ความรัก หรือ การทนทุกข์?, “ช่องพระแกลตาข่าย” หมายถึงอะไรกันแน่? 3/09

ความรัก หรือ การทนทุกข์? 

ท่านถาม ฝ่ายแปลตอบ ฉบับนี้มี 2 คำถาม 2 เรื่องที่ท่านสมาชิกถามเข้ามาอย่างน่าสนใจมาก และอยากได้รับคำตอบโดยเร็ว ผู้จัดทำจึงรีบนำมาลงในคอลัมน์นี้ให้ได้อ่านพร้อมกัน 2 คำถาม

ถาม ทำไม ฉบับมาตรฐาน 2002 แปลพระธรรม 2 โครินธ์ 1:5 ว่า “เพราะความรักของพระคริสต์มากท่วมท้นเราอย่างไร…” แทนที่จะแปลว่า “เพราะการทนทุกข์ที่พระคริสต์ทรงทนเพื่อเรานั้นมากท่วมท้นเราอย่างไร…”

ตอบ โดย อาจารย์ ทองหล่อ วงศ์กำชัย วลี “ความรักของพระคริสต์” หรือ “การทนทุกข์ของพระคริสต์” นั้นในภาษากรีกคือ “ทา พาเทมา ทู คริสทู” ซึ่งประกอบด้วยคำหลักสองคำคือ “ทา พาเทมา” แปลว่า “การทนทุกข์” และ “ทู คริสทู” แปลว่า “ของพระคริสต์” โครงสร้างวลีแบบนี้ในทางไวยากรณ์กรีกเรียกว่า เจนนิทิพ (genitive) คือการแสดงความเป็นเจ้าของ การแสดงความเป็นเจ้าของในกรีกที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้นสามารถมีความหมายได้สองแบบคือตัวเจ้าของนั้นเป็นได้ทั้งประธานคือผู้กระทำหรือเป็นกรรมคือผู้ถูกกระทำ ดังนั้นวลีนี้ในกรีกจึงอาจหมายถึงการทนทุกข์ที่พระคริสต์กระทำคือ “ความทุกข์ที่พระคริสต์ทรงทนเพื่อเรา” ซึ่งก็คือการตายอย่างทุกข์ทรมานที่กางเขน หรืออาจเป็นการทนทุกข์ที่กระทำให้กับพระคริสต์ คือ “ความทุกข์ที่เราทนเพื่อพระคริสต์” ซึ่งก็คือการทนความทุกข์เนื่องจากการรับใช้พระองค์ ฉบับ มาตรฐาน 2002 ได้ตัดสินใจที่จะเอาความหมาย “การทนทุกข์ที่พระคริสต์ทรงทนเพื่อเรา” นั้นเป็นหลัก เนื่องจากในบริบทคือข้อ 4 กล่าวถึงการหนุนใจที่พระเจ้าทรงหนุนใจเรา แล้วเอาความหมายที่เป็นไปได้ด้วยนั้นใส่ไว้ในเชิงอรรถว่า “เพราะเรามีส่วนในความทุกข์ของพระคริสต์มากเพียงไร…”

แต่ประโยค “การทนทุกข์ที่พระคริสต์ทรงทนเพื่อเรามากท่วมท้นเราอย่างไร” นั้น เปาโลไม่ได้เน้นที่การทนทุกข์เป็นสำคัญ แต่การทนทุกข์อย่างมากมายที่กางเขนนั้นคือการสำแดงออกของความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ เช่นเดียวกับที่เปาโลกล่าวไว้ในพระธรรมโรม 5:5 ว่า “ความรักของพระเจ้าได้หลั่งเข้าสู่ใจของเรา  โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์” ความรักที่กล่าวถึงในโรมคือความรักที่พระคริสต์ทรงสำแดงออกโดยการทนทุกข์ที่กางเขน ซึ่งพระวิญญาณทำให้ใจเราซาบซึ้งในความรักผ่านเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตของพระองค์

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการแปลประโยคนี้ หากแปลตรงตามตัวอักษรว่า “การทนทุกข์ที่พระคริสต์ทรงทนเพื่อเรามากท่วมท้นเราอย่างไร” ผู้อ่านไม่อาจเห็นภาพได้ชัดเจนว่า การทนทุกข์ที่พระคริสต์ทรงทนเพื่อเราท่วมท้นเราเป็นอย่างมากนั้นมีลักษณะอย่างไร ฉะนั้น มาตรฐาน 2002 จึงเลือกที่จะแปลแบบถอดความคือการแปลความหมายที่เปาโลต้องการกล่าวไว้คือความรักของพระคริสต์(แสดงออกโดยการทนทุกข์ที่กางเขนของพระองค์นั้น)มากท่วมท้นเราอย่างไร แบบเดียวกับพระธรรมโรม 5:5 เพราะการซาบซึ้งในความรักที่มากมายของพระองค์นั้นเข้าใจได้ง่ายกว่ามาก

  • อาจารย์ ทองหล่อ วงศ์กำชัย

ความรัก หรือ การทนทุกข์? 

ถาม เมื่ออ่านพระคัมภีร์ไทย แล้วพบคำราชาศัพท์คือ “ช่องพระแกล” ในพระธรรม 1 พงศาวดาร บทที่ 15 ข้อที่ 29 (ความว่า และเมื่อหีบพันธสัญญาของพระเจ้ามาถึงนครของดาวิดแล้ว มีคาลราชธิดาของซาอูลแลดูตามช่องพระแกล เห็นกษัตริย์ดาวิดทรงเต้นรำและทรงร่าเริงอยู่ พระนางก็มีใจดูหมิ่นพระองค์) และ “ช่องพระแกลตาข่าย” ในพระธรรม 2 พงศ์กษัตริย์ บทที่ 1 ข้อที่ 2 (ความว่า ฝ่ายอา-หัสยาห์ทรงตกลงมาจากช่องพระแกลตาข่ายที่ห้องชั้นบนของพระองค์ในกรุงสะมาเรีย และทรงประชวร…) แล้วไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร? จนได้ไปอ่านพระคัมภีร์อังกฤษจึงเข้าใจว่า “ช่องพระแกล” ก็คือ ช่องหน้าต่าง (window) และ “ช่องพระแกลตาข่าย” คือ ช่องหน้าต่างที่มีไม้ระแนงขัดกันเป็นตารางกั้นไว้ (lattice) ดังนั้นจึงทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมสมาคมพระคริสตธรรมไทยไม่แปลพระคัมภีร์ออกมาเป็นภาษาง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์? และอีกคำถามหนึ่งก็คือ ในพระธรรม 2 พงศ์กษัตริย์ บทที่ 1 ข้อที่ 2 กษัตริย์อาหัสยาห์ทรงตกลงมาจากหน้าต่างห้องชั้นบนได้อย่างไร? เพราะมีแผงเป็นตารางกั้นอยู่ จึงไม่น่าจะตกลงมาได้ หรือว่ามีแผงกั้นเพียงครึ่งเดียวของหน้าต่าง จึงทำให้พระองค์พลัดตกลงมาได้

ตอบ โดย อาจารย์ ปัญญา โชชัยชาญ ก่อนอื่นทางฝ่ายแปลขอขอบคุณท่านผู้นี้ที่ได้สนใจอ่านพระคัมภีร์อย่างจริงจัง และแม้จะพบอุปสรรคในการเข้าใจความหมายก็ไม่ได้หยุดนิ่งเฉย แต่ได้เสาะหาคำตอบจากการอ่านเปรียบเทียบกับพระคัมภีร์ภาษาอื่นจนได้ความกระจ่าง

สำหรับคำถามแรกของท่านนั้น ขอตอบว่าขณะนี้ฝ่ายแปลกำลังแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์ไทยฉบับ1971 เราพยายามอย่างยิ่งที่จะลดทอนคำราชาศัพท์ที่เข้าใจยากโดยใช้คำง่ายแทน แต่เราไม่อาจตัดคำราชาศัพท์ทั้งหมดออกไปได้ เพราะในสังคมไทยเรามีการใช้ราชาศัพท์กับกษัตริย์และราชวงศ์ นอกจากนี้เราต้องการจะยกย่องและให้เกียรติพระเจ้าและพระเยซูในฐานะกษัตริย์ของกษัตริย์ทั้งหลาย ดังนั้นคำราชาศัพท์จึงยังจำเป็นต้องมีอยู่ แต่หากมีคำราชาศัพท์ยากปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ข้อใด ก็จะมีเชิงอรรถอธิบายความหมายกำกับไว้ด้วย เพื่อผู้อ่านจะเข้าใจได้

อย่างไรก็ดีทางฝ่ายแปลจะพิจารณาเกี่ยวกับการใช้คำราชาศัพท์ “ช่องพระแกล” ในการประชุมยกร่างคำแปลในครั้งต่อไปว่า เราจะคงคำราชาศัพท์นั้นไว้และมีเชิงอรรถอธิบาย หรือจะแปลง่ายๆ ว่า “ช่องหน้าต่าง” โดยไม่ต้องใส่เชิงอรรถ

สำหรับคำถามที่สองดูจะยากกว่าคำถามแรก แม้เราจะทราบแน่ว่ากษัตริย์อาหัสยาห์ทรงพลัดตกจากห้องชั้นบนและประชวรหนัก แต่ทรงตกลงมาอย่างไร? เป็นอุบัติเหตุหรือ? หรือมีคนทำร้ายผลักพระองค์ลงมา? เราไม่ทราบแน่ชัด จากพระวจนะของพระเจ้าก็น่าจะเป็นอุบัติเหตุ แต่ทรงตกลงมาจากช่องพระแกลตาข่ายได้หรือ? เพื่อจะตอบคำถามนี้ก็จำเป็นต้องให้แน่ชัดว่าช่องพระแกลตาข่ายเป็นอย่างไร? คำฮีบรูที่ใช้นี้คือ “เซอะวาคาห์” มีปรากฏ 17 ครั้งในพระคัมภีร์เดิม คำนี้หมายถึง

  1. ตาข่ายที่ประดับอยู่บนหัวเสาใหญ่สองต้นของพระวิหาร (ดู 1พกษ.7:17,18.20,41,42; 2พกษ.25:17; 2พศด.4:12,13; ยรม. 52:22,23)
  2. ตาข่ายสำหรับดักจับสัตว์ (ดูโยบ18:8) 3. ช่องพระแกลตาข่ายใน 2พกษ.1:2 ซึ่งอาจหมายถึงหน้าต่างที่มีไม้ระแนงขัดกันเป็นตารางหรือตาข่ายกันไว้ หรืออาจหมายถึงโครงตาข่ายที่อยู่เหนือหน้าต่างเหมือนกันสาด เพื่อกันแสงอาทิตย์บ้างและมีช่องให้ลมพัดผ่านได้ หรืออาจหมายถึงโครงที่สร้างขึ้นมีลักษณะดังกล่าวบนดาดฟ้าเพื่อกันคนตกลงมา โดยเราต้องเข้าใจว่าบ้านของคนอิสราเอลจะมีดาดฟ้า และบนดาดฟ้าก็อาจทำเป็นห้องชั้นบนได้ด้วย ดาดฟ้าเขาใช้ตากสิ่งของและใช้พักผ่อนยามเย็น นอกจากนี้เขาอาจทำกันตกบนดาดฟ้าด้วย

เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่ากษัตริย์อาหัสยาห์ทรงพลัดตกจากหน้าต่างแม้จะมีตารางกั้นแต่คงไม่แข็งแรง หรือทรงพลัดตกจากดาดฟ้าจากช่องกันตก หรือทรงพลัดตกจากดาดฟ้าแล้วกระแทกทะลุกันสาดเหนือหน้าต่าง เราไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดีผลของการตกก็สำคัญกว่ากระบวนการตก ฉะนั้นพระคัมภีร์อังกฤษฉบับ Good News แปลว่า “King Ahaziah of Israel fell off the balcony on the roof of his palace in Samaria.” คงจะแปลได้ใจความว่า “กษัตริย์อาหัสยาห์แห่งอิสราเอลทรงพลัดตกจากเฉลียงบนหลังคา (คงหมายถึง ดาดฟ้า) ของพระราชวังของพระองค์ในกรุงสะมาเรีย” ฉะนั้นจะสังเกตว่า พระคัมภีร์ฉบับอังกฤษดังกล่าวมิได้ระบุละเอียดว่าพลัดตกอย่างไร  

  • อาจารย์ ปัญญา โชชัยชาญ