การแปล ที่ซื่อสัตย์เป็นอย่างไร?
คอลัมน์ “ท่านถาม ฝ่ายแปลตอบ” ฉบับนี้ จะตอบคำถามของสองท่านที่ถามเกี่ยวกับคำแปลในพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 15:18 และพระธรรมดาเนียล 11:32 ตามลำดับ โดยผู้ถามเห็นว่าฉบับมาตรฐานแปลผิดและแปลไม่ตรงความหมายในภาษาเดิม ดังนั้นทางฝ่ายแปลขอเรียนตอบท่านดังนี้
พระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 15:18
ฉบับ 1971 เมื่อท่านปล่อยเขาให้เป็นอิสระนั้น ท่านอย่ารู้สึกหนักอกหนักใจ เพราะว่าเขาได้รับใช้ท่านมาเจ็ดปี ด้วยค่าแรงครึ่งหนึ่งของลูกจ้างเท่านั้น พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านจะทรงอำนวยพระพรแก่ท่าน ในการที่ท่านได้กระทำนั้น
ฉบับ 2011 เมื่อท่านปล่อยเขาให้เป็นอิสระนั้น ท่านอย่ารู้สึกหนักใจ เพราะเขาได้รับใช้ท่านมาหกปี ด้วยแรงงานสองเท่าของค่าแรงลูกจ้าง และพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านจะทรงอวยพรแก่ท่าน ในทุกสิ่งที่ท่านได้ทำนั้น
คำถาม พระคัมภีร์ฉบับมาตรฐาน 2011 น่าจะมีการแปลผิดใน เฉลยธรรมบัญญัติ 15:18 คือน่าจะแปลเป็น “ด้วยแรงงานครึ่งหนึ่งของค่าแรงของลูกจ้างเท่านั้น” โดยเทียบเคียงกับฉบับก่อนหน้านี้คือฉบับ 1971 นอกจากนี้ฉบับภาษาอังกฤษหลายๆ ฉบับ ก็แปลว่า “ค่าจ้างเพียงครึ่งเดียว”
คำตอบ หากเปรียบเทียบคำแปลพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 15:18 ระหว่างพระคัมภีร์ฉบับ 1971 และฉบับ 2011 เราพบความแตกต่างข้างต้น และเมื่อสังเกตดีๆ ก็จะเห็นว่ามีความแตกต่างสำคัญสองจุดที่ก่อให้เกิดคำถาม คือ
- “เจ็ดปี” หรือ “หกปี” ?
- “ครึ่งหนึ่ง” หรือ “สองเท่า” ?
เมื่อตรวจสอบดูโดยเทียบกับพระคัมภีร์ฉบับฮีบรู (และฉบับอังกฤษ) เราก็ได้คำตอบดังนี้
1.“หกปี” พี่น้องฮีบรูที่เป็นทาสจะทำงานรับใช้นายที่เป็นคนฮีบรูหกปี พอถึงปีที่เจ็ดก็จะได้รับอิสรภาพ
2.หากดูฉบับภาษาอังกฤษ เราจะเห็นการแปลแตกต่างกันเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้คือ
- ด้วยค่าแรงครึ่งหนึ่งของลูกจ้าง เช่น ฉบับ Revised Standard Version ว่า “…for at a half the cost of a hired servant he has served you six years.”
- ด้วยแรงงานเท่ากับค่าแรงของลูกจ้าง เช่น ฉบับ New Revised Standard Version ว่า “…for six years they have given you services worth the wages of hired laborers;…”
- ด้วยแรงงานเป็นสองเท่าของค่าแรงลูกจ้าง เช่น ฉบับ New International Version ว่า “…his service to you these six years has been worth twice as much as that of a hired hand…”
ดังนั้น พระคัมภีร์อังกฤษจึงไม่อาจให้คำตอบสุดท้ายแก่เราได้ เพราะขึ้นอยู่กับว่าเราจะยึดฉบับใดเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพิเคราะห์ดูความหมายของคำจากฉบับฮีบรู ซึ่งคำดังกล่าวแปลได้ว่า “สองเท่า” หรืออาจแปลว่า “เทียบเท่า”
ความหมายของข้อนี้ตามบริบทคือ เมื่อทาสฮีบรูทำงานให้เจ้านายฮีบรูครบหกปีแล้ว เจ้านายต้องปล่อยทาสเป็นอิสระพร้อมกับให้ทรัพย์สิ่งของแก่ทาสตามส่วนพระพรที่ตนได้รับเพื่อให้ทาสตั้งตัวได้ ในการทำเช่นนั้น เจ้านายอาจรู้สึกลำบากใจ แต่โมเสสเตือนให้เจ้านายระลึกถึงการเป็นทาสในอียิปต์และการช่วยกู้ของพระยาห์เวห์ รวมถึงการที่ทาสทำงานหกปีทั้งวันและคืนโดยไม่ได้รับค่าแรงอย่างที่พึงได้รับ (ไม่ว่าจะเป็นการรับใช้ด้วยแรงงานสองเท่าเพราะทำงานทั้งวันและคืน หรือการที่ทาสต้องพร้อมทำงานทุกเวลาที่เจ้านายเรียกใช้ ซึ่งต่างจากลูกจ้างที่ทำงานในช่วงเช้าถึงเย็นเท่านั้น) นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอให้เจ้านายปล่อยทาสเป็นอิสระในปีที่เจ็ดมิใช่หรือ? ฉะนั้นจะเห็นว่าฉบับมาตรฐาน 2011 มิได้แปลเนื้อความตอนนี้ผิดแต่อย่างใด
พระธรรมดาเนียล 11:32
ฉบับ 1971 เขาจะใช้ความสอพลอล่อลวงผู้ที่ละเมิดพันธสัญญา แต่ประชาชนผู้รู้จักพระเจ้าของเขาทั้งหลายจะยืนมั่นและปฏิบัติงาน
ฉบับ 2011 เขาจะใช้เล่ห์กลล่อลวงผู้ละเมิดพันธสัญญา แต่ประชาชนที่ซื่อสัตย์ต่อ*พระเจ้าของตนจะยืนหยัดต่อสู้** * ภาษาฮีบรูแปลตรงตัวว่า “ที่รู้จัก” **ภาษาฮีบรูแปลตรงตัวว่า “แสดงพลังและทำ”
คำถาม ทำไมพระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานไม่แปลอย่างฉบับ 1971 คือแปลตามตัวอักษร? ทำไมฉบับมาตรฐานไม่เอาคำแปลตามตัวอักษรในเชิงอรรถเป็นหลัก แต่กลับใช้คำแปลเอาความหมายในเนื้อหา? คำแปลว่า “รู้จักพระเจ้า” ก็ดีกว่า “ที่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า” ไม่ใช่หรืออย่างไร?
คำตอบ เพื่อตอบคำถามข้างต้น จะขอทำดังนี้คือ
1.ขอสรุปบริบทของข้อนี้อย่างกว้าง
- ในปีที่สามของรัชกาลกษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซีย ทูตของพระเจ้าได้เปิดเผยให้ดาเนียลเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนของพระเจ้าในอนาคต (ดาเนียล บทที่ 10)
- หลังจากกษัตริย์ไซรัสสิ้นพระชนม์ แว่นแคว้นต่างๆ ของกรีกเริ่มเรืองอำนาจ จนในที่สุด กษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชก็โค่นล้มอาณาจักรเปอร์เซียลงได้อย่างราบคาบ แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ อาณาจักรกว้างใหญ่ก็แตกออกเป็นสี่ส่วนคือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก แม่ทัพทั้งสี่ของกษัตริย์ต่างเข้ายึดครองดินแดนไปคนละส่วน และได้ตั้งตัวขึ้นเป็นพระราชาปกครองถิ่นนั้นๆ ในคำพยากรณ์ของดาเนียล พระราชาแห่งถิ่นเหนือ (ซีเรีย) จะเป็นปฏิปักษ์กับพระราชาแห่งถิ่นใต้ (อียิปต์) และแน่นอนว่าดินแดนอิสราเอลซึ่งอยู่ตรงกลางย่อมได้รับผลกระทบจากสงครามด้วย พระราชาแห่งถิ่นเหนือยกทัพมาย่ำยีพระวิหาร ทำร้ายคนยิวอย่างหนักทั้งร่างกายและจิตใจ จนพวกเขาต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพ (ดาเนียล บทที่ 11)
- ในวาระสุดท้าย คนตายจะเป็นขึ้น มา บ้างเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์ บ้างเข้าสู่ความอับอาย นิรันดร์ (ดาเนียล บทที่ 12)
2.ขออธิบายบางคำบางวลีใน ดนล.11:32 ฉบับ 1971
- คำสรรพนาม “เขา” หมายถึงพระราชาแห่งถิ่นเหนือ ซึ่งในข้อนี้น่าจะหมายถึง อันทิโอคัสที่สี่ เอพิฟาเนส (ปี 175-164 ก่อน ค.ศ.)
- วลี “ผู้ที่ละเมิดพันธสัญญา” หมายถึงคนยิวที่แปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายกษัตริย์อันทิโอคัส พวกเขาละทิ้งพระเจ้าและพระบัญญัติของพระองค์ หันไปกราบไหว้รูปเคารพเพื่อเอาชีวิตรอด
- วลี “ประชาชนผู้รู้จักพระเจ้าของเขาทั้งหลาย” ในที่นี้หมายถึงคนยิวกลุ่มตรงข้ามกับ “ผู้ที่ละเมิดพันธสัญญา” พวกเขาภักดีต่อพระยาห์เวห์และกฏเกณฑ์ของพระองค์ พวกเขาปฏิเสธสิ่งชั่วร้ายที่อันทิโอคัสยัดเยียดให้ พวกเขาอดทนต่อการข่มเหงและยอมตาย แต่ไม่ยอมปฏิเสธพระเจ้า พวกเขาต่อสู้ผู้มีกำลังเหนือกว่าเพื่ออิสรภาพของมวลชน
3. ขอสรุปเหตุการณ์ในดาเนียล 11:29-32 ในปี 168 ก่อน ค.ศ. กษัตริย์อันทิโอคัส เอพิฟาเนสแห่งซีเรียแพ้อียิปต์ เพราะอียิปต์ได้รับความช่วยเหลือจากโรมัน ดังนั้นจึงหันมาเล่นงานอิสราเอลโดยพยายามจะล้มล้างศาสนาของคนยิว และใช้ความรุนแรงบังคับให้พวกเขาหันมานิยมกรีก อันทิโอคัสได้ตั้งแท่นบูชาพระซุสทับแท่นเผาสัตวบูชาของคนยิว แล้วถวายเครื่องเผาบูชาคือสุกรอันเป็นสัตว์มลทิน อีกทั้งบังคับให้คนยิวทำอย่างนั้นด้วย นี่จึงเป็นเหตุให้ปุโรหิตมัทธีอัสและบุตรชายทั้งห้าของท่านลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออิสรภาพทางศาสนา แล้วสามปีต่อมาคือ ในปี 165 ก่อน ค.ศ. ก็ได้ชัยชนะ
4. เราพบความแตกต่างในข้อนี้ระหว่างฉบับ 1971 กับฉบับ 2011 โดยฉบับแรกค่อนข้างจะแปลตามตัวอักษร ขณะที่ฉบับหลังแปลตามความหมายในบริบท คำแปลทั้งสองฉบับล้วนถูกต้อง เพียงแต่คำแปลใดจะเหมาะและเป็นประโยชน์แก่ความเข้าใจของผู้อ่านมากกว่ากันเท่านั้น
ในข้อนี้เราพบคนยิวสองพวกคือ
1. พวกที่ละเมิดพันธสัญญา พวกเขาทิ้งพระเจ้าของบรรพบุรุษและกฎหมายของพระองค์หันไปติดตามพระต่างๆ ของคนกรีก
2. พวกที่รู้จักพระเจ้า พวกเขายืนมั่นและกระทำการ วลี “รู้จักพระเจ้า” ไม่ได้หมายถึงรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าเท่านั้น แต่หมายถึงมีความสัมพันธ์สนิทกับพระเจ้าด้วย นอกจากนี้บริบทยังบีบรัดให้เข้าใจว่าหมายถึง “จงรักภักดีต่อพระเจ้า” ส่วนวลี “ยืนมั่นและปฏิบัติงาน” แปลตรงตัวว่า “มีกำลัง(หรือแสดงพลัง) และกระทำการ” กริยาคำแรกหมายถึงรักษาตำแหน่งหรือที่มั่น ส่วนกริยาคำที่สองหมายถึงต่อสู้หรือต่อต้าน ดังนั้นเมื่อพิจารณาเทียบกับบริบทจึงเข้าใจได้ว่าความหมายคือ ยืนยันความเชื่อและกระทำการต่อสู้ผู้ข่มเหง ฉบับ 2011 จึงแปลวลีดังกล่าวว่า “ยืนหยัดต่อสู้”
อย่างไรก็ดี ในฉบับ 2011 ทุกครั้งที่เป็นการแปลเอาความหมาย ก็ได้ใส่เชิงอรรถอธิบายไว้ว่า “ภาษาฮีบรูแปลตรงตัวว่า…” การแปลเอาความหมายก็เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเข้าใจอย่างถูกต้อง
หากการแปลตรงตัวอักษรสื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างถูกต้อง เราก็แปลตรงตัว แต่หากเห็นว่าการแปลตรงตัวไม่สื่อความหมายหรือสื่อความหมายไม่ชัดเจน เราก็จำเป็นต้องแปลเอาความหมายเพื่อผู้อ่าน ยกตัวอย่างเช่น ปฐก. 4:1 มีเนื้อความว่า “ฝ่ายชายนั้นมีเพศสัมพันธ์กับเอวาภรรยาของเขา นางก็ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชื่อคาอิน…” ฉบับมาตรฐานแปลว่า “มีเพศสัมพันธ์” และมีเชิงอรรถว่า “ภาษาฮีบรูแปลตรงตัวว่า รู้จัก” ตามบริบทดังกล่าวเมื่อพิจารณาคำแปล “มีเพศสัมพันธ์” เทียบกับ “รู้จัก” แล้ว เราก็พบว่าคำแปลแรกสื่อความหมายได้ชัดเจนกว่า
เป็นเรื่องน่าคิดว่าการแปลที่ซื่อสัตย์นั้นเป็นอย่างไร? หากถือว่าการแปลตามตัวอักษรเป็นการแปลที่ซื่อสัตย์ต่อพระคัมภีร์ ปฐก.4:1 ก็ต้องแปลว่า “ฝ่ายชายนั้นรู้จักเอวาภรรยาของเขา นางก็ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชื่อคาอิน…” อย่างฉบับ King James Version โดยไม่สนใจว่าผู้อ่านจะเข้าใจหรือไม่? อย่างไร? ในคำแปลข้างต้น ผู้อ่านคงสงสัยว่าแค่การรู้จักจะทำให้ตั้งครรภ์ได้อย่างไร
สาเหตุที่ผู้เขียนพระธรรมปฐมกาลเลือกใช้คำว่า “รู้จัก” เพราะต้องการใช้คำสุภาพ (Euphemism) แทนคำที่มีความหมายตรงๆ นอกจากนี้ คำว่า “รู้จัก” ในภาษาฮีบรูยังมีความหมายถึงการมีความสัมพันธ์ที่สนิทแนบแน่นด้วย ท่านจึงเลือกใช้คำกริยา “รู้จัก” ในความหมายว่า “มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยา” ดังนั้นการแปลตรงตัวในข้อนี้อาจไม่ใช่การแปลที่ซื่อสัตย์ก็ได้เพราะทำให้ผู้อ่านสับสนไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด แต่การแปลเอาความหมาย กลับจะเป็นการแปลที่ซื่อสัตย์เพราะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ตรงกับความประสงค์ของผู้เขียน
ด้วยเหตุนี้ หากประสงค์จะแปลเพื่อสื่อสารความหมายที่ถูกต้องแก่ผู้อ่านในปัจจุบัน บางครั้งก็อาจต้องสละการแปลตามตัวอักษร นี่คือเหตุผลที่ฉบับมาตรฐานเลือกแปลเอาความหมายในข้อนี้ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าจะแปลเอาความหมายไปเสียทุกที่ สมาคมพระคริสตธรรมไทยใช้หลักการแปลว่า “แปลตรงตัวอักษรเท่าที่ทำได้ แต่ต้องมีความสละสลวยตามควร และแปลเอาความหมายเท่าที่จำเป็น” (As literal as possible, as dynamic as necessary) ทั้งนี้หากแปลเอาความหมายก็จะทำเชิงอรรถกำกับคำแปลนั้นเพื่อผู้อ่านจะทราบคำแปลตามตัวอักษรด้วย
- อาจารย์ปัญญา โชชัยชาญ
- ภาพ www.stage.emanuelnyc.org (กษัตริย์อันทิโอคัสยกทัพมาย่ำยีพระวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม)