ทำไมพระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานจึงเปลี่ยนระบบชั่ง ตวง วัดแบบโบราณ เป็นระบบเมตริก? 3/12

ทำไมพระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานจึงเปลี่ยนระบบชั่ง ตวง วัดแบบโบราณ เป็นระบบเมตริก?

พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับ 1971 ที่จัดทำโดยสมาคมพระคริสตธรรมไทยนั้นได้รักษาคำแปลของมาตรา ชั่ง ตวง วัดแบบโบราณโดยได้จัดพิมพ์มาตราชั่ง ตวง วัด (เทียบมาตราเมตริก) ไว้ด้านหน้า โดยแบ่งเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้ คือ

  1. การชั่งในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่
  2. การตวงในพันธสัญญาเดิม แบ่งเป็นการตวงของแห้งกับการตวงของเหลว

การวัดในพันธสัญญาเดิม การวัดที่ใช้เฉพาะในพระธรรมเอเสเคียล และการวัดในพันธสัญญาใหม่
หาก ผมจะถามผู้อ่านว่า เคยใช้ประโยชน์จากตารางมาตราดังกล่าวอย่างจริงจังบ้างหรือไม่? ก็คงจะพอจะเดาคำตอบว่า ไม่เคยใช้ หรือ ไม่ค่อยใช้ และเมื่อท่านอ่านพระคัมภีร์ที่มีการบอกขนาด หรือ น้ำหนัก หรือปริมาตรในระบบ การชั่ง ตวง วัดแบบโบราณ ท่านสามารถจินตนาการได้หรือไม่?

เท่า ที่สังเกตผู้ที่อ่านพระคัมภีร์ฉบับ 1971 เมื่ออ่านถึงหน่วยของการชั่ง ตวง วัด ก็มักจะอ่านผ่านไปโดยไม่ได้คิดอะไร เพราะถึงแม้จะอ่านออกแต่ก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่า ขนาด หรือ น้ำหนัก หรือปริมาตรที่แท้จริงเป็นเท่าไร เนื่องจากหน่วยที่ใช้ยังเป็นระบบโบราณท่ต้องแปลงมาให้เป็นระบบที่เข้าใจได้ ในปัจจุบัน แต่ถึงแม้มีหน่วยบางอย่างที่มีชื่อที่คุ้นเคยเหมือนการวัดของไทยคือคืบและ ศอกเราก็พบว่า 1 คืบของไทยนั้นเท่ากับ 25 เซนติเมตร และ 1 ศอกของไทยนั้นเท่ากับ 50 เซนติเมตร ในขณะที่ 1 คืบในสมัยพันธสัญญาเดิมเท่ากับ 22.21 เซนติเมตร และ 1 ศอกในสมัยพันธสัญญาเดิมคือ 44.42 เซนติเมตร แต่พอมาถึงสมัยของผู้เผยพระวจนะเอเสเคียล 1 คืบเท่ากับ 25.91 เซนติเมตร และ 1 ศอกเท่ากับ 51.82 เซนติเมตร ต่อมาในสมัยพันธสัญญาใหม่ 1 ศอกก็ประมาณ 55 เซนติเมตร และส่วนคืบนั้นไม่ได้กล่าวถึง ดังนั้น เราจะเห็นว่าถึงแม้เราจะพูดถึงหน่วยวัดชื่อเดียวกัน แต่ความยาวก็ไม่เท่ากัน

ถึงแม้ในระบบมาตราวัดของไทยจะไม่มีนิ้ว แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังใช้ไม้บรรทัดที่มีหน่วยเป็นนิ้วและเป็นเซนติเมตร ซึ่งโดยประมาณแล้ว 1 นิ้วจะมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร แต่การวัดในพันธสัญญาเดิม 1 นิ้วเท่ากับ 1.85 เซนติเมตร ดังนั้นเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด พระคัมภีร์ไทยฉบับมาตรฐานจึงได้แปลงระบบมาตราชั่ง ตวง วัดให้เป็นระบบเมตริก โดยยึดการแปลของพระคัมภีร์อังกฤษฉบับ Good News Bible (British Edition) ซึ่งสูตรการแปลงของฉบับนี้จะแตกต่างจากฉบับ 1971 ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าหากใครนำตัวเลขในพระคัมภีร์ฉบับ 1971 มาแปลงเองก็จะได้ค่าที่แตกต่างไปจากฉบับมาตรฐาน เช่นในอพยพ 27:18 ในฉบับ 1971 แปลว่า “ด้านยาวของลานนั้นจะเป็นร้อยศอก ด้านกว้างห้าสิบศอก สูงห้าศอก กั้นด้วยผ้าป่านเนื้อดี และมีฐานทองสัมฤทธิ์” ตามตารางที่ทำไว้ในด้านหน้า ของฉบับ 1971 จะแปลงเป็นระบบเมตริกได้ดังนี้ “ด้านยาวของลาน นั้นจะเป็น 44.42 เมตร ด้านกว้าง 22.21 เมตร สูง 2.221 เมตร กั้นด้วยผ้าป่านเนื้อดี และมีฐานทองสัมฤทธิ์” แต่ฉบับมาตรฐานจะแปลว่า “ความยาวของลานนั้นเท่ากับ 44 เมตร ความกว้าง 22 เมตร ความสูง 2.2 เมตร กั้นด้วยผ้าป่านเนื้อดี และมีฐานทองสัมฤทธิ์” ซึ่งจะเห็นว่ามีค่าแตกต่างเป็นจุดทศนิยม หากผู้่อ่านบางท่านแปลงค่าโดยยึดตารางเปรียบเทียบมาตราวัดความยาวไทยเทียบ เมตริก โดยไม่ได้ดูตารางของฉบับ 1971 ก็จะได้ค่าแตกต่างออกไปอีกเพราะ 1 ศอกไทยเท่ากับ 50 เซนติเมตร ค่าที่ได้จากการแปลงโดยยึดศอกไทยก็จะได้ค่าใหม่ดังนี้ “ความยาวของลานนั้นเท่ากับ 50 เมตร ความกว้าง 25 เมตร ความสูง 2.5 เมตร กั้นด้วยผ้าป่านเนื้อดี และมีฐานทองสัมฤทธิ์” เพื่อไม่ให้ผู้อ่านต้องยุ่งยากในการแปลงค่า พระคัมภีร์ไทยฉบับมาตรฐานจึงช่วยผู้อ่านโดยแปลงค่า เป็นระบบเมตริกตามพระคัมภีร์ฉบับ Good News Bible (British Edition)

ใน ฉบับ 1971 ได้รักษาหน่วยการวัดซึ่งไม่ปรากฏในมาตราวัดความยาวของไทยคือ “ฝ่ามือ” เช่น ในอพยพ 25:25 “ประกับโต๊ะนั้นทำให้กว้างหนึ่งฝ่ามือโดยรอบ แล้วทำกระจังทองคำประกอบให้รอบประกับนั้น” ถ้าผู้อ่านต้องการรู้ว่าหนึ่งฝ่ามือยาวเท่าไรก็ต้องมาเปิดตารางดู ซึ่งก็คือ 7.4 เซนติเมตร แต่หากจะเปิดฉบับมาตรฐานอ่านก็จะพบว่า จงทำกรอบล้อมรอบโต๊ะนั้นโดยให้กว้าง 7.5 เซนติเมตร ความแตกต่างประมาณ 0.1 เซนติเมตรนี้เพราะการแปลงส่วนใหญ่เป็นค่าโดยประมาณ ผู้เขียนบทความเรื่อง Weights and Measures of the Bible ใน Nelson’s New Illustrated Bible Dictionary ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า คนในสมัยโบราณมักจะนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนกัน แต่เมื่อสังคมเริ่มซับซ้อนขึ้น ก็จำเป็นต้องมีการสร้างค่ามาตรฐานเพื่อมาทำการแลกเปลี่ยนกัน และแต่ละเมืองนั้นก็ได้ตั้งค่ามาตรฐานของตนขึ้นมา ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนระหว่างผู้คนต่างเมืองและต่างวัฒนธรรม

ใน สมัยพระคัมภีร์เดิมเมื่อคิดอะไรเป็นมูลค่ามักจะคิดเป็นนำ้หนักของเงินหรือ ทอง ซึ่งในฉบับ 1971 มักจะพูดเป็นเชเขล เช่น ในปฐมกาล 23:15 “นายขอฟังข้าพเจ้า ที่ดินแปลงหนึ่งมีราคาเป็นเงินสี่ร้อย เชเขล[หน่วยน้ำหนักเงิน ประมาณเท่ากับ 14.5 กรัม] สำหรับท่านกับข้าพเจ้าก็ไม่เท่าไร ฝังผู้ตายของท่านเถิด” เมื่อเราอ่านพระธรรมข้อนี้เราก็ต้องมาพิจารณาว่า 400 เชเขลมีมูลค่าเป็นเงินในปัจจุบันเท่ากับเท่าไร ในเชิงอรรถจึงได้ให้ข้อมูลว่า “หน่วยน้ำหนักเงิน ประมาณเท่ากับ 14.5 กรัม” เมื่อเอา 400 มาคูณก็จะได้น้ำหนักของเงินเท่ากับ 5.8 กิโลกรัม แต่ถ้าเราดูการแปลของฉบับมาตรฐานก็จะได้ข้อมูลเป็นน้ำหนักที่เรารู้จักเลย “ขอนายข้าพเจ้าฟังข้าพเจ้า ที่ดินแปลงนี้มีราคาเป็นเงินหนัก 4.8 กิโลกรัม สำหรับท่านกับข้าพเจ้าก็ไม่เท่าไร ฝังผู้ตายของท่านเถิด” ถ้าเปรียบเทียบทั้งสองฉบับก็จะพบว่าน้ำหนักต่างกันประมาณกัน 1 กิโลกรัม เพราะสูตรการแปลงจากเชเขลไปเป็นกิโลกรัมนั้นต่างกัน อย่างไรก็ดี บางคนเมื่อพบกับคำว่า “เชเขล” ก็อาจจะคิดถึงสกุลเงินตราในสมัยปัจจุบันของประเทศอิสราเอลก็ได้ ซึ่งเราจะเทียบมูลค่าของเงินเชเขลในปัจจุบันเชเขลในอดีตไม่ได้ การแปลงน้ำหนักเป็นระบบเมตริกนั้นง่ายกว่าแปลงมูลค่าของเงินมาสู่ปัจจุบัน ดังนั้นคำว่าเชเขลในบริบทที่เป็นหน่วยเงินตราโบราณ ฉบับมาตรฐานยังคงรักษาคำว่า “เชเขล” ไว้เหมือนเดิม เช่น อพยพ 21:32 ว่า “ถ้าโคนั้นขวิดทาสชายหญิงของผู้ใด เจ้าของโคต้องให้เงินสามสิบเชเขลแก่นายของทาสนั้น แล้วต้องเอาหินขว้างโคนั้นให้ตายเสียด้วย” แต่เราก็ไม่สามารถเทียบเป็นค่าของเงินในปัจจุบันได้ว่าเท่ากับเท่าไร ในกรณีเช่นนี้ผู้แปลไม่สามารถช่วยผู้อ่านได้มากนัก แต่ถ้าเป็นมูลค่าของเงินที่เป็นน้ำหนัก ฉบับมาตรฐานก็จะแปลงเป็นน้ำหนัก เช่น ในอพยพ 38:25 “เงินที่ได้จากชุมนุมชนที่ถูกนับไว้ รวมเป็น 3,430 กิโลกรัม ตามมาตราการชั่งน้ำหนักของสถานนมัสการ” แสดงว่าในพันธสัญญาเดิม มาตรฐานของการชั่งน้ำหนักมีมากกว่าหนึ่งมาตรฐาน

นอก จากนี้ฉบับมาตรฐานยังต้องแปลโดยรักษามาตราของน้ำหนักและการตวงโบราณไว้ใน เมื่อบริบทมีการเทียบค่าเช่นในเอเสเคียล 45:10-12 “พวกเจ้าจงมีตาชั่งเครื่องตวงของแห้งและของเหลวที่เที่ยวงตรง เครื่องตวงของแห้งและของเหลวนั้นให้เป็นขนาดเดียวกัน เครื่องตวงของเหลวขนาด 1 บัทนั้นเท่ากับหนึ่งในสิบของโฮเมอร์และเครื่องตวงของแห้งขนาด 1 เอฟาห์นั้นเท่ากับหนึ่งในสิบของโฮเมอร์ ให้โฮเมอร์เป็นเครื่องตวงมาตฐาน น้ำหนัก 1 เชเขลเท่ากับ 20 เกราห์ ตุ้มน้ำหนัก 20 เชเขลรวมกับตุ้มน้ำหนัก 25 เชเขล รวมกับตุ้มน้ำหนัก 15 เชเขล ทั้งหมดจะเท่ากับ 1 มินา” ถึงแม้จะมีการแปลแบบรักษาคำศัพท์โบราณไว้ แต่ฉบับมาตรฐานก็มีความแตกต่างจากฉบับ 1971 คือมีการเทียบค่าต่างกัน 1 มินาของฉบับมาตรฐานมีค่าเท่ากับ 60 เชเขล ซึ่งได้มาจากการบวกตุ้มน้ำหนัก 3 ขนาดเข้าด้วยกันคือ 20+25+15 ในขณะที่ มาเน (มินา) ของฉบับ 1971 นั้นมีค่าเท่ากับ 50 เชเขล เพราะฉบับ 1971 แปลตามฉบับกรีก ส่วนฉบับมาตรฐานแปลตามฉบับฮีบรู และการที่ฉบับมาตรฐานไม่ได้สรุปให้รู้ว่า 1 มินาเป็น 60 เชเขลเลย แต่แปลโดยเพิ่มคำว่า “ตุ้มน้ำหนัก” เข้าไปหน้าตัวเลข 20, 25 และ 15 ก็เพื่อให้รู้ว่าตุ้มน้ำหนักที่นำมาชั่งคู่กับตาชั่งที่เป็นแขนนั้นมี 3 ขนาด ซึ่งการแปลโดยเพิ่มข้อความบางอย่างเข้าไป ก็เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ แต่การแปลก็ไม่สามารถช่วยผู้อ่านได้ทุกเรื่อง เช่นในตอนต่อมาคือเอเสเคียล 45:13-14 ว่า “ต่อไปนี้เป็นเครื่องถวายที่เจ้าทั้งหลายจะต้องถวาย คือ ข้าวสาลี 1 โฮเมอร์ ให้ถวายหนึ่งในหกเอฟาห์ ข้าวบารลี 1 โฮเมอร์ให้ถวายหนึ่งในหกเอฟาห์ และส่วนกำหนดประจำของน้ำมัน คือ น้ำมันหนึ่งโคระ ให้ถวายหนึ่งในสิบบัท (เครื่องตวงขนาด 1 โคระก็เหมือนเครื่องตวงขนาด 1 โฮเมอร์ คือจุ 10 บัท)” ผู้อ่านต้องกลับไปอ่านว่า 1 โฮเมอร์เท่ากับกี่เอฟาห์ และ โคระเท่ากับกี่บัท ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ผู้แปลไม่ได้ช่วยผู้อ่านมากนัก แต่ถ้าใครมีพระคัมภีร์ไทย-อังกฤษ (1971-Good News Bible) ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า คนที่ทำการเพาะปลูกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์นั้นจะต้องถวายผลผลิตให้พระเจ้า 1 ใน 60 ส่วน แต่หากเป็นน้ำมันนั้นจะต้องถวาย 1 ใน 100 ส่วน และเมื่ออ่านต่อมาในข้อ 15 ก็จะเห็นชัดขึ้นว่า ถ้าเลี้ยงแกะก็ให้ถวายแกะ 1 ตัวจากแกะ 200 ตัว จากข้อความตอนนี้ของพระธรรมเอเสเคียลทำให้เราเห็นว่า พระเจ้าไม่ได้เรียกร้องให้คนอิสราเอลถวายผลิตผลทางการเกษตรเท่ากัน เรามักจะเข้าใจว่า เราต้องถวายทุกอย่าง 1 ใน 10 หรือ 10% ถ้าเป็นข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์จะถวายเพียง 1.6% ถ้าเป็นน้ำมันถวายเพียง 1% และถ้าเป็นแกะถวายเพียง 0.5% เพราะมูลค่าและผลผลิตทางเกษตรแต่ละอย่างนั้นไม่เท่ากัน จากแนวทางของพระคัมภีร์ตอนนี้ก็อาจจะเป็นข้อแนะนำที่ดีที่จะช่วยคริสตจักร ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรจะถวายผลผลิตให้กับพระเจ้าอย่างไร

การ แปลพระวจนะของพระเจ้านั้นเป็นเรื่องยาก เพราะผู้แปลต้องคำนึงถึงความหมายของผู้เขียนและคำนึงถึงความเข้าใจของผู้ อ่านด้วย ถ้าผู้อ่านอ่านแล้วไม่เข้าใจความหมายก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร และแย่ไปกว่านั้นคือผู้อ่านเข้าใจผิด เรื่องการแปลจึงเป็นงานศิลปะที่จะต้องมองหลายๆ มุมผมหวังว่าความพยายามที่ผู้แปลของสมาคมฯ ได้ทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพพจน์ด้วยการแปลงระบบชั่ง ตวง วัดให้เป็นระบบเมตริกจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจพระวจนะของพระเจ้ามากขึ้น

  • ศาสนาจารย์ ดร.เสรี หล่อกัณภัย