ฉบับที่ 5 กรกฎาคม-กันยายน2023

จากใจเลขาธิการ

สวัสดีครับ สมาชิกและเพื่อนของ TBS ทุกท่าน

สังคมก้มหน้า เป็นวลีที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ในสังคมของเราที่ผู้คนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการก้มหน้าจ้องมองอุปกรณ์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของโซเชียลมีเดีย หากท่านเป็นคนหนึ่งที่เสพ โซเชียลมีเดีย ท่านเคยคิดหรือไม่ว่า ท่านใช้เวลาในแต่ละวันมากน้อยเพียงไรกับสิ่งนี้

จากงานวิจัยของ We Are Social และ Meltwater พบว่า คนไทยใช้เวลาโดยเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง 44 นาทีกับโซเชียลมีเดีย คิดเป็น 19 ชั่วโมง 8 นาทีต่อสัปดาห์ หรือเกือบหนึ่งวันหนึ่งคืน ไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ คำถามสำคัญคือ คนเสพเนื้อหาอะไรบนโซเชียลมีเดีย แน่ทีเดียวคนจำนวนหนึ่งหมดเวลาไปกับการส่องดูความเป็นไปในชีวิตของผู้คนทั้งที่ตนรู้จักและไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว จำนวนหนึ่งใช้เวลากับการรับชมรายการบันเทิงต่างๆ อีกจำนวนหนึ่งไม่ได้มีเป้าหมายอะไร เพียงแต่ทำไปเพราะความเคยชิน ว่างเมื่อไรก็จะต้องหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดู ลองคิดดูว่า หากเขาเหล่านั้นเอาเวลาจำนวนนี้ไปใช้กับสิ่งอื่น เช่น การไขว่คว้าหาความรู้ หรือพัฒนาทักษะใหม่ๆ พวกเขาก็คงจะสามารถพัฒนาตนเองไปได้อย่างมากโดยใช้เวลาไม่นาน

เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษา ในอดีต สิ่งนี้ปกติเกิดขึ้นในรั้วของสถานศึกษา สถาบันกวดวิชา หรือสถาบันพัฒนาวิชาชีพ หลายคนไม่สามารถเรียนหนังสือหรือพัฒนาทักษะวิชาชีพได้หากขาดปัจจัยที่เรียกว่า เงิน แต่ทุกวันนี้ ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ที่หาได้โดยง่ายจากสื่อ ทุนทรัพย์ไม่ใช่เงื่อนไขอีกต่อไป แท้จริง ทุกคนสามารถเป็นได้ทั้งครูและนักเรียน หากรู้จักใช้สื่อ เราสามารถเรียนรู้ได้จากบุคคลต่างๆ ผ่านทางสื่อโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในหัวข้อหลากหลายตั้งแต่การเล่นดนตรี การประกอบอาหาร การซ่อมรถยนต์ การถ่ายภาพ การฝึกทักษะทางภาษา ไปจนถึงการบริหารงาน การลงทุน และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่า เรียนรู้ได้ทุกหัวข้ออย่างไม่จบสิ้น เราจึงควรฉวยโอกาสเช่นนี้ในการหาความรู้ เพราะหากเราไม่เรียนรู้ เราไม่ได้หยุดอยู่กับที่ แต่ก้าวถอยหลัง เพราะหลายคนที่อยู่รอบข้างเราจะพัฒนาและก้าวไปข้างหน้า ทิ้งเราไว้ข้างหลังโดยไม่ได้ตั้งใจ

การพูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรจะบริโภคสื่อบันเทิงเลย แต่หมายความว่า เราไม่ควรเสพติดสื่อหรือใช้สื่ออย่างไร้จุดหมายเพียงฆ่าเวลาไป หรือเสพสื่อด้วยความเคยชิน แต่เราควรจะใช้ประโยชน์จากสื่อ และควบคุมการใช้สื่อของเรา ไม่ใช่ให้สื่อมาควบคุมชีวิตของเรา และหากเราทำได้แล้ว เราก็คงจะได้ทั้งความผ่อนคลาย สารประโยชน์ และที่สำคัญ ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ซึ่งผมเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
ประกิจ ตรีทศายุธ

  • ประกิจ ตรีทศายุธ

คุณรู้หรือไม่

ทำไมพระเยซูทรงเลือกยูดาสเป็นสาวก

ยูดาสอิสคาริโอท น่าจะเป็นหนึ่งในสาวกของพระเยซูคริสต์ที่เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ที่ทรยศพระองค์ จนเป็นเหตุให้พระองค์ทรงถูกจับกุมและถูกตรึงบนไม้กางเขน แต่เรื่องที่น่าจะคาใจหลายคนก็คือ พระเยซูทรงทราบตั้งแต่แรกหรือไม่ว่ายูดาสจะกลายเป็นคนทรยศ และหากพระองค์ทรงทราบ ทำไมพระองค์จึงยังทรงเลือกเขาเป็นหนึ่งในสาวก

ยูดาสอิสคาริโอท เป็นบุตรของซีโมนอิสคาริโอท (ยน.6:71; 13:2) อย่างไรก็ตาม “อิสคาริโอท” (Iscariot) ไม่ใช่นามสกุลของเขา แต่อาจมีความหมายที่เป็นไปได้หลักๆ 2 แบบ คือ

  1. คำนี้มาจากคำฮีบรู “อิช เคริโอท/คีริยาท” (Ish Kerioth/Kiriyath) ซึ่งแปลว่า “ชายจากเมือง เคริโอท/คีริยาท” ซึ่งเป็นเมืองในภาคใต้ของอิสราเอล ถ้าเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่า ยูดาสเป็นคนจากแคว้นยูเดีย ขณะที่สาวกคนอื่นๆ นั้นมาจากแคว้นกาลิลีในภาคเหนือเหมือนกับพระเยซูคริสต์
  2. คำนี้อาจมาจากคำละติน “สิคารีอุส” (Sicarius) แปลว่า “ฆาตกร/นักฆ่า” ซึ่งมาจากรากศัพท์ “สิคา” (Sica) ซึ่งแปลว่า “กริช/มีดสั้น” คำนี้ยังใช้เรียกพวกยิวชาตินิยมหัวรุนแรงที่มักจะลอบสังหารเจ้าหน้าที่ของโรมด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่า ยูดาสเป็นพวกชาตินิยมเช่นเดียวกันกับซีโมนพรรคชาตินิยม (มธ.10:4; มก.3:18; ลก.6:15) ทั้งนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันดูจะเห็นด้วยกับความหมายแบบแรกมากกว่า

ในพันธสัญญาใหม่ ยูดาสอิสคาริโอทไม่ถูกกล่าวถึงเลยในจดหมายฝากต่างๆ และถูกเอ่ยถึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในพระธรรมกิจการของอัครทูต (กจ.1:16-18, 25) ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับยูดาสและการทรยศของเขาจึงพบได้เฉพาะในพระกิตติคุณสี่เล่ม ซึ่งพอจะรวบรวมมาสรุปความในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคำถามข้างต้นได้ดังนี้

  • พระเยซูทรงทราบล่วงหน้าว่า พระองค์จะทรงถูกมอบให้ถึงแก่ความตาย (มธ.17:22; 20:17-19; 26:1-2, 12, 45-46; มก.9:30-32; 10:32-34; 14:8-9, 27-28, 41-42; ลก.9:43-45; 18:31-34; ยน.13:1)
  • พระเยซูทรงแจ้งแก่พวกสาวกว่า คนหนึ่งในพวกเขาจะเป็นผู้ที่ทรยศพระองค์ (มธ.26:20-21; มก.14:17-20; ลก.22:21; ยน.6:64, 70; 13:11, 18, 21) นั่นคือยูดาสอิสคาริโอท (มธ.26:22-25; ยน.6:71; 13:25-30)
  • พระเยซูตรัสว่า ผู้ที่ทรยศพระองค์จะพบกับวิบัติหรือความพินาศ (มธ.26:24; มก.14:21; ลก.22:22; ยน.17:12; 19:10-11)

ข้อมูลเหล่านี้ดูจะบ่งชี้ว่า พระเยซูทรงทราบดีว่ายูดาสอิสคาริโอทจะทรยศและมอบพระองค์ให้ถึงแก่ความตายตามแผนการของพระบิดา แล้วตัวยูดาสเองก็จะพินาศด้วย ทั้งนี้ บางคนอาจสงสัยว่า พระเยซูคริสต์ทรงทราบว่ายูดาสจะทรยศเมื่อใดแน่ แม้จะมีบันทึกว่าพระองค์ทรงทราบ “ตั้งแต่แรก” (ยน.6:64) แต่คำนี้จะหมายถึงเมื่อพระองค์ทรงเริ่มต้นทำพันธกิจหรือเมื่อทรงเลือกพวกสาวก ซึ่งคำตอบก็อาจส่งผลให้มีนัยทางศาสนศาสตร์ที่แตกต่างกันด้วย


ถ้าพระเยซูทรงทราบตั้งแต่เมื่อทรงเริ่มต้นทำพันธกิจก็แสดงว่ายูดาสถูกกำหนดไว้แล้วให้เป็นผู้ที่จะทรยศและจะพินาศ หากเป็นเช่นนั้นก็อาจเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความชอบธรรมของพระเจ้า แต่ถึงแม้พระเจ้าจะทรงกำหนดยูดาสไว้เช่นนั้น การทรยศของยูดาสก็ไม่ได้ถูกนับว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือถูกต้อง เฉกเช่นในพันธสัญญาเดิมที่พระเจ้าทรงใช้ชนชาติอัสซีเรียและบาบิโลนเป็นเครื่องมือตีสอนลงโทษประชากรของพระองค์ และต่อมาก็ทรงช่วยกู้ประชากรของพระองค์โดยการพิพากษาความชั่วร้ายของสองชนชาตินี้ด้วย ดังนั้น การที่พระเจ้าทรงชอบธรรมจึงไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะทรงบันดาลให้เกิดเรื่องร้ายไม่ได้ และสิ่งเลวร้ายได้เกิดขึ้นกับพระเยซูก็เพื่อให้แผนการทรงไถ่นั้นสมบูรณ์

อีกด้านหนึ่ง ถ้าพระเยซูเพิ่งทรงทราบเรื่องนี้ตอนที่ทรงเลือกพวกสาวก โดยไม่ทรงทราบก่อนหน้านี้ ก็จะทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสัพพัญญูและความเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาของพระเยซูคริสต์ แต่ถึงแม้พระเยซูคริสต์จะทรงทราบเรื่องนี้ตอนที่ทรงเลือกพวกสาวก (เพราะพระองค์ทรงยอมจำกัดการรู้ล่วงหน้าของพระองค์เองในเรื่องนี้) พระองค์ก็ยังทรงยอมอนุญาตให้เรื่องนี้เกิดขึ้นและทรงยอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระบิดา ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาทั้งในความเป็นพระเจ้าที่เท่าเทียมกันและการมีความคิดมุ่งหมายที่สอดคล้องกัน และพระองค์ก็ได้ทรงเชื่อฟังพระบิดาโดยสมบูรณ์จนถึงที่สุด

ไม่ว่าอย่างไร พระเยซูก็ตรัสด้วยว่า เหตุการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อให้แผนการทรงไถ่นั้นสำเร็จ (มธ.26:52-56; มก.14:21; ลก.9:44; 18:31-33; 22:37,53; 24:6-8; ยน.13:18; 17:12) ยูดาสจึงถูกเลือกเข้ามาเป็นสาวกคนหนึ่งของพระองค์ด้วย และเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าทรงควบคุมทุกสิ่งอยู่ แม้แต่สิ่งชั่วร้ายที่มุ่งต่อสู้ขัดขวางพระองค์ พระองค์ก็ทรงสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จและเกิดผลดีในที่สุดได้ เราจึงควรแสวงหาและยอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเราเสมอ

  • ภาพจาก www.churchofjesuschrist.org

กิจกรรม TBS

กลับมาอีกครั้งในรูปแบบ
ออนไซต์
ซูเปอร์จิ๋วเจาะโลกพระคัมภีร์ ระดับประเทศ ปี 2023

“ซูเปอร์จิ๋วเจาะโลกพระคัมภีร์” เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เยาวชนคริสเตียนไทยรักการอ่านพระวจนะพระเจ้า อีกทั้งยังเสริมสร้างจิตวิญญาณให้เข้มแข็ง กิจกรรมนี้ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีและได้มีเยาวชนจำนวนมากให้การตอบรับเป็นอย่างดีมาโดยตลอด โดยปีนี้เป็นครั้งที่ 22

ในปีนี้ การแข่งขัน “ซูเปอร์จิ๋วเจาะโลกพระคัมภีร์ ระดับประเทศ ปี 2023” ได้กลับมาอีกครั้งทั้งในรูปแบบออนไซต์ที่กรุงเทพฯ และรูปแบบออนไลน์ โดยใช้พระธรรมลูกาบทที่ 1-24

ท่านสามารถติดตามรายละเอียดเรื่องวัน เวลา และสถานที่ ได้ทางเว็บไซต์ หรือ เฟสบุ๊ค ของ TBS


สนุกกับพระคัมภีร์


แนะนำสินค้า

 


พันธกิจ TBS

การเผยแพร่ และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับพระคัมภีร์

ด้วยปณิธานของ TBS ที่จะช่วยให้คนไทยทุกคนมีพระคัมภีร์ใช้ และรู้จักใช้พระคัมภีร์ นอกจากพันธกิจด้านการแปลและการผลิตพระคัมภีร์แล้ว TBS ยังดำเนินพันธกิจด้านการเผยแพร่พระคัมภีร์ ผ่านการออกบูธจำหน่ายพระคัมภีร์เคลื่อนที่ การเผยแพร่พระคัมภีร์ในรูปแบบดิจิทัล โครงการจิตอาสามอบพระคัมภีร์ให้แก่ผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมกับพระคัมภีร์ อาทิ สัมมนาวิชาการด้านพระคัมภีร์ กิจกรรมซูเปอร์จิ๋วเจาะโลกพระคัมภีร์ กิจกรรมอาลักษณ์ รวมทั้งโครงการในอนาคต เช่น ค่ายหรือทัศนศึกษาประวัติศาสตร์พระคัมภีร์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้อ่านพระคัมภีร์มีความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้หลักการที่ได้

ขอเชิญร่วมสนับสนุนพันธกิจกับเรา

โดยการถวายทรัพย์ผ่านบัญชี “สมาคมพระคริสตธรรมไทย” ธนาคารกรุงเทพ สาขาอินทามระ เลขที่บัญชี 138-0-86415-5
หากท่านต้องการใบเสร็จรับเงิน กรุณาส่ง “หลักฐานใบโอนเงินสนับสนุนพันธกิจสมาคมฯ” มาทาง โทรสาร 0-2616-0517, อีเมล tbs@thaibible.or.th หรือ ไลน์ @thai.bible

“…จงให้เขา แล้วพวกท่านจะได้รับด้วยแบบยัดสั่นแน่นพูนล้นเต็มหน้าตักของท่าน เพราะว่าเมื่อท่านตวงให้เขาเท่าไร ท่านก็จะได้รับการตวงกลับคืนไปเท่านั้นเช่นกัน”

  • ลูกา 6:38 (ฉบับมาตรฐาน)