จะปกครองอย่างไรดี? 3/13

จะปกครองอย่างไรดี?

มีผู้หนึ่งถามมาว่า  เมื่ออ่านพระธรรมสุภาษิตบทที่ 29  ข้อ 21 ในพระคัมภีร์ไทยหลายฉบับ แล้วเกิดข้อสงสัยสองประการคือ

  1. คำกริยาในวรรคแรก ควรเป็นคำใดจึงถูกต้องกับบริบท? บางฉบับว่า “ประคบประหงม” บางฉบับว่า “ทนุถนอม” (ซึ่งควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็น “ทะนุถนอม”) และบางฉบับว่า “ตามใจ”
  2. เนื้อความในวรรคสอง ควรเป็นอย่างไร? เพราะคำแปลต่างฉบับต่างกัน

ขอเชิญพิจารณาดูคำแปลจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทยฉบับต่างๆ ข้างล่างนี้

  • คนที่ถนอมเลี้ยงบ่าวของตนมาแต่เด็กที่สุดปลายเขาก็จะทะนงตัวว่าเป็นลูกชาย (ฉบับ1940)
  • บุคคลที่ทนุถนอมคนใช้ของตนตั้งแต่เด็กๆ ที่สุดจะเห็นว่าเขาเป็นผู้รับมรดกของตน (ฉบับ1971)
  • คนที่ตามใจคนรับใช้ของตนตั้งแต่เด็กๆ ในที่สุดจะพบว่าเขานำความยุ่งยากมาให้ (ฉบับ2011)
  • ผู้ตามใจผู้รับใช้ตั้งแต่ผู้รับใช้ยังเป็นเด็ก จะต้องเสียใจในที่สุด (ฉบับคาทอลิก)
  • บุคคลที่ทะนุถนอมคนใช้ของตนตั้งแต่เด็กๆ ที่สุดจะเห็นว่าเขากลายเป็นบุตรชายของตน (ฉบับไทยคิงเจมส์)
  • การประคบประหงมคนรับใช้ตั้งแต่เด็ก เขาจะนำความทุกข์โศกมาให้ในที่สุด (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)
  • ถ้าเลี้ยงดูคนใช้แต่วัยเยาว์  ให้สิ่งเขาต้องประสงค์จำนงจิต  สักวันหนึ่งจะเสียดายกลายเป็นพิษทุกชนิดของเราเขาครอบครอง (ฉบับประชานิยม)

ก่อนอื่นทางสมาคมฯต้องขอออกตัวว่าการนำพระคัมภีร์ฉบับต่างๆมาเทียบเคียงกันนี้มิได้มีจุดประสงค์จะเปรียบเทียบว่าฉบับใดดีกว่าฉบับใดเพียงแต่ต้องการให้ผู้อ่านเห็นความแตกต่างในคำแปลของฉบับต่างๆและพยายามหาความหมายออกมาต่างหาก.

เมื่อพิเคราะห์ดูเนื้อหาโดยรวมของทุกฉบับเราพบความมุ่งหมายของผู้เขียนสุภาษิตข้อนี้ซึ่งนอกจากจะนำเสนอความจริงด้านหนึ่งของชีวิตแล้วยังเตือนสติผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองหรือเจ้านายให้ทราบว่าควรจะปฏิบัติต่อคนในบังคับบัญชาหรือคนในปกครองอย่างไรจึงจะส่งผลดีต่อเราและต่อเขา? แม้ว่าสุภาษิตจะกล่าวในเชิงลบแต่แน่นอนว่าผู้เขียนมีความประสงค์ในเชิงบวกโดยเนื้อความในวรรคแรกเป็นสาเหตุและเนื้อความในวรรคสองเป็นผลลัพธ์ซึ่งสืบเนื่องจากการกระทำในวรรคแรก

แม้ว่าสังคมสมัยพระคัมภีร์จะต่างจากสังคมปัจจุบันบ้างกล่าวคือคนรับใช้หรือบ่าวไพร่ในสมัยนั้นอยู่กับเจ้านายตั้งแต่เกิดก็มีเนื่องจากบิดามารดาของเขาเป็นทาสหรือข้ารับใช้ในบ้านนั้นแต่เริ่มแรกดังนั้นคนรับใช้จึงเป็นเด็กในการปกครองของเจ้านายคล้ายบุตร

ด้วยเหตุนี้หลักการต่างๆในพระธรรมสุภาษิตที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อคนรับใช้และต่อบุตรจึงอาจนำมาประสานกันได้บ้างตามควรจะขอหยิบยกตัวอย่างจากสุภาษิตบทที่29 ข้อ15 ,17,19 และ21ฉบับ2011 เราพบหลักการปฏิบัติต่อบุตรในข้อ15 และ17 อีกทั้งหลักการต่อคนรับใช้ในข้อ19 และ21

  • ไม้เรียวและคำตักเตือนให้ปัญญา   แต่เด็กที่ถูกปล่อยปละละเลยจะนำความอับอายมาสู่มารดา (ข้อ15)
  • จงตีสอนบุตรของเจ้าและเขาจะให้เจ้าสบายใจ เขาจะให้ความปีติยินดีแก่เจ้า (ข้อ17)
  • สักแต่ใช้คำพูดเท่านั้นจะสั่งสอนคนรับใช้ไม่ได้ เพราะแม้เขาจะเข้าใจแต่เขาก็ไม่เชื่อฟัง (ข้อ19)
  • คนที่ตามใจคนรับใช้ของตนตั้งแต่เด็กๆ ในที่สุดจะพบว่าเขานำความยุ่งยากมาให้ (ข้อ21)

ดังนั้นเมื่อเราประสานหลักการทั้งสองอย่างข้างต้นก็จะได้ว่าการสั่งสอนเด็ก(ไม่ว่าจะเป็นเด็กรับใช้หรือบุตรของตนเอง) ต้องผนวกด้วยไม้เรียวจึงจะส่งผลดีแก่ตัวเขาและไม่นำความยุ่งยากมาสู่เราผู้ดูแล. ในสุภาษิตข้อนี้น่าจะหมายความว่าหากผู้ปกครองหรือเจ้านายเลือกวิธีปกครองผิดคือการใช้เพียงคำพูดสั่งสอนและการเอาอกเอาใจเขาจะทำให้เขาเสียนิสัยและนำผลร้ายมาสู่ตนเองอย่างแน่นอน

สำหรับคำถามแรกนั้นเราพบคำกริยาในวรรคแรกของข้อ21 แปลต่างๆกันในแต่ละฉบับแต่พอจะจำแนกออกได้เป็นสองลักษณะคือ

  1. คำที่มีความหมายเชิงบวกในพจนานุกรมไทยได้แก่ถนอมเลี้ยงทะนุถนอมประคบประหงมเลี้ยงดูเช่นแม่เฝ้าประคบประหงมเลี้ยงดูลูกน้อย.
  2. คำที่มีความหมายกลางๆค่อนไปทางลบคือตามใจซึ่งหมายความว่ายอมให้ทำตามต้องการเช่นลูกอยากได้รถพ่อแม่ก็ตามใจ. อย่างไรก็ดี”ตามใจ” อาจมีความหมายไปในทางลบได้ด้วยเมื่อไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลความถูกต้องความชอบธรรมและความเหมาะควรแก่บุคคลหรือเหตุการณ์. การตามใจอย่างนั้นจึงไม่ก่อประโยชน์แก่ผู้ใดตรงกันข้ามกลับก่อโทษให้ภาษิตไทยให้คำเตือนสติว่า”รักวัว-ให้ผูก. รักลูกให้ตี.” นั้นก็หมายความว่าหากลูกทำผิดก็ต้องตีสอนมิใช่ตามใจปล่อยปละละเลย.

แท้ที่จริงทุกฉบับก็แปลได้ดีสื่อความหมายแก่ผู้อ่านแต่หากพิเคราะห์ในบริบทของข้อนี้เราจะพบว่าคำกริยาที่เหมาะสมกว่าคือคำกริยาในลักษณะที่สองคือ“ตามใจ” นั่นหมายความว่าหากผู้ใหญ่เลือกวิธีผิดในการปฏิบัติต่อเด็กที่สุดเด็กจะเสียนิสัยและส่งผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์มาถึงผู้ใหญ่ด้วย.

ส่วนคำถามที่สองว่า เนื้อความในวรรคสองของข้อ 21 ควรแปลออกมาอย่างไร? คำถามนี้ตอบยากกว่าคำถามแรก เมื่อสังเกตคำแปลของพระคัมภีร์ไทยในแต่ละฉบับข้างต้นและฉบับมาตรฐานอื่นๆ เราพบคำแปลแตกต่างกัน  และสาเหตุที่คำแปลต่างกันนั้นก็เนื่องมาจากคำฮีบรูคำหนึ่งคือ คำว่า “มาโนน” เป็นคำที่ปรากฏครั้งเดียวในพระคัมภีร์ฉบับฮีบรู (hapax legomenon) ดังนั้นจึงทำให้ไม่ทราบความหมายแน่ชัดของคำนี้. จึงทำให้มีการแปลคำนี้ต่างๆ กัน ซึ่งพอจะจำแนกออกเป็นแปดลักษณะคือ

  1. บุตรชาย (ฉบับ1940, ฉบับไทยคิงเจมส์, KJV, ASV, NKJV)
  2. ผู้รับมรดก (ฉบับ 1971, ฉบับประชานิยม, เชิงอรรถของฉบับ 2011, RSV, GNB)
  3. ความยุ่งยาก (ฉบับ 2011)
  4. ความทุกข์โศก (ฉบับคาทอลิก, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย, LXX, NIV, NCV)
  5. ความหยิ่งจองหอง (LEB)
  6. ความอ่อนแอ (NET)
  7. ความอกตัญญู (NJB)
  8. ความดื้อรั้น ไม่มีใครควบคุมได้ (เชิงอรรถของฉบับ 2011, Vulgate, NAB, footnote of GNB)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าคำแปลจะออกมาต่างกัน แต่เราพบว่าความหมายของวรรคสองนั้นออกมาในทางลบแน่นอน. ไม่ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ คนรับใช้จะกลับกลายเป็นบุตรชายหรือผู้รับมรดก ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เขาจะเข้าครอบครองทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งไม่ใช่สิทธิ์อันควรแก่เขา. หรือ คนรับใช้จะนำปัญหา เรื่องยุ่งยาก ความทุกข์ใจ มาให้เจ้านาย. หรือ เนื่องด้วยการที่เจ้านายตามใจจนเคยตัว คนรับใช้ก็เสียคุณธรรมไป กลายเป็นคนอ่อนแอ คนดื้อรั้นเอาแต่ใจ คนเหลือขอ ไม่มีใครควบคุมได้ จนที่สุดกลายเป็นคนเนรคุณ.

กล่าวโดยสรุป เป็นการยากที่จะตัดสินอย่างเด็ดขาดว่า เนื้อความในวรรคสองของข้อ 21 นั้น ควรแปลออกมาอย่างไรจึงจะถูกต้อง? ทั้งนี้เพราะไม่มีใครทราบความหมายแน่นอนของคำนั้นนั่นเอง. ถึงกระนั้น พระวจนะของพระเจ้าก็ยังทรงไว้ซึ่งสิทธิอำนาจและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนิน ชีวิตอย่างมีปัญญา.

  • อ.ปัญญา โชชัยชาญ
  • ภาพ Spukkato – Freepik.com