ทำไมพระเยซูทรงเลือก ยูดาสเป็นสาวก

ทำไมพระเยซูทรงเลือก
ยูดาสเป็นสาวก

ยูดาสอิสคาริโอท น่าจะเป็นหนึ่งในสาวกของพระเยซูคริสต์ที่เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ที่ทรยศพระองค์ จนเป็นเหตุให้พระองค์ทรงถูกจับกุมและถูกตรึงบนไม้กางเขน แต่เรื่องที่น่าจะคาใจหลายคนก็คือ พระเยซูทรงทราบตั้งแต่แรกหรือไม่ว่ายูดาสจะกลายเป็นคนทรยศ และหากพระองค์ทรงทราบ ทำไมพระองค์จึงยังทรงเลือกเขาเป็นหนึ่งในสาวก

ยูดาสอิสคาริโอท เป็นบุตรของซีโมนอิสคาริโอท (ยน.6:71; 13:2) อย่างไรก็ตาม “อิสคา-
ริโอท” (Iscariot) ไม่ใช่นามสกุลของเขา แต่อาจมีความหมายที่เป็นไปได้หลักๆ 2 แบบ คือ 1) คำนี้มาจากคำฮีบรู “อิช เคริโอท/คีริยาท” (Ish Kerioth/Kiriyath) ซึ่งแปลว่า “ชายจากเมือง เคริโอท/คีริยาท” ซึ่งเป็นเมืองในภาคใต้ของอิสราเอล ถ้าเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่า ยูดาสเป็นคนจากแคว้นยูเดีย ขณะที่สาวกคนอื่นๆ นั้นมาจากแคว้นกาลิลีในภาคเหนือเหมือนกับพระเยซูคริสต์ 2) คำนี้อาจมาจากคำละติน “สิคารีอุส” (Sicarius) แปลว่า “ฆาตกร/นักฆ่า” ซึ่งมาจากรากศัพท์ “สิคา” (Sica) ซึ่งแปลว่า “กริช/มีดสั้น” คำนี้ยังใช้เรียกพวกยิวชาตินิยมหัวรุนแรงที่มักจะลอบสังหารเจ้าหน้าที่ของโรมด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่า ยูดาสเป็นพวกชาตินิยมเช่นเดียวกันกับซีโมนพรรคชาตินิยม (มธ.10:4; มก.3:18; ลก.6:15) ทั้งนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันดูจะเห็นด้วยกับความหมายแบบแรกมากกว่า

ในพันธสัญญาใหม่ ยูดาสอิสคาริโอทไม่ถูกกล่าวถึงเลยในจดหมายฝากต่างๆ และถูกเอ่ยถึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในพระธรรมกิจการของอัครทูต (กจ.1:16-18, 25) ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับยูดาสและการทรยศของเขาจึงพบได้เฉพาะในพระกิตติคุณสี่เล่ม ซึ่งพอจะรวบรวมมาสรุปความในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคำถามข้างต้นได้ดังนี้

  • พระเยซูทรงทราบล่วงหน้าว่า พระองค์จะทรงถูกมอบให้ถึงแก่ความตาย (มธ.17:22; 20:17-19; 26:1-2, 12, 45-46; มก.9:30-32; 10:32-34; 14:8-9, 27-28, 41-42; ลก.9:43-45; 18:31-34; ยน.13:1)
  • พระเยซูทรงแจ้งแก่พวกสาวกว่า คนหนึ่งในพวกเขาจะเป็นผู้ที่ทรยศพระองค์ (มธ.26:20-21; มก.14:17-20; ลก.22:21; ยน.6:64, 70; 13:11, 18, 21) นั่นคือยูดาสอิสคาริโอท (มธ.26:22-25; ยน.6:71; 13:25-30)
  • พระเยซูตรัสว่า ผู้ที่ทรยศพระองค์จะพบกับวิบัติหรือความพินาศ (มธ.26:24; มก.14:21; ลก.22:22; ยน.17:12; 19:10-11)

ข้อมูลเหล่านี้ดูจะบ่งชี้ว่า พระเยซูทรงทราบดีว่ายูดาสอิสคาริโอทจะทรยศและมอบพระองค์ให้ถึงแก่ความตายตามแผนการของพระบิดา แล้วตัวยูดาสเองก็จะพินาศด้วย ทั้งนี้ บางคนอาจสงสัยว่า พระเยซูคริสต์ทรงทราบว่ายูดาสจะทรยศเมื่อใดแน่ แม้จะมีบันทึกว่าพระองค์ทรงทราบ “ตั้งแต่แรก” (ยน.6:64) แต่คำนี้จะหมายถึงเมื่อพระองค์ทรงเริ่มต้นทำพันธกิจหรือเมื่อทรงเลือกพวกสาวก ซึ่งคำตอบก็อาจส่งผลให้มีนัยทางศาสนศาสตร์ที่แตกต่างกันด้วย

ถ้าพระเยซูทรงทราบตั้งแต่เมื่อทรงเริ่มต้นทำพันธกิจก็แสดงว่ายูดาสถูกกำหนดไว้แล้วให้เป็นผู้ที่จะทรยศและจะพินาศ หากเป็นเช่นนั้นก็อาจเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความชอบธรรมของพระเจ้า แต่ถึงแม้พระเจ้าจะทรงกำหนดยูดาสไว้เช่นนั้น การทรยศของยูดาสก็ไม่ได้ถูกนับว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือถูกต้อง เฉกเช่นในพันธสัญญาเดิมที่พระเจ้าทรงใช้ชนชาติอัสซีเรียและบาบิโลนเป็นเครื่องมือตีสอนลงโทษประชากรของพระองค์ และต่อมาก็ทรงช่วยกู้ประชากรของพระองค์โดยการพิพากษาความชั่วร้ายของสองชนชาตินี้ด้วย ดังนั้น การที่พระเจ้าทรงชอบธรรมจึงไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะทรงบันดาลให้เกิดเรื่องร้ายไม่ได้ และสิ่งเลวร้ายได้เกิดขึ้นกับพระเยซูก็เพื่อให้แผนการทรงไถ่นั้นสมบูรณ์

อีกด้านหนึ่ง ถ้าพระเยซูเพิ่งทรงทราบเรื่องนี้ตอนที่ทรงเลือกพวกสาวก โดยไม่ทรงทราบก่อนหน้านี้ ก็จะทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสัพพัญญูและความเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาของพระเยซูคริสต์ แต่ถึงแม้พระเยซูคริสต์จะทรงทราบเรื่องนี้ตอนที่ทรงเลือกพวกสาวก (เพราะพระองค์ทรงยอมจำกัดการรู้ล่วงหน้าของพระองค์เองในเรื่องนี้) พระองค์ก็ยังทรงยอมอนุญาตให้เรื่องนี้เกิดขึ้นและทรงยอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระบิดา ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาทั้งในความเป็นพระเจ้าที่เท่าเทียมกันและการมีความคิดมุ่งหมายที่สอดคล้องกัน และพระองค์ก็ได้ทรงเชื่อฟังพระบิดาโดยสมบูรณ์จนถึงที่สุด

ไม่ว่าอย่างไร พระเยซูก็ตรัสด้วยว่า เหตุการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อให้แผนการทรงไถ่นั้นสำเร็จ (มธ.26:52-56; มก.14:21; ลก.9:44; 18:31-33; 22:37,53; 24:6-8; ยน.13:18; 17:12) ยูดาสจึงถูกเลือกเข้ามาเป็นสาวกคนหนึ่งของพระองค์ด้วย และเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าทรงควบคุมทุกสิ่งอยู่ แม้แต่สิ่งชั่วร้ายที่มุ่งต่อสู้ขัดขวางพระองค์ พระองค์ก็ทรงสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จและเกิดผลดีในที่สุดได้ เราจึงควรแสวงหาและยอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเราเสมอ


  • สมาคมพระคริสตธรรมไทย
  • ภาพจาก www.churchofjesuschrist.org