ความแตกต่างระหว่าง ฉบับเก่า (1971) กับ ฉบับมาตรฐาน (2011) 4/15

ความแตกต่างระหว่าง ฉบับเก่า (1971) กับ ฉบับมาตรฐาน (2011)

     คำถาม พระคัมภีร์ไทยฉบับ 1971ดีอยู่แล้ว สำนวนภาษาก็ไพเราะ อีกทั้งใช้เป็นข้อท่องจำแต่เดิมมา ทำไมสมาคมพระคริสตธรรมไทยจึงทำพระคัมภีร์ฉบับใหม่มาแทนที่ด้วยเล่า? ทำไมสมาคมฯ ไม่พิมพ์ฉบับ 1971 ออกมาจำหน่าย? โดยส่วนตัว ชอบฉบับ 1971ไม่ชอบฉบับ 2011 เพราะสำนวนภาษาไม่คุ้นเคยและพระนามพระเจ้าแต่เดิมก็เปลี่ยนไป ไม่คุ้นหู แล้วสมาคมฯ คิดเห็นอย่างไร? อยากรู้ว่าฉบับ 1971 ต่างจากฉบับ 2011อย่างไรบ้าง?


     คำตอบ จากคำถามสี่คำถามข้างต้น ทำให้ทราบว่าผู้ถามเป็นคนอนุรักษ์นิยม ท่านมองเห็นคุณค่า ความสำคัญ และ ประโยชน์ของพระคัมภีร์ฉบับเก่า (ในที่นี้คือ ฉบับ 1971) ท่านจึงอยากจะเก็บรักษาและสนับสนุนให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้ต่อไปนานเท่านาน. ทางสมาคมฯ เองก็เคารพความเห็นและความนิยมส่วนตัวของท่าน. ทั้งนี้เพราะพระคัมภีร์ทั้งสองฉบับเป็นของสมาคมฯ อย่างไรก็ดี ทางสมาคมฯ ขอเรียนชี้แจงบางสิ่งบางอย่างแก่ท่านเพื่อความเข้าใจร่วมกันและเพื่อตอบข้อสงสัยของท่านด้วยดังนี้คือ

๑. การแก้ไขคำแปลพระคริสตธรรมคัมภีร์ (Revision) เป็นเรื่องธรรมดาและจำเป็นสำหรับทุกประเทศที่ใช้พระคัมภีร์ คือประมาณสามสิบปีหลังจากพี่น้องคริสตชนได้ใช้พระคัมภีร์ฉบับก่อน สมาคมพระคริสตธรรมของแต่ละเเห่งก็จะพิจารณาว่าจะแก้ไขคำแปลของฉบับนั้นหรือไม่? อย่างไร? ทั้งนี้เพราะภาษามีชีวิต เมื่อเวลาผ่านไป ภาษามีการเปลี่ยนแปลง คำบางคำหรือวลีบางวลีอาจมีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิมหรืออาจไม่เหมาะสมกับบริบทที่ปรากฏในเวลาต่อมา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์เพื่อให้

  • สื่อความหมายได้ตรงกับความหมายในภาษาเดิมคือภาษาที่ใช้บันทึกพระคัมภีร์ อันได้แก่ ภาษาฮีบรู ภาษาอาราเมค และ ภาษากรีก
  • สื่อสารได้อย่างถูกต้องแก่คนปัจจุบันโดยใช้ถ้อยคำเหมาะสมกับแต่ละยุคแต่ละสมัย

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่า สมาคมฯ แก้ไขคำแปลพระคัมภีร์ แต่ไม่ได้แก้ไขถ้อยคำในภาษาเดิมที่พระเจ้าทรงให้ผู้รับใช้เขียนพระคัมภีร์ในสมัยโบราณ. ดังนั้น หากไม่มีการแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์แล้วอะไรจะเกิดขึ้น แน่นอน เรามีพระคัมภีร์ฉบับเก่าสมัยปู่ย่าตาทวด เราอ่านแล้วก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เพราะภาษาเก่าแก่. และบางตอน เราอาจเข้าใจผิดเลยก็ได้. ทั้งนี้ เพราะคำ วลี ที่เคยใช้ในอดีตนั้นทำหน้าที่สื่อความหมายได้ดี ถูกต้อง เหมาะสมกับสมัยนั้น แต่พอเวลาเปลี่ยนไป คำหรือวลีนั้นก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเหมือนก่อน. ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับแก้ เพื่อให้พระวจนะของพระเจ้าสื่อความหมายกับคนปัจจุบันได้ดีเหมือนที่เป็นในอดีต หรือ อาจดีกว่าอันเนื่องจากในปัจจุบัน เราอาจพบหลักฐานสำเนาโบราณพระคัมภีร์ที่เก่าแก่กว่าที่อดีตมี.

ในประวัติศาสตร์การแปลพระคัมภีร์ไทย มีการแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์สามครั้งด้วยกันคือ

  • ตอนต้นศตวรรษที่ 20 คือในปี 1920 สมาคมฯ ได้แก้ไขพระคัมภีร์ไทยฉบับ 1894โดย อ.สุข พงศ์น้อยและทีมงาน ฉบับแก้ไขนั้นเรียกว่า ฉบับ 1940
  • ตอนกลางศตวรรษที่ 20คือในปี 1954 สมาคมฯ ก็แก้ใขคำแปลฉบับ 1940 โดย อ.ศรัณย์ ชัยรัตน์และทีมงาน งานเสร็จสิ้นและฉบับแก้ไขนั้นคือ ฉบับ 1971
  • ตอนปลายศตวรรษที่ 20 คือปี  1997 สมาคมฯ ก็แก้ไขคำแปลฉบับ 1971 โดย อ.ทองหล่อ วงศ์กำชัยและทีมงานจนสำเร็จครบถ้วนคือ ฉบับ 2011 หรือ ฉบับมาตรฐาน

เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพระคัมภีร์ไทย ท่านสามารถอ่านรายละเอียดได้จาก www.thaibible.or.th/home/article/translation/223-2014-09-22-04-12-08

ดังนั้น เราจะเห็นว่าการแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ และ การนิยมฉบับก่อนเพราะไม่คุ้นเคยกับสำนวนภาษาของฉบับใหม่ก็เป็นเรื่องธรรมดา ข้าพเจ้ายังจำได้ดีว่า เมื่อเราต้องเปลี่ยนจาก มัดธาย (ฉบับ1940) มาเป็น มัทธิว (ฉบับ1971) มันลำบากแค่ไหน และมีกระแสต่อต้านแรงขนาดไหน บ้างสร้างกระแสข่าวว่า ฉบับ 1971 ไม่น่าใช้อ่านเพราะมีคนที่ไม่ใช่คริสตชนร่วมแปลด้วยคือ ท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งแท้ที่จริง ท่านไม่ได้เป็นผู้แปล แต่เป็นผู้ให้คำปรึกษาการแปลบางคำเมื่อคณะกรรมการแปลของสมาคมฯ ขอความเห็นจากท่านเท่านั้น. แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป ทุกสิ่งก็เข้าที่ของมัน. เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ประสิทธิภาพของฉบับ 1971 นั่นเอง. แม้ทุกวันนี้จะยังมีคริสตจักรอยู่บ้างบางแห่งหรือบางกลุ่มใช้ฉบับ 1940 ก็ตาม. หากฉบับ 1971 ไม่ดีเท่าฉบับ 1940 คริสตชนก็จะหันมาใช้ฉบับ 1940 ต่อไปแน่นอน. เรื่องอย่างนี้ก็เกิดขึ้นกับฉบับ 2011 ด้วยเช่นกัน. หากคุณภาพการแปลและการแก้ไขคำแปลไม่ดีเท่ากับฉบับก่อน คริสตชนก็จะยึดฉบับเดิมและใช้ต่อไป.

๒. พระคัมภีร์ไทยฉบับ 2011 เป็นพระคัมภีร์ฉบับล่าสุดที่สมาคมฯ ดำเนินการแก้ไขคำแปลจากฉบับ 1971 โดยใช้เวลา 14 ปี ผ่านการกลั่นกรองหลายขั้นตอนจากกรรมการผู้รอบรู้ภาษาเดิมและที่ปรึกษาของสหสมาคมฯ เพื่อให้แน่ใจว่า ความหมายถูกต้องกับสำเนาต้นฉบับภาษาเดิม อีกทั้งผ่านการขัดเกลาของนักลีลาภาษาเพื่อให้ได้ภาษาที่สละสลวยและสื่อสารได้กับคนไทยปัจจุบัน. แน่นอน พระคัมภีร์ฉบับ 2011 ยึดหลักความถูกต้องกับความหมายในภาษาเดิมมาก่อนความสละสลวยของภาษาไทย ดังนั้น บางตอนของฉบับนี้ก็อาจไม่ราบรื่นเมื่อเทียบกับฉบับอื่น. สมาคมฯ ได้มองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของฉบับ 2011 จึงประสงค์ให้คริสตชนได้ใช้พระคัมภีร์ฉบับนี้ในการอ่านและการศึกษาส่วนตัว หรือ การอ่านในกลุ่มผู้เชื่อ หรือ การอ่านในสถานนมัสการ ด้วยเหตุนี้ จึงจัดพิมพ์และจำหน่ายในวงกว้างเพื่อพี่น้องคริสตชนจะมีพระคัมภีร์ใช้และรู้จักใช้พระคัมภีร์.

๓. แม้สมาคมฯ จะสนับสนุนให้พี่น้องได้ใช้ฉบับ 2011 แต่หากพี่น้องนิยมชมชอบฉบับ 1971 สมาคมฯ ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพียงแต่ต้องการให้พี่น้องได้มีโอกาสอ่านฉบับใหม่บ้างเท่านั้นเอง.

สำหรับเรื่องความแตกต่างระหว่างฉบับ 1971 กับ ฉบับ 2011 นั้น หากพิเคราะห์ดูในวงกว้าง ก็พบว่า

๑. จำนวนหน้าต่างกัน คือ ฉบับ 1971 หนา 1766 หน้า ขณะที่ฉบับ 2011 หนา 1623 หน้า หรือกล่าวได้ว่า ฉบับหลังบางกว่า 143 หน้า

๒. แผนที่ ฉบับ 1971 มี 6 หน้า โดยจำแนกเป็นแผนที่พระคัมภีร์เดิม 3 หน้า และแผนที่พระคัมภีร์ใหม่ 3หน้า  ส่วนฉบับ 2011 มีแผนที่ 13 หน้า โดยจำแนกเป็นแผนที่พระคัมภีร์เดิม 8หน้า และแผนที่พระคัมภีร์ใหม่ 5 หน้า

๓. บทกลอน

ก. เรื่องการวรรคตอน  ฉบับ 1971 มีการเว้นระยะเป็นสามวรรค คือ วรรค ก วรรค ข และวรรค ค โดยกำหนดให้เศษวรรคของวรรค ก และ วรรค ข อยู่ในระยะวรรค ค แต่ฉบับ 2011 มีการเว้นระยะสองวรรคเท่านั้นคือ วรรค ก และวรรค ข ส่วนเศษวรรคของวรรคใด ก็ให้อยู่ในระยะของวรรคนั้นๆ

ข. คำ “เส-ลาห์” มีปรากฏ 74 ครั้งในสำเนาต้นฉบับภาษาฮีบรู โดยเฉพาะในพระธรรมสดุดี 71 ครั้ง และพระธรรมฮาบากุก 3 ครั้ง. แม้นักวิชาการทางพระคัมภีร์ไม่ทราบความหมายชัดเจนของคำนี้แต่ได้สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องหมายทางดนตรีสำหรับนักร้องและนักดนตรีเวลานั้น และเนื่องจากคำ”เส-ลาห์”นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความหมายของเนื้อหาพระคัมภีร์โดยตรง ดังนั้นพระคัมภีร์บางฉบับจึงได้ละคำนี้เสีย แต่ฉบับ 2011 ได้เก็บรักษาคำนี้ไว้เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ และเพื่อไม่ให้กระทบต่อใจความหลักของพระคัมภีร์ สมาคมฯ จึงได้กำหนดให้พิมพ์คำนี้ด้วยตัวเอนและให้ชิดขวา.

๔. จำนวนข้อในบางบทอาจไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างในพระธรรม 2 โครินธ์ 13 ในฉบับ 1971 จะมี 14 ข้อ แต่ในฉบับ 2011 จะมี 13 ข้อ แม้ว่าจำนวนข้อไม่เท่ากัน แต่เนื้อหาก็ยังครบถ้วน ทั้งนี้เพราะฉบับ 2011 ดำเนินตามการแบ่งข้อของพระคัมภีร์ใหม่กรีกฉบับล่าสุด นั่นคือ The Greek New Testament, Fourth Edition by United Bible Societies(1993)

๕. จำนวนเลข ในฉบับ 1971 มักเขียนด้วยตัวหนังสือ แต่ในฉบับ 2011 เขียนด้วยตัวเลขอารบิก ดูตัวอย่างในพระธรรมกันดารวิถี 1:21,23 และ 25 ดังนี้คือ

ฉบับ 1971 จำนวนคนในเผ่ารูเบนเป็นสี่หมื่นหกพันห้าร้อยคน…จำนวนคนในเผ่าสิเมโอนเป็นห้าหมื่นเก้าพันสามร้อยคน…จำนวนคนในเผ่ากาดเป็นสี่หมื่นห้าพันหกร้อยห้าสิบคน

ฉบับ 2011 จำนวนคนในเผ่ารูเบนคือ 46,500 คน…จำนวนคนในเผ่าสิเมโอนคือ 59,300 คน…จำนวนคนในเผ่ากาดคือ 45,650 คน

เหตุผลที่ฉบับหลังใช้ตัวเลขแทนตัวหนังสือ ก็เพื่อช่วยผู้อ่านให้มองเห็นและเปรียบเทียบจำนวนเลขได้ชัดเจน โดยเฉพาะในบริบทที่มีบัญชีรายชือจำนวนบุคคลหรือสิ่งของ.

๖. จำนวนเชิงอรรถ ฉบับ 1971 มี 502 แห่ง ส่วนฉบับ 2011 มี 3,012 แห่ง

นอกจากนี้ เฉพาะฉบับ 2011 ยังมี

๑. บทนำของพระธรรมแต่ละเล่ม ซึ่งมีคำอธิบายเกี่ยวกับเบื้องหลังหรือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ห่อหุ้มพระธรรมนั้นๆ ตลอดจนบทสรุปสาระสำคัญคร่าวๆ พร้อมกับโครงร่างเนื้อหาของพระธรรม ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น.

๒. หน้าอัญมณี (ท้ายเล่ม) เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นและทราบว่า อัญมณีแต่ละอย่างในพระคัมภีร์มีหน้าตาและสีสรรอย่างไรบ้าง เนื่องจากฉบับ 2011 ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเรียกอัญมณีตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณี ชื่อเหล่านี้เป็นคำทับศัพท์และอาจไม่คุ้นหูของผู้อ่าน อย่างไรก็ดีในอนาคต คาดว่าผู้อ่านจะรู้จักชื่ออัญมณีมากขึ้น (ดูตัวอย่างการแปลชื่ออัญมณีใน วิวรณ์ 21:19-20)

     ส่วนด้านเนื้อหาพระคัมภีร์ ก็จะขอหยิบยกมากล่าวเฉพาะที่เด่นๆ โดยจะเปรียบเทียบคำแปลที่แตกต่างระหว่างสองฉบับ โดยไม่ได้ยกเนื้อความมาทั้งข้อ และมีคำอธิบายตามเนื้อหาสำหรับบางตอน  ดังนั้นผู้อ่านก็จะเป็นผู้ตัดสินได้เองว่าเป็นอย่างไร? โดยจะแบ่งหัวข้อหลัก 2 หัวข้อคือ ๑. ความถูกต้องและความชัดเจน ๒. การอ่านเข้าใจง่าย นอกจากนี้ แต่ละหัวข้อข้างต้น ก็จะจำแนกแยกเป็นหัวข้อย่ออีก

๑. ความถูกต้องและความชัดเจน

          ก. ความถูกต้องกับความหมายในภาษาเดิม

๑) ยอห์น 3:16

ฉบับ 1971  เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลกจนได้ประทานพระบุตร…

ฉบับ 2011  พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้คือได้ประทานพระบุตร…

คำอธิบาย : จากการศึกษาการใช้คำกรีกคำหนึ่งในข้อนี้ทำให้ทราบว่า อัครทูตยอห์นต้องการสื่อความหมายถึงอากัปกริยาหรือการแสดงออกของความรัก (manner of love) มากกว่าดีกรีหรือขนาดของความรักของพระเจ้า (degree or extent of love) จุดเน้นมิได้อยู่ที่พระเจ้าทรงรักโลกมากแค่ไหน,แต่อยู่ที่พระองค์ทรงสำแดงความรักของพระองค์ต่อโลกอย่างไรต่างหาก.

๒) 1เธสะโลนิกา 5:4

ฉบับ 1971  วันนั้นจะมาถึงท่านอย่างขโมยมา

ฉบับ 2011  วันนั้นไม่น่าจะมาถึงท่านอย่างขโมยมา

คำอธิบาย: วันขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะมาอย่างขโมยมาในเวลากลางคืน ดู 1เธสะโลนิกา 5:2 แต่ในบริบทของข้อนี้หมายความว่า พี่น้องคริสตชนในเธสะโลนิกาไม่ได้อยู่ในความมืดแล้ว ดังนั้นพวกเขาไม่ต้องตกใจหรือประหลาดใจเมื่อวันนั้นมาถึง. ฉบับ 2011 พยายามให้ความหมายของทั้งข้อนี้ปรากฏชัดเจนโดยไม่ได้เปลี่ยนคำในภาษากรีกแต่อย่างใด.

๓) 1 ทิโมธี 2:8

ฉบับ 1971  อธิษฐานในที่ทุกแห่งด้วยใจบริสุทธิ์ ปราศจากโทโสและการเถียงกัน

ฉบับ 2011  ยกมืออันบริสุทธิ์ขึ้นอธิษฐานในทุกแห่งหน โดยปราศจากความโกรธหรือการทุ่มเถียงกัน

คำอธิบาย: อัครทูตเปาโลปรารถนาให้พี่น้องชายอธิษฐานในที่ทุกแห่ง โดยไม่มีใจโกรธและไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง. ส่วนท่าทางพื้นฐานในการอธิษฐานของคนยิวและคริสตชนในศตวรรษแรกๆ นั้นคือการชูมือทั้งคู่ขึ้นและอธิษฐานต่อพระเจ้า. ฉบับ 1971 แปลข้อนี้ตามความหมายโดยถือว่าการยกมือเป็นท่าทางของการอธิษฐานที่ผู้อ่านทราบอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องกล่าวถึงในคำแปล. ในขณะที่ฉบับ 2011 นั้น แปลตามตัวอักษรในฉบับกรีกโดยไม่ได้เพิ่มเติมคำใดลงไป อนึ่งท่าทางของการอธิษฐานในแต่ละวัฒนธรรมก็อาจต่างกันไป ดังนั้นคำแปลตามตัวอักษรในข้อนี้ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่จะเข้าใจว่า ท่าทางอธิษฐานของคนยิวและคริสตชนศตวรรษแรกนั้นเป็นอย่างไร.

๔) 1 ทิโมธี 6:6

ฉบับ 1971  เราได้รับประโยชน์มากมายจากทางของพระเจ้า พร้อมทั้งความสุขใจ

ฉบับ 2011  การอยู่ในทางพระเจ้าพร้อมกับมีความพอใจก็เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง

คำอธิบาย : ในข้อนี้ อัครทูตเปาโลต้องการจะบอกว่า ทางของพระเจ้าบวกกับความพอใจเท่ากับผลประโยชน์มากมาย.

๕) ยากอบ 5:17

ฉบับ 1971  ท่านได้อธิษฐานด้วยความเชื่ออันแรงกล้า

ฉบับ 2011  ท่านอธิษฐานอย่างจริงจัง

คำอธิบาย : ท่านยากอบได้หยิบยกผู้เผยพระวจนะเอลียาห์มาหนุนใจพี่น้องให้อุทิศตนในการอธิษฐาน โดยชี้ให้เห็นว่าท่านเอลียาห์ก็มีสภาพมนุษย์อย่างเดียวกับเรา แต่ท่านทุ่มเทอธิษฐานอย่างกระตือรือร้น จึงได้รับคำตอบจากพระเจ้า ท่านยากอบต้องการหนุนใจพี่น้องให้เอาอย่างเอลียาห์ นั่นหมายความว่า สิ่งที่เอลียาห์ทำ พี่น้องก็ทำได้. ดังนั้น คงต้องถามว่า ระหว่างความเชื่ออันแรงกล้ากับความจริงจังในการอธิษฐานนั้น อย่างไหนที่ผู้รับจดหมายของท่านยากอบทำได้ง่ายและแน่ใจกว่า.

อันที่จริง หากแปลตรงตัวอักษรภาษากรีกจะได้ว่า “โดยคำอธิษฐาน ท่านอธิษฐาน” ซึ่งเป็นสำนวนภาษาฮีบรูหมายความว่า “ท่านอธิษฐานอย่างจริงจัง”

๖) อพยพ 20:2

ฉบับ 1971  เราคือพระเจ้าของเจ้า

ฉบับ 2011  เราคือยาห์เวห์พระเจ้าของเจ้า

คำอธิบาย : คนอิสราเอลอยู่ในอียิปต์เป็นเวลานาน พวกเขารู้ว่าคนอียิปต์กราบไหว้พระหลายองค์ และแต่ละองค์ก็มีชื่อของตนเอง. พระคัมภีร์ข้อนี้เป็นบทนำก่อนเข้าสู่พระบัญญัติสิบประการ ในฉบับฮีบรูมีพระนามเฉพาะของพระเจ้ากำกับด้วย นั่นหมายความว่า พระเจ้าประสงค์จะให้คนอิสราเอลทราบว่าพระเจ้าองค์ไหนที่กำลังติดต่อกับพวกเขาอยู่ พระองค์ต้องการให้พวกเขารู้ว่า พระองค์เป็นใคร มีชื่อว่าอะไร และ เกี่ยวข้องกับพวกเขาอย่างไร

๗) อพยพ 20:3

ฉบับ 1971  อย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา

ฉบับ 2011  ห้ามมีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา

คำอธิบาย : จากการใช้โครงสร้างประโยคคำสั่งปฏิเสธในไวยากรณ์ฮีบรูของข้อนี้และข้ออื่นๆ สื่อความหมายถึงคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งเด็ดขาดและบังคับใช้ตลอดกาล. ดังนั้น ระหว่าง “อย่า…” กับ “ห้าม…” นั้น อย่างไหนจะสื่อถึงความหมายข้างต้นได้ดีกว่า.

๘) ปฐมกาล 4:26

ฉบับ 1971  คราวนั้น มนุษย์เริ่มต้นนมัสการโดยออกพระนามพระเยโฮวาห์

ฉบับ 2011  ตั้งแต่นั้นมา มนุษย์เริ่มออกพระนามพระยาห์เวห์

คำอธิบาย : พระนามเฉพาะของพระเจ้าในฉบับฮีบรูประกอบด้วยพยัญชนะสี่ตัว ต่อมาธรรมาจารย์ได้ใส่สระจากคำอีกคำหนึ่งคือคำว่า “อโดนาย”กำกับพยัญชนะทั้งสี่นั้น. เมื่อผสมพยัญชนะกับสระก็จะอ่านว่า “เยโฮวาห์” แต่นั่นไม่ใช่ความประสงค์ของธรรมาจารย์ให้อ่านอย่างนั้น แต่พวกเขาตั้งใจให้อ่านเป็นอีกคำหนึ่งคือคำว่า อโดนาย ทั้งนี้เพราะพวกเขาหลังจากกลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลนเชื่อว่าการออกพระนามพระเจ้าเป็นการผิดพระบัญญัติว่า ห้ามออกพระนามพระเจ้าอย่างไม่สมควร  ดังนั้นจึงออกพระนามไม่ได้ ก็เลี่ยงไปออกคำอื่นแทนที่. ถ้าพระนามพระเจ้ามิใช่ “เยโฮวาห์” แล้ว พระนามที่ถูกต้องคืออะไร? คนยิวเข้าใจว่าพระนามนั้นน่าจะออกเสียงว่า “ยาห์เวห์” สำหรับรายละเอียดของเรื่องนี้โดยเฉพาะ ขอให้ติดตามอ่านได้จาก www.thaibible.or.th/home/article/translation/242-2014-09-22-07-22-37

๙) โรม 12:10

ฉบับ 1971  ส่วนการที่ให้เกียรติแก่กันและกันนั้น จงถือว่าผู้อื่นดีกว่าตัว

ฉบับ 2011  จงขวนขวายในการให้เกียรติแก่กันและกัน

คำอธิบาย : ข้อความนี้ยากในการแปลความ อาจแปลได้อย่างฉบับแรก โดยเทียบเคียงกับ ฟีลิปปี 2:3หรือ อาจแปลได้อย่างฉบับหลัง. หากพิจารณากริยากรีกที่ใช้ในข้อนี้หมายถึง ไปก่อนและนำทาง นั่นน่าจะสื่อความหมายถึง เป็นผู้นำหน้า ในบริบทน่าจะหมายถึง ให้เป็นคนแรกที่ให้เกียรติคนอื่น ให้เป็นผู้นำในเรื่องการให้เกียรติ ให้กระตือรือร้นในการให้เกียรติคนอื่นอย่างที่สุด.

๑๐) สุภาษิต 3:1

ฉบับ 1971  บุตรชายของเราเอ๋ย อย่าลืมคำสอนของเรา

ฉบับ 2011  ลูกเอ๋ย อย่าลืมคำสอนของข้า

คำอธิบาย :บ่อยครั้งทีเดียว ที่คำว่า “เรา” เป็นคำสรรพนามแทนพระเจ้า ดังนั้น ผู้อ่านสุภาษิตอาจเข้าใจผิดว่าพระเจ้ากำลังพูดกับเขาโดยตรง แต่แท้จริงนี้เป็นคำกล่าวของผู้อาวุโสผู้มีปัญญาที่ประสงค์จะให้ผู้อยู่ในความปกครองของท่านรู้ว่าควรทำอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ ดังนั้น ฉบับหลัง จึงปรับเปลี่ยนคำสรรพนามมาเป็น “ข้า”

ข. การแสดงพหูพจน์ที่ชัดเจน (ในกรณีที่จำเป็น)

๑) ผู้วินิจฉัย 16:21

ฉบับ 1971  คนฟีลิสเตียก็มาจับท่านทะลวงตาของท่าน

ฉบับ 2011  คนฟีลิสเตียก็มาจับท่าน และควักลูกตาทั้งสองข้างของท่าน

๒) มัทธิว 10:10

ฉบับ 1971  หรือย่ามใช้ตามทาง หรือเสื้อ…หรือสวมรองเท้า…

ฉบับ 2011  อย่าเอาย่าม หรือเสื้อสองตัว หรือรองเท้าอีกคู่…

ค. การใช้คำเรียกขานที่ถูกต้องตามจริง

ลูกา 22:67

ฉบับ 1971  “ถ้าท่านเป็นพระคริสต์ จงบอกเราเถิด”

ฉบับ 2011  “ถ้าเจ้าเป็นพระคริสต์ จงบอกเรา”

คำอธิบาย : นี่เป็นคำพูดของพวกผู้นำการเมืองและการศาสนาที่กล่าวกับพระเยซู ขณะไต่สวนหาความผิดของพระองค์ ดังนั้นในสถานการณ์เช่นนี้ พวกเขาคงไม่ได้ให้เกียรติพระองค์อย่างแน่นอน.

ง. การใช้คำราชาศัพท์อย่างถูกต้อง (และเท่าที่จำเป็น)

๑) ปฐมกาล 33:11

ฉบับ 1971  พระเจ้าทรงโปรดกรุณาข้าพเจ้า

ฉบับ 2011  พระเจ้าทรงกรุณาข้าพเจ้า

คำอธิบาย : คำราชาศัพท์ที่ใช้ในฉบับหลังไม่ว่าจะเป็นคำกริยาหรือคำนามนั้น ทางสมาคมฯ ได้ปรึกษากับท่านผู้รู้ภาษาไทยอย่างดี และได้ใช้ราชาศัพท์ระดับราชวงศ์ตามหนังสือราชาศัพท์โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.

๒) เยเรมีย์ 8:14

ฉบับ 1971  และทรงประทานน้ำดีหมี

ฉบับ 2011  และประทานน้ำมีพิษ

คำอธิบาย : ดีหมี เป็นพืชขึ้นในป่า ใบคล้ายมะไฟ มีรสขม ใช้ทำยาได้. อย่างไรก็ดี ในข้อนี้ไม่ได้หมายถึงน้ำที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย. ตรงกันข้ามกลับหมายถึงน้ำรสขมที่เป็นพิษต่อร่างกาย. ดังนั้น ฉบับหลังแปลได้ใกล้ชิดกับความหมายในภาษาเดิมมากกว่า.

๓) 1ซามูเอล 20:24

ฉบับ 1971  พระราชาก็ประทับเสวยพระกระยาหาร

ฉบับ 2011  พระราชาก็ประทับเสวยอาหาร

๔) มัทธิว 26:42

ฉบับ 1971  ให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระองค์

ฉบับ 2011  ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์

คำอธิบาย : น้ำพระทัย หมายถึง น้ำใจ มิใช่ ความประสงค์. ส่วน พระทัย หมายถึง ใจ หรือ ความประสงค์. ในข้อนี้ มิได้หมายถึง น้ำใจของพระเจ้า แต่หมายถึง ความประสงค์ของพระองค์ต่างหาก.

๕) 2 พงศ์กษัตริย์ 1:2

ฉบับ 1971  ฝ่ายอาหัสยาห์ทรงตกลงมาจากช่องพระแกลตาข่าย

ฉบับ 2011  ส่วนอาหัสยาห์ทรงตกลงมาจากช่องหน้าต่างตาข่าย

คำอธิบาย : ฉบับหลังพยายามลดทอนคำราชาศัพท์ที่ยาก แล้วใช้คำธรรมดาแทน ทั้งนี้ก็ได้ปรึกษาผู้รู้ราชาศัพท์แล้ว.

จ. การใช้คำเรียกขานเพื่อให้เข้ากับบริบทไทย

ลูกา 15:12

ฉบับ 1971  บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า ‘บิดาเจ้าข้า ขอทรัพย์ส่วนที่ตกเป็นของข้าพเจ้าเถิด’

ฉบับ 2011  บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า ‘พ่อ ขอแบ่งทรัพย์สินส่วนที่ตกเป็นของลูกให้ลูกด้วย’

๒.การอ่านเข้าใจง่าย

          ก. โดยการแปลความหรือการถอดความ

๑) โคโลสี 2:14

ฉบับ 1971  พระองค์ทรงฉีกกรมธรรม์ซึ่งได้ผูกมัดเราด้วยบัญญัติต่างๆ ซึ่งขัดขวางเรา…

ฉบับ 2011  พระองค์ทรงฉีกเอกสารหนี้ที่มีคำสั่งต่างๆ ซึ่งต่อสู้และขัดขวางเรา…

คำอธิบาย :

คำ “กรมธรรม์” เป็นคำที่ใช้ในทางกฎหมาย ในอดีตหมายถึง เอกสารซึ่งทาสหรือลูกหนี้ยินยอมให้กรมการอำเภอทำไว้แก่เจ้าหนี้นายเงิน.

แต่ในปัจจุบัน หลายคนเข้าใจว่า “กรมธรรม์” หมายถึง เอกสารเกี่ยวกับการประกันภัย ระบุรายละเอียดต่างๆ อาทิ ชื่อผู้รับประกันภัย รายการสิ่งของที่ประกัน ชื่อผู้เอาประกันภัย จำนวนเงินเอาประกันภัย วันที่สัญญาเริ่มต้นและสิ้นสุด ตลอดจนเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ และหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย.

ดังนั้น ในอดีตความหมายของ “กรมธรรม์” ก็ถูกต้องตรงกับความหมายของผู้เขียนพระธรรมโคโลสี แต่มาในปัจจุบันกลับทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง. ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป็น “เอกสารหนี้” เพื่อให้สื่อความหมายได้ถูกต้อง. เมื่อพระเยซูทรงฉีกเอกสารหนี้ เราก็เป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาส ที่จะต้องทำตามเงื่อนไขก่อนๆ อีก.

๒) เอเฟซัส 6:12

ฉบับ 1971  …แต่ต่อสู้กับเทพผู้ครอง ศักดิเทพ เทพผู้ครองพิภพในโมหะความมืดแห่งโลกนี้ ต่อสู้กับเหล่าวิญญาณที่ชั่วในสถานฟ้าอากาศ

ฉบับ 2011  …แต่ต่อสู้กับพวกภูตผีที่ครอบครอง พวกภูตผีที่มีอำนาจ พวกภูตผีที่ครองพิภพในยุคมืดนี้ ต่อสู้กับพวกวิญญาณชั่วในสวรรคสถาน

คำอธิบาย : ในบริบท คริสตชนต้องสู้รบกับวิญญาณชั่วผู้เป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้า มิได้สู้รบกับทูตสวรรค์ซึ่งเป็นทูตรับใช้พระเจ่า ดังนั้นศัตรูของคริสตชนจึงไม่ใช่เทพ (ซึ่งในความเข้าใจของคนไทยหมายถึงวิญญาณที่มีอำนาจและมักจะให้คุณแก่มนุษย์) แต่เป็นภูตผีอันได้แก่วิญญาณร้ายที่คอยทำลายมนุษย์ต่างหาก.

๓) ยากอบ 1:27

ฉบับ 1971  การเยี่ยมเยียนเด็กกำพร้าและหญิงม่าย

ฉบับ 2011  การช่วยเหลือเด็กกำพร้าและหญิงม่าย

คำอธิบาย : หากแปลตรงตัวอักษร ก็เเปลว่า “การเยี่ยมเยียนเด็กกำพร้าและหญิงม่าย” แต่ในบริบท สิ่งที่พระเจ้าทรงยอมรับและเห็นว่าดีนั้นมิใช่เพียงแต่การไปหาเด็กกำพร้าและหญิงม่าย แต่หมายถึงการลงมือช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นทุกข์และมีสุข.

๔) 2 โครินธ์ 1:5

ฉบับ 1971  เพราะว่าเรามีส่วนทนทุกข์กับพระคริสต์มากฉันใด

ฉบับ 2011  เพราะความรักของพระคริสต์มากท่วมท้นเราอย่างไร

คำอธิบาย : แปลตามตัวอักษรว่า “เพราะการทนทุกข์ของพระคริสต์มากท่วมท้นเราอย่างไร” ซึ่งอาจหมายถึง ๑. การทนทุกข์ที่พระคริสต์ทรงทนเพื่อเราที่กางเขน นั่นคือ พระคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อเรา หรือ ๒. การทนทุกข์ของเราเพื่อพระคริสต์เมื่อเรารับใช้พระองค์ นั่นคือ เราทนทุกข์เพื่อพระคริสต์.

ฉบับ 1971 แปลโดยเลือกความหมายที่ ๒ และไม่มีเชิงอรรถอธิบาย. ขณะที่ฉบับ 2011 แปลโดยเลือกความหมายที่ ๑ แต่ถอดความโดยเปลี่ยนจาก “การทนทุกข์ของพระคริสต์” เป็น “ความรักของพระคริสต์นั้นได้ท่วมท้นเรา” เพราะการทนทุกข์นั้นเนื่องมาจากความรักของพระองค์นั่นเอง. พระเยซูทรงสำแดงความรักของพระองค์ด้วยการยอมทนทุกข์. ดังนั้นคำแปลจึงไปในทิศทางเดียวกับ โรม 5:5 ว่า ความรักของพระเจ้าหลั่งเข้าสู่จิตใจของเรา.

เหตุผลที่ฉบับ 2011 แปลเช่นนี้ก็เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนขึ้น เพราะหากแปลตรงตัวว่า “การทนทุกข์ของพระคริสต์มากท่วมท้นเรา” ก็จะทำให้ผู้อ่านสะดุดและงงงัน. แต่หากแปลถอดความว่า “ความรักของพระคริสต์มากท่วมท้นเรา” ผู้อ่านก็เข้าใจได้. อย่างไรก็ดี เราไม่พบคำแปลอย่างนี้ในฉบับมาตรฐานอื่นๆ

นอกจากนี้ ฉบับ 2011 ยังมีเชิงอรรถสำหรับคำแปลในความหมายที่ ๒ อีกด้วย. ผู้อ่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.thaibible.or.th/home/translation/222-2-1-5

๕) โรม 12:20

ฉบับ 1971  …เพราะว่าการทำอย่างนั้น เป็นการสุมถ่านที่ลุกโพลงไว้บนศีรษะของเขา

ฉบับ 2011  …เพราะว่าการทำเช่นนั้น จะทำให้เขารู้สึกตัวและกลับมาคืนดี

คำอธิบาย : เนื้อความในข้อนี้ หยิบยกมาจากพระธรรมสุภาษิต 25:21-22 ใจความในวรรคสุดท้าย หากแปลตรงตัวอักษรก็จะได้คำแปลอย่างฉบับแรกซึ่งยากแก่การเข้าใจ และมีการตีความหลายนัย อาทิ การทำเช่นนั้น จะทำให้ศัตรูสำนึกและละอายใจ เป็นต้น. อย่างไรก็ดี ทางสมาคมฯ ได้แปลโดยถอดความที่เข้ากับบริบทเพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจ และได้ใส่เชิงอรรถกำกับข้อนี้ เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ศึกษาทราบคำแปลตรงตัวอักษรด้วย

บางท่านอาจมีคำถามว่าทำไมสมาคมฯ ไม่เสมอต้นเสมอปลายในการแปลเนื้อความข้างต้น? ทำไมพระธรรมสุภาษิตจึงแปลตรงตัวอักษรและมีเชิงอรรถอธิบายความหมาย ขณะที่พระธรรมโรมแปลแบบถอดความและมีเชิงอรรถการแปลตรงตัวอักษร? นั่นเป็นเพราะลักษณะวรรณกรรมนั่นเอง พระธรรมสุภาษิตมีลักษณะเฉพาะตัวคือ สั้น กระชับ ได้ใจความ และ เต็มด้วยภาพเปรียบเทียบ ดังนั้นจึงต้องรักษาภาพการสุมถ่านลุกโพลงบนศีรษะนั้นไว้ แต่พระธรรมโรมมีลักษณะคำอธิบายชี้แจงตามเหตุตามผล แม้ได้อ้างอิงพระธรรมสุภาษิตก็จำเป็นต้องถ่ายทอดเอาความหมายออกมาสำหรับผู้อ่านปัจจุบัน.

อย่างไรก็ดี ผู้รู้บางท่านอาจไม่เห็นด้วยและเห็นว่าน่าจะแปลออกมาตามหลักการคือแปลตรงตัวอักษรเท่าที่ทำได้ และแปลเอาความหมายเท่าที่จำเป็น เพื่อให้เสมอต้นเสมอปลายในคำแปล. สำหรับพระธรรมโรมข้อนี้จึงมองเห็นต่างกันออกไปและทำให้คำแปลต่างไปด้วย. คำถามก็คือ ตรงนี้จำเป็นต้องแปลเอาความหมายด้วยหรือ? อย่างไร? นั่นเป็นคำถามให้สมาคมฯ เก็บไปคิดทบทวนดูในอนาคตข้างหน้า.

ข. โดยการใช้ภาษา ง่าย-ถูกต้อง-เหมาะสม-ทันสมัย

๑) ยอห์น 12:23

ฉบับ 1971  ถึงเวลาแล้ว ที่บุตรมนุษย์จะประสบเกียรติกิจ

ฉบับ 2011  ถึงเวลาแล้ว ที่บุตรมนุษย์จะได้รับพระเกียรติ

๒) มาระโก 14:35

ฉบับ 1971  ถ้าเป็นได้ ให้การย์แห่งกาลนี้ล่วงพ้นไปจากพระองค์

ฉบับ 2011  ถ้าเป็นได้ ขอให้ชั่วโมงนี้ผ่านพ้นไปจากพระองค์

๓) มัทธิว 22:35

ฉบับ 1971  มีบาเรียนผู้หนึ่ง

ฉบับ 2011  มีผู้เชี่ยวชาญบัญญัติคนหนึ่ง

คำอธิบาย : บาเรียน หมายถึง ผู้เล่าเรียน ผู้รู้ธรรม ผู้คงแก่เรียน เปรียญ. ในบริบทพระคัมภีร์หมายถึงบุคคลพวกหนึ่งที่มีชีวิตใกล้ชิดกับธรรมบัญญัติของโมเสสมาก ไม่ว่าจะเป็นการคัดลอก หรือ การอ่าน การใคร่ครวญ หรือ การจดจำธรรมบัญญัตินั้นๆ จนกระทั่งคนนั้นมีความรู้ ความช่ำชองในพระบัญญัติ. เขาสามารถอธิบายและประยุกต์พระบัญญัติให้เข้ากับบริบทของประชาขนได้อย่างดี.

๔) ยูดา 9

ฉบับ 1971  อัครเทวทูตาธิบดีมีคาเอล

ฉบับ 2011  มีคาเอลหัวหน้าทูตสวรรค์

๕) เอเฟซัส 4:19

ฉบับ 1971  เขามีใจปราศจากโอตตัปปะ

ฉบับ 2011  พวกเขาไม่มีความรู้สึกละอาย

คำอธิบาย : โอตตัปปะ หมายถึงความกลัวบาป แต่ในบริบทและคำที่ใช้สื่อความหมายว่าคนอธรรมไม่มีความละอายเมื่อทำบาป เขามีใจปราศจากหิริ (มิใช่ โอตตัปปะ)

๖) เยเรมีย์ 1:11

ฉบับ 1971  ข้าพระองค์เห็นไม้ตะพดอัลมันด์อันหนึ่ง

ฉบับ 2011  ข้าพระองค์เห็นกิ่งของต้นอัลมอนด์

๗) เฉลยธรรมบัญญัติ 8:8

ฉบับ 1971  แผ่นดินที่มีข้าวสาลีและข้าวบารลี

ฉบับ 2011  แผ่นดินที่มีข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์

๘) อพยพ 29:2

ฉบับ 1971  ขนมเหล่านี้จงทำด้วยยอดแป้งข้าวสาลี

ฉบับ 2011  ขนมเหล่านี้จงทำด้วยแป้งข้าวสาลีอย่างดี

คำอธิบาย : ยอดแป้ง หมายถึง ส่วนที่ดีที่สุดของแป้ง. แต่ในปัจจุบันไม่มีใครรู้จักยอดแป้ง ดังนั้นจึงต้องปรับแก้เป็นแป้งอย่างดี

๙) ปฐมกาล4:1

ฉบับ 1971  ฝ่ายชายนั้นสมสู่อยู่กับเอวาภรรยาของตน

ฉบับ 2011  ฝ่ายชายนั้นมีเพศสัมพันธ์กับเอวาภรรยาของเขา

คำอธิบาย : ความหมายของคำ “สมสู่” ในปัจจุบันใช้ในทางที่ไม่ดีเช่น การร่วมประเวณีผิดทำนองคลองธรรม หรือใช้กับสัตว์ที่ผสมพันธุ์กัน

๑๐) มัทธิว 4:3

ฉบับ 1971  ส่วนผู้ผจญมาหาพระองค์

ฉบับ 2011  ส่วนผู้ทดลองมาหาพระองค์

๑๑) มัทธิว 5:48

ฉบับ 1971  ผู้ทรงสถิตในสวรรค์เป็นผู้ดีรอบคอบ

ฉบับ 2011  ผู้สถิตในสวรรค์ทรงดีพร้อม

คำอธิบาย : การใช้ราชาศัพท์ที่ถูกต้องสำหรับกริยา “อยู่” คือ สถิต. นอกจากนี้วลี “ดีรอบคอบ” อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่ามีคุณธรรมสองอย่างคือ หนึ่ง ความดี และสอง ความรอบคอบ. สำหรับความหมายในที่นี้หมายความว่า พระเจ้าทรงดีครบถ้วน ดีทุกๆ ด้าน นั่นเอง.

๑๒) ลูกา 12:42

ฉบับ 1971  ใครเป็นคนต้นเรือนสัตย์ซื่อและฉลาด

ฉบับ 2011  ใครเป็นพ่อบ้านซื่อสัตย์และฉลาด

๑๓) สดุดี 86:17

ฉบับ 1971  พระองค์ได้ทรงช่วยข้าพระองค์และทรงเล้าโลมข้าพระองค์

ฉบับ 2011  พระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์ข้าพระองค์และทรงปลอบโยนข้าพระองค์

คำอธิบาย : ความหมายของคำ “เล้าโลม” ในอดีตต่างจากในปัจจุบัน

๑๔) สดุดี 100:4

ฉบับ 1971  จงเข้าประตูของพระองค์ด้วยการโมทนา…จงถวายโมทนาขอบคุณพระองค์…

ฉบับ 2011  จงเข้าประตูของพระองค์ด้วยการขอบพระคุณ…จงขอบพระคุณพระองค์…

ค. โดยการใช้มาตราชั่ง ตวง วัด ในระบบเมตริก

๑) ปฐมกาล 6:15  (ขนาดของเรือโนอาห์)

ฉบับ 1971  ยาวสามร้อยศอก กว้างห้าสิบศอก สูงสามสิบศอก

ฉบับ 2011  ยาว 133 เมตร กว้าง 22 เมตร สูง 13 เมตร

๒) 1 ซามูเอล 17:4  (ความสูงของโกลิอัท)

ฉบับ 1971  สูงหกศอกคืบ

ฉบับ 2011  สูง 3 เมตรกว่าๆ

คำอธิบาย : เนื่องจากปัจจุบัน คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับระบบเมตริกมากกว่าระบบไทยโบราณ ดังนั้นการปรับแก้มาใช้ระบบเมตริกจึงช่วยให้คนไทยอ่านพระคัมภีร์ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น.

ข้อมูลมากมายข้างต้นเป็นข้อสังเกตให้เราเห็นความแตกต่างในเนื้อหาคำแปลโดยมีจุดประสงค์ มิใช่เพื่อให้เรายกฉบับหนึ่งขึ้น แล้วกดอีกฉบับหนึ่งลง เพราะพระคัมภีร์แต่ละฉบับก็ดีและโดดเด่นในระยะเวลาของตน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็จำเป็นต้องพิจารณาว่าสมควรปรับแก้เนื้อความเพื่อให้สื่อความหมายกับคนในยุคปัจจุบันหรือไม่? อย่างไร? อีกราวสามสิบปีข้างหน้า หากองค์พระผู้เป็นเจ้ายังมิได้เสด็จมา ในปี ค.ศ. 2041 ก็น่าจะมีการพิจารณาว่า จะปรับแก้ฉบับ 2011 หรือไม่? และหากปรับแก้ และใช้เวลาเท่ากับที่เคยใช้มาคือ 14 ปี นั่นหมายความว่า เราจะได้ฉบับใหม่คือ ฉบับ 2055

ดังนั้น ขอทิ้งท้ายไว้ดัวยพระธรรมสุภาษิต 16:20 ว่า “ผู้ใส่ใจพระวจนะจะเจริญรุ่งเรือง และคนที่วางใจในพระยาห์เวห์จะสุขสบาย” ความสุข ความเจริญ จากองค์พระผู้เป็นเจ้าจงมีแด่ท่านทั้งหลายผู้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงสำแดงไว้แล้วในพระคริสตธรรมคัมภีร์เทอญ.

  • อ.ปัญญา โชชัยชาญ