ทำไมจึงเป็น “ปาเลสไตน์”? 3/19

ทำไมจึงเป็น “ปาเลสไตน์”?

ถาม ทำไมแผ่นดินอิสราเอลโบราณในพระคัมภีร์จึงถูกเรียกว่า “ปาเลสไตน์” มาจนถึงปัจจุบัน

ตอบ เพราะมีการบังคับเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 2 เกิดอะไรขึ้นและทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เชิญเรามาพิจารณา และสืบค้นเรื่องนี้ไปด้วยกัน

ก่อนจะเป็นอิสราเอล

ตั้งแต่ก่อนสมัยของอับราฮัมบิดาของชนชาติอิสราเอล แผ่นดินนี้เป็น “เขตของคนคานาอัน” (ปฐก.10:6,15-19) เพราะชนพื้นเมืองต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้แต่โบราณหลังเหตุการณ์น้ำท่วมโลก ล้วนสืบเชื้อสายมาจากบุตรของฮามที่ชื่อว่า “คานาอัน” (ปฐก.9:18,22) แล้วแผ่นดินนี้ก็ถูกเรียกว่า “แผ่นดินคานาอัน” ตั้งแต่ใน ปฐมกาล 11:31 เป็นต้นมา

ต่อมาเมื่อพระเจ้าทรงเรียกอับราฮัมให้ออกเดินทางไปยังแผ่นดินที่พระองค์จะทรงประทานให้ อับราฮัมก็ได้เดินทางจนมาถึงแผ่นดินคานาอัน แล้วพระเจ้าก็ทรงสำแดงให้ท่านทราบว่าคือแผ่นดินนี้เองที่พระองค์จะทรงประทานให้แก่เชื้อสายของท่าน (ปฐก.12:4-7; 13:12,14-18; 17:8; ฉธบ.34:1-4) และแล้วลูกหลานของท่านคือชาวอิสราเอลทั้ง 12 เผ่า ก็ได้เข้ายึดครองแผ่นดินนี้ในสมัยของโยชูวา แต่ก็ยังไม่ได้ทำลายหรือขับไล่ชนพื้นเมืองในแผ่นดินนี้จนหมด ชนพื้นเมืองที่ยังหลงเหลืออยู่เหล่านี้จึงเป็นปัญหาเรื้อรังของพวกเขาในเวลาต่อมา

ชนพื้นเมืองคานาอันกลายเป็นเสี้ยนหนามของคนอิสราเอลทั้งด้านการเมืองและด้านจิตวิญญาณนับตั้งแต่ยุคผู้วินิจฉัยเป็นต้นมา โดยศัตรูตัวฉกาจที่โด่งดังที่สุดของคนอิสราเอลคือ ชาวฟีลิสเตีย ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเชื้อสายของคานาอัน (ปฐก.10:6, 13-14) แต่เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาทางทะเลและขึ้นฝั่งมาตั้งรกรากบนแผ่นดินคานาอันตั้งแต่สมัยโบราณเช่นกัน โดยมีหัวเมืองที่สำคัญอยู่ 5 เมืองได้แก่ อัชโดด อัชเคโลน กาซา เอโครน และกัท (ยชว.13:3) ซึ่งเดี๋ยวเราจะมาพูดถึงเรื่องนี้เพิ่มเติมกันอีกที

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงยุคที่อิสราเอลมีกษัตริย์ปกครอง ในรัชสมัยของกษัตริย์ ดาวิด พระองค์ทรงสถาปนา “ราชอาณาจักร อิสราเอล” ที่เป็นปึกแผ่นขึ้น โดยรวบรวมชาวอิสราเอลให้เป็นหนึ่งเดียวกันจนกลายเป็นสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ของคน 12 เผ่าบนแผ่นดินนี้ และมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาศิโยน ด้วยเหตุนี้พระคัมภีร์บางตอนจึงใช้การเรียกกรุงเยรูซาเล็มและแผ่นดินอิสราเอลทั้งหมดด้วยชื่อแทนว่า “ศิโยน” โดยมีนัยสำคัญบางอย่าง และชื่อของอิสราเอลก็อยู่ควบคู่กับแผ่นดินนี้เรื่อยมาแม้ในยุคที่อาณาจักรถูกแบ่งแยก (Divided Kingdom) ออกเป็นอาณาจักรเหนือ (อิสราเอล) และอาณาจักรใต้ (ยูดาห์) กระทั่งยุคตกเป็นเชลยและกลับจากการเป็นเชลยในกรุงบาบิโลน

ฟีลิสเตีย ศัตรูตัวฉกาจ

ชื่อ “ฟีลิสเตีย” (หรือ พาเลชทีม ในภาษาฮีบรู) นั้นมีรากมาจากคำภาษาฮีบรูว่า พาเลเชท ซึ่งแปลว่า บุกรุก ดังนั้น ชื่อเรียกของคนฟีลิสเตียจึงหมายถึง “ผู้รุกราน” (Invader) ซึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินคานาอันตั้งแต่ในสมัยของอับราฮัมแล้ว (ปฐก.21:32,34; 26:1,8,14-18)

แต่เดิมคนฟีลิสเตียนั้นมาจากหมู่เกาะในทะลอีเจียน (เป็นทะเลที่อยู่ตรงกลางระหว่างประเทศกรีซและประเทศตุรกีในปัจจุบัน) แท้จริงจึงเป็นชาวยุโรปที่เดินทางด้วยเรือมาทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ยรม.47:4; อมส.9:7) นักโบราณคดีเชื่อว่ามีเหตุจำเป็นบางอย่างที่ทำให้ชาวเกาะเหล่านี้ต้องละจากถิ่นฐานเดิมของตน โดยมีข้อสันนิษฐานมากมาย เช่น เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ หรือการกันดารอาหาร หรือสงคราม ฯลฯ

ก่อนที่จะมาถึงแผ่นดินคานาอัน ผู้อพยพจากทวีปยุโรปเหล่านี้ได้มุ่งหน้าลงทิศใต้และมีความพยายามจะขึ้นฝั่งที่ประเทศอียิปต์ แต่ก็ถูกขับไล่กลับออกมาจนต้องเปลี่ยนเส้นทางใหม่ไปทางทิศตะวันออกจนถึงแผ่นดินคานาอัน ในที่สุดก็สามารถขึ้นฝั่งได้สำเร็จ และได้ตั้งถิ่นฐานขึ้นบริเวณที่ราบริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จึงถูกเรียกว่าเป็นผู้รุกรานที่มาจากทะเล

ต่อมาเมื่อคนอิสราเอลเข้ายึดครองแผ่นดิน บรรดาชนพื้นเมืองต่างๆ ของ คานาอันถ้าไม่ถูกขับไล่ก็ถูกกดขี่ให้เป็นทาสใช้แรงงานของคนอิสราเอล จนในที่สุดก็ค่อยๆ ถูกกลืนทางด้านเชื้อชาติและสังคม แต่คนฟีลิสเตียยังคงเป็นชุมชนที่ใหญ่โตและเป็นนักรบที่เข้มแข็ง ตัวอย่างนักรบคน ฟีลิสเตียที่โดดเด่นในพระคัมภีร์ได้แก่ โกลิอัท (1ซมอ.17) และอิททัย (2ซมอ.15:19-23; 18:1-5) คนฟีลิสเตียจึงมีสงครามรบพุ่งกับอิสราเอลอยู่ตลอดแม้ในรัชสมัยของกษัตริย์ซาอูล (ปี 1050-1010 ก่อน ค.ศ.) จนถึงช่วงต้นรัชสมัยของกษัตริย์ดาวิด (ปี 1010-971 ก่อน ค.ศ.) ซึ่งกองทัพฟีลิสเตียที่เข้มแข็งก็สามารถเอาชนะในการรบกับกษัตริย์ซาอูลได้ (1ซมอ.31) ก่อนที่จะพ่ายแพ้ให้กับกษัตริย์ดาวิด (2ซมอ.5:17-25; 8:1; 21:15-22)

หลังจากรัชสมัยของกษัตริย์ดาวิด คนฟีลิสเตียก็เริ่มอ่อนแอลงเรื่อยๆ ถึงกระนั้นหัวเมืองของคนฟีลิสเตียก็ยังคงดำรงอยู่ไม่ถูกทำลายไป แต่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของอิสราเอล เมื่อถึงยุคที่อาณาจักรถูกแบ่งแยก มีบันทึกว่าคนฟีลิสเตียได้ส่งบรรณาการให้กับกษัตริย์เยโฮชาฟัทแห่งยูดาห์ (ปี 873-848 ก่อน ค.ศ.) เนื่องจากหัวเมืองของ พวกเขาอยู่ในแขตแดนของอาณาจักรใต้ (2 พศด.17:10-11) แต่พอถึงรัชสมัยถัดมาของกษัตริย์เยโฮรัมโอรสของเยโฮชาฟัท (ปี 853-841 ก่อน ค.ศ.) พวกเขาก็พยายามกบฏจนสามารถปลงพระชนม์บรรดาราช โอรสของพระองค์ได้เกือบหมด (2 พศด.21:16-17; 22:1) จากนั้นทั้งคนอิสราเอลและคนฟีลิสเตียก็พักการรบทัพจับศึกระหว่างกันและกันอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ต่อมาเมื่ออาณาจักรอัสซีเรียเริ่มเรืองอำนาจและขยายอิทธิพลมาถึงภูมิภาคนี้ในช่วงศตวรรษที่ 8 ก่อน ค.ศ. บรรดาหัวเมืองของคนฟีลิสเตียก็ถูกชาวอัสซีเรียเข้ายึดครองและบีบบังคับอย่างหนัก ทั้งยังถูกกษัตริย์เฮเซคียาห์แห่งยูดาห์ (ปี 715-686 ก่อน ค.ศ.) บุกโจมตีเมืองสำคัญอย่างกาซาอีกด้วย (2พกษ.18:7-8) ในช่วงนี้เองที่คน ฟีลิสเตียอ่อนแอลงอย่างมาก จนในที่สุดเมื่ออาณาจักรบาบิโลนเรืองอำนาจขึ้นแทนที่ อัสซีเรียและได้พิชิตดินแดนในภูมิภาคนี้ทั้งหมดรวมถึงอาณาจักรใต้ด้วย คนฟีลิสเตีย ก็พ่ายแพ้อย่างราบคาบและถูกกวาดไปเป็นเชลยยังต่างแดนด้วยเช่นกัน และไม่ปรากฎหลักฐานว่าคนฟีลิสเตียได้กลับมาฟื้นฟูถิ่นฐานของตนในแผ่นดินนี้อีกเหมือนอย่างชาวยิว คนฟีลิสเตียจึงถูกกลืนหายไปกับประชากรโลกในสมัยนั้นเป็นต้นมา เหลือไว้เพียงแต่ประวัติศาสตร์เท่าที่มีการค้นพบหลักฐานในทุกวันนี้

จากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า คน ฟีลิสเตียนั้นเป็นศัตรูตัวฉกาจต่อชนชาติอิสราเอลมาอย่างยาวนานจนถึงยุคตกเป็นเชลย โดยมีทั้งช่วงขาขึ้นที่ได้ชัยชนะและเป็นที่หวาดกลัว และช่วงขาลงที่อ่อนแอตกเป็นเบี้ยล่างคนอิสราเอล แต่กระนั้นคนอิสราเอลก็ยังไม่สามารถกำจัดหรือดูดกลืนคน ฟีลิสเตียได้อย่างเบ็ดเสร็จเหมือนอย่างที่ทำกับชนพื้นเมืองต่างๆ ของคานาอันได้ ต่างฝ่ายต่างก็ทำได้เพียงแค่ปกป้องรักษาดินแดนของตนและคอยสกัดกั้นหรือคานอำนาจของกันและกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคน ฟีลิสเตียจะสาบสูญไปแล้วตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.แต่ชื่อของฟีลิสเตียศัตรูตัวฉกาจของอิสราเอลนี้เอง ที่ยังคงเป็นที่รู้จักและกลายเป็นที่มาของชื่อ “ปาเลสไตน์” ในภายหลัง

ยุคหลังกลับจากการเป็นเชลย

พอถึงยุคตกเป็นเชลย อาณาจักรอิสราเอลเหนือได้ถูกทำลายและถูกทำให้สิ้นชาติไปด้วยกองทัพชาวอัสซีเรียในปี 722 ก่อน ค.ศ. กลุ่มคนที่เหลืออยู่จึงมีแต่เผ่า ยูดาห์และเบนยามินในอาณาจักรใต้เท่านั้น แล้วกรุงเยรูซาเล็มก็ถูกกองทัพชาวบาบิโลนตีแตกและประชาชนถูกกวาดไปเป็นเชลยเมื่อประมาณปี 587 ก่อน ค.ศ. ต่อมาเชลยเหล่านี้คือผู้ที่เหลืออยู่และได้กลับมาฟื้นฟูถิ่นฐานเดิมอีกครั้งเมื่อประมาณปี 538 ก่อน ค.ศ. แต่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรเปอร์เซีย โดยแผ่นดินถูกเรียกว่า ยูดาห์ตามชื่อของประชากร มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในมณฑลฟากตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรติส (อสร.2:1; 4:10-22; 5:3-8; 6:6-13; 7:21,25; 8:36; นหม.1:3; 2:7,9; 7:6; 11:3; 12:28) และชื่อ “ยูดาห์” ก็เป็นที่มาของคำว่า “ยิว” นั่นเอง

ในอีกด้านหนึ่ง หลังจากที่ชาวยิวได้กลับมาจากการเป็นเชลยไม่นาน ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ. เฮโรโดตัส (Herodotus หรือ Herodotos) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกก็ได้เขียนหนังสือ Historia อันโด่งดัง ในหนังสือเล่มนั้นได้กล่าวถึงดินแดน “ระหว่างซีเรียกับอียิปต์” โดยหมายถึงบริเวณที่ราบริมชายฝั่ง และอธิบายว่าเป็นเขตภาคใต้ของซีเรีย มีประชากรผู้อพยพอาศัยอยู่ โดยมีวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวอียิปต์อย่างเช่นการเข้าสุหนัต (ซึ่งแท้จริงแล้วนี่คือชุมชนของชาวยิวและสะมาเรีย) และเฮโรโดตัสเรียกดินแดนนี้ว่า “พาเลสทีน” (Palaistine) อันเป็นหลักฐานที่ใกล้เคียงกับชื่อของ “ฟีลิสเตีย” มากที่สุดและเก่าแก่ที่สุดเท่าที่นักประวัติศาสตร์ค้นพบ

แต่ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันส่วนใหญ่เห็นว่าแม้ว่าตัวของเฮโรโดตัสเองอาจจะมีความซื่อสัตย์ (Sincerity) ในการบอกเล่าข้อมูล แต่เนื้อหาข้อมูลของท่านอาจจะสามารถพึ่งพา (Reliability) เพื่อใช้ยืนยันข้อเท็จจริงได้น้อยหรือกระทั่งมีความคลาดเคลื่อน ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ข้อมูลและความรู้ด้านภูมิศาสตร์ที่พบในงานของเฮโรโดตัสนั้นเป็นแต่เพียงผิวเผินหรือโดยคร่าวๆ เท่านั้น และดูเหมือนว่าเฮโรโดตัสก็ไม่เคยได้เดินทางมายังแผ่นดินนี้ด้วยตนเอง แต่น่าจะอาศัยคำบอกเล่าจากชาวอียิปต์ที่ท่านคุ้นเคยมากกว่า จึงเป็นไปได้ว่าท่านน่าจะได้รับข้อมูลเรื่องชาวฟีลิสเตียที่อพยพมาทางทะเลจากประวัติศาสตร์ของชาวอียิปต์มากกว่าเรื่องชาวยิวที่ท่านไม่รู้จักหรือคุ้นเคยเท่าไรนัก จนท่านเองอาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับชื่อเรียกและประชากรที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินในช่วงเวลานั้น และสิ่งนี้ก็อาจเกิดขึ้นกับสตราโบ (Strabo) นักภูมิศาสตร์ชาวกรีกในยุคต่อมา (ช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ.) อีกด้วยเช่นกัน โดยในกรณีของสตราโบนั้นท่านเรียกแผ่นดินนี้ว่า “ซีเรียตอนล่าง”

อย่างไรก็ตาม กลับมาที่สถานการณ์ในแคว้นยูดาห์ หลังจากนั้นอีกกว่า 4 ศตวรรษ ก็มีมหาอำนาจในสมัยโบราณหมุนเวียนกันมาครอบครองแผ่นดินนี้มากมาย ทั้งอาณาจักรมาเคโดเนียของอเล็กซานเดอร์มหาราช (Macedonian Empire) ราชวงศ์ทอเลมี (Ptolemy) ราชวงศ์เซลูคิด (Seleucid) ราชวงศ์ฮัสโมเนียน (Hasmonean) จนกระทั่งในปี 63 ก่อน ค.ศ. แม่ทัพปอมเปย์แห่งอาณาจักรโรม ได้บุกเข้ายึดกรุงเยรูซาเล็ม และแผ่นดินก็ตกเป็นของของอาณาจักรโรมมาจนถึงยุคสมัยของพระเยซูคริสต์ในศตวรรษที่ 1 โดยใช้ชื่อเดิมแต่สำเนียงเปลี่ยนไปเป็น “แคว้นยูเดีย” (Judea)

การเปลี่ยนมือผู้ปกครองของแผ่นดินนี้ แม้จะเกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอ แต่ก็ไม่เคยเรียบง่าย เพราะนับตั้งแต่กลับจากการเป็นเชลย ชาวยิวก็ปรารถนาเอกราชไม่ตกเป็นทาสหรือเป็นเมืองขึ้นของใครอยู่ตลอดมา การกบฏของชาวยิวจึงเกิดขึ้นสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน ตัวอย่างการกบฏที่โด่งดังในประวัติศาสตร์ได้แก่ กบฏมัคคาบี (Maccabee) ซึ่งกลายมาเป็นต้นราชวงศ์ฮัสโมเนียนในช่วงท้ายศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. อันเป็นช่วงที่ชาวยิวสามารถปกครองตนเองได้ช่วงสั้นๆ ช่วงหนึ่งก่อนถูกยึดครองโดยอาณาจักรโรม

นอกจากนี้ยังมีการกบฏที่สำคัญของชาวยิวขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ.70 ซึ่งถูกปราบลงโดยกองพันที่ 10 (Legio X) ภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพไททัสแห่งโรม จนเป็นเหตุให้กรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารหลังที่สองถูกทำลายลง แต่แคว้นยูเดียยังคงอยู่ในฐานะจังหวัดหนึ่งของอาณาจักรโรม

จักรพรรดิฮาเดรียน

ในปี ค.ศ.117 จักรพรรดิฮาเดรียน (Hadrian) หรือพระนามเต็มว่า ปูบลิอุส อีลิอุส ฮาดริอานุส (Publius Aelius Hadrianus) ได้ขึ้นครองอาณาจักรโรม มีหลักฐานและบันทึกว่าจักรพรรดิองค์นี้ทรงนิยมชมชอบและมีพระทัยฝักใฝ่ในศิลปะและวัฒนธรรมกรีกค่อนข้างมาก ในแง่การปกครองนั้น นักประวัติศาสตร์ถือว่าจักร พรรดิฮาเดรียนเป็นจักรพรรดิที่ดีองค์หนึ่งในจำนวนทั้งหมดห้าองค์ของอาณาจักรโรม (The Five Good Emperors) แต่ในที่นี้ย่อมหมายถึงว่า พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการต่างๆ ของอาณาจักร ซึ่งรวมถึงการปราบปรามกบฏและภัยคุกคามของอาณา จักรอย่างเอาจริงเอาจังด้วย

ขณะเดียวกันทางฝั่งชาวยิวในแคว้น ยูเดีย บรรยากาศทางการเมืองยังคงคุกรุ่น กลุ่มชาวยิวชาตินิยมหัวรุนแรงยังคงซ่องสุมกำลังอย่างลับๆ และคอยทำสงครามกองโจรกับกองทหารโรมันอยู่เนืองๆ แล้วในที่สุด ซีโมน บาร ค็อกบา (Simon Bar Kokhba) บุรุษผู้ซึ่งชาวยิวบางคนในเวลานั้นเชื่อว่าเป็นพระเมส สิยาห์ตัวจริงที่พระเจ้าจะทรงใช้ให้ปลดแอกและสถาปนาอาณาจักรอิสราเอลเป็นศูนย์กลางของทั้งโลก ก็เริ่มนำกองทัพกบฏเคลื่อนไหวในปี ค.ศ.132 กองทหารโรมันถูกซุ่มโจมตี อาวุธและยุทธภัณฑ์ถูกปล้นชิง และมีการปลุกระดมเกิดขึ้นมากมาย แต่ชัยชนะอันงดงามของกลุ่มกบฏบาร ค็อกบา ก็ดำรงอยู่แค่เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น

พอถึงปี ค.ศ.135 จักรพรรดิฮาเดรียนก็ทรงปราบกบฏบาร ค็อกบา จนหมดสิ้น ด้วยความเอือมระอาต่อชาวยิวที่มักกบฏและดื้อดึง พระองค์ทรงรับสั่งให้เปลี่ยนชื่อแคว้น ยูเดียเสียใหม่ โดยทรงประสงค์จะลบความรู้สึกเกี่ยวข้องผูกพันระหว่างชาวยิวกับแผ่นดินนี้ไปเสียเพื่อไม่ให้ชาวยิวรุ่นหลังคิดปรารถนาจะก่อกบฏขึ้นมาอีก จึงทรงนำเอาชื่อเรียกอื่นๆ ของแผ่นดินนี้มาใช้แทน และเนื่องจากจักรพรรดิฮาเดรียนทรงมีพระทัยนิยมกรีก พระองค์จึงทรงยึดถือแหล่งข้อมูลของนักปราชญ์ชาวกรีกอย่างเฮโรโดตัสและสตราโบซึ่งเรียกแผ่นดินนี้ว่า “ซีเรียตอนล่าง” กับ “พาเลสทีน” อีกทั้งเมื่อค้นดูอย่างละเอียดมากขึ้นก็พบว่าชื่อเรียกดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับอีกชนชาติหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่บนแผ่นดินนี้และเป็นศัตรูตัวฉกาจกับชาวยิวมาแต่โบราณ ซึ่งก็คือชาวฟีลิสเตียนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ แคว้น ยูเดียในแผนที่โลกจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ซีเรีย-ปาเลสตีนา” (Syria-Palaestina) และจักรพรรดิฮาเดรียนยังทรงบูรณะกรุงเยรูซาเล็มที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังตั้งแต่การกบฏในปี ค.ศ. 70 ด้วย แต่ทรงเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ โดยตั้งให้เป็นเกียรติแด่วงศ์ตระกูลอีลิอุส (Aelius) ของพระองค์เองว่า “อีเลีย คาปิโตลีนา” (Aelia Capitolina) นอกจากนี้ยังทรงสร้างเมืองใหม่ให้เป็นเมืองแบบโรมันและมีวิหารเทพเจ้ากรีก-โรมันตามหัวเมืองที่สำคัญ (เช่น สะมาเรีย) ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามในการจะลบประวัติ ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินนี้ของชาวยิวออกไปเสีย

แล้วแผ่นดินก็ถูกเรียกด้วยชื่อใหม่นี้อย่างเป็นทางการตลอดมา แม้กระทั่งใน รัชสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช หรือแม้แต่นักบุญเจอโรมผู้แปลพระคัมภีร์ฉบับภาษาละติน (Latin Vulgate) ในช่วงศตวรรษที่ 4 ก็ยังถือว่าชื่อ “ซีเรีย-ปาเลสไตน์” คือชื่อทางการของแผ่นดินอิสราเอลโบราณในช่วงยุคสมัยของท่านเช่นกัน (จากงานเขียนอื่นๆ ของท่านซึ่งมีการเอ่ยถึง “บิชอปแห่งปาเลสไตน์”)

จนกระทั่งปี ค.ศ.638 ในท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเริ่มต้นและแผ่ขยายดินแดนของศาสนาอิสลาม ชาวอาหรับก็ได้บุกมาถึงและเข้ายึดครองแผ่นดิน โดยธรรมเนียมของชาวอาหรับเหล่านี้นั้น จะพยายามอนุรักษ์ชื่อเรียกเดิมของหัวเมืองต่างๆ ที่ยึดครองมาได้เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ไว้ แม้ว่าบางกรณีจะมีการปรับเปลี่ยนการออกเสียงเล็กน้อย (ตัวอย่างเช่น เมือง Neapolis ของชาวโรมัน ถูกชาวอาหรับที่เข้ายึดครองเรียกว่า Nablus) แต่ในกรณีนี้ชาวอาหรับได้เรียกชื่อแผ่นดินตามเดิมว่า “ปาเลสไตน์” (Palestine) เรื่อยมาจนถึงสมัยจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) ดังนั้น ชื่อของ “แผ่นดินปาเลสไตน์” จึงอยู่คู่กับแผนที่โลกมายาวนานถึงกว่า 12 ศตวรรษ

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1918 จักรวรรดิออตโตมันอันยืนยาวก็ปิดฉากลงด้วย แผ่นดินจึงถูกเปลี่ยนมืออีกครั้ง โดยครั้งนี้มีฐานะเป็น “ปาเลสไตน์ในอาณัติของบริเทน” (British Mandate for Palestine) ตั้งแต่ ค.ศ.1920 ด้วยเหตุนี้แผนที่โลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงยังคงปรากฏชื่อ “ปาเลสไตน์” อยู่เรื่อยมา

ในที่สุด หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นานนัก “รัฐอิสราเอล” ก็ได้ก่อตั้งขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ.1948 แม้ว่าจะมีความคิดเห็นและการตอบสนองที่หลากหลายต่อการกลับมาของประเทศนี้ แต่แผนที่โลกในปัจจุบันก็ได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่แล้ว และต่อมาในปี ค.ศ.1988 “รัฐปาเลสไตน์” ก็เกิดขึ้นด้วยภายใต้การผลักดันของกลุ่มประเทศอาหรับมุสลิม โดยมีพื้นที่เขตปกครองพิเศษอยู่ภายในรัฐอิสราเอลอย่างน้อย 3 แห่งได้แก่ เบธเลเฮม เยรีโค และกาซา สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 3 แห่งนี้ จะต้องขอวีซ่าประเทศอิสราเอลและเดินทางเข้าไปยังประเทศอิสราเอล จากนั้นจึงเดินทางทางบกโดยต้องผ่านจุดตรวจของทาง การอิสราเอลก่อนที่จะเข้า-ออกพื้นที่เหล่านี้

สำหรับในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าบรรยากาศทางการเมืองและสังคมของทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่แน่นอนและน่าจับตามองเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ทั้งชื่อของ “ปาเลสไตน์” และ “อิสราเอล” ก็เป็นที่รู้จักของทั้งคริสเตียนและคนทั่วไปในทุกวันนี้ และต่างก็มีการตีความหรือทัศนะที่หลากหลายทั้งด้านสังคม การเมือง และศาสนา แต่สิ่งที่เป็นความจริงและเห็นได้อย่างเด่นชัดคือ ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อันไร้กาลเวลาขององค์พระผู้เป็นเจ้าของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ (อิสราเอล) ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสากลและทรงครองอยู่เหนือทุกประชาชาติ

สรุป

แท้จริงแผ่นดินอิสราเอลโบราณในพระคัมภีร์ ก็มีชื่อเรียกที่หลากหลายมากมายในแต่ละยุคสมัยขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจอิทธิพลในแต่ละช่วงเวลา แต่ก็มักจะเป็นที่รู้จักควบคู่ไปกับเรื่องราวของชนชาติอิสราเอลทั้งในพระคัมภีร์และในประวัติศาสตร์โลกและก็เป็นเพราะความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับผู้มีอำนาจในโลกสมัยโบราณ คือจักรพรรดิฮา-เดรียนแห่งอาณาจักรโรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 2 ชื่อเรียกของแผ่นดินนี้จึงถูกเขียนทับเสียใหม่เพื่อที่จะพยายามลบประวัติศาสตร์ของชาวยิวทิ้งไปเสียและแทนที่ด้วยชื่อเรียกที่มาจากศัตรูตัวฉกาจของอิสราเอลตั้งแต่สมัยโบราณ คือ “ฟีลิสเตีย” แล้วแผ่นดินอิสราเอลโบราณก็ถูกจดจำด้วยชื่อ “ปาเลสไตน์” มาอย่างยาวนาน จนกระทั่ง “รัฐอิสราเอล” ได้หวนคืนกลับมาเป็นประเทศอยู่บนแผน ที่โลกโดยมี “รัฐปาเลสไตน์” เป็นเขตปกครองพิเศษอยู่ภายในดินแดนของประเทศอิสราเอลปัจจุบัน

  • อาจารย์ วิรวิชญ์ รัศมิทัต
  • ภาพ www.middleeastmonitor.com/