คนละ 3 คำ
นักบวชในอารามต่างปฏิญาณตนว่าจะไม่เอื้อนเอ่ยวาจาใด ๆ ทั้งสิ้น ….แต่ในทุก ๆ 10 ปี พวกเขาจะได้รับอนุญาตให้พูดได้คนละไม่เกิน 3 พยางค์
สิบปีผ่านไป นักบวชคนแรกได้รับอนุญาตให้พูดเป็นครั้งแรก
หลังจากตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่ง ท่านก็จ้องหน้าเจ้าอาราม แล้วพูดขึ้นอย่างช้า ๆ ว่า….
“อาหารแย่”
สิบปีต่อมา ถึงโอกาสที่จะพูดได้อีกครั้ง นักบวชคนนั้น จึงตรงเข้าไปหาเจ้าอาราม แล้วพูดว่า
“เตียงสุดแข็ง”
อีก 10 ปีต่อมา นักบวชคนเดิมนั้นเดินเข้าไปพูดกับเจ้าอารามแล้วกล่าวขึ้นอย่างขึงขังว่า
“ผมขอสึก!”
“…..คุณนี่ไม่มีความอดทนเลย……” เจ้าอารามกล่าวขึ้น
“เพราะนับตั้งแต่คุณมาอยู่ที่นี่ คุณบ่นไม่หยุดเลย!”
ดูเหมือนว่า นักบวชรูปนี้จะมีปัญหากับการปรับตัวอยู่ในอาราม
ตามทัศนะของเจ้าอาราม นักบวชผู้นี้ได้รับข้อหาว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความอดทนและขี้บ่น!
ทั้ง ๆ ที่ในสายตาและความคิดของคนปัจจุบันอย่างคุณและผมอาจมองเห็นเป็นตรงข้าม!
เพราะในทุก 10 ปีเขาพูดเพียงแค่ 3 พยางค์ และนักบวชรูปนี้อยู่ในอารามมา 30 ปี โดยพูดออกมาทั้งหมดเพียงแค่ 9 พยางค์เท่านั้น!
ชีวิตจริงในโลกก็อาจเป็นเช่นนี้…..
นั่นคือ เรื่องเดียวกันอาจถูกมองต่างมุม หรืออาจถูกตีความแตกต่างกันออกไปตามมุมที่แต่ละคนมอง!
แต่ความจริงข้อหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงแน่ๆ ก็คือ เราต้องพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้น เราจะไปไหนไม่รอด!
เหมือนดังที่ เฮอร์เบิร์ต จอร์จ เวลส์ (Herbert George Wells) กล่าวไว้ว่า ..
“จงปรับตัวหรือไม่ก็ดับสูญไป นี่คือกฎธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีตจนตราบเท่าทุกวันนี้”
(Adapt or perish, now as ever, is nature’s inexorable imperative.)
แต่ที่น่าเห็นใจก็คือ ไม่ว่าเราจะปรับตัวอย่างไรก็ตาม ก็ยังคงอาจมีคนที่ไม่เข้าใจหรือไม่เห็นใจตัวของเราอยู่ดี ดุจดังที่นักบวชผู้นี้ ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าอาราม ซึ่งดูเหมือนว่า ตัวเจ้าอารามก็ปรับตัวไม่ได้กับนักบวชนั้นเช่นกัน!
ทำให้คิดถึงพระดำรัสขององค์พระเยซูคริสต์ตอนหนึ่งที่เตือนสติเราไว้อย่างน่าคิดว่า…
“อย่ากล่าวโทษเขา เพื่อพระเจ้าจะไม่ทรงกล่าวโทษท่าน….เหตุไฉนท่านมองดูผงที่ในตาพี่น้องของท่าน แต่ไม้ทั้งท่อนที่อยู่ในตาของท่าน ท่านก็ไม่รู้สึก….ท่านคนหน้าซื่อใจคด จงชักไม้ทั้งท่อน แล้วท่านจะเห็นได้ถนัด จึงจะเขี่ยผงออกจากตาพี่น้องของท่านได้”1
ดังนั้น…..อย่าให้เราเห็นความผิดของคนอื่นชัดเจน แต่มองไม่ค่อยเห็นความผิดของตัวเราเอง!
อย่าให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบ หรือร้ายอยู่เสมอ แต่ขอให้เรารู้จักมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยทัศนคติที่บวกและความรู้สึกที่ดี! 1
แทนที่เราจะเป็นคนที่มองเห็นแต่ว่า “น้ำเหลือแค่ครึ่งแก้ว”แต่ให้เรามองให้เห็นว่า “น้ำยังมีอีกตั้งครึ่งแก้ว!”
อย่าให้เราท้อแท้ ท้อถอย ถอดใจไปกับสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนสิ้นหวัง จนเรากลายเป็นคนขี้บ่น ขี้หงุดหงิด ขี้น้อยใจ หรือขี้แพ้!
แต่ให้เรามองให้เห็นสิ่งดี หรือความดีที่แฝงอยู่ในสภาพที่ไม่น่ายินดีเหล่านั้น!
และให้เราลงมือกระทำสิ่งที่ดีอย่างน้อยสัก 1 อย่าง เป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้น ด้วยความหวังใจ และจริงใจ!
ดังคำแนะนำที่ดีที่เราควรกระทำตามที่ว่า …
“จุดเทียนไขขึ้นเล่มหนึ่ง ยังดีกว่าแช่งด่าความมืดมิด!”
(Better to light one candle than to curse the darkness.)
วันนี้ หากเราเป็นดังนักบวชหรือเจ้าอารามในเรื่อง ก็ขอให้เราไม่บ่นต่อสภาพที่เราประสบ แต่ให้เราพูดใหม่ให้ดีกว่าเดิม อย่างเช่น นักบวชคนนั้นอาจพูดว่า …
“….แม้ว่าอาหารจะแย่ เตียงจะแข็ง และผมอยากสึก แต่อารามแห่งนี้มีสิ่งดีหลายสิ่งที่ทำให้ผมยืนหยัดอยู่ได้มานานถึง 30 ปี”
ในขณะเดียวกัน เจ้าอารามก็อาจกล่าวได้เช่นกันว่า ..
“….แม้ว่า ท่าน(นักบวช)จะประสบกับสภาพไม่พึงประสงค์มาหลายประการ แต่ท่านก็เป็นแบบอย่างแห่งการยืนหยัดแข็งแกร่งมาได้นานถึง 30 ปี”
ผมว่า หากสังคมของเราหรือในครอบครัวของเรา แต่ละคนรู้จักมองกันและกันและพูดต่อกันและกันในแง่บวกมากขึ้น สังคมที่เราอยู่จะมีความสุขมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้อย่างแน่นอน
คุณว่าจริงไหมครับ?
- บทความ ศาสนาจารย์ธงชัย ประดับชนานุรัตน์
- ภาพ Freepik.com