4) หรือจากสิ่งที่เขากินหรือดื่ม แต่เห็นจากความชอบธรรมสันติสุข และความชื่นชมยินดี ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากพระวิญญาณ(รม.14:17) ดังนั้นผู้ใดที่กล่าวถึงแผ่นดินฝ่ายจิตวิญญาณจะเห็นได้เมื่อผู้เชื่อได้รับการทรงนำจากพระวิญญาณ
3. แผ่นดินฝ่ายจิตวิญญาณ เปาโลกล่าวว่าผู้รับมรดกแผ่นดินของพระเจ้าไม่ประพฤติการอธรรม(1 คร.6:9, 10) แต่ยินยอมปฏิบัติตามพระบัญญัติ ซึ่งมีความรักเป็นใหญ่ (กท.5:16-23) พระเยซูทรงยืนยันว่า ผู้จะเข้าสู่แผ่นดินสวรรค์ต้องเกิดใหม่โดยพระวิญญาณ (ยน.3:5) คนยากจนด้านจิตวิญญาณสามารถเข้าแผ่นดินนี้ได้(มธ.5:3) อย่างไรก็ตาม มิใช่ทุกคนจะเข้าแผ่นดินสวรรค์ได้อกจากผู้ประพฤติตามพระประสงค์ของพระเจ้า (มธ.7:21-23) แผ่นดินสวรรค์ปกครองด้วยพระบัญญัติของพระเจ้า (มธ.5:17-20) ผู้จะเข้าแผ่นดินสวรรค์จึงต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติ (ข้อ 21-43; 19:17)มนุษย์เข้าสู่แผ่นดินสวรรค์ได้ด้วยพระคุณเปิดกว้างสำหรับทุกคน (ยน. 3:16) เหมือนการสวมเสื้อในงานเลี้ยงสมรส (มธ.22:11) แต่ผู้เข้าร่วมงานที่ไม่สวมใส่เสื้อสำหรับงาน เท่ากับเขาไม่คู่ควรกับแผ่นดินสวรรค์ (ข้อ 13-14) ดังนั้น บรรดาผู้ได้รับพระคุณของพระเจ้า จะต้องแสดงพระคุณนี้แก่ผู้อื่นแบ่งปันความรักแก่กันและกัน (มธ.25:31-46;18:21-35) เมื่อบุตรมนุษย์เสด็จมา พระองค์จะทรงตอบแทนแต่ละคนตามการประพฤติของเขา (มธ.16:27)
4. แผ่นดินแห่งอนาคต อุปมาเรื่องเจ้านายองค์หนึ่งเดินทางไปเมืองไกลเพื่อรับอำนาจการครองแผ่นดินจากนั้นจะกลับมา จากเรื่องนี้พระเยซูทรงสอนให้ผู้ฟังเข้าใจแผ่นดินสวรรค์ซึ่งจะไม่มาทันทีทันใด เหมือนกับจ้านายองค์นี้ พระเยซูก็เช่นเดียวกัน จะเสด็จกลับมาอีก หลังจากการเป็นขึ้นมาจากความตาย อัครสาวกได้รับการบอกกล่าวให้รอการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระองค์(กจ.1:7-11)เฝ้ารอการมาของแผ่นดินสวรรค์ ตราบใดที่ความตายยังคงมีอยู่ การครอบครองของพระคริสต์จะไม่สมบูรณ์ (1 คร.15:24-26) เปโตรกล่าวว่า คนที่ไม่เชื่อคิดว่าการรอคอยการมาของแผ่นดินสวรรค์เป็นเรื่องไร้สาระ ท่านจึงกล่าวว่า คนในยุคน้ำท่วมโลกพินาศด้วยน้ำอย่างไร คนในยุคสุดท้ายก็เช่นกันจะถูกเผาผลาญด้วยไฟเมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมา (2 ปต.3:3-13) ยอห์นบันทึกพระสัญญาอันงดงามของพระเยซูว่า “อย่า ให้ ใจ ของ พวก ท่าน เป็นทุกข์ เลย พวก ท่าน วาง ใจ ใน พระ เจ้า จง วาง ใจ ใน เราด้วย…เมื่อเราไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับท่านแล้วเราจะกลับมาอีกและรับท่านไปอยู่กับเราเพื่อว่าเราอยู่ที่ไหนพวกท่านจะได้อยู่ที่นั่นด้วย” (ยน.14:1-3)การเสด็จกลับมาของพระเยซู พร้อมด้วยแผ่นดินสวรรค์ “เยรูซาเล็มใหม่” เท่านั้น (วว.21:1-5) จะสามารถหยุดยั้งความทุกขเวทนาในโลกนี้ได้
ลักษณะการเสด็จมาของพระเยซู
จากการที่การเป็นขึ้นจากความตายของพระเยซูเป็นสิ่งค้ำประกันชัยชนะสุดท้าย ผู้เขียนพันธสัญญาใหม่ประกาศชัดว่า เรากำลังอาศัยอยู่ในยุคสุดท้าย(ฮบ.1:2, 9:26; 1 คร.10:11, ยก.5:3, 1ปต. 1:20) การเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์เป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ คือ “วาระสุดท้าย” (กจ.2:17,ฮบ.1:2)พระเยซูตรัสถึงการเสด็จกลับมาของพระองค์อย่างชัดเจน ลักษณะการเสด็จกลับมาของพระองค์จะเป็นดังนี้
1. จะเสด็จมาด้วยพระองค์เอง ตามที่ตรัสไว้ทูตสวรรค์กล่าวยืนยันว่าพระองค์จะเสด็จมาเหมือนอย่างที่ทรงเสด็จสู่สวรรค์ (กจ.1:3, 11) พระองค์เสด็จกลับไปบนเมฆ จะเสด็จกลับมาด้วยอานุภาพและพระรัศมียิ่งใหญ่ ตามที่ทรงสัญญา (มธ.26:64มก.13:64 วว.1:7) เปาโลกล่าวว่า “องค์ พระ ผู้ เป็นเจ้า จะ เสด็จ มา จาก สวรรค์” (1 ธก.4:16) องค์พระผู้เป็นเจ้า “ผู้ทรงเป็นชีวิตของท่านทั้งหลาย” จะเสด็จมาปรากฏ (คส.3:4) เพื่อจะประทาน “ มงกุฎ แห่งความชอบธรรม” แก่เราทั้งหลาย (2 ทธ.4:8)พระองค์ “จะทรงปรากฏเป็นครั้งที่สองไม่ใช่ เพื่อกำจัด บาป แต่เพื่อนำความ รอด มา ให้ บรรดา ผู้ ที่ รอคอย พระ องค์ ด้วย ใจ จด จ่อ” (ฮบ. 9:28)
2. ตาเห็น หูได้ยิน พระเยซูตรัสว่า“มนุษย์ทุกชาติทั่วโลก” จะเห็นพระองค์ (มธ. 24:30) ยอห์นกล่าวย้ำว่า “นัยน์ตาทุกดวงจะเห็นพระองค์” (วว.1:7) พระเยซูจะเสด็จมาเพื่อเปิดเผยให้เห็นพระสิริของพระองค์ (ทต.2:13) จะทรงมา “รับ พระ เกียรติท่ามกลางธรรมิกชนของพระองค์” (2 ธก. 1:10) ส่วนคนอธรรมจะพบกับ “ ความ พินาศ นิรันดร์ และพราก จาก พระ พกั ตร์ ของ องค์ พระผู้เป็นเจ้าและจาก พระ สิริ แห่ง พระ กำลัง ของ พระ องค์” (ข้อ 7-8)ดังนั้น คำสอนการเสด็จมาครั้งที่สองจะเกิดขึ้นอย่างลับๆ (secret rapture) เป็นคำสอนที่ขัดแย้งกับคำพยานในพระคัมภีร์ ซึ่งกล่าวว่าพระองค์จะเสด็จมาด้วย “เสียงแตรที่ดังมาก” (มธ.24:31, 1ธก.4:16) ไม่มีการปกปิดใดๆ ทั้งสิ้น
3. ด้วยพระสิริและชัยชนะ ในการเสด็จมาครั้งแรก พระเยซูเสด็จมาด้วยถ่อมพระองค์ขณะที่การเสด็จมาครั้งที่สองจะตรงกันข้าม พระองค์จะเสด็จมา“ทรงฤทธานุภาพและทรงพระรัศมีอย่างยิ่ง”(มธ.24:30) พร้อมกับทูตสวรรค์ (2 ธก.1:7) ในฐานะ “กษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลายและเจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลาย” (วว.19:6) “พระองค์จะทรงปราบศัตรูทั้งหมด” (1 คร.15:25)
4. จะเกิดกลียุค เวลาสิ้นยุคของโลกประกาศไว้ในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ เกี่ยวข้องกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซู(มธ. 13:40-41) ดาเนียลกล่าวว่าก้อนหินใหญ่ที่ลอยมากระทบจะทำลายอาณาจักรของโลกจนพินาศสิ้น (ดนล.2:44) น้ำท่วมโลกทำลายคนอธรรมฉันใด ในวันที่พระคริสต์เสด็จมาครั้งที่สองพระองค์จะทำให้ “ฟ้าจะหายลับไปด้วยเสียงดังกึก ก้องและโลกธาตุจะสลายไปด้วยไฟ ” (2 ปต.3:10) เพื่อพระเจ้าจะทรงสถาปนา “ ฟ้า สวรรค์ ใหม่ และ แผ่น ดิน โลก ใหม่” (วว.21:1) ดังนั้น วันสิ้นโลกจึงไม่เพียงแต่เป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก การเสด็จกลับมาครั้งที่สองจะเปลี่ยนโฉมจักรวาลอย่างสิ้นเชิง
5. เกิดขึ้นฉับพลัน การเสด็จมาครั้งที่สองเป็นสิ่งที่เหนือความเข้าใจและจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันมนุษย์จะประหลาดใจต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น พระเยซูทรงใช้อุปมาเปรียบเทียบเพื่อเตือนอัครสาวกของพระองค์ว่าเหตุการณ์นั้นจะเหมือนขโมยมาในเวลากลางคืน(มธ 24:42-44 ลก.12:40 1 ธก. 5:2,4; 2 ปต. 3:10) เจ้าบ่าวและหญิงพรหมจารีทั้ง 10คน (มธ.25:1-13) น้ำท่วมโลกและสภาพก่อนน้ำท่วมโลก (มธ. 24:38-39) เปาโลยกตัวอย่างของหญิงมีครรภ์ใกล้คลอด (1 ธก.5:3) อัครสาวกได้รับคำเตือนจากพระเยซูว่า “จงเฝ้าระวังอยู่” (มธ.25:13, 24:42) “เพราะเหตุนี้พวกท่านจงเตรียมพร้อม เพราะในเวลาที่ท่านไม่คิดไม่ฝันนั้นบุตรมนุษย์จะเสด็จมา” (24:24)พระเยซูและเปาโลไม่ได้ระบุวันเวลาการเสด็จมา เปรียบให้เห็นเหมือนเจ้าของบ้านไม่รู้ว่าขโมยจะเข้ามาเมื่อไร หญิงพรหมจารีไม่รู้ว่าเจ้าบ่าวจะมาเมื่อไร หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่รู้ว่าจะเจ็บครรภ์ได้เวลาคลอดเมื่อไร แม้ทูตสวรรค์และพระบุตรก็ไม่ทราบ(มธ.24:36) นอกจากพระบิดา (มก. 13:32) แม้อัครสาวกก็ไม่ทราบวันเวลานั้น (กจ. 1:6, 7)อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงให้เราสังเกตหมายสำคัญต่างๆ ไม่ให้เรากำหนดวันและเวลา แต่ให้เฝ้าระวัง ตื่นตัวระวังระไวเสมอ (1 ธก.5:4-6) ไม่มีใครทราบว่าพระเยซูจะเสด็จมาเมื่อไร ไม่ควรหลับเหมือนคนใช้รอเจ้าบ้าน “เพราะ ฉะนั้น ท่าน ทั้ง หลายจง เฝ้า ระวัง อยู่ เพราะ พวก ท่าน ไม่ รู้ ว่า เจ้า ของ บ้านจะมาเมื่อไร อาจจะมาในเวลาค่ำหรือเที่ยงคืนหรือในเวลาไก่ขันหรือรุ่งเช้า ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว หากเจ้าของบ้านกลับมาอย่างฉับพลันท่านอาจพบว่าพวกท่านกำลังนอนหลับอยู่ สิ่งที่เราบอกพวกท่านนั้นเราก็บอกคนทั้งหลายด้วยว่า จงเฝ้าระวังอยู่เถิด” (มก.13:35-36) ขณะนี้หมายสำคัญต่างๆ เกิดขึ้นแล้วและกำลังเกิดขึ้นต่อหน้าเรา “จง เรียน บท เรียนจาก ต้น มะเดื่อ เมื่อ มัน แตก กิ่ง แตก ใบ พวก ท่าน ก็ รู้ว่า ฤดู ร้อน ใกล้ จะ ถึง แล้ว เช่น เดียว กัน เมื่อ ท่าน ทั้งหลายเห็นเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่าพระองค์เสด็จมาใกล้จะถึง ประตู แล้ว” (มก. 13:28, 29)
โปรดติดตามอ่านตอนที่3 “เหตุผลที่พระเยซูต้องเสด็จกลับมาครั้งที่ 2”
- ศาสนาจารย์ ดร.สุรเชษฐ์ อินสม