บทเรียนจาก Pokemon Go ขาลง 4/16

บทเรียนจาก Pokemon Go ขาลง

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในขณะที่ผมกำลังขับรถไปรับภรรยาตามปกติในช่วงค่ำ ผมต้องตกใจกับภาพที่เห็น เพราะบริเวณต้นไม้ใหญ่ใกล้ๆโรงอาหาร ซึ่งมีศาลพระภูมิขนาดใหญ่อยู่สองแห่ง เต็มไปด้วยผู้คนหลายร้อยคน จะว่าทุกคนมาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของเขาก็ดูไม่น่าจะใช่ และคนก็มากผิดปกติเหลือเกิน ที่แปลกที่สุดก็คงเป็นเพราะทุกคนก้มหน้าก้มตามองสมาร์ทโฟนของตัวเอง พร้อมๆกับเดินไปโน่นมานี่กันขวักไขว่ไปหมด ผมแทบไม่อยากเชื่อเลยที่มารู้ภายหลังว่าทุกคนกำลังเล่น Pokemon Go กันอยู่

ในช่วงเวลานี้ผมค่อนข้างเชื่อว่าเราทุกคนในประเทศไทยรู้จัก Pokemon Go เกมบนมือถือกันค่อนข้างดีทีเดียว ไม่ว่าเราจะเล่นหรือไม่เล่น ชอบหรือไม่ชอบ เราก็เลี่ยงได้ยากที่จะต้องเสพข่าวเรื่อง Pokemon Go ไม่เว้นแต่ละวัน มีคนเขียนบทความต่อต้านเกมนี้มากมาย วัยรุ่นที่เล่นก็รู้สึกต่อต้านกลับไปยังคนที่ไม่เห็นด้วย จนแทบกลายเป็นสงครามน้ำลายระดับประเทศ ตัวผมเองก็อัพโหลดเกมนี้มาลองเล่นดูเหมือนกัน เพราะความที่อยากรู้ว่ามันคืออะไร แต่เวลาเล่นผมก็ต้องแอบๆ เล่น เพราะกลัวจะถูกด่าเหมารวมไปด้วย แต่ผ่านมาสองสามเดือนความนิยมของเจ้าเกมนี้ก็ดูจะค่อยเสื่อมความนิยมลงไปมากแล้ว ไม่มีใครพูดถึงกันมากนัก อยากเล่นก็เล่น ไม่มีใครสนใจมาพูดต่อต้านหรือคัดค้านอะไรกันอีก

คงน่าเสียดายไม่น้อยหากเราให้เหตุการณ์ นี้ผ่านไปโดยไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมันเลยปรากฏการณ์โปเกมอนแห่งชาติ น่าจะมีบทเรียนอะไรดีๆ ที่เราสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ และผมอยากชักชวนผู้อ่านทุกท่านมาร่วมกันหาบทเรียนดีๆจากเรื่องนี้ด้วยกัน บทเรียนประการแรกที่ผมได้จากเรื่องนี้ก็คือ

“คำวิจารณ์ฆ่าความสนใจไม่ได้” การที่มีคนมากมายออกมาต่อต้านเกมโปเกมอน ก็เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับการที่ทุกคนจะมาใช้เวลาเล่นเกมนี้ และผมเชื่อว่าคนที่ออกมาวิจารณ์เกมนี้ในทางลบ เพราะอาจจะเชื่อจริงๆ ว่าถ้าพูดอย่างมีเหตุมีผล ยกตัวอย่าง มีข้อมูลอ้างอิง คนจะคล้อยตามและไม่เล่นเจ้าเกมโปเกมอนนี้ แต่ก็อย่างที่หลายท่านทราบกันดีว่ายิ่งพูดก็ยิ่งดัง ยิ่งวิจารณ์คนก็ยิ่งเล่น ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ แล้วทราบไหมครับว่าอะไรที่ฆ่า Pokemon Go ได้ หรืออะไรทำให้ความสนใจค่อยๆ ลดลงได้ ก็เกมใหม่ๆที่ออกมาทีหลังยังไงครับ สุดท้ายการพูดแรงๆ การบังคับ หรือการพยายามควบคุม ไม่ได้เป็นประโยชน์มากนัก โดยเฉพาะกับวัยรุ่น และวัยทำงาน ในมุมหนึ่งผมคิดว่าอาจเป็นเพราะเขาสัมผัสไม่ได้ถึงความหวังดี แต่ได้รับแค่ความรู้สึกว่ากำลังถูกควบคุม

ในพระธรรมสุภาษิต 3:12 กล่าวว่า “เพราะ​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​ตัก​เตือน​ผู้​ที่​พระ​องค์​ทรง​รัก ดัง​บิดา​ตัก​เตือน​บุตร​ที่​เขา​โปรดปราน” พระวจนะกำลังบอกกับเราว่าเวลาเราเตือนใครก็ตาม เราไม่ได้เถียงเพื่อชนะ แต่เราเตือนเพราะว่าเรารักเขา ผมอาจไม่ได้สรุปว่าโปเกมอนโก ดีหรือไม่ดี แต่ถ้าครั้งต่อไปเราอยากเตือนให้ลูกหลานของเรา คนในความดูแลของเราหลีกเลี่ยงอะไรที่ไม่ดี การพูดเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ซ้ำร้ายอาจทำให้ทุกอย่างแย่ลงกว่าเดิม เราน่าจะกลับมาสำรวจตัวเองก่อนที่จะเตือนใครสักคนบ้างไหมว่า เรารักเขามากพอจะเตือนเขาแล้วหรือยัง หรือเราเพียงต้องการเอาชนะเท่านั้น

บทเรียนประการที่สอง “คนยินดีทำเรื่องยากๆ หากคุ้มค่า และน่าสนใจ” ผมตกใจมากๆ ที่มาทราบว่าคนไข้โรคซึมเศร้าหลายคนที่ผมดูแล และเคยดูแลอยู่ ต่างพากันออกมาจากบ้าน ไปสวนลุมพินี ไปสยาม ออกไปท่องเที่ยวตั้งแต่เช้าจรดเย็น เพื่อตามจับตัวโปเกมอนในเกมให้ครบ ผู้อ่านพอเข้าใจความตกใจของผมบ้างไหมครับ นั่นเพราะโดยปกติเป็นความยากเหลือเกินที่เราจะผลักดันให้คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือแม้แต่คนขี้เกียจทั่วๆ ไป ลุกออกจากเตียง เดินไปเดินมาเป็นระยะทางกว่าสิบกิโลเมตรแทบทุกวัน แต่ Pokemon Go กลับทำได้อย่างง่ายดาย ผมนึกขอบคุณเกมนี้มากในปรากฏการณ์นี้ที่เกิดขึ้น หลายคนมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นมาก เพราะได้ออกมาพบแสงแดดและผู้คน ได้วิ่งได้เดินแทนการนอนเฉยๆอยู่ในห้อง ตอนนี้ผมจึงเริ่มเข้าใจแล้วว่าเราสามารถดึงดูดใครก็ตามให้ทำเรื่องยากๆที่เขาไม่อยากทำมาก่อนได้ ถ้ามันคุ้มค่าและน่าสนใจมากพอ

พระธรรมโคโลสี 4:5-6 กล่าวว่า “จง​ปฏิ​บัติ​ต่อ​คน​ภาย​นอก​ด้วย​สติ​ปัญ​ญา โดย​ใช้​โอ​กาส​ให้​เป็น​ประ-​โยชน์จง​ให้​ถ้อย​คำ​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ประ​กอบ​ด้วย​เมต​ตา​คุณ​เสมอ ปรุง​ด้วย​เกลือ​ให้​มี​รส เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​รู้​ว่า​ควร​จะ​ตอบ​แต่​ละ​คน​อย่าง​ไร” ผมเคยรู้สึกผิดหวังอย่างมากที่ห้องเรียนรวีวารศึกษามีคนมาเรียนไม่ถึงสิบคน ในตอนนั้นผมเอาแต่โทษว่าคนไม่มาเรียนเพราะไม่มีวินัย ไม่รักพระเจ้า นั่นก็อาจจะถูกบางส่วน แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากโปเกมอนโก ทำให้ผมรู้ว่า หากผมสามารถสร้างห้องเรียนรวีวารศึกษาที่สนุก น่าสนใจ และได้อะไรที่คุ้มค่ากับผู้เรียนจริงๆ ผมก็จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคนมาเรียนได้เช่นเดียวกัน ผมเป็นนักจิตวิทยาจึงสามารถยืนยันได้ว่าการเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อเราอยากเรียนรู้สิ่งนั้นอย่างมาก ถ้าคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้ายอมออกมาจับโปเก-มอน ทำไมเราจะทำให้คนที่รักพระเจ้าออกมาเรียนพระคำไม่ได้ มาทำให้ห้องเรียนสนุกยิ่งขึ้น น่าเรียนยิ่งขึ้นน่าจะดีกว่าไม่ใช่หรือครับ

บทเรียนประการสุดท้าย “Pokemon Go ไม่ใช่เรื่องสุดท้ายที่เราจะเถียงกัน” ในวันนี้กระแสความนิยมในเกมยังคงอยู่ในระดับที่สูงก็จริง แต่ก็นับว่าเสื่อมความนิยมลงไปไม่น้อย สิ่งเหล่านี้เป็นวัฏจักรของชีวิต มีขึ้นมีลง มีนิยมมีเสื่อมถอย พระธรรมปัญญาจารย์ 4:15-16 กล่าวว่า “ข้าพ​เจ้า​พิ​จาร​ณา​ทุก​ชีวิต​ที่​เคลื่อน​ไหว​อยู่​ภาย​ใต้​ดวง​อา​ทิตย์ รวม​ทั้ง​หนุ่ม​อีก​คน​หนึ่ง​ที่​จะ​ขึ้น​เป็น​กษัตริย์​แทน จำ​นวน​คน​ทั้ง​หมด​ที่​อยู่​ก่อน​พวก​เขา​มี​มาก​มาย​จน​นับ​ไม่​ถ้วน และ​บรร​ดา​คน​ที่​มา​ภาย​หลัง​ก็​ไม่​เปรม​ปรีดิ์​ใน​ตัว​คน​หนุ่ม​นั้น นี่​ก็​อนิจ​จัง​ด้วย​คือ กิน​ลม​กิน​แล้ง” ความนิยมกับความเสื่อมถอยเป็นของคู่กัน คนที่เคยได้รับความนิยมก็อาจถูกเกลียดชัง หรือหลงลืมไปในเวลาต่อมา Pokemon Go อาจเป็นประเด็นเผ็ดร้อนในวันหนึ่ง แต่หลังจากนี้ก็จะไม่มีใครพูดถึงกันอีก แต่จะมีเรื่องราวใหม่ๆมาให้พูดถึงจนเราแทบลืมไปเลยว่าเคยรู้สึกอย่างไรกับเรื่องเดิม ดังนั้นเมื่อมีเหตุจำเป็นที่เราต้องการแสดงจุดยืนทางความเชื่อของเราก็จงอย่าลืมว่า เรื่องที่เราทุ่มเถียงกันนั้นจะมีวันเลือนหายไปได้ แต่ความรู้สึกไม่พอใจ กินแหนงแคลงใจ อาจจะฝังลึกมากกว่านั้น จึงขอหนุนใจให้เราใช้สติปัญญา และความถ่อมสุภาพในการพูดคุยซึ่งกันและกัน เพราะไม่แน่ว่าเราอาจได้มิตรที่ความเห็นต่างเพิ่มมาอีกหนึ่งคนก็ได้ สุดท้ายนี้ก่อนหน้าประวัติศาสตร์ของ Pokemon Go จะเหลือเพียงบันทึกอันเลือนราง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถได้เรียนรู้ร่วมกันในสิ่งที่เกิดขึ้น และกลายเป็นประโยชน์สำหรับเรื่องใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากนี้ ขอพระเจ้าประทานสติปัญญาแก่ผู้อ่านทุกท่านและรับพระพรจากพระวจนะแห่งความจริงของพระองค์ที่ไม่มีวันเสื่อมคลายในทุกๆ วัน ขอพระเจ้าอวยพรครับ  

  • อาจารย์วิทยา วุฒิไกรเกรียง