จิตวิญญาณ สีอะไร
ขณะเกิดความไม่สงบในบ้านเมืองเพราะความแตกแยกของคนไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงบทเพลง “จิตวิญญาณสีอะไร?” (What Color is a Soul?) ของคณะนักร้องวง The Heritage Singers (เดอะ เฮอริเทจ ซิงเกอร์ส ชมและฟังได้ที่ www.youtube.com/watch?v=YlBs7S3qVl) เนื้อเพลงมีความหมายที่น่าคิด บรรดาสีสันแห่งสายรุ้ง นภาสีเงินและพงไพรเขียวเพลินตา ดอกไม้สีแดงและเหลือง มลังเมลืองอยู่บนเนินเขา พระเจ้าข้า จิตวิญญาณสีอะไรหรือ? เด็กๆ เริงร่า เล่นสนุกด้วยกัน หารู้ไม่ว่าดีหรือร้ายคืออะไร เขาไม่รู้ว่าตัวเองอยู่กับเพื่อนบ้านที่ไม่เหมือนกัน พระเจ้าข้า จิตวิญญาณสีอะไรหรือ? เมื่อบรรดาผู้ชอบธรรมของพระเจ้าจะออกมาจากชนทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ ผิวแดงหรือเหลืองและขาวจะรับรู้ร่วมกันว่า จิตวิญญาณนั้นไซร้…ไร้สี
เหตุการณ์ความไม่สงบในช่วง 7-8 ปี ในประเทศของเรา สร้างความแตกแยกทางความคิดของประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการแบ่งแยกความคิดตามสีที่แต่ละคนเห็นด้วยและเข้าร่วมกลุ่ม ความแตกแยกที่เกิดขึ้นได้คืบคลานเข้ามาในโบสถ์ ในคริสตจักร สมาชิกโบสถ์บางคน บางกลุ่ม เลือกข้าง เลือกสี จนนำไปสู่ความแตกแยกทางความคิดส่งผลเสียต่อการรับใช้
ในช่วงที่เกิดความรุนแรงเดือนพฤษภาคม 2553 ผู้เขียนได้รับจดหมายจากเพื่อนชาวราวันดา ผู้เคยผ่าเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของคนสองเผ่า เขาสูญเสียญาติพี่น้องในครอบครัวทั้งหมด ตัวเขาเองเคยถูกจับแต่รอดจากการถูกฆ่าด้วยการช่วยเหลือของพระเจ้า หนีตายไปอยู่ประเทศอื่น เพื่อนคนนี้เขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และประสบการณ์ของตนเอง ผู้เขียนได้อ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเพื่อนชาวราวันดาคนนี้ทราบข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งของคนไทยจากข่าวในสื่อ เห็นภาพความขัดแย้งและการต่อสู้ จึงเขียนจดหมายมาให้ผู้เขียนและคนไทย ให้ข้อคิดว่า ชาวราวันดาเคยผ่านความขัดแย้งของคนในชาติ เขาอยากให้คนไทยทุกคนได้รับรู้ว่า ความขัดแย้งนี้อาจเพาะเชื้อนำไปสู่ความรุนแรงเหมือนชาวราวันดาซึ่งแตกแยกเพราะความแตกต่างของเผ่าพันธุ์ กลายเป็นสงครามกลางเมือง ชนเผ่าฮูตูได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล สะสมกำลังและอาวุธเข่นฆ่าคนเผ่าทุตซี สื่อมวลชนในประเทศเลือกข้าง โหมโฆษณาชวนเชื่อว่าเผ่าทุตซี เป็นผู้ทำลายชาติ เป็นคนเลว สมควรถูกกำจัดให้หมดแผ่นดิน ประชาชนถูกมอมเมาด้วยคำโฆษณาเหล่านั้น จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่โด่งดังไปทั่วโลกมีผู้เสียชีวิต 8 แสน ถึง 1 ล้านคน คนทั้งโลกห่วงใยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งก็คือ ประชากรราวันดาร้อยละ 95 เป็นคริสเตียน! สมาชิกคริสตจักรคาธอลิกร้อยละ 56.5 โปรเตสแตนท์ ร้อยละ 26 เซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสร้อยละ 11.1 มุสลิมร้อยละ 4.6 ที่เหลือนับถือผี
ในจำนวนผู้เสียชีวิต มีสมาชิกคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสถูกฆ่าตายรวมอยู่ด้วยประมาณ 1 แสนคน ที่เลวร้ายและไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้คือ สมาชิกโบสถ์เซเว่นธ์เดย์ฯ บางคนทำร้ายพี่น้องสมาชิกร่วมในโบสถ์ของตัวเอง เพียงเพราะเป็นคนต่างเผ่า คริสตจักรอื่นทั้งคาธอลิกและโปรเตสแตนท์ก็ล้วนตกอยู่ในสภาพเดียวกัน จดหมายของเพื่อนชาวราวันดากล่าวว่า ขอฝากให้คนไทยไตร่ตรองให้ดี “พระเจ้าไม่ได้สร้างคนสีแดงหรือคนสีเหลือง พระองค์ทรงสร้างมนุษย์” นับว่าเป็นข้อคิดที่เราคนไทยควรนำไปคิดพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
อิทธิพลของสื่ออินเตอร์เน็ตหลายรูปแบบแพร่กระจายข่าวสารต่างๆ มีการเผยชื่อ เผยประวัติทัศนคติ อย่างกว้างขวาง คริสเตียนจำนวนมาก ใช้สื่อเหล่านี้เพื่อการประกาศข่าวดี ขณะเดียวกันมีหลายคนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเปิดเผยแก่สาธารณชน ซึ่งย่อมมีผลต่อผู้นำข้อมูลมา เผยแพร่ทั้งด้านบวกและด้านลบ คริสเตียนต้องตระหนักให้ดีว่าทัศนคติของท่านอาจทำให้ผู้อื่นมองท่านในแง่ลบหรือไม่ ผู้เขียนเคารพในสิทธิและเสรีภาพในทางการเมืองของทุกท่าน ขอให้ตระหนักว่า อย่าให้ทัศนะทางการเมืองทำให้เราแสดงออกไม่เป็นไปตามคำสอนของพระวจนะ “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” ต้องเหนือกว่าทัศนคติใดๆ เพราะการเมืองการปกครองของโลกตั้งอยู่บนพื้นฐานของความบาป มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ นักการเมือง ผู้นำทางการเมืองทุกระดับมาแล้วก็จากไป จริงอยู่มีนักการเมืองที่ดี หวังดีต่อบ้านเมือง ซึ่งเราควรสนับสนุน แต่เมื่อต้องให้เลือกข้างจนสุดโต่ง อาจพลาดโอกาสจะได้จิตวิญญาณของคนที่ไม่เลือกนักการเมืองหรือพรรคที่เราสนับสนุนก็เป็นได้ เราจึงต้องหนักแน่นและยึดเอาคำสอนของพระคัมภีร์เป็นแนวทางในการวางตัว แต่หากเราเลือกข้างใดข้างหนึ่ง เลือกสีใดสีหนึ่ง ก็อาจขาดโอกาสเป็นพยานแก่คนที่อยู่ตรงกันข้ามกับเรา
ตัวอย่างของบรรพบุรุษแห่งความเชื่อหลายท่านเช่น โยเซฟ ไม่ให้บุตรหลานเล่นการเมืองอียิปต์ เมื่อตายแล้วไม่ยอมให้ฝังร่างในประเทศนั้น (ปฐก.50:24-25, ฮบ.11:22) โมเสสยอมทิ้งฐานันดรศักดิ์หันไปใช้ชีวิตร่วมกับคนของพระเจ้า (ฮบ.11:23-27) ดาเนียลและเพื่อนไม่ใยดีต่อตำแหน่งทางการเมือง ยอมแลกชีวิตเพื่อรักษาความเชื่อ (ดนล.3:17-18) พระเยซูทรงหลีกเว้นจากการเมืองแม้ประชาชนจะตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ (ยน.6:15) อัครสาวก อัครทูตเปาโลต่างไม่ยุ่งการเมือง มุ่งแต่การประกาศแผ่นดินของพระเจ้า คริสเตียนจึงแสดงออกให้คนทั่วไปได้เห็นถึงแผนงานและพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับคนไทยทุกคน มากกว่าการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง เราควรตระหนักเสมอ
พระเจ้าสร้างมนุษย์เท่าเทียมกัน
มนุษย์ต่างได้รับผลของบาปเหมือนกันทุกคน ไม่ว่าราชาหรือยาจก สุดท้าย “มีข้อกำหนดสำหรับมนุษย์ไว้แล้วว่าจะตายครั้งเดียว และหลังจากนั้นก็จะมีการพิพากษา” (ฮบ.9:26) และ “ทุกคนจะต้องทูลเรื่องราวของตัวเองต่อพระเจ้า” (รม.14:12) ไม่มีใครเหนือกว่าใคร เพราะในสวรรค์ไม่มีชั้นวรรณะ คนดีที่สุดและคนเลวที่สุดต่างจะได้รับการพิพากษาด้วยมาตรฐานอันเดียวกัน และสิ่งเดียว เท่านั้นที่จะทำให้คนใดคนหนึ่งรอดพ้นคำพิพากษาคือ “พระโลหิต” ของพระเยซู
ในคริสตจักรของพระเจ้า พระองค์ให้เราปฏิบัติต่อกันและกันอย่างเท่าเทียม ทุกครั้งที่ร่วมโต๊ะเสวยขององค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อล้างเท้าให้กันและกัน เราต่างวาง “หัวโขน” ไว้ “เพราะว่าพวกท่านทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้าโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ เพราะว่าพวกท่านทุกคนที่ได้รับบัพติศมาเข้าในพระคริสต์แล้ว ก็ได้สวมชีวิตของพระคริสต์ด้วย จะไม่เป็นยิวหรือกรีก จะไม่เป็นทาสหรือไท จะไม่เป็นชายหรือหญิง เพราะว่าท่านทั้งหลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในพระเยซูคริสต์” (กท.3:26-28) จากเหตุผลที่ยกมานี้ จึงไม่ควรที่คริสเตียนขัดแย้งกับพี่น้องร่วมความเชื่อ หรือกับคนต่างความเชื่อในเรื่องการเมืองจนลืมหน้าที่สำคัญของตนเองคือ นำสันติสุขของพระเจ้าไปสู่คนเหล่านั้น
พระเจ้าทรงให้เรารักกันและกัน
พระเจ้าทรงมอบพระบัญญัติผ่านทางชนชาติอิสราเอล ทรงย้ำให้คนอิสราเอล “จงรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านด้วย สุดจิ ตสุดใจและสุดกำลังของ ท่าน” (ฉธบ.6:5) และ “ห้ามเกลียดชังพี่น้องของเจ้าอยู่ในใจ…ห้ามแก้แค้นหรือผูกพยาบาท ลูกหลานคนชาติเดียวกับเจ้าแต่จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเองเราคือยาห์เวห์” (ลนต.19:17-19) พระเยซูทรงเน้นย้ำเรื่อง นี้อย่างชัดเจนว่า “เราให้บัญญัติ ใหม่ไว้กับพวกท่าน คือให้รักซึ่งกันและกัน เรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ท่านก็จงรักกันและกันด้วยอย่างนั้น ถ้าท่านรักกันและกัน ดังนี้แหละทุกคนก็จะรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา” (ยน.13:34-35) พระเยซูทรงประสงค์จะให้คนทั้งโลกรู้จักพระองค์ผ่านทางเราจากความรักที่แสดงออก ความขัดแย้งในสังคมคือโอกาสที่ดีของคริสเตียนที่จะนำเอาสันติสุขแท้ ความรักแท้ ของพระเยซูไปแบ่งปันแก่เพื่อนบ้านของท่าน
พระเจ้าทรงให้เราแสวงหาแผ่นดินเบื้องบนไม่ใช่แผ่นดินโลก
เมื่อครั้งที่พระเยซูทรงประทับอยู่ในโลกนี้ พระองค์ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาทางการเมือง มหาอำนาจโรมันยึดดินแดนประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป แอฟริกาและตะวันออกกลาง ประเทศอิสราเอลตกอยู่ภายใต้อำนาจของโรมัน คนยิวยุคนั้นได้รวมตัวกันต่อต้าน จัดตั้งกลุ่มใต้ดิน ต่อสู้กับทหารโรมัน หลายครั้งที่กลุ่มใต้ดินเหล่านี้ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง จำนวนมากถูกจับตรึงไม้กางเขน หนึ่งในจำนวนอัครสาวกของพระเยซูอยู่ในกลุ่มใต้ดินคือ “ซีโมนพรรคชาตินิยม” (มธ.10:4) มีผู้กล่าวว่า เขาหวังจะให้พระเยซูลุกขึ้นเป็นผู้นำการต่อต้านศัตรู จึงเข้ามาสมัครเป็นสาวกของพระองค์ ขณะที่พระเยซูกลับเน้นให้ทุกคนมองไปที่อาณาจักรในอนาคต ไม่ใช่แผ่นดินโลกนี้ ในพระธรรมพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม พระองค์ทรงเน้นคำว่า “แผ่นดินสวรรค์” ถึง 32 ครั้ง พระเยซูไม่ยอมรับความคิดในเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าจากฐานความคิดที่เห็นแก่ตัวของมนุษย์
หากพระเยซูและอัครสาวกจะเล่นการเมืองเพื่อสร้างอาณาจักรในโลก พระองค์ก็ทำได้ เพราะมีเชื้อไฟอย่างดี เช่น มีทาสอยู่ในอาณาจักรโรมัน 60 ล้านคน ที่พระองค์สามารถปลดปล่อยได้ มีคนยากจนมากมายที่พร้อมจะเข้าร่วมขบวนการ ชาวยิวอยากปลดแอกตัวเองจากอำนาจโรม ยิ่งไปกว่านั้น การทำการอัศจรรย์ต่างๆ และฤทธิ์อำนาจของพระองค์ไม่มีกษัตริย์หรือนักรบคนไหนในโลกจะมาต่อกรกับกองทัพของพระเยซูได้ แต่ทว่าพระราชกิจของพระองค์ไม่ใช่การเมือง แต่เป็นการไถ่บาป ดังที่ทรงตรัสว่า “เราเข้ามาในโลกเป็นความสว่าง….มาเพื่อจะช่วยโลกให้รอด” (ยน.12:46-47)
ขณะที่พระเยซูถูกจับตัวและถูกพิพากษาโทษ ปีลาต ผู้ปกครองยูเดียชาวโรมัน ถามพระองค์ว่า “เจ้าเป็นกษัตริย์ของพวกยิวหรือ?” พระเยซูตรัสตอบว่า “ราชอำนาจของเราไม่ได้เป็นของโลกนี้ ถ้าราชอำนาจของเรามาจากโลกนี้ คนของเราก็คงจะต่อสู้ไม่ให้เราถูกมอบไว้ในมือของพวกยิว แต่ราชอำนาจของเราไม่ได้มาจากโลกนี้” (ยน.18:33, 36) เมื่อโลกนี้สิ้นไป “พระองค์ทรงเป็นเจ้านายเหนือเจ้านายทั้งหลาย และทรงเป็นกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย” (วว.17:14) ด้วยเหตุผลเหล่านี้ พระเยซูจึงทรงปฏิเสธอำนาจใดๆ ของโลก ทรงทราบดีว่าอาณาจักรทั้งหลายตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงสมัยของพระองค์และในอนาคตจะต้องล่มสลาย แต่ราชอาณาจักรที่จะทรงนำมามอบให้เรายั่งยืนตลอดนิรันดร์ เพราะมี “รากฐานซึ่งพระเจ้าทรงเป็นสถาปนิกและทรงเป็นผู้สร้าง” (ฮบ.11:10) ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่คริสเตียนจะยึดติดอยู่กับแนวทางทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งของโลก เขาควรหันความสนใจและทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างไปที่หน้าที่และภารกิจสำคัญคือ การขยายอาณาจักรของพระเจ้า “ข่าวประเสริฐเรื่องแผ่นดินของพระเจ้านี้จะถูกประกาศไปทั่วโลก ให้เป็นคำพยานแก่บรรดาประชาชาติ…” (มธ. 24:14)
เมื่ออัครสาวกได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ คนเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เปโตร มีทัศนะต่ออำนาจในโลกเปลี่ยนไป ท่านขอให้คริสเตียนเชื่อฟังผู้ปกครอง อธิษฐานเผื่อพระจักรพรรดิของโรม (1 ปต.2:17) ผู้กดขี่ข่มเหงและสั่งฆ่าคริสเตียน เปาโลบอกให้คริสเตียนเสียภาษีตามกฎหมาย (โรม 13:1-8) เงินเหล่านั้นอ าจย้อนกลับเป็นอาวุธหรือเป็นเงินเดือนทหารที่กลับมาทำร้ายคริสเตียนก็ได้ เขาขอให้อธิษฐานเผื่อผู้นำบ้านเมือง เชื่อฟังผู้ปกครองบ้านเมืองผู้ข่มเหงคริสเตียน และให้อดทน (1 ปต.4:12-16) เพราะความมุ่งหวังของอัครสาวกคือ “เพื่อเราจะได้ดำเนินชีวิตอย่างสงบและมีสันติในทางพระเจ้าและเป็นที่นับถือ” (1 ทธ. 2:2) เพื่อเป็นโอกาสในการประกาศข่าวประเสริฐ
พระเจ้าให้เราแสวงหาจิตวิญญาณ
ไม่นานก่อนที่พระเยซูจะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ความคิดการเมืองในโลกยังอยู่ในใจของพวกสาวก “เมื่อเขาทั้งหลายประชุมพร้อมกัน พวกเขาจึงทูลถามพระองค์ว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะทรงตั้งราชอาณาจักรขึ้นใหม่ให้ชนชาติอิสราเอลในครั้งนี้หรือ?’ พระองค์ตรัสตอบเขาทั้งหลายว่า ‘ไม่ใช่ธุระของพวกท่าน ที่จะรู้เวลาและวาระที่พระบิดาทรงกำหนดไว้ โดยสิทธิอำานาจของพระองค์’” พระเยซูไม่ต้องการให้อัครสาวกมัวสาละวนอยู่กับอำนาจและอาณาจักรของโลกนี้ พระองค์ทรงประสงค์ให้เขาประกาศเรื่องแผ่นดินสวรรค์ที่กำลังจะมาในอนาคต ซึ่งจะดำรงอยู่เป็นนิจ
อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ มิชชันนารีผู้เสียสละกล่าวว่า “ถ้าคุณมองโลกในแง่ดี จะเห็นทุกอย่างเป็นไฟเขียว แต่หากมองแง่ร้ายก็จะเห็นทุกอย่างเป็นไฟแดง และหากคุณฉลาดอย่างล้ำลึก คุณจะต้องมองโลกด้วยตาที่บอดสี”
พี่น้องคริสเตียนทั้งหลาย “เราเป็นพลเมืองแห่งสวรรค์ และเรารอคอยผู้ช่วยให้รอดจากสวรรค์คือพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ฟป.3:20-21) จงอดทนรอวันนั้น “เมื่อบรรดาผู้ชอบธรรมของพระเจ้าจะออกมาจากชนทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ ผิวแดงหรือเหลืองและขาวจะรับรู้ร่วมกันว่า จิตวิญญาณนั้นไซร้….ไร้สี”
- ศาสนาจารย์ ดร.สุรเชษฐ์ อินสม
- ภาพ https://thaitabloid.com