จะตีความอุปมาอย่างไรดี? 1/09

จะตีความอุปมาอย่างไรดี?

คำถาม : อุปมา เรื่อง “บ่าวที่สัตย์ซื่อและบ่าวที่ไม่สัตย์ซื่อ” ในพระธรรมมัทธิวบทที่ 24 ข้อ 45 ถึงข้อ 51 มีความหมายว่าอย่างไร? ทำไม จึงมีการลงโทษหนักถึงขนาดไม่ได้รับความรอดด้วย?

คำตอบ : คุณ วันชัย โรจน์มานะวงศ์ ได้เขียนมาถามเกี่ยวกับอุปมาเรื่องนี้หลายคำถามทีเดียว คำถามเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการแปล (Translation) นั่นหมาย ความว่า ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับตัวเนื้อหาของพระคัมภีร์ตอนนั้นๆ แต่เป็นคำถามเกี่ยวกับการตีความหมาย (Interpretation) ทางเรา ได้อ่านและสรุปประเด็นคำถามของคุณวันชัยออกมาให้กระชับรัดกุม ดังได้ปรากฏข้างต้น

แต่ก่อนจะลงมือตอบ ผมก็อยากจะปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับอุปมา (parable) ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ก่อนว่าหมายถึงอะไร โดยมากเราจะคิดถึงอุปมาของพระเยซูในพระคัมภีร์ใหม่ แต่ในพระคัมภีร์เดิมก็มีเรื่องราวในลักษณะอุปมาด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องที่ผู้เผยพระวจนะนาธันเล่าให้กษัตริย์ดาวิดฟัง ซึ่งส่งผลให้ดาวิดกลับใจสารภาพบาป (2ซามูเอล 12:1-4) หรือ เรื่องที่โยธามบุตรคนสุดท้องของผู้วินิจฉัยกิเดโอนเล่าให้ชาวเมืองเชเคมฟัง เกี่ยวกับต้นไม้ต่างๆ เสาะหาต้นไม้ที่จะมาเป็นราชาของพวกมัน (วนฉ.9:8-15) หรือ บทเพลงรักชาวสวนองุ่นของผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ที่เรียกร้องให้ผู้ฟังตัดสิน ว่าใครผิด ระหว่างชาวสวนผู้ตรากตรำกับเถาองุ่นทรยศ (อสย.5:1-7)

ดังนั้นกล่าวโดยสรุปก็จะได้ว่า อุปมา หมายถึง เรื่องเล่าที่ผู้ประพันธ์หยิบยกมาจากชีวิตประจำวันเพื่อจะสื่อความหมาย บางอย่างกับผู้ฟังในสมัยของเขา และจากหนังสือพจนานุกรมภาษาอังกฤษร่วมสมัยของบริษัทลองแมน ได้ให้คำนิยามของอุปมา (Parable) ว่า “เรื่อง สั้นสอนใจเกี่ยวกับศีลธรรมและศาสนา โดยเฉพาะเรื่องเล่าของพระเยซูในพระคัมภีร์”

อนึ่งพระคัมภีร์ส่วนที่เป็นอุปมาประกอบด้วยคำนำ เนื้อหา และบทสรุป  คำนำหมายถึงการบรรยายเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเล่า เรื่องอุปมา เนื้อหาหมายถึงเรื่องราวของอุปมา และบทสรุปหมายถึง หัวใจของอุปมา โดยเฉพาะเกี่ยวกับการนำมาใช้ (application) เรา จำเป็นต้องเข้าใจว่า อุปมาบางเรื่องมีครบทั้ง 3 ส่วน ยกตัวอย่างเช่น อุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดี (ลูกา 10:25-37 คำนำคือ ข้อ 25-29 กล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งคือ ผู้เชี่ยวชาญบัญญัติคนหนึ่งมาลองภูมิพระเยซูด้วยคำถามว่า เขาจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์ พระเยซูถามเขากลับว่า ธรรมบัญญัติบอกอย่างไร เขาตอบว่า จงรักพระเจ้าหมดหัวใจ และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง พระองค์ตรัสว่า ถูกแล้ว จงไปทำตามนั้นแล้วจะได้ชีวิต แต่เขากลัวเสียหน้า จึงถามพระองค์อีกว่า ใครคือเพื่อนบ้านของเขา ดังนั้นพระองค์จึงเล่าอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดี และนี่คือเนื้อหาของอุปมา ตั้งแต่ข้อ 30-35 โดยกล่าวถึง ชายสามคนที่พบคนบาดเจ็บสาหัสจากโจรปล้นระหว่างทาง สองคนแรกเห็นแล้วก็ผ่านไป แต่คนที่สามคือ ชาวสะมาเรียที่คนยิวรังเกียจเห็นแล้วสงสาร จึงช่วยเหลือผู้นั้นทันทีโดยไม่ได้คิดว่าจะได้อะไรตอบแทน เมื่อเล่าจบแล้ว พระเยซูถามผู้เชี่ยวชาญบัญญัติคนนั้นว่า ใครคือเพื่อนบ้านของคนที่ถูกปล้น และเขาตอบว่า คือคนนั้นแหละที่สำแดงความเมตตาแก่เขา พระองค์ตอบว่า จงไปทำอย่างนั้น นี่คือบทสรุป ตั้งแต่ข้อ 36-37) เป็นต้น อุปมาบางเรื่องมีไม่ครบ ยกตัวอย่างเช่น อุปมาเรื่องบุตรชายสองคน (มัทธิว 21:28-32 เนื้อหา คือข้อ 28-30 และบทสรุป คือ ข้อ 31-32) อุปมาเรื่องเชื้อขนม (มัทธิว 13:33 มีแต่เนื้อหาเท่านั้น)

ในเรื่องเกี่ยวกับการตีความอุปมาซึ่งหมายถึง การพยายามที่จะเข้าใจจุดประสงค์ของอุปมานั้น หากอุปมามีครบทั้งสามส่วน ก็ไม่ยากในการตีความทั้งนี้เพราะเราทราบเบื้องหลังและคำอธิบายของอุปมานั้น อยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น อุปมาเรื่องผู้หว่านพืช (มาระโก 4:3-8) มีการตีความอุปมานั้นแล้วโดยพระเยซูในมาระโก 4:13-20 ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องไปตีความอย่างใดอีก แต่ถ้าอุปมานั้นมีแค่เนื้อหากับบทสรุป การตีความก็ไม่ยุ่งยากเพราะบทสรุปนั้นช่วยให้เข้าใจจุดประสงค์ของอุปมานั้น ว่าต้องการจะมุ่งไปทิศทางใดอยู่แล้ว แต่หากอุปมามีแต่เนื้อหาเท่านั้น ก็จะต้องระมัดระวังในการตีความโดยตระหนักเสมอว่า เราพยายามจะหาว่าในอุปมานั้นผู้ประพันธ์มีจุดประสงค์อะไร

อนึ่งเราไม่อาจตีความอุปมาแบบเปรียบเทียบ (Allegory) ทุก จุดในรายละเอียดได้ (ยกเว้นมีคำอธิบายอุปมาอยู่แล้วในพระคัมภีร์) ยกตัวอย่าง อุปมาเรื่องชาวสะมาเรียใจดีในลูกา 10:25-37 เราไม่ สามารถตีความว่า เจ้าของโรงแรมคือ คริสตจักร และเงินสองเดนาริอันคือ พิธีบัพติศมาและพิธีมหาสนิทได้ เนื่องด้วยจุดประสงค์ของอุปมาเรื่องนี้ พระเยซูทรงต้องการจะเล่า เพื่อตอบคำถามผู้เชี่ยวชาญบัญญัติที่ถามว่า “ใคร คือเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” (ข้อ 19) ดังนั้นการที่ไปใส่ใจในรายละเอียดอื่น ทำให้เราหลงประเด็นได้ ในอุปมานี้พระองค์ต้องการสอนให้เรารู้ว่าใครคือเพื่อนบ้านของเรา และไม่เพียงเท่านั้นแต่เราสมควรสำแดงความรัก ความเมตตา ต่อเพื่อนบ้านด้วยการกระทำ ดังพระบัญญัติว่า “จงรักเพื่อนบ้าน เหมือนรักตนเอง (ข้อ 27)

นอกจากนี้ เรายังต้องระมัดระวังในการตีความอุปมาบางเรื่อง เช่น อุปมาเรื่อง พ่อบ้านที่ไม่สัตย์ซื่อในลูกา 16:1-13 พระเยซูมิได้ทรงหยิบยก อุปมาเรื่องนี้เพื่อจะสอนสาวกให้เป็นคนคดโกง เอาตัวรอดโดยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี แต่พระองค์ต้องการจะสอนสาวกให้รู้จักใช้ความคิดในการแก้ปัญหา รู้จักใช้โอกาสที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้เป็นประโยชน์ต่ออนาคต และแน่นอนต้องกระทำด้วยความสุจริตด้วย (ข้อ 10)

ตอนนี้หลังจากที่เราเข้าใจลักษณะ จุดประสงค์และแนวทางตีความอุปมาอย่างถูกต้องแล้ว ก็มาถึงคำถามตอนต้นเกี่ยวกับอุปมาเรื่องบ่าวที่ซื่อสัตย์ และบ่าวที่ไม่ซื่อสัตย์ในมัทธิว 24:45-51 เราพบว่าอุปมานี้ อยู่ในบริบทของการเสด็จกลับมาของพระเยซู และการพิพากษา โดยตลอดบทที่ 24 พระเยซูทรงตอบคำถามของสาวกในข้อ 3 ที่ว่า เหตุการณ์ที่พระวิหารจะถูกทำลายจะเกิดขึ้นเมื่อไร? จะมีหมาย สำคัญอะไรเกิดขึ้นเพื่อบอกว่าพระองค์จะเสด็จมาและจะสิ้นยุค? และ ในบทที่ 25 พระเยซูทรงเล่าอุปมาสองเรื่อง คือ เรื่องหญิงพรหมจารี 10 คน (ข้อ 1-13) เพื่อจะสอนให้สาวกเฝ้าระวังอยู่โดยไม่ประมาท และเรื่องเงินตะลันต์ เพื่อจะสอนสาวกให้ซื่อสัตย์ทำงานที่ได้รับมอบหมาย (ข้อ 14-30) และจบท้ายลงด้วย การพิพากษาบรรดาประชาชาติ (ข้อ 31-46) บริบทแวดล้อมช่วยกำหนดกรอบให้เราในการตีความ และอุปมาในมัทธิว 24:45-51 ไม่มีบทสรุปที่อธิบายจุดประสงค์อย่างชัดเจน ดังนั้น การตีความจึงต้องพิถีพิถัน เนื้อหาโดยสรุปของอุปมานี้ ก็คือ ข้อ 45 และ 46 กล่าวถึงบ่าวที่สัตย์ซื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายจากนาย โดยการรับใช้บ่าวอื่นด้วยการแจกอาหารตามเวลา ในข้อ 47 พระเยซูกล่าวสรุปถึงบำเหน็จที่บ่าวนั้นจะได้รับว่า นายจะตั้งบ่าวนั้นให้มีความรับผิดชอบมากขึ้นอีก และในตอนท้าย ข้อ 48 และ 49 กล่าวถึง บ่าวที่คิดว่านายคงมาช้า จึงไม่ใส่ใจทำงานรับใช้บ่าวอื่นๆ แต่กลับใช้สิทธิอำนาจในการทำร้ายบ่าวอื่นๆ และปล่อยตัวไปกับคนขี้เมา ดังนั้นในข้อ 50 และ 51 นายจะมาในเวลาที่บ่าวไม่ทันคิด และจะลงโทษบ่าวนั้นอย่างหนักและขับไล่ให้ไปรับชะตากรรมร่วมกับคนหน้าซื่อใจ คด

อุปมาเรื่องนี้คงจะสอนให้เราเตรียมตัวพร้อมรับเสด็จการมาของพระเยซู ซึ่งเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จมาเมื่อไร แต่การเตรียมพร้อม มิได้หมายถึง การนั่งคอยเฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไร แต่หมายถึง การทำหน้าที่ที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราอย่างสัตย์ซื่อ นั้นคือการปรนนิบัติรับใช้คนอื่น แต่หากเราเพิกเฉย ก็จะได้รับการลงโทษอย่างหนัก และรู้สึกเสียใจ อีกทั้งเจ็บใจตัวเองอย่างยิ่งที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนให้ดี แต่มันก็สายไปแล้ว

ส่วนที่คุณวันชัยถามว่า เป็นการลงโทษหนักขนาดไม่ได้รับความรอดนั้น ขอตอบว่าจากอุปมาเรื่องนี้ เราไม่สามารถระบุชัดเจนเช่นนั้นได้ การสรุปจากข้อความ “ที่นั่นจะมีแต่เสียงร้องไห้ขบเขี้ยวเคี้ยว ฟัน”ว่าหมายถึงนรกทุกครั้งอาจไม่ถูกต้อง ข้อความนี้ปรากฏ 7 ครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ คือ 6 ครั้ง อยู่ในพระธรรมมัทธิว และ 1 ครั้งในพระธรรมลูกา ในอุปมาเรื่องข้าวละมาน (มัทธิว 13:41, 42) และอวน (มัทธิว 13:49, 50) ก็ชัดเจนว่าที่นั่นหมายถึงนรก แต่ในอุปมาเรื่องบ่าวที่ไม่ซื่อสัตย์นี้ หมายความว่า บ่าวนั้นจะถูกไล่ออกจากบ้านนาย แล้วรู้สึกเสียใจและเจ็บใจตัวเองที่ไม่ได้เชื่อฟังนายเลยต้องสูญเสียอย่าง ใหญ่หลวง

  • อ.ปัญญา โชชัยชาญ