คำกลอนฮีบรูไม่ถูกแปลเป็นคำกลอนไทยจริงหรือ?

ถาม:  ทำไม สมาคมพระคริสตธรรมไทยจึงไม่แปลพระคัมภีร์ส่วนที่เป็นคำกลอนฮีบรูให้เป็นคำ กลอนไทย?

ตอบ: 
ความทุกข์ข้าฯ มานักหนา           หนักเหลืออัตรา
ล้อมรอบตัวข้าฯ ท่วมทวี!
บาปไล่ตามล้างราวี                     มองมืด ทุกที
ไม่เห็นทั้งใกล้และไกล
ทุกข์มีมากล้นพ้นใจ                    หากจักนับ ไป
มากกว่าเส้นผมบนเศียร
จนข้าฯ รู้สึกวิงเวียน                   และหมด ความเพียร
ระทดท้อใจไปมา
ข้าฯ ขออธิษฐานภาวนา              วอนพระช่วยข้าฯ
ณ กาลบัดนี้ทันใด…
ข้าพระองค์อ่อนแอนักหนา           และหมดปัญญา
แต่พระก็ทรงห่วงใย
พระช่วยข้าฯ รอดทุกสมัย           ขอพระทรงชัย
อย่าได้รอช้าอยู่เลย!
เพลงสดุดี 40:12-13, 17 ฉบับ ประชานิยม
จากการหยิบยกข้อพระคัมภีร์ข้างต้น ซึ่งอยู่ในคำประพันธ์ประเภทกาพย์ฉบัง 16 คงจะเป็นคำตอบคำ ถามได้เป็นอย่างดีแล้วว่า สมาคมพระคริสตธรรมไทยมีพระคัมภีร์ฉบับที่แปลบทกวีในภาษาฮีบรูเป็นบทกวีใน ภาษาไทยแล้ว นั่นคือ ฉบับประชานิยม
พระคัมภีร์ฉบับนี้ได้แปลออกมาเป็นภาษาง่ายๆ น่าอ่าน เพื่อผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องคริสตศาสนาจะเข้าใจได้ อีกทั้งเป็นประโยชน์แก่คริสตศาสนิกชนด้วย มีอยู่หลายแห่งในพันธสัญญาเดิมได้แปลเป็นบทกวีทีไพเราะ ที่จะเป็นประโยชน์ในการนมัสการ และท่องจำได้ง่าย ได้แก่ พระธรรมเพลงสดุดี และหนังสืออื่นๆ แต่จุดประสงค์สำคัญของการแปลก็คือ ให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายได้
การแปลคำกลอนฮีบรูมาเป็นบทกวีในภาษาไทยนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องการความ ละเอียดลออที่จะคงรักษาความหมายเดิมไว้ อีกทั้งต้องการความสามารถในการเรียบเรียงถ่ายทอดเป็นบทกวีไทยที่มีความ ไพเราะซาบซึ้งและกินใจ ดังนั้นเราจึงมองเห็นงานแปล 3 ขั้นตอนคือ
1. แปลคำกลอนฮีบรูออกมาเป็นร้อยแก้วภาษา ไทยที่มีความหมายดั้งเดิม (Original Meaning) งานนี้ดำเนินไป โดยผู้แปลที่มีความรู้ภาษาพระคัมภีร์ และตัวพระคัมภีร์อย่างดี (ใน กรณีฉบับประชานิยมก็ถือเอาฉบับ Good News Bible เป็นพื้นฐาน)
2. เรียบเรียงร้อยแก้วนั้นเป็นบทกวีไทย ให้ได้ความไพเราะ ความถูกต้องของรูปแบบคำประพันธ์ไทย งานนี้ดำเนินโดยกวีและนักประพันธ์
สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษก็คือ ต้องไม่บิดเบือนความหมายเดิมของพระคัมภีร์ เพียงเพื่อให้เข้ากับแบบแผนคำประพันธ์ไทย เราจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง กล่าวคือ ความหมายเดิมของพระคัมภีร์เป็นหลัก ส่วนความไพเราะความถูกต้องของบทกวีไทยเป็นรอง ดังนั้น จึงต้องมีขั้นตอนสุดท้าย
3. หลังจากกวีทำงานของเขาเสร็จแล้ว ผู้แปลจะทำการตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าความหมายเดิมของพระคัมภีร์นั้นไม่ได้หลุดหายไป ในที่สุดเราก็จะได้พระคัมภีร์ส่วนที่เป็นคำกลอนนั้น ถูกต้องด้านความหมายและไพเราะกินใจด้านคำประพันธ์ไทย เราจึงได้ทั้งสองอย่าง (two in one)
เมื่อบรรยายความมาถึงจุดนี้ก็น่าจะตอบคำถามสมบูรณ์ แล้ว แต่ก็ยังอยากจะกล่าวต่อไปเกี่ยวกับบทกวีไทย กับ คำกลอนฮีบรู
บทกวีไทย มีหลายแบบหลายอย่าง อาทิ กลอนแปด กาพย์ฉบัง 16 กายพ์สุรางคนางค์ แต่ละแบบก็มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวตามแบบแผนคำประพันธ์ไทย ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ แต่อยากสรุปลักษณะทั่วไปของคำประพันธ์ไทยคือ
1. มีสัมผัสสระ
2. มีสัมผัสอักษร
3. มีการกำหนดจำนนวนคำในแต่ละวรรค
4. มีการกำหนดแบบแผนการสัมผัสตายตัว
5. คำนึงถึงความไพเราะของเสียง และ การสื่อความหมายที่กินใจ
ส่วนคำกลอนฮีบรู มีลักษณะโดดเด่นที่สุดคือ ความคู่ขนาน (Parallelism) ซึ่งทำให้มีความแตกต่างจากความ เรียงฮีบรู และนอกจากนี้ก็ยังมีลักษณะทั่วไปอื่นๆ อาทิ อักษรกล โวหารย้อนคำ การเล่นคำ ภาษาเปรียบเทียบ เป็นต้น ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะพบในความเรียงฮีบรูด้วย แต่ส่วนมากจะพบในกลอน
ดังนั้น เราจะเห็นว่า คำกลอนฮีบรูมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวบางอย่างก็คล้ายหรือเหมือนกับบทกวีไทย แต่หลายอย่างก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง บทกวีไทยเน้นการสัมผัสอักษรหรือสัมผัสสระ แต่คำกลอนฮีบรูมุ่งเน้นที่การสัมผัสความหมายมากกว่า
ต่อไปนี้จะกล่าวถึงลักษณะทั่วไปที่ปรากฏในคำกลอน ฮีบรู
      1. อักษร กล (Acrostic) ในคำกลอนแต่ละวรรคหรือแต่ละบาท (หนึ่งบาทมีสองวรรค) คำแรกจะขึ้นต้นด้วยพยัญชนะของฮีบรูตามลำดับ เช่น เพลงสดุดีบทที่ 25 บทที่ 112 บทที่ 119 เป็น ต้น สำหรับพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับ 1971 ทำได้เพียงกัน วรรคเป็นช่วงๆ ในเพลงสดุดีบทที่ 25 และไม่ทำอะไรเลยในบทที่ 112 แต่ใส่พยัญชนะไทยกำกับ ตั้งแต่ ก ถึง ฟ ในบทที่ 119 แต่ พระคัมภีร์อังกฤษฉบับโรนัลด์ นอกซ์ (Ronald Knox) พยายามแปล ข้อพระคัมภีร์ที่มีลักษณะอักษรกลออกมาตามลำดับพยัญชนะในภาษาอังกฤษ ดูตัวอย่าง เพลงสดุดีบทที่ 112 ข้อ 1 ถึง 3
A blessed man is he, who fears the Lord, bearing great love to his commandments. Children of his shall win renown in their country, do right, and thy sons shall find a blessing. Ease shall dwell in his house, and great prosperity; fame shall ever record this bounty.
      2. โวหารย้อนคำ (Chiasmus) ได้แก่ การสร้างประโยคคู่ขนาน โดยสลับตำแหน่งหรือข้อความ เพื่อเน้นหรือสร้างผลกระทบบางอย่าง โวหารย้อนคำมีลักษณะคล้าย AB BA ดังตัวอย่าง
เพลงสดุดี 84:8
Aข้าแต่พระเจ้าจอมโยธา  Bขอทรงฟังคำอธิษฐานของข้าพระองค์
Bขอทรงเงี่ยพระกรรณ   Aข้าแต่พระเจ้าของยาโคบ
อิสยาห์ 6:10
จงกระทำให้จิตใจAของชนชาตินี้มึนงง
และให้หูBทั้งหลายของเขาหนัก
และปิดตาCของเขาทั้งหลายเสีย
เกรงว่าเขาจะเห็นด้วยตาCของ เขา
และได้ยินด้วยหูBของเขา
และเข้าใจด้วยจิตใจAของ เขา
และหันกลับมาได้รับการรักษาให้หาย
3 การสัมผัสอักษร (Alliteration) ดู ตัวอย่างในเพลงสดุดี 122:6 (ในฉบับฮีบรู)
ชาลู เชโลม เยรูซาลายิม
ยิชลายู โอหะวาอิค
เราพบการสัมผัสอักษร ช และ ล ในแต่ละวรรค
4. การเล่นคำ (Paronomasia) ได้แก่การ ใช้คำที่มีเสียงคล้ายกัน แต่ความหมายต่างกัน ดูตัวอย่าง
ปฐมกาล 2:23
ชายจึงว่า
“นี่แหละ กระดูกจากกระดูกของเรา
เนื้อจากเนื้อของเรา
จะต้องเรียกว่าหญิง (อิช ชา)
เพราะหญิงนี้ออกจากชาย (อิช)”
อิสยาห์ 5:7
…ความยุติธรรม (มิ ช-พัท)…การนองเลือด (พิช-พัค)
…ความชอบธรรม (เซ-ดา คา)…เสียงร้องให้ช่วย (เซ-อาคา)
5. ภาษาเปรียบเทียบ (Figurative Language) การ ใช้ภาพเปรียบเทียบนี้ เราพบบ่อยในคำกลอนฮีบรู เช่นในเพลงสดุดี 23 พระ เจ้าทรงดูแลประชากรของพระองค์อย่างเดียวกับผู้เลี้ยงแกะดูแลแกะของเขา (ข้อ 1-4) และพระองค์ทรงเอาใจใส่เราดังเจ้าบ้านต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ (ข้อ 5-6)
ในเพลงสดุดี 91 เปรียบเทียบพระเจ้าดังแม่นกที่ปกป้อง ลูกๆ ของมัน
ในเพลงสดุดี 102:11 แทนที่ผู้เขียนเพลงจะว่า “ไม่ ช้าข้าพระองค์จะตาย” เขาก็ใช้ภาพเปรียบเทียบกับวันเวลาของเขา ดังเงาเวลาเย็นที่ไม่ช้าก็จะลับหายไป และเปรียบเทียบชีวิตของเขาดังหญ้าที่เหี่ยวโรยไป
6. ความคู่ขนาน (Parallelism) นี่คือ ลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของคำกลอนฮีบรูที่ทำให้เราแยกแยะได้ว่าอะไรคือคำกลอน อะไรคือความเรียง ความคู่ขนาน หมายถึง ข้อความสองวรรคหรือกว่านั้นที่เรียบเรียงขึ้น โดยมีจุดหประสงค์บางอย่าง หรือจะกล่าวอย่างคร่าวๆ ก็คือ หนึ่งความคิดถูกเขียนออกเป็นสองวรรค หรือกว่านั้น คู่ขนานกันไปความคู่ขนานแบ่งออกเป็น
หนึ่ง ความคู่ขนานแบบคือกัน (เหมือนกัน) หรือคล้ายกัน (Synonymous Parallelism)
วรรคที่สองกล่าวย้ำความในวรรคแรกอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้คำหรือวลีที่ต่างกัน แต่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกัน
ตัวอย่างแบบคือกัน (เหมือนกัน)
เพลงสดุดี 103:10
พระองค์มิได้ทรงกระทำต่อเราตามเรื่องบาปของเรา
หรือทรงสนองตามบาปผิดของเรา 
เพลงสดุดี 146:2

ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระเจ้า ตราบเท่าที่ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่
ข้าพเจ้าจะร้องเพลงสดุดีถวายพระเจ้าของข้าพเจ้า ขณะที่ข้าพเจ้ายังเป็นอยู่
ตัวอย่างแบบคล้ายกัน
เพลงสดุดี 19:2 
วันส่งถ้อยคำให้แก่วัน
และคืนแจ้งความรู้ให้แก่คืน
สอง ความคู่ขนานแบบค้านกัน (Antithetic Parallelism)
วรรคที่สองกล่าวข้อความตรงข้ามกับวรรคแรก โดยนำเสนอภาพตรงข้ามกับวรรคแรก อย่างกับนำเอาสีดำกับสีขาวมาวางใกล้กัน ดังนั้นจึงทำให้ความหมายของวรรคแรกโดดเด่นขึ้น เรามักจะพบความคู่ขนานลักษณะนี้ในหนังสือสุภาษิตของซาโลมอน ตัวอย่าง
เพลงสดุดี 37:21 
“คนอธรรมขอยืม และไม่จ่ายคืน
แต่คนชอบธรรมนั้นใจกว้างขวาง และ แจกจ่าย”
สุภาษิต 13:13 
“บุคคลผู้ดูหมิ่นพระวจนะนำการทำลายมาถึงตนเอง
แต่บุคคลผู้นับถือพระบัญญัติจะได้รับบำเหน็จ”
สาม ความคู่ขนานแบบคาบกัน (Synthetic Parallelism)
วรรคที่สองเพิ่มเติมความในวรรคแรกให้สมบูรณ์ขึ้น ทำให้ผู้อ่านได้ข้อมูลครบและชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่าง
เพลงสดุดี 21:6
“เราได้ตั้งกษัตริย์ของเราไว้แล้ว
บนศิโยน ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเรา”
เพลงสดุดี 145:18
“พระเจ้าทรงสถิตใกล้ทุกคนที่ร้องทูลพระองค์
ทุกคนที่ร้องทูลพระองค์ด้วยใจจริง”
การที่เรามีความเข้าใจในเรื่องความคู่ขนาน ก็มีส่วนทำให้เราเข้าใจความหมายในคำกลอนฮีบรูดีและถูกต้องยิ่งขึ้น