จุ๊ จุ๊… จงเงียบ
ถาม ทำไมหลายตอนในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมาตรฐานจึงต่างจากฉบับเดิม? เนื้อความบางตอนก็แปลกๆ อ่านแล้วไม่เข้าใจ ยกตัวอย่าง พระธรรมอาโมสบทที่ 8 ข้อที่ 3 เนื้อหาคำแปลต่างจากฉบับอื่นๆ ? ดังนั้นจึงอยากให้สมาคมพระคริสตธรรมไทยตรวจสอบคำแปลอีกครั้ง เพื่อผู้อ่านจะไม่เข้าใจผิดหรือรู้สึกงง
ตอบ ก่อนจะตอบคำถาม ก็ขอเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมาตรฐาน 2011 พระคัมภีร์ฉบับนี้เป็นการแก้ไขคำแปลจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971 โดยตรวจสอบคำแปลอย่างใกล้ชิดกับสำเนาต้นฉบับภาษาเดิม และยึดหลักว่า หากคำแปลในฉบับ 1971 ดีอยู่แล้ว (หมาย ความว่า 1.คำแปลถูกต้องกับความหมายในภาษาเดิมคือ ภาษาฮีบรู ภาษาอาราเมค และภาษากรีก ซึ่งพระเจ้าทรงใช้บันทึกพระวจนะของพระองค์และ 2.คำแปลนั้นยังสามารถสื่อความหมายได้ดีกับคนไทยในปัจจุบัน) คณะ กรรมการแก้ไขพระคัมภีร์ก็จะรักษาคำแปลนั้นไว้โดยไม่แก้ไขแต่อย่างใด หากตรงกันข้าม คำแปลเดิมนั้นไม่สื่อความหมายของภาษาเดิม หรือ ไม่อาจทำหน้าที่ได้ดีเหมือนก่อนแล้ว คณะกรรมการก็จำเป็นต้องแก้ไขเท่าที่จำเป็น เพื่อผู้อ่านจะสามารถเข้าใจความหมายของพระคัมภีร์ได้อย่างสมบูรณ์
ดังนั้น คำแปลฉบับมาตรฐานจึงต่างจากฉบับ 1971 บ้างในบางตอนเป็นธรรมดา ความแตกต่างไม่ได้เป็นสาระสำคัญเท่ากับความเข้าใจในความหมายภาษาเดิม แม้ว่าความแตกต่างอาจกระทบความรู้สึกคุ้นเคยกับฉบับเดิมบ้างก็ตาม สมาคมฯ ได้ตีพิมพ์พระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานออกมาในปี ค.ศ. 2011 โดยประสงค์จะให้พี่น้องคริสตชนได้อ่าน ได้ศึกษา ได้ใคร่ครวญพระวจนะในภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อจะเข้าใจพระทัยของพระเจ้า เรารู้สึกขอบพระคุณพระเจ้าที่พี่น้องได้สนใจใส่ใจอ่านอย่างจริงจัง และได้แจ้งให้สมาคมฯ ทราบเมื่อพบคำผิด อีกทั้งได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับคำแปลบางตอน ทางสมาคมฯ ยินดีน้อมรับข้อเสนอเหล่านั้นแล้วนำกลับไปพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจว่าจะปรับเปลี่ยนหรือไม่? อย่างไร? ทั้งนี้ เราคำนึงถึงความหมายภาษาเดิมและความเข้าใจของผู้อ่านเป็นหลัก ตอนนี้ ให้เรามาพิจารณาพระธรรมอาโมส 8:3 จากฉบับต่างๆ 5 ฉบับด้วยกัน โดย 4 ฉบับเป็นของสมาคมฯ ได้แก่ ฉบับ 1940, ฉบับ 1971, ฉบับประชานิยม และ ฉบับมาตรฐาน 2011
- ฉบับ 1940 แลพระยะโฮวาตรัสว่าวันนั้นเสียงเพลงในราชวัง, จะกลับเป็นเสียงพิลาปร่ำไห้, ซากศพนั้นจะมีเป็นอันมาก, ทิ้งออกไปจากที่นั้นเงียบๆ
- ฉบับ 1971 พระเจ้าตรัสว่า “ในวันนั้น เสียงเพลงในพระวิหารจะเป็นเสียงร่ำไห้ จะมีศพมากมายทุกแห่ง ทิ้งไว้เงียบๆ”
- ฉบับประชานิยม ในวันนั้นเสียงเพลงในพระราชวังจะกลายเป็นเพลงโศก ทุกแห่งจะมีแต่ซากศพ จะไม่ได้ยินเสียงอื่นเลย”
- ฉบับคิงเจมส์ องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าตรัสว่า “ในวันนั้น เสียงเพลงในพระวิหารจะเป็นเสียงร่ำไห้ จะมีศพมากมายทุกแห่งทิ้งไว้เงียบๆ”
- ฉบับมาตรฐาน 2011 พระยาห์เวห์องค์เจ้านายตรัสว่า “ในวันนั้น เสียงเพลงในพระวิหารจะเป็นเสียงร่ำไห้ จะมีศพมากมายทิ้งไว้ทุกแห่ง จุ๊ จุ๊ จงเงียบ
จากการสังเกตคำแปลต่างๆ ข้างต้น เราพบความแตกต่างหลักๆ อยู่สามจุดคือ
1.ประธานของประโยค
2.ที่มาของเสียงเพลง พระราชวัง หรือ พระวิหาร?
3.ข้อความตอนท้าย
เมื่อพิเคราะห์ดูประธานในแต่ละฉบับ ก็พบว่ามีการแปลต่างกันไป ส่วนในฉบับฮีบรูมาจากคำสองคำคือ “อาโดนาย” และ “ยาห์เวห์” คำแรกบอกสถานะทางสังคม หมายถึง เจ้านาย หรือ องค์พระผู้เป็นเจ้า ส่วนคำที่สองคือ พระนามเฉพาะของพระเจ้า ดังนั้นฉบับมาตรฐานจึงแปลตรงตัวตามภาษาฮีบรูว่า “พระยาห์เวห์องค์เจ้านาย” ฉบับประชานิยมได้ละไว้เนื่องจากเนื้อความสืบเนื่องจากอาโมสบทที่ 8 ข้อ 2 ผู้อ่านย่อมทราบว่าใครเป็นผู้พูด ส่วนฉบับคิงเจมส์แปลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้า” เราเห็นความพยายามที่จะแปลคำฮีบรูสองคำออกมา แต่ไม่ได้แปลพระนามเฉพาะของพระเจ้า ขณะที่ฉบับ 1971 แปลเพียงว่า “พระเจ้า” (เนื่องจากเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแปลพระนามเฉพาะของพระเจ้าทุกครั้ง)
สำหรับความแตกต่างอย่างที่สองก็เนื่องมาจากคำฮีบรูว่า “เฮคาล” อาจหมายถึง พระราชวัง หรือ พระวิหาร ก็ได้
อนึ่ง ข้อความตอนท้ายต่างกันตรงการแปลคำฮีบรูคำหนึ่งคือ “ฮัส” ซึ่งมีความหมายพื้นฐานว่า “เงียบ หรือ สงบ หรือ นิ่ง” ดังนั้นหลายฉบับแปลคำนี้เป็นกริยาวิเศษณ์ ทำหน้าที่ขยายกริยาหลักของประโยคคือ “ทิ้ง” รวมความว่า “ทิ้ง(อย่าง)เงียบๆ” เมื่อเราเปรียบเทียบคำแปลส่วนนี้ของฉบับ 1971 และฉบับ คิงเจมส์ ก็จะเห็นว่าไม่ต่างกันเลย (แท้ที่จริงฉบับ 1971มาก่อนฉบับคิงเจมส์) แต่ฉบับมาตรฐานนั้นแตกต่างจากฉบับอื่นๆ เพราะมิได้แปลคำว่า “ฮัส” อย่างกริยาวิเศษณ์ แต่แปลอย่างคำอุทานเชิงคำสั่ง. และนี่เองที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกแปลกในเรื่องความหมายและในความรู้สึก เพราะฉบับมาตรฐานแปลว่า “จุ๊ จุ๊ จงเงียบ”
ดังนั้น ในข้อนี้เราจึงพบคำแปลสองอย่างที่ให้ความหมายต่างกัน คำแปลแรกฟังง่ายและเข้าใจง่ายคือ “…จะมีศพมากมายทุกแห่ง ทิ้งไว้เงียบๆ” แต่คำแปลอย่างหลังฟังแตกต่างจากเดิมคือ “…จะมีศพมากมายทิ้งไว้ทุกแห่ง จุ๊ จุ๊ จงเงียบ” ท่านอาโมสต้องการสื่อความหมายอย่างไหนกับผู้อ่านในสมัยของท่าน? ก่อนจะตอบคำถามนี้ ขอให้เราสังเกตดูการใช้คำ “ฮัส” ในพระคัมภีร์เดิม เราพบว่าคำนี้ปรากฏ 8 ครั้งด้วยกัน คือ
- กดว.13:30 แต่คาเลบได้ให้ประชาชนเงียบต่อหน้าโมเสสแล้วกล่าวว่า “ให้เราขึ้นไปทันทีและยึดแผ่นดินนั้น เพราะเราจะชนะแน่นอน”
- วนฉ.3:19 แล้วตัวท่านก็กลับจากรูปเคารพสลักที่อยู่ใกล้กิลกาลมาทูลเอกโลนว่า “ข้าแต่กษัตริย์ ข้าพระบาทมีข้อราชการลับที่จะทูลให้ทรงทราบ” กษัตริย์จึงทรงบัญชาว่า “เงียบๆ” บรรดามหาดเล็กที่เฝ้าอยู่ก็ทูลลาออกไปหมด
- นหม.8:11 พวกคนเลวีจึงให้ประชาชนเงียบ กล่าวว่า “จงนิ่งเสีย เพราะวันนี้เป็นวันบริสุทธิ์อย่าทุกข์โศกเลย”
- อมส.6:10 และเมื่อญาติผู้ตาย คือผู้ที่เผาศพ มาเพื่อจะนำกระดูกออกนอกบ้าน และจะกล่าวกับคนที่ซ่อนตัวอยู่ในห้องชั้นในของบ้านนั้นว่า “ยังมีใครอยู่กับเจ้าหรือ?” เขาจะตอบว่า “ไม่มี” และเขาจะกล่าวว่า “จุ๊ จุ๊ อย่าให้เราออกพระนามของพระยาห์เวห์”
- อมส.8:3 พระยาห์เวห์องค์เจ้านายตรัสว่า “ในวันนั้น เสียงเพลงในพระวิหารจะเป็นเสียงร่ำไห้ จะมีศพมากมายทิ้งไว้ทุกแห่ง จุ๊ จุ๊ จงเงียบ
- ฮบก.2:20 แต่พระยาห์เวห์สถิตในพระวิหารบริสุทธิ์ของพระองค์ จงให้ทั่วทั้งแผ่นดินโลกสงบนิ่งต่อพระพักตร์พระองค์เถิด
- ศฟย.1:7 จงเงียบสงบเฉพาะ พระพักตร์พระยาห์เวห์องค์เจ้านาย เพราะว่าวันแห่งพระยาห์เวห์มาใกล้แล้ว พระยาห์เวห์ทรงเตรียมการบูชาแล้ว และทรงแยกพวกที่พระองค์ทรงเชิญไว้ให้บริสุทธิ์
- ศคย.2:13 “บรรดามนุษย์เอ๋ย จงนิ่งสงบอยู่ต่อพระยาห์เวห์ เพราะว่าพระองค์ทรงลุกขึ้นและเสด็จจากที่ประทับอันบริสุทธิ์ของพระองค์แล้ว
เรา พบว่ามีการแปลคำฮีบรู (คือคำว่า “ฮัส”) ไว้ต่างกันในบริบทต่างกัน และพบการใช้คำนั้นในประโยคสองลักษณะคือ 1.ใช้อย่างเอกเทศ เหมือนคำอุทาน (ดู วนฉ.3:19, นหม.8:11, อมส.6:10 และ 8:3) 2.ใช้ร่วมกับคำหรือวลีอื่นที่ตามมา (ดู กดว.13:30, ฮบก.2:20, ศฟย.1:7 และ ศคย.2:13)
นอกจากนี้ หนังสือ Hebrew Lexicon ของ Brown, Driver and Briggs และหนังสือ Theological Wordbook of the Old Testament ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คำนี้เป็นคำอุทานที่สื่อความหมายเชิงคำสั่ง เป็นคำที่สร้างขึ้นจากการเลียนเสียงธรรมชาติ (onomatopoeia) ตรงกับคำอังกฤษว่า “hush” ซึ่งหมายถึงคำออกเสียงเพื่อขอให้เงียบ หากเทียบกับคำไทยก็อาจได้แก่คำว่า“จุ๊ จุ๊” (เหมือนเสียงจิ้งจกร้องทัก) คำว่า “ฮัส” ในพระคัมภีร์ถูกนำมาใช้ในบริบทเพื่อห้ามประชาชนพูด (อมส.6:10) หรือ ห้ามร้องไห้ (นหม.8:11) หรือ ใช้เรียกร้องให้สำรวมสงบใจเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า (ฮบก.2:20) หรือ สงบนิ่งขณะเศร้าโศกถึงคนตาย (อมส.8:3)
ดังนั้น จากการสังเกตลักษณะการใช้คำว่า “ฮัส”ในประโยคและความหมายตามพจนานุกรมภาษาเดิม แล้วเราเห็นว่าข้อความตอนท้ายของ อมส.8:3 ควรจะแปลว่า “…จะมีศพมากมายทิ้งไว้ทุกแห่ง จุ๊ จุ๊ จงเงียบ” พระคัมภีร์อังกฤษฉบับมาตรฐานส่วนมากก็แปลออกมาเช่นนี้ เพราะฉะนั้นเนื้อหาตอนนี้จึงหมายความว่า พระเจ้ากำลังบอกให้คนอิสราเอลในอาณาจักรเหนือทราบว่า ความหายนะกำลังจะเกิดขึ้นแก่พวกเขา ในเวลานั้น เสียงเพลงจะกลายเป็นเสียงร้องไห้ และผู้คนจะล้มตายเป็นเบือจนไม่มีที่จะฝัง ต้องทิ้งไว้เกลื่อนกลาด ในภาวะสยดสยองเช่นนั้น ขอให้พวกเขาสงบนิ่งอยู่
อนึ่ง ทางสมาคมฯ ตั้งใจแปลคำฮีบรูเดียวกันในบริบทคล้ายคลึงกันให้เหมือนกัน ในที่นี้ เราพบคำ “จุ๊ จุ๊” สองครั้งในพระธรรมอาโมส คือ อมส.6:10 และ 8:3 คำ “ฮัส” แปลว่า “จุ๊ จุ๊” และ “จุ๊ จุ๊ จงเงียบ” ตามลำดับ (คำ“จุ๊” พบในหนังสือ คลังคำ ของ ดร.นว-วรรณ พันธุเมธา ในคำว่า จุปาก หรือ จุ๊ปาก หมายถึง ทำปากดังจุๆ แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เราพบคำ“จุ” หรือ “จุๆ” เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง เสียงดังเช่นนั้น อย่างเสียงดูดลมเข้าปากเพื่อ ดุ ห้าม หรือ เตือน เป็นต้น ดังนั้น คำอุทาน “จุๆ” หรือ “จุ๊ จุ๊” ในภาษาไทยจึงอาจสื่อความหมายได้หลายอย่างแล้วแต่บริบท โดยอาจหมายถึง การดุว่าพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หรือ การห้ามกระทำบางอย่าง หรือ การเตือนให้ระวังบางสิ่งบางอย่าง ด้วยเหตุนี้จึงมักจะมีข้อความหลังคำอุทานกำกับอยู่เพื่อให้ทราบว่าสื่อความ หมายในทางใด) อมส.6:10 เป็นคำกล่าวของมนุษย์ต่อมนุษย์และตามมาด้วยคำสั่งห้ามดังมีใจความว่า … และเขาจะกล่าวว่า “จุ๊ จุ๊ อย่าให้เราออกพระนามของพระยาห์เวห์” ส่วนใน อมส.8:3 เป็นคำตรัสของพระยาห์เวห์ถึงการพิพากษาที่จะมาถึงประชาชนอิสราเอล และจบลงด้วยคำฮีบรูว่า “ฮัส” (แปลว่า “จุ๊ จุ๊” และต้องมีการเสริมความว่า “จงเงียบ” เพื่อผู้อ่านจะได้ทราบว่าคำอุทาน “จุ๊ จุ๊” ในที่นี้สื่อความหมายถึงการห้าม)
อย่าง ไรก็ตาม ข้อความ “จุ๊ จุ๊ จงเงียบ” อาจฟังแปลกหู บางคนคิดว่าไม่น่าจะเป็นคำจากพระโอษฐ์พระเจ้า แต่พระเจ้าทรงสื่อสารกับมนุษย์โดยภาษาที่เขาเข้าใจได้มิใช่หรือ? บางคนว่าข้อความ “จุ๊ จุ๊ จงเงียบ” ทำให้ผู้อ่านสับสน ไม่ทราบว่าหมายความว่าอย่างไร? (หมายความว่า ก.ให้คนร้องไห้หยุดร้อง ข.ให้คนที่ทราบข่าวสารนี้เงียบ ไม่แพร่งพรายเรื่องที่ได้ยินให้คนอื่นล่วงรู้ หรือ ค.ให้คนเวลานั้นตอบสนองเหตุการณ์เลวร้ายด้วยการสงบนิ่ง) นั่นก็จริง ดังนั้นคณะกรรมการอาจทบทวนเรื่องนี้อีกเพื่อปรับเปลี่ยนเนื้อความให้ชัดเจน ขึ้น หากจะปรับเปลี่ยนจาก “จุ๊ จุ๊ จงเงียบ” เป็น “จงสงบนิ่ง” ท่านผู้อ่านจะคิดเห็นอย่างไร?
- อ.ปัญญา โชชัยชาญ
- ภาพ Freepik