ธนาคาร (BANK)

ธนาคาร (BANK)

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของเอเซีย ที่เพิ่งผ่านพ้นมา    BANK  (แบงค) หรือ ธนาคาร หลายแห่งในเอเชียหลายประเทศล้มระเนระนาด ไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย เกาหลี หรือไทย

คำว่า Bank นี้ เชื่อกันว่า มาจากคำภาษา อิตาเลียน “banca” ที่มาจากภาษาเยอรมันโบราณชั้นสูง (old High German)ว่า “bank”หรือ “banc”  ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “bench” ที่แปลว่า “ม้านั่งยาว” หรือ “โต๊ะสำหรับแลกเปลี่ยนเงินตรา”

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ปรากฎว่าในช่วงยุโรปสมัยกลาง (ค.ศ.500-1350) 1 เมืองต่างๆ  (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิตาลี) มีการใช้เงินตราสกุลของตนอย่างเสรี นักเดินทางจึงต้องใช้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราในแต่ละท้องที่ที่เดินทางไปถึง

การตั้งโต๊ะแลกเปลี่ยนเงินตราค้าขายเงินต่างสกุลจึงเกิดขึ้นเป็นธุรกิจใหม่ในสมัยนั้น!

ต่อมาได้มีการขยายขอบข่ายการทำธุรกิจนี้ให้รวมถึงการเป็นแหล่งรับฝากเงิน, ให้กู้ยืมเงิน และการร่วมลงทุนกับลูกค้า   โดยมีธนาคารเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว!

แต่ในทางกลับกัน ธนาคารก็เป็นตัวการที่ทำให้ธุรกิจล้มระเนระนาด เมื่อมีการปล่อยสินเชื่ออย่างเปะปะ จนกลายเป็นหนี้สูญ (NPL)!

ประเทศไทยในภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วง ปี ค.ศ. 1997-1999 นี้  ธนาคารเก่าแก่ในประเทศไทยอย่างธนาคารศรีนคร ต้องเจ็บปวดเป็นที่สุด เพราะถูกธนาคารแห่งประเทศไทยยึดไปเรียบร้อย ทำให้ตระกูลเก่าแก่อย่าง “เตชะไพบูลย์” ที่มีทรัพย์สินนับหมื่นล้าน ต้องมีทรัพย์สินหดลดลงเหลือเพียงแค่ 11 ล้านบาทเท่านั้น! (ในเวลานั้น)

จากนั้น ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารนครธนที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของตระกูล “หวั่งหลี” ก็หนีชะตากรรมเดียวกันนี้ไม่พ้น!

อนิจจา!……อนิจจัง!

ธนาคารที่มีชื่อว่า “นคร” ทั้ง 3  ธนาคารเหมือน “นคร” ที่ถูกตีแตก และถูกยึดเมือง!

สภาพย่อยยับของธนาคาร (bank) หรือธุรกิจต่าง  ๆ อย่างนี้เราเรียกว่า “bankrupt”  ตรงกับภาษา

อิตาเลียนว่า “banca rotta”!

คำว่า “banca” แปลว่า “โต๊ะ” คำว่า rotta” หรือ “rotto” แปลว่า “หัก”

ดังนั้น คำว่า “bankrupt” จึงแปลว่า “โต๊ะหัก” หรือ “ล้มละลาย” นั่นเอง!

นี่ยังดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดาม 2 ได้ทันท่วงที ธนาคารศรีนครและธนาคารนครธน จึงไม่ได้ “bankrupt” เป็นเพียงแค่เซวูบใหญ่วูบหนึ่งเท่านั้น!   ก่อนที่แบงก์ชาติจะจับมาตกแต่งเสริมสวยให้ดูดี และทยอยขายกิจการให้กับต่างชาติไปในที่สุด!   ช่างน่าเศร้าอะไรเช่นนี้?

โดยปกติธนาคารจะไม่ค่อยยอมขาดทุนหรือพลาดพลั้งจนล้มละลายอย่างเด็ดขาด!

จนกระทั่งบางคนถึงกับเสียดสีว่า“ธนาคารจะให้คุณยืมร่ม เวลาท้องฟ้าแจ่มใส และจะเรียกร่มคืน เมื่อยามฝนตก!”

พูดง่าย ๆ  ธนาคารจะขอเป็นธุรกิจรายสุดท้ายที่ต้องมีอันล้มหายตายจากไป!

ดังนั้น  ถ้าประเทศชาติใด มีธนาคารหลัก ๆ ต้องปิดกิจการหรือล้มลงก็แสดงว่า ประเทศนั้นอยู่ในอาการโคม่าทางเศรษฐกิจจริงๆ !

ด้วยเหตุนี้  ในยามเผชิญวิกฤติทางเศรษฐกิจ ธนาคารจึงยากที่จะปล่อยสินเชื่อให้ใครกู้ยืม นอกจากผู้กู้เป็นผู้ที่มีความมั่นคงทางการเงินจริง ๆ  มิฉะนั้น อย่าหวังสะเออะหน้ามากู้เป็นอันขาด!

บ็อบ  โฮบ  (Bob Hope)  ดาวตลกชื่อดังในอดีตจึงนำมากล่าวหยอกล้อว่า… “A Bank is a place that will lend you money, if you can prove that you don’t need it.” (ธนาคารคือ สถานที่ที่จะให้คุณกู้ยืมเงิน ถ้าคุณสามารถพิสูจน์ได้ว่า คุณไม่ได้ต้องการเงินจำนวนนั้นจริง ๆ )

ในพระคัมภีร์ไบเบิล กล่าวถึง “ธนาคาร” ไว้อย่างน้อย 2 ครั้ง  โดยเน้นถึงการนำเงินไปฝากธนาคารเพื่อจะได้รับดอกผลเป็นดอกเบี้ย ซึ่งดีกว่าการเก็บเงินนั้นฝังดินไว้เฉย ๆ ! 3

               อย่างไรก็ตาม  ไม่ว่าคุณจะเก็บเงินทองไว้ในที่ไหน ๆ ในไม่ช้าก็จะหมดไปหรือหมดค่า  ดูอย่างกรณีตระกูล “เตชะไพบูลย์”  และตระกูล ”หวั่งหลี” ที่มีหุ้นจำนวนมหาศาลหุ้น  ๆ ละ 100 กว่าบาท ภายในวันเดียวมูลค่าหดหายไปเหลือมูลค่าเพียงหุ้นละ 1 สตางค์ เท่านั้น! หรือจะดูอย่างกรณีที่บางคนฝากเงินหรือทรัพย์สินไว้แล้วถูกยึดไว้  บางรายฝากเงินไว้กับธนาคารบางแห่งแล้วไม่ได้รับคืนอย่างกรณีที่ไปฝากไว้กับธนาคารในต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้เอง  พระคัมภีร์ไบเบิลจึงได้ให้คำแนะนำไว้ว่าอย่าส่ำสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัวในโลก ที่อาจเป็นสนิม และที่แมลงกินเสียได้ และที่ขโมยอาจขุดช่องลักเอาไปได้ แต่จงส่ำสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์ที่ไม่มีแมลงจะกินและไม่มีสนิมจะกัดและที่ไม่มีขโมยขุดช่องลักเอาไปได้ เพราะว่าทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหนใจของท่านก็อยู่ที่นั้นด้วย 4

การที่เราใช้ทรัพย์สินที่เรามีอยู่เพื่อช่วยเหลือ(ทั้งทางกายและจิตวิญญาณ) และแจกจ่ายให้แก่คนจน

คนขัดสน รอบข้างของเรา จึงนับเป็นการส่ำสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์ที่แท้จริง !

ดังนั้น ถ้าวันนี้คุณ และผมเอาชีวิต และทรัพย์สินของเราฝากไว้กับธนาคารแห่งสวรรค์ตามคำแนะนำนี้

ก็คงจะปลอดภัยกว่าไปฝากไว้กับธนาคารในโลกนี้ทุกแห่ง

จริงไหมครับ?


  1. ตำนานคำศัพท์, นิจิต จิตบุณย์, บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
  2. ดาม = ทาบประกอบหรือประกับให้แข็ง เช่น ดามไม้คาน, ทาบ หรือ ปะให้หนา   เพื่อให้คงทน  เช่น  ดามผ้า
  3. มัทธิว 25:14-30;ลูกา 19:11-27
  4. มัทธิว 6:19-21

  • บทความ ศาสนาจารย์ธงชัย ประดับชนานุรัตน์
  • ภาพ Freepik.com