ชีวิตคริสเตียนกับคำสอนในพระคัมภีร์
การเจิมกับการเชื่อฟัง
ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเริ่มเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาโดยไม่ต้องมีการกักตัว ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างหนาแน่น ขณะเดียวกัน ก็ได้มีนักเทศน์เน้นการเจิมเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก และได้มีการจัดประชุมใหญ่หลายที่หลายแห่ง และมีคริสเตียนไทยจำนวนมากเข้าร่วม ด้านหนึ่งก็ดูเหมือนเป็นสิ่งดี แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจทำให้คริสเตียนจำนวนหนึ่งเน้นเรื่องการอัศจรรย์เพียงอย่างเดียว และมองข้ามเรื่องฝ่ายวิญญาณที่สำคัญอีกด้านหนึ่งไปคือเรื่องการเชื่อฟัง
ในวันนี้ จึงอยากนำเรื่องราวจากพระคัมภีร์มาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ
ซาอูลและดาวิด
ทั้งสองเป็นกษัตริย์อิสราเอลที่ได้รับการเจิมจากซามูเอล
การเจิมซาอูล
ซาอูลเป็นคนจากเผ่าเบนยามิน เป็นคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ เป็นคนอิสราเอลคนแรกที่ได้รับการเจิมเป็นกษัตริย์ของอิสราเอล การเจิมของซาอูลนั้นชัดเจนมาก เพราะหลังจากแยกจากซามูเอลแล้ว ซาอูลได้เจอกับผู้เผยพระวจนะหมู่หนึ่ง และพระวิญญาณของพระเจ้าทรงสวมทับท่าน และเมื่อคนทั้งปวงที่รู้จักท่านมาก่อนเห็นท่านเผยพระวจนะอยู่กับผู้เผยพระวจนะ ประชาชนเหล่านั้นก็พูดกันและกันว่า “อะไรหนอเกิดขึ้นแก่บุตรชายของคีช? ซาอูลอยู่ในจำพวกผู้เผยพระวจนะด้วยหรือ?” (1 ซมอ.10:10-12)
เมื่อคนอัมโมนมารุกรานอิสราเอล พระวิญญาณของพระเจ้าก็ทรงสวมทับซาอูลและท่านโกรธจัด…ความเกรงกลัวพระยาห์เวห์ก็มาเหนือประชาชน พวกเขาพากันออกมาเป็นใจเดียวกัน” (1 ซมอ.11:6-7) พอรุ่งขึ้นซาอูลก็จัดประชาชนออกเป็นสามหมู่ยกเข้ามากลางค่ายตอนเช้ามืดและฆ่าฟันคนอัมโมนเสียจนแดดจัด ผู้ที่รอดชีวิตไปได้ก็กระจัดกระจายไปรวมกันไม่ได้สักคู่เดียวเลย (1 ซมอ.11:11)
ต่อมามีการรบกับกองทัพฟีลิสเตียที่กิลกาล ซาอูลคอยซามูเอลอยู่ 7 วันตามที่ซามูเอลกำหนดไว้ แต่ซามูเอลไม่ได้มาที่กิลกาล พวกทหารก็กระจัดกระจายไปจากซาอูล ซาอูลจึงตัดสินใจถวายเครื่องบูชาเผาทั้งตัวด้วยตนเอง พอซาอูลถวายเครื่องเผาบูชาทั้งตัวเสร็จ ซามูเอลก็มาถึง จึงตำหนิซาอูลที่ได้ทำสิ่งที่โง่เขลาที่ไม่ทำตามพระบัญชาของพระยาห์เวห์ และบอกว่าอาณาจักรของซาอูลจะไม่ยั่งยืน” (1 ซมอ.13:8-14) เหตุการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องราวการไม่เชื่อฟังพระเจ้าของซาอูลภายหลังได้รับการเจิมที่ถูกบันทึกไว้เป็นเรื่องแรก
และในอีกตอนหนึ่ง ซาอูลได้รับบัญชาให้ไปลงโทษกษัตริย์อากักและคนอามาเลขโดยการทำลายถวาย เนื่องจากคนอามาเลขได้สกัดทางอิสราเอลเมื่อออกจากอียิปต์ ซาอูลได้ทำให้คนอามาเลขพ่ายแพ้ แต่ซาอูลและพวกทหารกลับไว้ชีวิตอากักและส่วนที่ดีที่สุดไว้ ไม่ได้ทำลายถวาย ส่วนที่ดีเหล่านี้ ได้แก่ แกะและโค และเมื่อซามูเอลจับได้ ซาอูลก็อ้างว่าจะนำมาถวายแด่พระยาห์เวห์ แต่ก็เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ครั้งนี้เป็นการไม่เชื่อฟังอีกครั้งหนึ่งของซาอูล (1 ซมอ.15:1-23)
หลังจากนั้น ซาอูลก็สารภาพบาปของตน แต่การสารภาพบาปของซาอูลไม่ใช่การกลับใจที่แท้จริง เป็นการรักษาหน้าของตัวเองมากกว่า (1 ซมอ.15:30-31) และไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องของตน จนซามูเอลต้องลงมือฆ่าอากักเอง (1 ซมอ.15 และแล้วซามูเอลก็ไม่ได้พบกับซาอูลอีกเลย
สิ่งที่ต้องทำลายถวาย หรือ สิ่งที่ถวายขาด (ban or devout)
คัดจาก “คำนำหมวดประวัติศาสตร์” ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับศึกษาของสมาคมพระคริสตธรรมไทย
มาจากคำฮีบรูว่า ฆาราม (חרם) ปรากฏในเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงบัญชาให้ทำลายล้างเมืองที่คนอิสราเอลจะเข้าไปยึดครองด้วยการเผาไฟ ไม่ให้เก็บสิ่งใดๆ โดยเฉพาะรูปเคารพไว้ในครอบครอง สิ่งของต่างๆ ของศัตรูที่ถูกกำหนดให้ทำลายล้างนั้น คนอิสราเอลต้องเผาทำลายถวายแด่พระเจ้า และต้องไม่ไว้ชีวิตของคนหรือสัตว์เลย คำนี้ปรากฏในพระธรรมโยชูวามากที่สุด แต่คำบัญชานี้เริ่มมีตั้งแต่ก่อนที่คนอิสราเอลจะเข้าไปยึดครองคานาอัน คือเริ่มตั้งแต่ อพย.20:19 ที่ระบุโทษของคนอิสราเอลที่กราบไหว้รูปเคารพว่าจะต้องถูกทำลายสิ้น (ดู ฉธบ.13:16) และใน ลนต.27:28-29 คำนี้หมายความถึงการถวายขาดของคนอิสราเอล สิ่งใดที่ถูกถวายขาดแล้วจะไถ่ถอนคืนไม่ได้ แม้แต่เป็นมนุษย์ก็จะต้องถูกฆ่าเสีย ใน กดว.21:1-3 กล่าวถึงการเดินทางของคนอิสราเอลก่อนที่จะเข้าแผ่นดินคานาอัน ซึ่งได้ผ่านเนเกบ มีกษัตริย์เมืองอาราดชาวคานาอันมาต่อสู้กับคนอิสราเอลและจับพวกเขาเป็นเชลย อิสราเอลจึงบนกับพระเจ้าว่า หากพวกเขารบชนะเมืองนี้ก็จะทำลายเมืองให้สิ้นซาก ใน ฉธบ.2:34-35 ครั้งที่อิสราเอลยังอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน พวกเขาได้รบชนะสิโหนและฆ่าคนจนหมดสิ้น แต่ได้ไว้ชีวิตสัตว์และริบสิ่งของไว้ แสดงว่าเมืองฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนไม่ได้ถูกกำหนดให้ต้องถูกทำลายถวายพระเจ้า ก่อนที่จะข้ามแม่น้ำจอร์แดน พระเจ้าก็ทรงบัญชาให้พวกเขาฆ่าทุกคนที่เป็นชาวคานาอัน และไม่ให้ยกบุตรชายและบุตรหญิงให้แต่งงานกับคนเหล่านั้น (ฉธบ.7:2-4; 20:17) สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงผิดจริยธรรมอย่างมาก เราไม่ควรนำเรื่องราวการทำสงครามในสมัยพระคัมภีร์เดิมมาประยุกต์ใช้กับสมัยปัจจุบัน เพราะในสมัยพระคัมภีร์ใหม่ไม่มีการแนะนำให้ทำสงคราม (ยก.4:1-4) และพระเยซูทรงสอนให้เรารักศัตรูของเรา (มธ.5:43-48)
เมื่อโยชูวาได้พาคนอิสราเอลข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปแล้ว ก็ได้ทำลายเมืองต่างๆ และฆ่าประชาชนที่อยู่ในเมืองเหล่านั้นเสียสิ้น ยกเว้นเมืองเยรีโคที่ท่านได้ไว้ชีวิตของนางราหับและครอบครัว (ยชว.6:18,21; 8:26; 10:1,28,35,37,38-40; 11:11-12,20-21)
ในพระธรรมผู้วินิจฉัย มีการทำลายถวายอยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการกระทำกับเมืองของชาวคานาอัน (วนฉ.1:17) และครั้งที่สองกระทำกับคนอิสราเอลที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนที่ไม่ได้มาร่วมสู้รบกับเผ่าเบนยามิน มีการฆ่าผู้ชาย ผู้หญิง กับเด็ก เหลือแต่ผู้หญิงพรหมจารีไว้ (วนฉ.21:11)
เมื่อมาถึงสมัยของซาอูล พระเจ้าทรงบัญชาให้ไปทำลายล้างคนอามาเลข เพราะพวกเขาได้สกัดคนอิสราเอลเมื่อเดินทางออกมาจากอียิปต์ แต่ซาอูลทำลายเมืองของอามาเลขไม่หมดสิ้น คือได้ไว้ชีวิตของกษัตริย์อากักและไว้ชีวิตของสัตว์ที่อ้วนพี จนทำให้พระเจ้าทรงพระพิโรธ (1 ซมอ.15:3,8-9,15,18,20)
หลังจากสมัยของผู้วินิจฉัยแล้ว คนอิสราเอลก็ไม่สามารถทำลายล้างคนคานาอันจนหมดสิ้นได้ มีการเกณฑ์คนคานาอันให้มาเป็นทาสแรงงานที่ละกลุ่มๆ ในหลายช่วงเวลา (ยชว.9:23,27; วนฉ.1:30,33,35) จนมาถึงสมัยกษัตริย์ซาโลมอนก็ยังมีการเกณฑ์คนเหล่านี้มาเป็นทาสแรงงาน (1 พกษ.9:21)
การทำลายล้างจนสิ้นนี้เป็นวิธีการที่อัสซีเรียก็ใช้ด้วย (2 พกษ.19:11 ดู 2 พศด.32:14) อย่างไรก็ดี การทำลายล้างคนคานาอันเป็นพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้ทำลายคนเหล่านั้นเพราะการกระทำบาปของพวกเขา แต่การที่อัสซีเรียทำลายล้างชนชาติอื่นดูเหมือนจะเป็นนโยบายด้านการทหารเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการกบฏ
การเจิมดาวิด
หลังจากที่ซาอูลไม่เชื่อฟังพระเจ้า พระเจ้าก็ทรงใช้ซามูเอลให้ไปเจิมดาวิดเป็นกษัตริย์องค์ใหม่แทน ในตอนแรกซามูเอลไม่กล้าไป เพราะเกรงว่าซาอูลจะฆ่าท่าน แต่พระเจ้าได้ตรัสแนะนำท่าน ในที่สุดท่านก็ได้เจิมให้ดาวิดเป็นกษัตริย์แทนซาอูล ( 1ซมอ.16:1-13) อย่างไรก็ตาม ดาวิดไม่ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ทันที แต่ยังต้องรับใช้ซาอูลโดยการเป็นทหารให้ซาอูลอยู่หลายปี ซึ่งดาวิดก็ประสบความสำเร็จในการรบมากจนซาอูลอิจฉาและหาทางกำจัดท่าน (1 ซมอ.18:7-11) และเมื่อดาวิดเล่นพิณถวายซาอูลเพราะซาอูลถูกทรมานโดยวิญญาณชั่วจากพระเจ้า
ซาอูลคิดจะฆ่าดาวิดหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะโยนาธานและมีคาลได้ช่วยให้ดาวิดรอดจากเงื้อมมือของซาอูล (1 ซมอ.19:1-17)
ถึงแม้โยนาธานจะพยายามเป็นคนกลาง และขอร้องไม่ให้ซาอูลทำอันตรายต่อดาวิด แต่ก็สามารถทำได้อยู่ไม่นาน ในที่สุด ดาวิดจำเป็นต้องหนีออกจากวัง และไปรวมกลุ่มกับผู้ติดตามของท่านอยู่ในเขตแดนของยูดาห์ ซาอูลได้พยายามตามล่าดาวิดอยู่หลายครั้ง แต่ดาวิดก็หนีไปได้ทุกครั้ง มีบันทึกอยู่ 2 ตอนที่บอกเล่าว่าดาวิดมีโอกาสฆ่าซาอูล แต่ดาวิดก็ได้ไว้ชีวิตของซาอูลเพราะดาวิดถือว่าซาอูลคือผู้ที่พระเจ้าได้เจิมไว้ (1 ซมอ.22:1-5; 24:1-22; 26:1-25)
ต่อมาภายหลังซาอูลเสียชีวิตในสงครามกับคนฟีลิสเตีย แต่ดาวิดก็ยังไม่ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ทันที โอรสคนหนึ่งของซาอูลที่ยังมีชีวิตอยู่ชื่ออิชโบเชทได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน กว่าดาวิดจะได้เป็นกษัตริย์ปกครองอิสราเอลทั้งหมดแทนซาอูลก็ต้องกินเวลานานกว่า 7 ปี แต่ดาวิดก็อดทนรอคอย (1 ซมอ.31:1-10; 2 ซมอ.2:8-11; 5:4-5)
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดในตัวดาวิดคือการเชื่อฟังและยอมจำนนต่อพระเจ้า และเมื่อท่านทำบาปเรื่องการล่วงประเวณีกับนางบัทเชบาและวางแผนฆ่าอุรียาห์สามีของนาง นาธันผู้เผยพระวจนะได้มากล่าวโทษท่าน ท่านก็ได้สารภาพบาปและกลับใจจริงๆ (2 ซมอ.12:1-15) ต่อมาในบั้นปลายชีวิตของดาวิด ดาวิดก็ได้ทำบาปที่ร้ายแรงอีกครั้งหนึ่งคือท่านได้นับประชากรอิสราเอล ทั้งๆ ที่ประเทศอยู่ในความสงบและไม่มีสงคราม พระเจ้าจึงทรงมีพระพิโรธและทรงส่งผู้เผยพระวจนะกาดมาหาดาวิดเพื่อให้ดาวิดเลือกว่าจะรับโทษแบบใด ดาวิดก็เลือกที่จะตกอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้ามากกว่าในมือของมนุษย์ (2 ซมอ.24:10-14) แต่เมื่อดาวิดได้เห็นประชากรล้มตายจำนวนมากจึงได้ร้องทูลพระยาห์เวห์ว่า “นี่แหละข้าพระองค์เองทำผิด ข้าพระองค์เองทำบาป แต่บรรดาแกะเหล่านี้ พวกเขาได้ทำอะไร ขอพระหัตถ์ของพระองค์อยู่เหนือข้าพระองค์และพงศ์บิดาของข้าพระองค์เถิด” (2 ซมอ.24:17)
บทเรียน
การเชื่อฟังมีความสำคัญมากกว่าการได้รับการเจิม คนที่ได้รับการเจิมจากพระเจ้าแล้วไม่เชื่อฟังพระเจ้า การเจิมที่ได้รับมานั้นถึงแม้จะแรงขนาดไหนก็ไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตของเรา
- บทความ ศจ.ดร.เสรี หล่อกัณภัย
- ภาพประกอบจาก ไทยรัฐออนไลน์ freepik
พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับศึกษา ประวัติศาสตร์สมัยเริ่มต้นราชอาณาจักรอิสราเอล 1-2 ซามูเอล
พระธรรม 1-2 ซามูเอล มีเรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นที่รู้จักดีอยู่มากมาย โดยเฉพาะเรื่องชีวิตของดาวิด บุรุษผู้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า จากเด็กเลี้ยงแกะที่เคยกำราบสัตว์ร้าย กลายมาเป็นชายผู้ล้มยักษ์ใหญ่โกลิอัท จนได้เป็นกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของอิสราเอล ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีด้านที่อ่อนแอ จำกัด และล้มลงในความผิดบาปเฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่ง แต่ภายหลังก็กลับใจใหม่และยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าเช่นเดียวกัน เรื่องราวชีวิตของท่านจึงเต็มไปด้วยบทเรียนอันล้ำค่าสำหรับเตือนสติและหนุนใจคริสเตียนในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี พระคัมภีร์ฉบับศึกษาเล่มนี้จะพาท่านสำรวจและลงลึกไปกับเรื่องราวเหล่านี้ ให้ท่านเข้าใจบริบทดั้งเดิมในสมัยพระคัมภีร์ และช่วยจับใจความสำคัญพร้อมกับข้อสังเกตในตอนต่างๆ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางประยุกต์ใช้หลักการที่เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตปัจจุบัน เพื่อเป็นเพื่อนคู่คิดที่คอยช่วยเหลือท่านในการศึกษาพระคัมภีร์ให้เป็นพรต่อชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณและพันธกิจของท่าน ตามความมุ่งหมายของ TBS ที่ว่า “เพื่อให้คนไทยทุกคนมีพระคัมภีร์ใช้ และรู้จักใช้พระคัมภีร์”
ภายในเนื้อหาแต่ละพระธรรมที่กล่าวมา นอกจากเนื้อหาพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมาตรฐานแล้ว ท่านจะได้พบกับ
- คำนำหมวด ซึ่งอธิบายภาพรวมและกรอบแนวคิดของกลุ่มพระธรรม
- คำนำพระธรรม ซึ่งอธิบายเบื้องหลัง โครงร่างเนื้อหา และสาระสำคัญของพระธรรมแต่ละเล่ม
- คำอธิบายพระคัมภีร์ ซึ่งช่วยสรุปใจความและให้ข้อสังเกตที่สำคัญของแต่ละบทหรือตอน หรืออธิบายความหมายของข้อ ประโยค วลี และคำที่สำคัญ ไปจนถึงเสนอแนะการประยุกต์ใช้ในชีวิตคริสเตียน
- บทความพิเศษ ซึ่งอธิบายบางประเด็นที่สำคัญในเนื้อหาพระธรรมนั้นๆ เพิ่มเติม
- แผนที่และรูปภาพ เพื่อช่วยประกอบการศึกษาและทำความเข้าใจ
- พื้นที่บันทึกส่วนตัว สำหรับให้ท่านผู้อ่านได้จดบันทึกเพิ่มเติมตามอัธยาศัย
- รหัสสินค้า 9786163391681
- ปกกระดาษแข็งพิมพ์ 4 สี ขนาด 16.2 X 23.4 ซม. จำนวน 230 หน้า
- เนื้อในพิมพ์ 2 สี กระดาษถนอมสายตา
- มีหน้าแผนที่ในพระคัมภีร์ พิมพ์ 4 สี 5 หน้า
- ราคาเล่มละ 370 บาท