ความสัมพันธ์ระหว่างพระธรรมดาเนียลกับพระธรรมวิวรณ์

ความสัมพันธ์ระหว่างพระธรรมดาเนียลกับพระธรรมวิวรณ์

พระธรรมทั้งสองเล่มเป็นวรรณกรรมแบบวิวรณ์ธรรม มีหนังสือนอกพระคัมภีร์อีกหลายเล่มที่มีลักษณะเป็นวิวรณ์ธรรม ทั้งหนังสือของชาวยิวและของคริสเตียน อย่างไรก็ดี วิวรณ์ธรรมของชาวยิวนั้นเขียนขึ้นในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ.จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 2 ส่วนวิวรณ์ธรรมของคริสเตียนเริ่มตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4

องค์ประกอบสำคัญของวิวรณ์ธรรมได้แก่

  • นามแฝง เราพบว่าหนังสือในกลุ่มนี้จะเขียนโดยผู้เขียนที่ใช้นามแฝงหรือชื่อปลอม เช่น หนังสือ 1 เอโนค ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 1 นั้น โดยผู้เขียนหลายคนที่ไม่มีใครรู้จัก แต่อ้างว่าเขียนโดยเอโนคที่เป็นเชื้อสายของอาดัม (ปฐก.5:21-24) นอกจากนี้ยังมีหนังสือวิวรณ์ธรรมของคนยิวอีกหลายเล่มที่อ้างว่าเขียนโดยบุคคลต่างๆ เช่น อาดัมและเอวา โมเสส อิสยาห์ บารุค ซาโลมอน และเอสรา ทั้งที่ความจริงหนังสือเหล่านี้เขียนขึ้นหลังพระธรรมทุกเล่มในพระคัมภีร์เดิม ผู้เขียนเหล่านี้อาจคิดว่าการใช้นามแฝงเป็นชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงในพระคัมภีร์เดิมจะช่วยให้ผู้อ่านยอมรับงานของพวกเขา ส่วนหนังสือวิวรณ์ธรรมของคริสเตียนก็มักจะอ้างว่าเขียนโดยเปโตร เปาโล หรือโธมัสในกรณีของพระธรรมดาเนียลก็เช่นกัน อาจจะเขียนโดยบุคคลอื่นแล้วอ้างชื่อดาเนียล เพราะดาเนียลเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสมัยโบราณ และในกรณีของพระธรรมวิวรณ์ก็อาจจะเขียนโดยอัครสาวกยอห์นหรือบุคคลอื่นก็เป็นได้
  • นิมิต ผู้เขียนมักบอกว่าได้รับการสำแดงจากพระเจ้าเป็นนิมิต นิมิตนี้จะมีรายละเอียดมากมายและมักตามมาด้วยการตีความหมายของนิมิต ส่วนที่สองของพระธรรมดาเนียล (7-12) เต็มไปด้วยนิมิต และส่วนใหญ่ของพระธรรมวิวรณ์ก็เต็มไปด้วยนิมิต ถึงแม้ผู้เผยพระวจนะในสมัยพระคัมภีร์เดิมจะเห็นนิมิตเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่เท่ากับวรรณกรรมแบบวิวรณ์ธรรมที่มีนิมิตเป็นส่วนใหญ่ของงานเขียน บางครั้งผู้เขียนก็ได้รับนิมิตนี้ทางความฝัน หรือบางครั้งผู้เขียนก็ถูกพาไปยังสวรรค์ แล้วได้ยินด้วยหูและได้เห็นด้วยตา อย่างไรก็ดี ผู้เห็นนิมิตมักไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองเห็น จึงต้องอาศัยทูตสวรรค์ช่วยตีความหมาย (เช่น ดนล.8:15-26; 9:20-27; 10:18-12:4; วว.7:13-17; 17:7-18) เมื่อเปรียบเทียบพระธรรมดาเนียลและวิวรณ์กับหนังสือวิวรณ์ธรรมอื่นๆ เราจะพบว่าพระธรรมทั้งสองเล่มนี้รายงานสิ่งที่ตนได้เห็นจริงๆ แต่ผู้เขียนวิวรณ์ธรรมอื่นๆ จะใช้งานเขียนลักษณะนี้เป็นเครื่องมือเท่านั้นโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสบการณ์จริงเลย
  • สัญลักษณ์ ถึงแม้ว่าผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เดิมอาจใช้สัญลักษณ์เพื่อถ่ายทอดสารของตน แต่การใช้สัญลักษณ์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก และสัญลักษณ์ที่ใช้ในหมวดผู้เผยพระวจนะ ก็มักจะไม่ค่อยซับซ้อน (อสย.6:6, 7; อมส.7:1-8:3) อย่างไรก็ดี การใช้สัญลักษณ์ที่ซับซ้อนขึ้นในนิมิตของผู้เผยพระวจนะเกิดขึ้นเนื่องจากมีการเผยพระวจนะน้อยลงในอิสราเอล สัญลักษณ์ที่ปรากฏในพระธรรมเศคาริยาห์มีมากเกือบจะเท่ากับหนังสือในกลุ่มวิวรณ์ธรรม สัญลักษณ์ในนิมิตของวิวรณ์ธรรมทั้งซับซ้อนและประหลาดกว่าสัญลักษณ์ในหมวดผู้เผยพระวจนะ ในพระธรรมดาเนียลและพระธรรมวิวรณ์มีสัญลักษณ์เป็นสัตว์ประหลาดที่ไม่เหมือนสัตว์ทั่วไป ทำให้ตีความหมายยาก การตีความหมายจึงต้องทำอย่างระมัดระวังและต้องหาความจริงที่แฝงอยู่ให้เจอ ซึ่งการค้นหานี้เป็นความกดดันที่ผู้อ่านสมัยแรกพยายามค้นหาอย่างจริงจัง สัญลักษณ์ในพระธรรมดาเนียลและพระธรรมวิวรณ์เป็นการสื่อสารถึงเหตุการณ์ในอนาคตและเป็นความจริงเหนือธรรมชาติที่เกินความเข้าใจตามประสบการณ์ของมนุษย์
  • กรอบของประวัติศาสตร์โลก หัวข้อของวิวรณ์ธรรมโดยพื้นฐานคือประวัติศาสตร์ของโลกตั้งแต่การทรงสร้างไปจนถึงจุดจบของโลก รวมถึงบทบาทของพระเจ้าและประชากรของพระองค์ที่อยู่ ณ ศูนย์กลางของประวัติศาสตร์นั้น โครงสร้างพื้นฐานของความคิดหลักในพระคัมภีร์คือประวัติศาสตร์แห่งความรอด วิวรณ์ธรรมมองประวัติศาสตร์แห่งความรอดในบริบทของประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์แห่งความรอดนี้มีลักษณะเด่นที่ผู้เขียนทั้งพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่เห็นพ้องกันว่า พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์เองผ่านการช่วยกู้และการเปิดเผยพระองค์ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในประวัติศาสตร์ของผู้ที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้ ถึงแม้ดาเนียลจะให้ความสนใจที่คนอิสราเอลเป็นหลัก แต่นิมิตของท่านส่วนใหญ่จะไปเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับโลกที่ซับซ้อน ซึ่งพระเจ้าทรงครอบครองอยู่และมีอิสราเอลเป็นกลุ่มคนสำคัญในเวลานั้น ส่วนผู้เขียนพระธรรมวิวรณ์ที่หนุนใจและตักเตือนคริสเตียนก็ได้ให้คำแนะนำภายใต้บริบทของคริสตจักรที่อยู่ในประวัติศาสตร์ของอาณาจักรโรม
  • พระเมสสิยาห์ ถึงแม้ว่าภาพของพระเมสสิยาห์จะไม่ปรากฏในหนังสือวิวรณ์ธรรมของชาวยิว แต่บทบาทของพระเยซูในฐานะที่เป็นพระเมสสิยาห์เป็นที่เข้าใจชัดเจนในข้อเขียนกลุ่มวิวรณ์ธรรมของพระคัมภีร์โดยเฉพาะในพระธรรมวิวรณ์ของพระคัมภีร์ใหม่ เรื่องของพระเมสสิยาห์นี้ก็ปรากฏในพระธรรมดาเนียล (7:13, 14; 9:25) ด้วย ในขณะที่ข้อเขียนส่วนใหญ่ของหนังสือวิวรณ์ธรรมของชาวยิวที่เขียนในช่วงเวลาเดียวกับพระธรรมดาเนียล ไม่ปรากฏภาพลักษณ์ของพระเมสสิยาห์ให้เห็น มีเพียงบางเล่มอาจจะกล่าวถึงพระเมสสิยาห์ที่มาจากสายของปุโรหิต ในขณะที่บางเล่มก็ว่ามาจากดาวิด จะเห็นว่าหนังสือหมวดวิวรณ์ธรรมของชาวยิวนั้นยังไม่มีความเป็นเอกภาพเรื่องพระเมสสิยาห์ จนมาถึงสมัยของคริสเตียนเรื่องพระเมสสิยาห์จึงชัดเจนขึ้น ไม่ว่าชาวยิวในปลายคริสต์ศตวรรษแรกจะเข้าใจว่าดนล.7:13 เล็งถึงพระเมสสิยาห์หรือไม่ก็ตาม แต่ผู้เขียนพระธรรมวิวรณ์ต้องการให้ผู้อ่านของท่านเข้าใจเช่นนั้น
  • การถูกข่มเหง ทั้งพระธรรมดาเนียลและพระธรรมวิวรณ์เขียนขึ้นเพื่อหนุนใจให้ผู้เชื่อมีความหวังในพระเจ้า ดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อพระองค์ และไม่ประนีประนอมความเชื่อของตนแม้จะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากแสนสาหัสจนถึงขั้นที่จะต้องพลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อนั้นก็ตาม

พระธรรมดาเนียลบทที่ 7 มีอิทธิพลต่อพระธรรมวิวรณ์
ผู้อ่านพระธรรมวิวรณ์มีโอกาสรู้บริบทของพระธรรมดาเนียลบทที่ 7 ได้ง่ายกว่าที่จะรู้เรื่องราวเทพนิยายของพวกอัคคาเดียหรือเทพนิยายของพวกบาบิโลน ดังนั้นผู้เขียนพระธรรมวิวรณ์จึงได้นำเรื่องราวในดาเนียล 7 ไปขยายความ เนื้อหาของวิวรณ์ทั้งเล่มเป็นการขยายภาพห้องที่มีบัลลังก์ในดาเนียล (7:9) นอกจากนี้เรื่องของสัตว์ตัวที่สี่กับเรื่องเขาทั้งสิบก็ได้ถูกนำไปขยายความในวิวรณ์บทที่ 13 และ 14 ด้วย

เริ่มต้นผู้เขียนพระธรรมวิวรณ์ได้สรุปว่า บุตรมนุษย์ในพระธรรมดาเนียลคือพระเยซูคริสต์ และบรรดาผู้บริสุทธิ์ในพระธรรมดาเนียลก็คือธรรมิกชนหรือคริสเตียนในพระธรรมวิวรณ์ซึ่งก็คือประชากรของพระเจ้า

ทั้งผู้เขียนพระธรรมดาเนียลและพระธรรมวิวรณ์ไม่ได้ระบุว่าให้ผู้เชื่อจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับผู้ข่มเหงเลย ไม่ว่าพวกเขาจะต้องทนทุกข์ยากลำบากขนาดไหน เพราะชัยชนะของพวกเขามาจากพระเจ้าผู้สถิตในสวรรค์

ผู้เขียนพระธรรมวิวรณ์ได้แนะนำให้เราเห็นตั้งแต่บทแรกว่า พระเยซูก็คือ “ผู้หนึ่งซึ่งเจริญด้วยวัยวุฒิ” ของพระธรรมดาเนียล (7:9) โดยบรรยายพระลักษณะของพระองค์ตามนั้น (วว.1:13-14)

เราจะเห็นว่าผู้เขียนพระธรรมวิวรณ์ไม่เพียงใช้พระธรรมดาเนียลเป็นต้นแบบในการเขียนหนังสือของท่าน แต่ยังได้ตีความและขยายความสิ่งที่อยู่ในพระธรรมดาเนียลอีกด้วย