ทำไมจึงแปลคำว่า “and“ ในสำนวน KJV เป็น “คือ” ใน 2 เปโตร 1:1 ฉบับมาตรฐาน (2011) ?

ทำไมจึงแปลคำว่า “and“ ในสำนวน KJV เป็น “คือ”
ใน 2 เปโตร 1:1 ฉบับมาตรฐาน (2011) ?

คำตอบ

2 Peter 1:1 (KJV)
Simon Peter, a servant and an apostle of Jesus Christ, to them that have obtained like precious faith with us through the righteousness of God and our Saviour Jesus Christ:

2 เปโตร 1:1 (ฉบับมาตรฐาน)
สิเมโอนเปโตร ผู้รับใช้และอัครทูตของพระเยซูคริสต์

เรียน บรรดาผู้ที่ได้รับความเชื่ออันล้ำค่าเช่นเดียวกับเรา โดยความชอบธรรมแห่งพระเจ้าของเราทั้งหลาย คือพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้รอดของเรา

หากเปรียบเทียบ 2 เปโตร 1:1 ในสำนวน King James Version (KJV) กับฉบับมาตรฐาน (2011) จะเห็นได้ว่า คำว่า “and” ในสำนวน KJV ตรงกับคำว่า “คือ” แทนที่จะเป็น “และ” ในฉบับมาตรฐาน (2011) นั่นเป็นเพราะว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาษาไทยฉบับมาตรฐาน (2011) ไม่ได้ถูกแปลมาจากภาษาอังกฤษฉบับใดๆ แต่ถูกแปลมาจากพระคัมภีร์ในภาษาเดิม (ในที่นี้คือพันธสัญญาใหม่ในภาษากรีก) โดยคำนึงถึงความเข้าใจของผู้อ่านชาวไทยเป็นสำคัญ

จากการวิเคราะห์เนื้อหาตอนนี้ในภาษากรีก พบว่า ข้อความนี้มีความหมายที่เป็นไปได้อยู่ 2 แนว คือ

ข้อความนี้กำลังกล่าวถึงสองบุคคล คือ พระเจ้า (พระบิดา) และพระเยซูคริสต์
ข้อความนี้กำลังกล่าวถึงบุคคลเดียวที่มีฐานะสองอย่าง คือ พระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นทั้งพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอด
ผู้ที่สนับสนุนการตีความแนวทางแรกให้เหตุผลว่า ข้อถัดไป (1:2) มีการกล่าวถึงพระเจ้าพระบิดากับพระเยซูคริสต์แยกกันอย่างชัดเจน ดังนั้น ความหมายในประเด็นนี้ของ 2 เปโตร 1:1 ก็ควรจะสอดคล้องกันด้วย

ส่วนผู้ที่เห็นด้วยกับการตีความแนวทางที่สองนั้นใช้เหตุผลในเรื่องโครงสร้างประโยคในภาษาเดิมของข้อความตอนนี้ กล่าวคือ คำว่า “พระเจ้า” กับ “พระผู้ช่วยให้รอด” ใน 1:1 มีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจง (definite article) ปรากฏเพียงที่เดียว คือข้างหน้าคำว่า “พระเจ้า” ในขณะที่ 1:2 มีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจงปรากฏแยกกันทั้งข้างหน้าคำว่า “พระเจ้า” และข้างหน้าคำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ดังนั้น ข้อความใน 1:1 ในภาษากรีกจึงน่าจะสื่อความหมายถึงบุคคลผู้เดียว นั่นคือพระเยซูคริสต์ที่ดำรงฐานะสองอย่างควบคู่กัน กล่าวคือ ทรงเป็นทั้งพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอด

นอกจากนี้ พระคริสตธรรมคัมภีร์ภาษาอังกฤษหลายฉบับก็ได้แปลโดยมีการวางคำสรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของ (possessive pronoun) ไว้ในตำแหน่งที่แตกต่างกันเพื่อบ่งบอกนัยความหมายแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งมีเพียงสำนวนแปล KJV เท่านั้นที่แปลข้อความนี้ว่า “…of God and our Saviour Jesus Christ…” อันดูจะสื่อความหมายแบบแรก ในขณะที่สำนวนแปลอื่นๆ เช่น ESV GNB NRSV CEV NIV MSG NKJV เป็นต้น แปลข้อความนี้ว่า “…of our God and Saviour Jesus Christ…” อันจะสื่อความหมายแบบที่สองมากกว่า ทั้งนี้ บางคนก็อาจโต้แย้งว่า สำนวนแปลทั้งสองแบบในภาษาอังกฤษนั้นต่างมีความคลุมเครือและอาจตีความหมายเป็นแบบใดก็ได้ ชวนให้สงสัยว่า นี่เป็นความตั้งใจของผู้แปลหรือไม่

สำหรับพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทยฉบับมาตรฐาน (2011) นั้น ผู้แปลได้ยึดถือแนวทางที่สองด้วยเหตุผลข้างต้น อีกทั้งเมื่อคำนึงถึงความเข้าใจของผู้อ่านภาษาไทย การใช้คำเชื่อม “คือ” ก็สามารถสื่อความหมายดังกล่าวได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่บ้างในการแปลข้อความนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้สาระสำคัญของพระธรรมตอนนี้ตกหล่นไป นั่นคือการตระหนักรู้ถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ผู้เชื่อได้รับ ซึ่งควรเป็นแรงผลักดันให้ผู้เชื่อดำเนินชีวิตเติบโตในฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอไปให้สมกับพระคุณที่ได้รับนั้น

ภาพจาก www.sermons.logos.com