ทำไมประโยคเดียวถึงแปลได้ 2 แง่มุม

ทำไมประโยคเดียวถึงแปลได้ 2 แง่มุม

ถาม : คำแปลในพระธรรม สุภาษิตบทที่ 11 ข้อ 30 บรรทัดที่สองซึ่งมีเนื้อ ความว่า “การฝ่าฝืนกฎหมายย่อมทำลายชีวิต” นั้นดู จะไม่ถูกต้อง เพราะพระคัมภีร์อังกฤษแปลว่า “And he who is wise wins souls.’ (เขาผู้มีสติปัญญาย่อมนำวิญญาณ – ดูหมายเหตุท้ายบทความ)  และพระคัมภีร์ไทยฉบับแปลเก่า มีเนื้อความว่า “และบุคคล ผู้มีปัญญาย่อมมีชัยแก่วิญญาณหลายดวง” ขอให้ทางสมาคมฯ ช่วยพิจารณาดูให้ดีด้วย
ตอบ : สำหรับ เรื่องที่เสนอมานั้น เราได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนทั้งจากสำเนาต้นฉบับฮีบรูและฉบับอังกฤษมาตรฐาน หลายฉบับ ประกอบกับได้ศึกษาจากหนังสือคู่มือพระธรรมสุภาษิตของสหสมาคมพระคริสตธรรม สากลด้วย จึงอยากจะเรียนให้ผู้อ่านทราบเป็นขั้นตอนดังนี้

เรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา 
เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์อย่างจริงจัง และอ่านเปรียบเทียบกันต่างฉบับ บางครั้งเราพบความแตกต่างมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อแตกต่างกันมากจริงๆ ก็ทำให้คิดว่าฉบับไหนถูกต้อง ฉบับไหนไม่ถูกต้อง แต่จะมีสักกี่คนที่คิดว่าทำไมจึงแปลต่างกัน? บางครั้งการแปล ต่างกันมาจาก 1. หลักการแปลที่ต่างกัน เช่น บางฉบับมีหลักค่อนข้างเคร่งครัดในการแปลตรงตัวอักษรยกตัวอย่าง Young’s Literal Translation, American Standard Version เป็นต้น แต่บางฉบับแปลแบบเอาความหมาย ยกตัวอย่าง Good News Bible, New Living Translation เป็นต้น 2. การยึดสำเนาต้นฉบับภาษาเดิมต่างกันใน การแปลพระคัมภีร์บางข้อ บางฉบับยึดฉบับฮีบรูเป็นหลัก บางฉบับยึดฉบับกรีกเป็นหลัก

เข้าเนื้อหา 
เมื่อสังเกตคำแปลแต่ละฉบับในสุภาษิตข้างต้น เราพบคำแปลแตกต่างกันมาก พระคัมภีร์ฉบับ 1971 ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปแปลในทางลบว่า “การฝ่าฝันกฎหมายย่อมทำลายชีวิต” ส่วนฉบับ 1940 แปลในทางบวกว่า “และบุคคลผู้มีปัญญาย่อมมีชัยแก่วิญญาณ หลายดวง” และในฉบับ New American Standard Bible แปล ว่า “And he who is wise wins souls.’ และมีเชิงอรรถ (Footnote) ตรงคำ wins ว่าแปลตรงตัวอักษรว่า takes
และเมื่อเราสำรวจคำแปลตรงนี้ในพระคัมภีร์อังกฤษฉบับมาตรฐานหลายฉบับ เราพบว่ามีการแปลออกมาต่งากันสองแนวทาง คือ ทางบวก และทางลบ แต่ส่วนมากแปลในทางบวก ทำไมข้อนี้จึงแปลออกมาได้ทั้งทางบวกและทางลบ? นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เรากลับไปพิจารณาที่สำเนาต้นฉบับฮีบรูว่าสามารถ ให้คำตอบเราได้หรือไม่? อย่างไร?
จากฉบับฮีบรู เราพบคำสามคำในสุภาษิตบท 11 ข้อ 30 บรรทัดที่สอง คือ เวอะโลเคอาค = และได้ (หรือเอา) เนอะฟาโชท = ชีวิตหลายชีวิต (หรือวิญญาณหลายดวงหรือคนหลายคน) คาคาม = (คน) มีปัญญา แม้เราจะได้ความหมายของทั้งสามคำแล้ว แต่เมื่อนำมาเข้าประโยค ก็ยังยากอยู่เพราะประโยคอาจออกมาในรูปแบบ

1. คนมีปัญญาย่อมได้คน (หลายคน) หรือ 2. คนมีปัญญาย่อมเอา ชีวิต (หลายชีวิต)
รูปแบบที่ 1 ความหมายไปในทางบวก
รูปแบบที่ 2 ความหมายไปในทางลบ

และคำถามต่อไปก็คือทั้งสองประโยคนั้นหมายความว่าอย่างไร?

ประโยครูปแบบที่ 1 อาจหมายความ ว่า ก. คนมีปัญญาย่อมสามารถชักนำคนมากมายให้เดินอยู่ในทางชอบธรรม คือทางของพระเจ้า ดังที่เขียนไว้ในดาเนียลบท 12 ข้อ 3 ว่า “และ บรรดาคนที่ฉลาดจะส่องแสงเหมือนแสงฟ้า และบรรดาผู้ที่ได้ให้คนเป็นอันมากมาสู่ความชอบธรรมจะส่องแสงเหมือนอย่างดาว เป็นนิตย์นิรันดร์” หรือ
ข. คนมีปัญญาย่อมได้คนมากมายมาเข้ากับตน ดังปฐมกาลบท 12 ข้อ 5 ว่า “อับรามพา…บรรดาผู้คนที่ได้ไว้ที่เมืองฮา ราน…” ในบริดา “บรรดาผู้คนที่ได้ไว้” อาจ หมายถึงทาสที่ซื้อไว้ หรือ คนที่ท่านชักชวนให้เชื่อพระยาห์เวห์ก็ได้ หนังสือคู่มือพระธรรมสุภาษิตของสหสมาคมฯ เสนอทางเลือกในการแปลอีกว่า “The wise person makes others want to come and stay with him.’ (คน มีปัญญาย่อมทำให้คนอื่นๆ อยากมาอยู่กับเขา)

ประโยครูปแบบที่ 2 กริยาวลี “เอาชีวิต” สื่อความหมายในทางลบ วลีดังกล่าวปรากฏในเพลงสดุดีบท 31 ข้อ 13 ด้วย ว่า “…ขณะที่เขาปองร้ายชีวิตของข้าพระองค์” (แปล ตรงตัวได้ว่า “…ขณะที่เขาคิดเอาชีวิตของข้าพระองค์”) ส่วน “คาคาม” (คนมีปัญญา) นั้น นักวิชาการบางคนเมื่ออ่านเปรียบเทียบกับฉบับกรีกและฉบับซีเรียแล้วเห็นว่า ที่ถูกต้องคือ “คามาส” ที่แปลว่า “ความ รุนแรง” (violence)  ดังนั้น ฉบับ New Revised Standard Version จึงแปลว่า “but violence takes lives away” (แต่ ความรุนแรงคร่าชีวิต) และมีเชิงอรรถตรง violence ว่าคำฮีบรู คือ a wise man (คนมีปัญญา)
สำหรับคำแปลของฉบับ 1971 ว่า “การฝ่าฝืน กฎหมายย่อมทำลายชีวิต” นั้นเข้าใจว่าแปลตามฉบับ Revised Standard Version ว่า “but lawlessness takes away lives” ซึ่งมีเชิงอรรถอธิบายว่านักวิชาการได้แก้ไขคำฮีบรูที่แปลว่า a wise man (คนมีปัญญา) เป็น lawlessness (การฝ่าฝืน กฎหมาย) โดยเปรียบเทียบกับฉบับกรีกและซีเรีย
ดังนั้นเราพบว่าไม่ว่าคำแปลจะไปในทางบวกหรือทางลบ เนื้อความก็เข้าได้กับบรรทัดแรกของข้อนี้ที่เป็นความคู่ขนานกัน คือ เป็นความคู่ขนานแบบคล้อยตามกันหากความหมายของบรรทัดที่สองเป็นไปในทางบวก หรือเป็นความคู่ขนานแบบค้านกันหากความหมายของบรรทัดที่สองเป็นไปในทางลบ
สำหรับข้าพเจ้า คำแปลในสุภาษิตบท 11 ข้อ 30 บรรทัด ที่สอง น่าจะเป็น “และคนฉลาดย่อมได้คนหลายคน”

หมายเหตุ 
วลี wins souls เป็นคำที่นักประกาศข่าวประเสริฐคุ้นเคย เพราะหมายถึง “นำวิญญาณ” กล่าวคือชักนำคนให้มา รู้จักพระเจ้าและได้รับความรอดจากพระองค์ นี่ทำให้คิดถึงคำตรัสของพระเยซูกับเปโตรในลูกาบท 5 ข้อ 10 ว่า “อย่ากลัวเลย ตั้งแต่นี้ไปท่านจะเป็นผู้จับคน” แต่หากแปลตรงๆ ก็แปลว่า “ชนะวิญญาณ” ซึ่ง ก็จะไปตรงกับพระคัมภีร์ไทยฉบับ 1940 แต่ก็ต้องถามต่อไปว่าหมาย ความว่าอย่างไร? หมายความว่าชนะต่อวิญญาณร้ายหรือ? ไม่ เป็นอย่างนั้นเลย คำกริยา win ในภาษาอังกฤษแปลได้อีกว่า ได้มาโดยความพยายาม ดังนั้น วลี “wins souls” จึงอาจแปลได้ว่า “ได้วิญญาณโดยความพยายาม” นี่ก็เช่นกันต้องถามอีกว่า หมายความว่าอย่างไร? จะหมายถึงได้จิตวิญญาณที่หลงหายกลับมาโดย ความเพียรพยายามของเราหรืออย่างไร? จริงๆ แล้วคงต้องถามว่าผู้เขียนพระธรรมสุภาษิตใช้วลีนี้ในความหมายว่าอะไร?

  • อ.ปัญญา โชชัยชาญ
  • ภาพ Studiogstock – Freepik.com