ทำไมคำแปลพระคัมภีร์ไทยใน เศคาริยาห์ 9:15 ท่อนสอง จึงแปลต่างจากฉบับอังกฤษ
ถาม : ทำไม เศคาริยาห์ 9:15 ท่อนสองนั้น ภาษาไทยแปลว่า “และ เขาทั้งหลายจะล้างผลาญและเหยียบนักสลิงลง และจะดื่มโลหิตของเขาอย่างเหล้าองุ่น” แต่ภาษาอังกฤษฉบับ NIV แปลว่า “พวกเขาจะล้างผลาญและมีชัยชนะด้วยสายสลิง พวกเขาจะดื่มและคำรามดั่งคนดื่มเหล้าองุ่น” แสดงว่าภาษาไทยแปล ไม่ถูกต้องใช่หรือไม่?
ตอบ : ก่อน จะตอบคำถามนี้ ขอให้ท่านอดทนรับรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต้นฉบับและสำเนาของพระคัมภีร์เดิมก่อน
ข้อมูลบางประการเกี่ยวกับต้นฉบับ
คริสเตียนทั่วๆ ไปต่างรู้ว่าต้นฉบับของพระคัมภีร์เดิมนั้นเขียนเป็นภาษาฮีบรู และคริสเตียนจำนวนมากก็เข้าใจว่าพระคัมภีร์ภาษาอื่นๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษต่างแปลมาจากต้นฉบับภาษาฮีบรูนี้ แต่ความเข้าใจดังกล่าวยังไม่ถูกต้องทีเดียว เพราะเรื่องของต้นฉบับนั้นมีมากกว่าที่เราคิด
สำเนาต้นฉบับโบราณ
ต้นฉบับของหนังสือทั้ง 39 เล่ม ในพระคัมภีร์ เดิมนั้นคล้ายกับพระคัมภีร์ใหม่คือไม่มีหลงเหลืออยู่เลยแม้แต่เล่มเดียว ต้นฉบับเหล่านี้ล้วนสูญหายไปนานแล้ว แต่สิ่งที่ยังเหลืออยู่คือ สำเนาต้นฉบับที่พวกอาลักษณ์ในสมัยต่างๆ คัดลอกไว้ด้วยความยากลำบากตลอดระยะเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา แม้แต่สำเนาเหล่านี้ก็สูญหายไปเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน สำเนาต้นฉบับของพระคัมภีร์เดิมก็เหมือนพระคัมภีร์ใหม่ คือ ยิ่งเก่าแก่ยิ่งดี สำเนาเก่าแก่นั้นเราเรียกว่าสำเนาโบราณ
สำเนาโบราณของต้นฉบับพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูที่ครบถ้วนหรือเกือบครบถ้วนที่ สำคัญๆ มีเพียงสองสามฉบับ คือ ฉบับไคโร (codex Cairensis) ซึ่งมีเพียงส่วนที่เป็นหนังสือโยชูวา-พงศ์ กษัตริย์และอิสยาห์-มาลาคี ยกเว้นดาเนียล สำเนาฉบับนี้คัดลอกราวปี ค.ศ.895 อีกฉบับหนึ่งคือ ฉบับอาแล็พโพ (Alleppo codex) คัดลอกราวปี ค.ศ.930 หนังสือบาง เล่มสูญหายไป และฉบับสุดท้ายคือฉบับเลนินกราด (codex Leningradensis) คัดลอกราวปี ค.ศ.1008 เป็น ฉบับที่มีจำนวนหนังสือครบถ้วนที่เก่าแก่ที่สุด (พระคัมภีร์ เดิมฉบับฮีบรูของสหสมาคมฯ (UBS) นั้นใช้สำเนาโบราณฉบับนี้เป็น พื้นฐานในการจัดทำ)
สำเนาโบราณทั้งสามฉบับมีรูปแบบการคัดลอกที่เรียกว่า เมสโสรา (Masora) ซึ่งเรียกตามชื่อของกลุ่มอาลักษณ์ที่เรียกว่า เมสโสเรท (Masoretes) พวกเขามีวิธีการเขียนอักษรฮีบรูที่แตกต่างจากการเขียน ทั่วๆไป การเขียนอักษรฮีบรูโดยทั่วไปจะมีแต่ตัวพยัญชนะ ไม่มีตัวสระ (เหมือน ภาษาฮีบรูปัจจุบัน) ผู้อ่านต้องรู้เองว่าจะอ่านเป็นคำที่มีเสียงสระอะไร แต่พวกเมสโสเรทได้ประดิษฐ์เครื่องหมายที่แทนเสียงสระขึ้นมากำกับให้กับคำ ต่างๆ เพื่อช่วยให้อ่านง่าย สำเนาต้นฉบับกลุ่มนี้เรียกว่า สำเนาแบบเมสโซเรติก (Masoretic text)
ฉบับแปลต่างๆ
พวกยิวในยุคก่อนพันธสัญญาใหม่มีการกระจัดกระจายไปอาศัยยังที่ต่างๆ ลูกหลานของพวกเขาเริ่มไม่รู้จักภาษาฮีบรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกลับจากเป็นเชลยในบาบิโลน พวกยิวที่กลับมาจะพูดกันโดยใช้ภาษาอาราเมค ด้วยเหตุนี้การแปลพระคัมภีร์เดิมเป็นภาษาอื่นจึงมีความจำเป็น ฉบับแปลที่เก่าแก่และสำคัญของพระคัมภีร์เดิมคือ ฉบับแปลกรีก (Septuagint) มีชาวยิวจำนวนมากไปอาศัยอยู่ในเมืองอเล็กซานเดรียซึ่ง อยู่ทางเหนือของอียิปต์ที่พูดภาษากรีกเป็นหลัก การแปลพระคัมภีร์เป็นภาษากรีกจึงจำเป็น
เราไม่มีประวัติการแปลพระคัมภีร์ฉบับนี้ นอกจากตำนานที่พบเกี่ยวกับการแปลหมวดเบญจบรรณ (ปฐมกาล-เฉลยธรรมบัญญัติ) จากจดหมายฉบับหนึ่ง การแปลเกิดขึ้นเนื่องจากฟิลลาเดลปัส (Philadelphus) พระราชากรีกที่ครอบครองอยู่ในเวลานั้น (ปี 285-247 ก่อน ค.ศ.) ต้องการมีพระคัมภีร์ของยิวไว้ในหอสมุดจึงขอผู้เชี่ยวชาญ 72 คน จากยูดาห์ไปแปลในเมืองอเล็กซานเดรีย ด้วยเหตุนี้ฉบับแปลกรีกนี้จึงเรียกว่า เซปทัวจินต์ (Septuagint) ซึ่งเป็นคำกรีกที่แปลว่า 70 และ ใช้ตัวเลขเจ็ดสิบของโรมันคือ LXX เป็นสัญลักษณ์
ส่วนหนังสือเล่มอื่นๆ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการแปลว่าทำเมื่อไร ทำอย่างไร นอกจากการพิจารณาจากผลงานที่สำเร็จรูปว่าคงต้องใช้เวลายาวนานในการแปล มีคนแปลหลากหลายและแนวทางในการแปลก็แตกต่างกันมาก ต้นฉบับที่แปลไว้นั้นก็ไม่มีหลงเหลือ สิ่งที่เหลือคือสำเนาต่างๆ ที่คัดลอกไว้ของฉบับแปลกรีกนี้
สำเนาฉบับแปลกรีกทีเก่าแก่และสำคัญ ได้แก่ ฉบับแปลวาติกัน (codex Vaticanus) คัดลอกราวปี ค.ศ.325
สำเนาฉบับซีนาย (codex Sinaiticus) คัดลอกราวปี ค.ศ.375 และฉบับอเล็กซานเดรีย (codex Alexandrinus) คัดลอกราว ปี ค.ศ.450
สำเนาฉบับแปลกรีกนี้เป็นพระคัมภีร์เดิมที่คริสเตียนยุคแรกซึ่งส่วนใหญ่ไม่ รู้ฮีบรูแต่รู้ภาษากรีก ใช้อ่านทั้งส่วนตัวและในที่ประชุม โดยเฉพาะใช้ในการอ้างอิงเมื่อเขียนพันธสัญญาใหม่ด้วย
ความแตกต่างในเนื้อความ
เมื่อเปรียบเทียบเนื้อความของสำเนาทั้งฉบับแปลกรีกและฮีบรู จะเห็นว่าเนื้อหาโดยรวมมีความสอดคล้องกัน แต่ก็มีรายละเอียดจำนวนไม่น้อยที่แตกต่างกัน ในการแปลพระคัมภีร์เดิมนั้น ฉบับแปลต่างๆ อาจแปลจากสำเนาพระคัมภีร์เดิมฉบับฮีบรูหรือฉบับแปลกรีกเป็นหลัก
นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การแปลเศคาริยาห์ 9:11 ของ ภาษาไทยฉบับ 1971 แตกต่างจากภาษาอังกฤษฉบับ NIV เพราะ เนื้อความท่อนนี้ของของสำเนาทั้งสองฉบับมีความแตกต่างกัน และภาษาไทยยึดตามฉบับแปลกรีก แต่ NIV ยึดตามสำเนาฉบับฮีบรู และยังมีลักษณะเช่นนี้ปรากฏในอีกหลายๆ ตอนของพระคัมภีร์เดิมด้วย
- อ.ทองหล่อ วงศ์กำชัย
- ภาพ Jcomp – Freepik.com