ทำไมพระคัมภีร์ไทยจึงแปลยอห์น 6:69 ต่างจากพระคัมภีร์อังกฤษ ฉบับคิงเจมส์?

ทำไมพระคัมภีร์ไทยจึงแปลยอห์น 6:69 ต่างจากพระคัมภีร์อังกฤษ ฉบับคิงเจมส์?

คำถามจากผู้เข้าสัมมนาการแปล วันที่ 24 พ.ย. 2001 พระคัมภีร์ภาษา อังกฤษฉบับคิงเจมส์ (King James Version) แปลยอห์น 6:69 ว่า “And we believe and are sure that thou art that Christ, the Son of the Living God.” ส่วนพระคัมภีร์ไทยฉบับ 1971 แปลว่า “และข้าพระองค์ทั้งหลายก็เชื่อและมาทราบแล้วว่าพระองค์ทรงเป็นองค์บริสุทธิ์ ของพระเจ้า”    คำถามก็คือ ทำไมจึงแปลพระคัมภีร์ไม่ตรงกัน? พระคัมภีร์ไทยแปลผิดหรือ?

นี่มักจะเป็นคำถามคาใจผู้อ่านพระคัมภีร์สองภาษาหรือมากกว่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วพบความแตกต่างในบางจุด ผู้อ่านมักจะคิดว่าฉบับไหนแปลถูก? ฉบับไหนแปลผิด? แต่จะมีสักกี่คนที่คิดว่าแปลถูกทั้งคู่ หรือแปลผิดทั้งคู่?
เพื่อจะตอบคำถามข้างต้น จำเป็นที่ผู้อ่านจะต้องเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับพระคริสตธรรมคัมภีร์

ความจริงเกี่ยวกับพระคัมภีร์
1. ต้นฉบับ (Original Text)  ได้แก่ตัวจริง หรือ ของจริง กล่าวคือพระวจนะที่บันทึกด้วยลายมือของผู้เขียนพระคัมภีร์หรือผู้ช่วยของ ท่าน แต่น่าเสียดายที่ไม่มีต้นฉบับเหลืออยู่ให้ได้อ่านและศึกษา
2. สำเนาต้นฉบับ (Manuscripts) ได้แก่ ฉบับคัดลอกจากต้นฉบับโดยพวกธรรมาจารย์ สำเนาต้นฉบับพระธรรมเล่มหนึ่งๆ ก็มีหลายสำเนา และมีอายุต่างๆ กัน ขึ้นอยู่กับการคัดลอกในเวลาไหน
3. ฉบับแปล (Translation) ได้แก่ฉบับที่แปลจากสำเนาต้นฉบับที่เขียนด้วยภาษาดั้งเดิมของต้นฉบับออกมา เป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เป็นต้น

เหตุที่เนื้อความบางจุดในฉบับแปลมีความแตกต่างกัน
อาจเป็นเพราะผู้แปลหรือคณะกรรมการนั้นๆ ได้แปลพระคัมภีร์จากสำเนาต้นฉบับที่ต่างกันก็เป็นได้ เช่น
พระคัมภีร์ใหม่ฉบับคิงเจมส์ (King James Version) แปลจากสำเนาต้นฉบับกรีกที่ชื่อ Textus Receptus ส่วนฉบับ 1971 แปลจากสำเนาต้นฉบับกรีกของสหสมาคมพระคริสตธรรม (United Bible Societies)

ดังนั้นจากการเลือกสำเนาต้นฉบับ (Manuscripts) ที่ต่างกัน จึงนำไปสู่การแปล (Translations) ที่ต่างกันด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น ทั้งฉบับคิงเจมส์และฉบับ 1971 ก็แปลถูกด้วยกันทั้งคู่ คือแปลถูกต้องกับสำเนาต้นฉบับที่ตนเลือกมา แต่ก็มีคำถามต่อไปอีกว่า แล้วฉบับแปลอันไหนแปลได้ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด? ความจริงแล้วต้องถามว่า สำเนาต้นฉบับไหนใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุด?  เพราะจากสำเนาต้นฉบับจึงจะมีฉบับแปล

สำเนาต้นฉบับที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุด
สุภาษิตญี่ปุ่นว่า บ้านกับภรรยายิ่งใหม่ก็ยิ่งดี แต่สำหรับสำเนาต้นฉบับพระคัมภีร์แล้วกลับตรงกันข้าม กล่าวคือยิ่งเก่าก็ยิ่งดี ดังนั้นสำเนาต้นฉบับที่มีความเก่าแก่มากที่สุดก็น่าจะใกล้เคียงกับต้นฉบับ ที่สุด เพราะผ่านมือของผู้คัดลอกน้อยกว่า การตกหล่นหรือการเปลี่ยนแปลงก็น่าจะน้อยกว่า
ตอนนี้เรามาพิจารณาดูสำเนาต้นฉบับ Textus Receptus กับสำเนาต้นฉบับกรีกของสหสมาคมพระคริสตธรรม (UBS) กันบ้าง
Textus Receptus พิมพ์ออกมาในปี ค.ศ. 1516 Froben และ Erasmus มีพื้นฐานอยู่บนสำเนาคัดลอก 6 ฉบับ และฉบับที่เก่าและดีที่สุดอยู่ในราวคริสตศตวรรษที่ 10

ส่วนสำเนาต้นฉบับกรีกของ UBS นั้นมีพื้นฐานอยู่บนสำเนาคัดลอกโบราณ คือ Sinaiticus และ Vaticanus (ซึ่งอยู่ในราวคริสตศตวรรษที่ 4) ประกอบกับสำเนาโบราณอื่นๆ เช่น ข้อเขียนของผู้นำที่สำคัญของคริสตจักรยุคแรก (Church Fathers)

ดังนั้นจึงเห็นว่า สำเนาต้นฉบับของ UBS มีอายุเก่าแก่กว่า Textus Receptus แต่อย่างไรก็ดีทั้งสำเนาต้นฉบับของ UBS และ Textus Receptus ก็มีความคล้ายคลึงกันมาก ที่ต่างเพียงเล็กน้อย และไม่มีผลกระทบต่อหลักความจริงสำคัญของพระคัมภีร์

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรให้ความแตกต่างของสำเนาต้นฉบับและฉบับแปลต่างๆ มาทำให้เกิดความแตกแยกในความคิด และเป็นอุปสรรคต่อความซาบซึ้งดื่มด่ำในพระดำรัสขององค์พระผู้เป็นเจ้า เราควรอ่านบ่อยๆ ควรใคร่ครวญเสมอๆ และควรดำเนินตามพระวจนะอย่างซื่อสัตย์ เราควรให้พระวจนะที่เป็นลายลักษณ์อักษรกลายเป็นชีวิตของเรา

  • อ.ปัญญา โชชัยชาญ