ทำทำไมยอห์นจึงเรียกพระเยซูว่า “พระวาทะ” 6/23

ทำทำไมยอห์นจึงเรียกพระเยซูว่า “พระวาทะ”

ในพระกิตติคุณและจดหมายฝากของยอห์น ท่านอัครทูตเรียกพระเยซูว่า พระวาทะ พระกิตติคุณยอห์นเปิดด้วยข้อความว่า “ในปฐมกาลพระวาทะทรงดำรงอยู่ และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า ในปฐมกาลพระองค์ทรงอยู่กับพระเจ้า พระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่งขึ้นมาโดยพระวาทะ ในบรรดาสิ่งที่เป็นอยู่นั้น ไม่มีสักสิ่งเดียวที่เป็นอยู่นอกเหนือพระวาทะ” (ยน. 1:1-3) จดหมายฝากฉบับแรกของท่านขึ้นต้นว่า “เราขอแจ้งเกี่ยวกับสิ่งที่มีมาตั้งแต่ปฐมกาล ซึ่งเราได้ยิน ได้เห็นกับตา ได้พินิจดู และจับต้องด้วยมือของเรานั้น คือพระวาทะแห่งชีวิต” (1 ยน.1:1) ยอห์นยังได้กล่าวด้วยว่า “พระวาทะทรงเกิดเป็นมนุษย์และทรงอยู่ท่ามกลางเรา เราเห็นพระสิริของพระองค์ คือ พระสิริที่สมกับพระบุตรองค์เดียวของพระบิดา บริบูรณ์ด้วยพระคุณและความจริง” (ยน.1:14) จึงเป็นที่แน่ชัดว่า พระวาทะที่ท่านกล่าวถึงนี้คือพระเยซูคริสต์นั่นเอง เหตุใดยอห์นจึงเรียกพระเยซูเช่นนั้น

คำว่า “พระวาทะ” ในต้นฉบับภาษากรีก คือ logos ความหมายของคำนี้ที่เราคุ้นเคยคือ ถ้อยคำ ข้อความ หรือ คำพูด คำกรีกคำนี้ยังให้ความหมายถึง เหตุผล และยังเป็นรากศัพท์ของคำว่า logic ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ตรรกะ ซึ่งก็หมายถึงการให้เหตุผลด้วยคำพูด

นอกจากนี้ logos ยังถูกใช้ในทางปรัชญาของกรีก เพื่อหมายถึง จิตวิญญาณของจักรวาล หลักการที่เป็นสากล หรือพลังที่มีอำนาจในการสร้างและพยุงรักษาสรรพสิ่งในจักรวาล ในแง่นี้ สรรพสิ่งเกิดขึ้นจาก logos
เฮราคลิตุส (Heraclitus) ซึ่งเป็นนักปรัชญาชาวกรีกที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาลได้นำเสนอแนวคิดนี้ เพื่ออธิบายถึงเหตุผลที่จักรวาลมีความเป็นระบบระเบียบ อย่างไรก็ตาม logos ไม่ได้มีความเป็นบุคคลหรือเป็นพระเจ้าอย่างที่เราเชื่อ คำถามที่น่าสนใจ คือ ยอห์นใช้คำนี้โดยมีนัยบางอย่างหรือไม่

คนกรีกโบราณเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์ (Polytheism) เทพเจ้าเหล่านี้สถิตอยู่บนภูเขาสูง ห่างไกลจากมนุษย์ เมื่อยอห์นกล่าวว่า logos ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์และอยู่ท่ามกลางเรา ผู้อ่านที่เป็นคนกรีก หรือคนที่เข้าใจปรัชญาแบบกรีกจะเข้าใจได้ทันทีว่า ผู้ทรงอำนาจที่สร้างและพิทักษ์รักษาจักรวาลได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ logos ที่ยอห์นกล่าวถึงนี้ได้มาอยู่ท่ามกลางมนุษย์ซึ่งแตกต่างจากเทพเจ้าทั้งปวงที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับมนุษย์

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ยอห์นนำเสนอก็ยังสอดคล้องกับแนวคิดของพันธสัญญาเดิมด้วย เพราะ logos นั้นดำรงอยู่ในปฐมกาล ซึ่งสะท้อนแนวคิดของพระธรรมปฐมกาลบทแรกที่กล่าวว่า พระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่งผ่านทางคำตรัส (ปฐก.1:3, 6, 9, 14, 20, 24, 26) ผู้เขียนพระธรรมสดุดีก็กล่าวเช่นกันว่า พระยาห์เวห์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์โดยพระวจนะของพระองค์ (สดด.33:6)

เป็นไปได้ว่า กลุ่มเป้าหมายที่ยอห์นตั้งใจเขียนพระกิตติคุณให้อ่าน คือ คนที่ได้รับอิทธิพลความคิดแบบกรีก ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในเวลานั้น นั่นเป็นเพราะในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชซึ่งเป็นกษัตริย์ชาวกรีกได้ขยายอาณาจักรของพระองค์ไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมดินแดนที่เป็นประเทศกรีซไปจนถึงบริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียในปัจจุบัน รวมทั้งดินแดนอียิปต์และปาเลสไตน์ด้วย ทุกที่ที่พระองค์เสด็จไป พระองค์ได้นำวัฒนธรรมกรีกไปเผยแพร่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษา ปรัชญา ศิลปะ และการศึกษาซึ่งส่งอิทธิพลเรื่อยมาจนถึงสมัยของพระเยซู นี่คือเหตุผลที่พันธสัญญาใหม่ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษากรีกซึ่งเป็นภาษาสากลของคนในแถบนั้น

ด้วยเหตุนี้เอง แทนที่จะนำเสนอพระกิตติคุณโดยใช้ภาษาหรือแนวคิดที่ผู้ฟังไม่คุ้นเคย ยอห์นเลือกที่จะใช้แนวคิดเรื่อง logos เป็นสะพานเชื่อมระหว่างพระกิตติคุณเรื่องพระเยซูผู้ทรงเป็นพระเจ้าที่เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์กับผู้ฟังที่เข้าใจแนวคิดเรื่อง logos

ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราประกาศข่าวประเสริฐ เราก็ควรจะเลือกใช้คำพูด ตัวอย่าง หรือแนวคิดที่ผู้ฟังเข้าใจง่าย แทนที่จะใช้ภาษาคริสเตียนที่เราคุ้นเคยแต่เขาฟังไม่เข้าใจ

• ภาพจาก LUMO Project