ทำไมไม่มี ไม้ หน้า กางเขน? 3/11

ทำไมไม่มี ไม้ หน้า กางเขน?

ถาม ทำไมพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน (THSV) ที่แปลโดยสมาคมพระคริสตธรรมไทย จึงไม่มีคำว่า “ไม้” หน้าคำว่า “กางเขน”? ซึ่งอาจจะทำให้เป็นที่เข้าใจผิดว่าหมายถึง นกกางเขน ได้

ตอบ เราไม่สามารถรู้แน่ชัดว่าคำภาษาไทยนี้ถูกใช้เมื่อไร บางคนบอกว่า น่าจะมาจากคำว่า “กางแขน” แล้วต่อมาเพี้ยนเป็น “กางเขน” ซึ่งเราไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่เมื่อค้นย้อนกลับไปดูพระคัมภีร์ฉบับ 1834, 1940 และฉบับ 1971 เราก็พบว่า ทั้งสามฉบับก็ได้เขียนโดยไม่มีคำว่า “ไม้” นำหน้า จึงเป็นไปได้ว่า คนไทยรู้จักคำว่า “กางเขน” มานานมากแล้ว

ในพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 มีการบัญญัติศัพท์ไว้ทั้งสองอย่างคือ กางเขน และไม้กางเขน โดยมีคำอธิบายประกอบดังนี้

  • กางเขน น. นกตัวขนาดนกเอี้ยง อกขาว ขนปีกด่าง; ไม้รูปกากบาทเป็นเครื่องหมายคริสต์ศาสนา
  • ถ้าตามพจนานุกรมนี้ก็แสดงว่า เขาละคำว่า “ไม้” ไว้ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ กางเขนไม่ได้แปลว่านกเพียงอย่างเดียว
  • ไม้กางเขน น. เครื่องหมายของคริสต์ศาสนา ในที่นี้เน้นที่เครื่องหมาย
  • คำอธิบายของคำที่มี “ไม้” กลับเน้นว่าเป็นเครื่องหมายเหมือนคำว่า กางเขนเฉยๆ

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 และ ฉบับ พ.ศ.2542 ได้ให้นิยามคำว่า กางเขน และไม้กางเขน ดังนี้

  • กางเขน น. ชื่อนกชนิด Copsychus saularis ในวงศ์ Turdidae ตัวขนาดนกปรอดส่วนบนลำตัวสีดำ ส่วนล่างตั้งแต่หน้าอกลงไปสีขาวหม่น ปีกมีลายพาดสีขาว มักอยู่เป็นคู่ หรือกลุ่มเล็กๆ กินแมลง
  • ไม้กางเขน น. วัตถุเป็นรูปเหมือนคนยืนกางแขนทำด้วยไม้หรือโลหะเป็นต้น เป็นเครื่องหมายคริสต์ศาสนา

ในพจนานุกรมไทย (ฉบับอธิบาย 2 ภาษา) ได้ให้นิยามของ กางเขน และ ไม้กางเขนไว้ดังนี้

  • กางเขน 1 [ไม้กางเขน: รูปกากบาท ซึ่งถือเป็นสัญญลักษณ์ของศาสนาคริสต์] cross of Jesus Christ 2 (นก) Copsychus saularis
  • ไม้กางเขน [ไม้ไขว้เป็นกากบาท] cross; crucifix 
  • เมื่อเราค้นหาคำว่า cross ในพจนานุกรม อังกฤษ-ไทย บางเล่ม ก็ให้คำว่ากางเขน บางเล่มก็ให้คำว่า ไม้กางเขน

จากข้อมูลที่ได้มานี้พอจะสรุปได้ว่า คำว่า “กางเขน” เป็นคำนาม ไม่ได้ถูกใช้เป็นคำกริยา จึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่ามาจากคำว่า กางแขนหรือไม่ อาจจะเป็นคำที่มีคำว่าไม้นำหน้า หรือ ไม่มีก็เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงเครื่องหมายของคริสต์ศาสนา ในกรณีที่ไม่มีคำว่าไม้นำหน้า อาจจะหมายถึงนกก็ได้ แต่ในบางครั้งเพื่อความชัดเจน ก็ต้องเติมนกเข้าไปด้วย เช่น นกกางเขน และที่น่าสนใจคือ คำนิยามของคำว่า ไม้กางเขนในพจนานุกรมเล่มหนึ่งกลับบอกว่า ทำด้วยไม้หรือโลหะ นั่นคือผู้จัดทำพจนานุกรมนั้นให้ความสนใจต่อเครื่องหมายมากกว่าวัสดุที่ใช้ นั่นคือเรียกว่า ไม้กางเขน ทั้งๆ ที่ทำจากโลหะ แต่ถ้าจะถามว่ากางเขนที่ใช้ตรึงพระเยซูนั้นทำจากอะไร ก็คงจะตอบได้ด้วยความมั่นใจว่า ทำจากไม้ เพราะมีการใช้ตะปูตอกที่มือและที่เท้าของพระองค์ ถ้าจะขยายความต่อไปว่ากางเขนคืออะไร ก็คงตอบว่าคือเครื่องมือประหารชีวิตที่พวกโรมันนำมาใช้ในสมัยของพระเยซู คริสต์ เพื่อให้นักโทษตายอย่างทุกข์ทรมาน ดังนั้นการที่พระเยซูถูกจับตรึงบนกางเขนนั้นจึงเป็นการถูกกระทำเหมือนนักโทษ พระองค์ถูกประจาน ถูกทรมาน พวกเขาต้องการให้พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างช้าๆ และอย่างทุกข์ทรมาน เมื่อเราอ่านในพระกิตติคุณ เราจึงพบว่าทหารที่ยืนอยู่ใต้กางเขนนั้นประหลาดใจเป็นอย่างมากที่เห็นว่า พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์อย่างรวดเร็ว ในขณะที่โจรอีกสองคนที่ถูกตรึงอยู่ข้างๆ พระองค์ไม่ตาย จึงต้องถูกทุบขาให้หัก แล้วจึงตาย

นายร้อยที่ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระองค์ เมื่อได้ยินพระองค์ร้องเสียงดัง และเห็นว่าพระองค์สิ้นพระชนม์อย่างไร จึงกล่าวว่า “ท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้าจริงๆ” (มก.15:39) นักประหารผู้ชำนาญ เมื่อเห็นการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูนี้ได้ยอมรับฐานะที่แท้จริงของพระองค์โดย ดุษฎี
  แท้จริงในพระคริสตธรรมคัมภีร์ คำว่า กางเขนถูกใช้ทั้งในลักษณะที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ส่วนใหญ่ในพระกิตติคุณมักจะใช้ในลักษณะของรูปธรรม แต่ในจดหมายฝากของอาจารย์เปาโลมักจะถูกใช้ในลักษณะของนามธรรม อย่างไรก็ดีก่อนที่พระเยซูคริสต์จะถูกตรึงบนกางเขนอย่างเป็นรูปธรรม พระองค์ก็ได้ใช้เรื่องกางเขนเพื่อสอนสาวกที่จะติดตามพระองค์อย่างเป็น นามธรรมว่า “…และใครที่ไม่รับกางเขนของตนและตามเราไปคนนั้นก็ไม่มีค่าควรกับเรา” (มัทธิว 10:38) กางเขนในบริบทนี้หมายถึง ความทุกข์ยากลำบากและการกดขี่ข่มเหงที่ผู้ติดตามพระเยซูคริสต์จะได้รับ อีกตอนหนึ่งปรากฏอยู่ใน มัทธิว 16:24 พระเยซูจึงตรัสกับบรรดาสาวกของพระองค์ว่า “ถ้าใครต้องการจะติดตามเราให้คนนั้นปฏิเสธตนเองรับกางเขนของตนแบกและตามเรา มา” การแบกกางเขนในตอนนี้ น่าจะหมายถึงการอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากที่ได้รับเนื่องจากการติดตามพระ เยซูคริสต์

อาจารย์เปาโลถือว่ากางเขนเป็นฤทธิ์เดช ดังที่บันทึกใน 1 โครินธ์ 1:17-18 ที่กล่าวว่า “เพราะว่าพระคริสต์ไม่ได้ทรงส่งข้าพเจ้า ไปเพื่อให้บัพติศมา แต่เพื่อให้ประกาศข่าวประเสริฐ ไม่ใช่ด้วยการพูดอันชาญฉลาดเพื่อว่าเรื่องกางเขนของพระคริสต์จะไม่หมดฤทธิ์ เดช เพราะว่าคนทั้งหลายที่กำลังจะพินาศก็เห็นว่าเรื่องกางเขนเป็นเรื่องโง่ แต่เราที่กำลังจะรอดเห็นว่าเป็นฤทธานุภาพของพระเจ้า” กางเขนที่อาจารย์เปาโลกล่าวถึงในตอนนี้เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรมในเวลา เดียวกัน เพราะเนื้อหาของข่าวประเสริฐส่วนหนึ่งก็คือ พระเยซูคริสต์ทรงถูกตรึงบนกางเขนที่ทำจากไม้จริงๆ พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่บาปของเรา แต่ในอีกด้านหนึ่งคนทั่วไปก็เห็นว่าการตายด้วยวิธีนี้เป็นเรื่องน่าอับอาย อ.เปาโลชี้ให้เราเห็นว่า การประกาศข่าวประเสริฐนั้น คริสเตียนไม่จำเป็นต้องปิดบังเรื่องที่พระเยซูต้องถูกพิจารณาคดีจนต้องถูก ตรึงบนไม้กางเขน เราควรกล้าพูดความจริง

สรุป คำว่า กางเขน สำหรับคนไทยนั้นมีความหมายได้ 2 อย่างคือหมายถึงนกชนิดหนึ่งก็ได้ หรือ หมายถึงสัญญลักษณ์ของคริสเตียนที่มีความหมายทั้งในด้านที่เป็นรูปธรรม และ นามธรรม ในแง่รูปธรรมนั้นก็หมายถึงเครื่องมือประหารชีวิตที่ทหารโรมันใช้เพื่อประหาร ชีวิตนักโทษให้ทรมาน และตายอย่างช้าๆ ส่วนในด้านนามธรรมนั้น หมายถึงความทุกข์ยากที่ผู้ติดตามพระเยซูจะต้องรับด้วยความอดทน

  • ศาสนาจารย์ ดร.เสรี หล่อกัณภัย
  • ภาพ Ijeab – Freepik.com