ต้นเหตุของสงคราม
ในขณะที่ประยุทธกำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ ประถมผู้เป็นบุตรชายเดินเข้ามา และถามว่า…..
“พ่อ! สงครามเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ?” ประยุทธผู้เป็นบิดา วางหนังสือพิมพ์ลงแล้วอ้าปากตอบว่า…..
“อ๋อ! เรื่องนี้…อืมม์…. พ่อจะยกตัวอย่าง อย่างกรณีที่ไทยตีกันกับลาว” ยังไม่ทันที่คุณประยุทธผู้เป็นพ่อจะพูดจบ คุณรจนาผู้เป็นแม่ก็สอดขึ้นมาทันที
“ทำไมต้องเอาเรื่องไทยไปเปรียบกับลาวล่ะ… ทั้งสองเป็นเพื่อนบ้านกันไม่ใช่หรือ?”
“นี่เป็นแค่เรื่องสมมุติเท่านั้น” คุณพ่อรีบตอบ
คุณแม่ก็เลยแหวขึ้นมาว่า…. “ทำไมต้องตั้งข้อสมมุติโง่ๆ อย่างนั้นด้วยเล่า?”
คุณพ่อชักเริ่มมีโมโห จึงระเบิดอารมณ์ออกมาว่า “แกนี่ โง่เง่าเหมือนวัวตัวเมียจริงๆ” ผู้เป็นแม่ก็เลยสวนกลับในทันควันว่า…..
“ถ้าฉันเป็นเหมือนวัวตัวเมีย แกก็เป็นวัวตัวผู้น่ะซี!!”
ก่อนที่คุณประยุทธผู้เป็นพ่อจะโต้ตอบ ประถมผู้เป็นลูกก็สอดขึ้นมาทันทีว่า “พ่อครับ! พ่อไม่ต้องตอบแล้วล่ะครับ! เพราะผมรู้แล้วว่า สงครามมันเกิดขึ้นได้อย่างไร”
ผมอ่านดูแล้ว เห็นภาพพจน์จริงๆ แม้ไม่รู้ว่าเรื่องข้างต้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่? ใช่ครับ การทะเลาะกันมักจะนำไปสู่สงครามใหญ่ได้อย่างไม่ยากเย็น การทะเลาะกันจึงไม่ใช่สิ่งดีที่น่ากระทำ! เพราะมันมีแต่สร้างความเจ็บปวด และความหายนะให้แก่ผู้ที่เป็นคู่กรณี ญาติมิตรและคนรอบข้างอยู่เสมอ! ไม่รู้เหมือนกันว่า ใครหนอที่เป็นผู้ที่พรรณนาผลที่เกิดขึ้นจากการทะเลาะกันไว้อย่างน่าคิด ดังนี้
- ทะเลาะกับเมีย เพลียใจที่สุด
- ทะเลาะกับผัว ปวดหัวที่สุด
- ทะเลาะกับแฟน แค้นใจที่สุด
- ทะเลาะกับพ่อแม่ แย่ที่สุด
- ทะเลาะกับลูก ทุกข์ใจที่สุด
- ทะเลาะกับเพื่อนบ้าน รำคาญที่สุด
- ทะเลาะกับผู้ร่วมงาน ฟุ้งซ่านที่สุด
- ทะเลาะกับลูกน้อง มัวหมองที่สุด
- ทะเลาะกับนาย ฉิบหายที่สุด
- ทะเลาะตัวเอง เฮงซวยที่สุด!
จะสังเกตนะครับว่า ผู้ประพันธ์ได้เริ่มต้นที่การทะเลาะกับเมีย เป็นความขมขื่นใจประการแรก!
แต่แปลกครับ ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็รู้ว่าทะเลาะกับเมีย นั้นเพลียใจที่สุด แต่ก็มีไม่กี่ครอบครัวที่ไม่ทะเลาะกัน
ฝ่ายสามีก็มักจะพูดว่า ภรรยาเป็นต้นเหตุแห่งการทะเลาะกัน ในขณะที่ภรรยาก็มักจะแย้งว่าสามีนั้นแหละตัวดี ของปัญหา!
อย่างไรก็ตาม มีสุภาษิตเตือนอยู่แล้วว่า “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” หรือที่ภาษาอังกฤษเขียนไว้ว่า…..
“It takes two to make a quarrel.” มีความหมายว่า “การทะเลาะวิวาทจะต้องมีสองฝ่าย เพราะเราจะทะเลาะกับคนที่เขาไม่ยอมทะเลาะด้วยคงไม่ได้”
ก็เหมือนกับการตบมือถ้าใช้มือข้างเดียวตบลมย่อมไม่ดัง แต่ถ้าใช้สองมือตบจึงกันจะดัง!
ด้วยเหตุนี้ถ้าคนใดไม่อยากทะเลาะด้วยนิ่งเฉยและเดินลุกหนีไป คนที่ต้องการทะเลาะด้วยจะทำอะไรก็คงไม่ได้ แต่ถ้า ฝ่ายหนึ่งมีอารมณ์และอีกฝ่ายก็พูดโต้แย้ง หรืออาจถึงขั้นลงมือลงไม้กัน การทะเลาะวิวาทก็คงจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!
โดยปกติ คนเราจะทะเลาะกับตัวเองย่อมไม่ได้! แต่ถ้าใครไปทะเลาะกับตัวเองเข้าจนได้ ก็นับว่า เฮงซวยที่สุด ดังที่มีผู้พรรณนาไว้ในข้างต้น!
คำว่า “ทะเลาะ” หมายความว่า “ทุ่มเถียงกันด้วยความโกรธ, โต้เถียงกัน,เป็นปากเป็นเสียงกัน”
“ทะเลาะเบาะแว้ง” คือ “การทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หยุมๆ หยิมๆ “ แสดงว่า ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการทะเลาะกันก็คือ
- การทุ่มเถียง ที่หมายความว่า “เถียงกันรุนแรงอย่างทะเลาะ” “เถียง” ก็คือ “พูดโต้,พูดแย้ง,พูดโต้แย้ง,ขัดกัน”
- ความโกรธ “โกรธ” หมายความว่า “ขุ่นเคืองใจอย่างแรง, ไม่พอใจอย่างรุนแรง” จะเห็นว่า มีการเคืองกรุ่นๆ อยู่ในใจ และระดับความไม่พอใจนั้นค่อนข้างรุนแรง และยิ่งถ้ามีปัจจัยที่สามหรือบุคคลที่สามเข้ามาสมทบด้วยล่ะก็ การทะเลาะก็คงยากที่จะจบลง
- เรื่องหยุมหยิมๆ
คำนี้หมายความว่า “จุกจิก, ถือเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ว่าเป็นเรื่องสำคัญ”
ใช่ครับ โดยปกติแล้วคนเราจะเตรียมตัวเพื่อรับมือกับเรื่องใหญ่ ๆ หรือการโจมตีอย่างรุนแรงของฝ่ายตรงข้ามได้โดยไม่ยาก แต่ที่รับมือไม่ไหวคือ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เรารู้สึกว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องหรือถือว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ และไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจในการรับมือกับเรื่องหยุมหยิมๆ เหล่านั้น!
เหมือนกับเรื่องเรื่องหนึ่งที่เล่าว่า……
มีนักเดินทางคนหนึ่งเดินทางไกลด้วยเท้าจากทางเหนือของสหรัฐมาทางใต้ของประเทศชาวบ้านต่างตื่นเต้นกันทั่วหน้ากับข่าวนี้จึงเฝ้าติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด
หลังจากชายผู้นั้นเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง นักข่าวก็เข้ามาสัมภาษณ์เขาอย่างเนืองแน่น นักข่าวคนหนึ่งถามว่า
“ในระหว่างที่คุณเดินด้วยเท้าเป็นระยะทางไกลขนาดนี้ มีอะไรเป็นสิ่งที่เกือบทำให้คุณยอมแพ้บ้างหรือไม่?”
หลังจากหยุดไปครู่หนึ่งนักข่าวก็รีบถามต่อไปว่า “เป็นความหนาวเย็นหรือภัยหิมะหรืออากาศร้อนผากจากทะเลทราย ลมพายุจากทอร์นาโด หรือเฮอริเคนหรือไม่?”
ชายนักเดินทางไกลผู้นั้นยิ้มพลางส่ายศีรษะตอบว่า “ไม่ใช่สิ่งเหล่านั้นหรอกครับที่ทำให้ผมเกือบยอมแพ้!”
เขาหยุดพลางกล่าวต่อไปว่า “สิ่งที่ทำให้ผมแทบจะยอมแพ้คือ เม็ดทราย เม็ดเล็กๆ ในรองเท้าของผมครับ!”
ครับ! สิ่งที่ทำให้คนเราทนไม่ได้คือ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างความหงุดหงิดและน่ารำคาญให้กับเราอยู่ตลอดเวลา!
เข้าใจว่า ผู้เขียนบทรำพันเรื่อง “การทะเลาะ” ข้างต้น คงจะมีประสบการณ์อันน่าเพลียใจเช่นนั้นในครอบครัว จึงได้เริ่มต้นว่า “ทะเลาะกับเมีย เพลียใจที่สุด!”
ในหนังสือสุภาษิตได้เขียนไว้ว่า “การทะเลาะวิวาทของภรรยาก็เหมือนน้ำฝนย้อยหยดไม่หยุด” (สุภาษิต 19:13)
สามีภรรยาที่มักจะขัดกัน ในเรื่องหยุมๆ หยิมๆ อยู่ตลอดเวลาก็เหมือนกับฝนหยดย้อยแปะๆ อยู่ตลอดเวลา ย่อมสร้างความรำคาญให้แก่ตัวสามีภรรยาคู่นั้นและรวมทั้งคนอื่นๆ เช่นลูกหรือพ่อแม่ พี่น้องในบ้านด้วย แล้วบ้านที่มีสภาพอย่างนี้จะมีความสุขได้อย่างไร ?
แต่หากการทะเลาะกันนั้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะการโต้ตอบกันด้วยคำพูดก็อาจกลายเป็นความรุนแรงที่ขยายวงกลายเป็นสงครามไปในที่สุด ฉะนั้น เมื่อเรารู้แล้วว่า การทะเลาะกัน ไม่นำผลดีใดๆ มาสู่ครอบครัว หรือสังคมที่เราอยู่ เราจึงไม่ควรเสียเวลา เสียอารมณ์ เสียโอกาส เสียพลังงาน หรือเสียเงินทองทรัพย์สินไป เพราะมัวแต่ทะเลาะกัน! ในสก็อตแลนด์ สมัยของจอห์น น็อกซ์ (1514-1572) ซึ่งผู้มีชื่อเสียงในฐานะนักปฏิรูปศาสนา ถือว่า การทะเลาะเบาะแว้งภายในบ้านเป็นเรื่องสำคัญและสมาชิกในครอบครัวเหล่านั้นจะต้องคืนดีกันก่อนวันอาทิตย์ ซึ่งจะมีพิธีมหาสนิท ด้วยเหตุนี้ ผู้นำคริสตจักรจะออกเยี่ยมเยียนบ้านของสมาชิกและไถ่ถามดูว่า มีการทะเลาะเบาะแว้งกันหรือไม่ ถ้ามีก็จะต้องคืนดีกันก่อนจึงจะรับพิธีมหาสนิทได้ และถ้าใครแก้ไขปัญหานั้นได้แล้วก็จะได้รับตราโลหะที่แสดงว่า ครอบครัวของเขาเหมาะสมแล้วกับการเข้าร่วมในพิธีมหาสนิทที่ถือว่าบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ในคริสตจักร
เห็นไหมครับว่าเจ้าการทะเลาะวิวาทนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิดเลย!
ในหนังสือสุภาษิตจึงได้เตือนสติว่าถ้าหากเรารู้ว่าการทะเลาะกันจะนำผลเสียหายและความหายนะมาสู่ตนแล้วยังดันทุรังที่จะทะเลาะกันต่อไปก็ต้องนับว่าเราเป็นคนโง่
ดังนั้น เราจึงต้องสังวรเสมอกับคำเตือนที่ว่า… “ที่จะรักษาตนให้พ้นการวิวาทก็เป็นเกียรติ แต่คนโง่ทุกคนจะทะเลาะวิวาทกัน” (สุภาษิต 20:3)
หวังว่า วันนี้ คุณจะไม่เป็นหนึ่งในกลุ่มคนโง่ที่ยังงมงายอยู่กับการทะเลาะวิวาทกันอย่างไม่สำนึกตัว นะครับ?
- บทความ ศาสนาจารย์ธงชัย ประดับชนานุรัตน์
- ภาพ Beststudio – Freepik.com