ทำไมข้อความของ มาระโก 16:9-20 จึงอยู่ในวงเล็บ? 9/24

ทำไมข้อความของ มาระโก 16:9-20 จึงอยู่ในวงเล็บ?

พระกิตติคุณมาระโกเป็นหนึ่งในพระกิตติคุณสี่เล่มในพันธสัญญาใหม่ แม้จะไม่มีระบุในเนื้อหาว่าใครเป็นผู้เขียน นักวิชาการจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่า มาระโกซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน ของเปโตรเป็นผู้เขียน และเชื่อว่าท่านเขียนขึ้นก่อนพระกิตติคุณเล่มอื่นๆ พระธรรมเล่มนี้มีอยู่ทั้งหมด 16 บท หลายคนคงสังเกตว่า ข้อ 9-20 ของบทสุดท้ายอยู่ในวงเล็บ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

นักวิชาการจำนวนมากลงความเห็นว่า ส่วนท้ายดังกล่าวถูกเพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง เนื่องจากเนื้อหาส่วนดังกล่าวไม่ปรากฏในสำเนาโบราณฉบับต้นๆ จึงใส่ไว้ในวงเล็บ หากทฤษฎีนี้เป็นจริง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

บทที่ 16 เริ่มต้นด้วยเรื่องราวหลังจากที่วันสะบาโตได้สิ้นสุดลง มารีย์ชาวมักดาลา มารีย์มารดาของยากอบ พร้อมกับนางสะโลเม ไปซื้อเครื่องหอมเพื่อจะนำไปชโลมพระศพของพระเยซูในรุ่งเช้าวันอาทิตย์ แต่เมื่อพวกเธอไปถึงอุโมงค์บรรจุพระศพของพระองค์ก็พบว่า หินที่ปิดปากอุโมงค์ถูกกลิ้งออกไป เมื่อพวกเธอเข้าไปในอุโมงค์ก็พบกับทูตสวรรค์ที่บอกพวกเธอว่าพระเยซูทรงเป็นขึ้นมาแล้ว และกำชับให้พวกเธอไปบอกสาวกของพระเยซูว่า พระองค์จะเสด็จไปที่แคว้นกาลิลี สำเนาโบราณฉบับต้นๆ ของพระธรรมเล่มนี้จบลงอย่างกะทันหันในข้อ 8 ว่า “หญิงเหล่านั้นจึงออกจากอุโมงค์แล้วรีบหนีไป เพราะพิศวงงงงวยและตกใจจนตัวสั่น พวกนางไม่ได้พูดกับใครเพราะกลัว” แปลกหรือไม่ที่มาระโกลงท้ายพระกิตติคุณเช่นนั้น ซึ่งอาจฟังดูห้วน และเหมือนเนื้อหาบางอย่างขาดหายไป

สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจคือ พระกิตติคุณไม่ใช่หนังสือชีวประวัติอย่างที่หลายคนคุ้นเคย วัตถุประสงค์หลักของการประพันธ์ไม่ใช่เพื่อการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูอย่างละเอียดครบถ้วนในทุกช่วงวัยของชีวิต แต่เป็นหนังสือที่ใช้เพื่อการประกาศให้คนเชื่อว่าพระเยซูคือพระผู้ช่วยให้รอด อีกทั้งเพื่อการเสริมสร้างความเชื่อของผู้เชื่อทั้งหลาย ดังนั้น ผู้เขียนจึงเลือกว่าจะให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับชีวิตพระเยซูเพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่มีการบันทึกเรื่องราวของพระเยซูในวัยผู้ใหญ่ก่อนที่จะทรงรับบัพติศมาและเริ่มพระราชกิจ ในทางตรงกันข้าม ผู้เขียนพระกิตติคุณทุกเล่มให้ความสำคัญและเน้นเรื่องราวในสัปดาห์สุดท้ายของชีวิตพระเยซูที่นำไปสู่กางเขนรวมถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ เพราะนั่นเป็นพันธกิจหลักของพระองค์บนโลกนี้และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า

แท้ที่จริง ในบรรดาพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม พระธรรมมาระโกเป็นเล่มที่สั้นที่สุด การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างกระชับ รีบเร่ง โดยเน้นภาพลักษณ์ของพระเยซูในฐานะผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ เป็นไปได้หรือไม่ว่า มาระโกตั้งใจจะให้พระกิตติคุณเล่มนี้จบที่ข้อ 8 เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยและใคร่รู้ว่า เหตุการณ์ต่อไปหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร มาระโกได้กล่าวถึงอุโมงค์ที่ว่างเปล่าโดยไม่ได้บอกว่า พระศพของพระเยซูอยู่ที่ไหน หากมาระโกตั้งใจให้พระกิตติคุณที่ท่านเขียนสิ้นสุดที่ข้อ 8 จริง ท่านก็คงคาดหมายให้ผู้อ่านประหลาดใจที่ทราบว่า พระเยซูเป็นขึ้นมาจากความตาย และเชื้อเชิญให้พวกเขาพิสูจน์เรื่องการเป็นขึ้นมาของพระองค์ อีกทั้งท้าทายให้ผู้เชื่อมีประสบการณ์กับพระเยซูผู้ฟื้นคืนพระชนม์นั้น

หากสมมติฐานนี้เป็นจริง คำถามต่อไปคือ ใครเป็นผู้เพิ่มเติมข้อ 9-20 ของบทที่ 16 คำอธิบายที่อาจเป็นไปได้คือ เนื้อหาส่วนนี้ถูกเพิ่มเติมเข้าไปภายหลังโดยคริสตจักรยุคแรก ทั้งนี้ เพื่อให้งานเขียนของมาระโกมีน้ำหนักมากขึ้น

หากเป็นเช่นนั้นจริง เราจะยอมรับส่วนที่เพิ่มเติมเข้าไปว่าเป็นพระวจนะของพระเจ้าได้หรือไม่ คำตอบคือเนื้อหาดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลในพระกิตติคุณเล่มอื่นๆ จึงไม่มีปัญหาในเชิงข้อเท็จจริงและศาสนศาสตร์ นอกจากนี้ ยังถูกเพิ่มเติมเข้าไปก่อนการพิจารณาสารบบพระคัมภีร์ใหม่จะเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ และผู้นำคริสตจักรในสมัยแรกไม่ได้ติดใจกับประเด็นเนื้อหาในข้อ 9-20 ดังกล่าว เราจึงยอมรับได้ว่า เนื้อหาส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระวจนะพระเจ้าได้อย่างไม่ต้องสงสัย

  • ภาพจาก www.ifiwalkedwithjesus.com