ผู้หญิงชาวซีเรียฟีนิเซียเป็นคนต่างศาสนาหรือ? 4/14

ผู้หญิงชาวซีเรียฟีนิเซียเป็นคนต่างศาสนาหรือ?

คำถาม ทำไมพระธรรมมาระโก7:26 ฉบับมาตรฐานจึงแปล ผู้หญิงที่อยู่ในเมืองไทระและเมืองไซดอนว่าเป็นคนต่างศาสนา?
คำตอบ ก่อนอื่นขอให้เราดูบริบทของพระธรรมข้อนี้ก่อน พระธรรมตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมมาระโก 7:24-30 ที่บันทึกว่า

พระ​องค์​จึง​เสด็จ​ออก​จาก​ที่​นั่น​ไป​ยัง​เขต​แดน​เมือง​ไทระ​และ​เมือง​ไซ​ดอน แล้ว​เข้า​ไป​ใน​บ้าน​หลัง​หนึ่ง​ประ​สงค์​จะ​ไม่​ให้​ใคร​รู้ แต่​พระ​องค์​ไม่​อาจ​หลบ​พ้น​ได้เพราะ​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​ที่​มี​ลูก​สาว​เล็กๆ ถูก​ผี​โส​โครก​สิง ทัน​ที​ที่​ได้​ยิน​ข่าว​ของ​พระ​องค์​ก็​มา​เฝ้า​และ​กราบ​ลง​ที่​พระ​บาทหญิง​ผู้​นี้​มี​เชื้อ​ชาติ​ซีเรีย​ฟี​นิเซีย เป็น​คน​ต่าง​ศาส​นา นาง​ทูล​อ้อน​วอน​ขอ​ให้​พระ​องค์​ขับ​ผี​ออก​จาก​ลูก​สาว​ของ​นาง พระ​เยซู​ตรัส​กับ​นาง​ว่า “ให้​ลูกๆ กิน​กัน​อิ่ม​เสีย​ก่อน เพราะ​ว่า​ไม่​สม​ควร​ที่​จะ​เอา​อาหาร​ของ​ลูกๆ โยน​ให้​กับ​พวก​สุนัข” แต่​นาง​ทูล​ตอบ​ว่า “จริง​เจ้าค่ะ แต่​สุนัข​ที่​อยู่​ใต้​โต๊ะ​นั้น​ย่อม​กิน​อาหาร​เหลือ​เดน​ของ​ลูกๆ” แล้ว​พระ​องค์​ตรัส​กับ​นาง​ว่า “เพราะ​ถ้อย​คำ​นี้​ท่าน​จง​กลับ​ไป​เถิด ผี​ออก​จาก​ตัว​ลูก​สาว​ของ​ท่าน​แล้ว” หญิง​ผู้​นั้น​เมื่อ​กลับ​ไป​ยัง​บ้าน​ของ​ตน ก็​พบ​ว่า​ลูก​นอน​อยู่​บน​ที่​นอน​และ​ผี​ออก​จาก​ตัว​แล้ว

จากบริบทของพระธรรมตอนนี้ เราจะเห็นว่าชื่อเสียงของพระเยซูได้เลื่องลือไปถึงดินแดนของคนต่างชาติ เมื่อพระองค์ไปอยู่ในเขตแดนของไทระและไซดอนซึ่งอยู่นอกอาณาเขตของคนยิวนั้น พระองค์ไม่ได้มีพระประสงค์ที่จะบอกให้ใครรู้ แต่มีแม่ของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ถูกผีโสโครกสิง จึงได้มาหาพระเยซูเพื่อต้องการให้พระองค์ช่วยเหลือ เรารู้ว่าผู้หญิงคนนี้มีเชื้อชาติซีเรียฟีนิเซีย และฉบับมาตรฐานได้ระบุต่อไปว่า เธอ “เป็นคนต่างศาสนา” โดยมีเชิงอรรถอธิบายว่า “ภาษา​กรีก​แปล​ตรง​ตัว​ว่า เป็น​กรีก ซึ่ง​อาจ​มี​ความ​หมาย​ได้​ว่า เป็น​พวก​นิยม​กรีก​ที่​พูด​ภาษา​กรีก หรือ เป็น​พวก​ที่​ไม่​ได้​นับถือ​ศาสนา​ของ​ชาว​ยิว” ในขณะที่ฉบับ 1971แปลว่า “พูด​ภาษา​กรีก” และฉบับประชานิยมแปลว่า “หญิงผู้นี้ไม่ใช่ชาวยิว” ฉบับคาทอลิกแปลว่า “นาง​ไม่​ใช่​ชาว​ยิว” โดยมีเชิงอรรถว่า “แปล​ตาม​ตัวอักษร​ว่า ‘ชาว​กรีก’ ใน​ที่นี้ ไม่​ได้​หมายถึง​เชื้อชาติ เพราะ​หญิง​คน​นั้น​เป็น​ชาว​ซี​เร​ียฟีนิเซีย แต่​ใน​แง่​วัฒนธรรม คือ​ไม่​นับถือ​ศาสนา​ยิว เทียบ ยน.7:35; กจ.16:1” ฉบับอมตธรรมร่วมสมัยแปลว่า “หญิง​ผู้​นี้​เป็น​ชาว​กรีก” ฉบับ 1940 แปลว่า “พูดภาษาเฮเลน” ในขณะที่พระธรรมเล่มอื่นที่บันทึกเรื่องราวเดียวกันปรากฏอยู่ในพระธรรมมัทธิว 15:21-28 ในข้อที่ 22 ได้ระบุว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นชาวคานาอัน

คำนี้มาจากคำในภาษากรีกคือ “” อ่านว่า “เฮเลนนิส” ซึ่งไวยากรณ์ของคำนี้คือ คำนามที่ทำหน้าที่ประธานเพศหญิงเอกพจน์ และปรากฏเพียงครั้งเดียวในพระคัมภีร์ใหม่ รากศัพท์ของคำนี้ในภาษากรีกมีความหมายกว้างมาก รากศัพท์ของคำนี้พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่แปลว่า “gentiles” ซึ่งมีความหมายพื้นฐานว่า “บรรดาประชาชาติ” หรือ “คนกรีก” Robert A. Guelich ผู้เขียนคำอธิบายพระธรรมมาระโกได้อธิบายข้อความตอนนี้ว่า ถึงแม้คำว่า “กรีก” ในบางครั้งจะหมายถึงวัฒนธรรมกรีก หรือ การพูดภาษากรีก หรือ การศึกษาแบบกรีกของคนชั้นสูง แต่การพูดถึง “บรรดาคนกรีก”ในการประกาศข่าวประเสริฐของคริสตจักรยุคแรกมักจะมีความหมายในด้านศาสนาคือ พวกที่ไม่ได้มีความเชื่อแบบยิว เป็นคนต่างศาสนา เป็นคนต่างชาติ ซึ่งมีพระคัมภีร์หลายตอนที่ได้เปรียบเทียบความเชื่อของคนยิวนั้นแตกต่างจากของคนกรีกหรือต่างชาติ (เช่น โรม 1:16; 2:9, 10; 3:9; 10:12; 1 โครินธ์1:24; 10:32; กาลาเทีย 3:28; โคโลสี 3:11) แม้พระธรรมมาระโกเป็นพระกิตติคุณเล่มที่สั้นที่สุด แต่ผู้เขียนได้ให้คำอธิบายแก่ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับธรรมบัญญัติและวัฒนธรรมของคนยิวได้เข้าใจ และผู้เขียนตั้งใจเขียนให้ผู้อ่านที่เป็นคริสเตียนต่างชาติอ่านมากกว่าเขียนให้ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นคริสเตียนอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสเตียนที่กำลังถูกกดขี่ข่มเหง เราจึงเห็นว่าพระธรรมมาระโกได้ให้รายละเอียดของผู้หญิงคนนี้มากกว่าพระ ธรรมมัทธิว เพราะในพระธรรมมาระโกได้บอกว่า “หญิง​ผู้​นี้​มี​เชื้อ​ชาติ​ซีเรีย​ฟี​นิเซีย” การที่พระธรรมมาระโกให้รายละเอียดเช่นนี้แทนที่จะบอกว่าเป็นชาวฟีนิเซียเฉยๆ เพราะต้องการแยกแยะว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้เป็นชาวฟีนิเซียที่มาจากทางตอนเหนือของทวีปอัฟริกา

ดังนั้นคำว่า “เฮเลนนิส” ในมาระโก 7:26 จึงไม่ควรแปลว่า “คนกรีก” หรือ “คนต่างชาติ” เพราะมาระโกได้ระบุชัดเจนว่าเธอมีเชื้อสายอะไร และการแปลว่า “เธอไม่ใช่คนยิว” ก็ไม่ได้ช่วยอะไรแก่ผู้อ่าน เพราะได้ระบุชัดเจนแล้วว่าเธอมีเชื้อชาติอะไร เธอก็ต้องไม่ใช่คนยิวแน่นอน และจุดเด่นของเรื่องนี้ที่ได้ถูกบันทึกไว้ในพระธรรมตอนนี้คือ เรื่องความเชื่อของผู้หญิงคนนี้ที่สนทนากับพระเยซูคริสต์จนทำให้ลูกสาวของเธอได้รับการรักษาจากพระองค์ พระเยซูไม่ได้ตอบสนองความต้องการของเธอในตอนแรก แถมยังเปรียบเทียบเธอว่าเป็นเหมือนสุนัข ซึ่งคนยิวมักจะเปรียบเทียบคนต่างชาติว่าเป็นเหมือนสุนัข แต่แทนที่เธอจะโกรธพระเยซู เธอกลับฉวยโอกาสต่อยอดจากคำเปรียบเทียบนั้นโดยการพูดว่า “จริง​เจ้าค่ะ แต่​สุนัข​ที่​อยู่​ใต้​โต๊ะ​นั้น​ย่อม​กิน​อาหาร​เหลือ​เดน​ของ​ลูกๆ” คำพูดนี้ของเธอได้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของเธอ ซึ่งคำพูดตอนนี้ของเธอได้รับการยกย่องจากพระเยซูว่า เธอมีความเชื่อทำให้ลูกเธอหาย โดยพระเยซูไม่ต้องเสด็จไปบ้านของเธอ

ดังนั้นคำแปลที่เหมาะสมกับบริบทนี้คือ “คนต่างศาสนา” เพราะได้อธิบายให้เราเห็นว่า ถึงแม้ผู้หญิงคนนี้เป็นคนต่างศาสนาคือ ไม่ได้นับถือศาสนาของคนยิว และถูกคนยิวดูถูกว่าเป็นเหมือนสุนัข แต่ความเชื่อของเธอก็มากกว่าคนยิวทั่วๆ ไป ทั้งๆ ที่พระเยซูเสด็จมาในโลกเพื่อช่วยคนยิว แต่เพราะพวกเขาไม่เชื่อและไม่ต้อนรับพระองค์ พวกเขาจึงไม่ได้รับพระพรจากพระเจ้า ในทางตรงกันข้ามผู้หญิงคนนี้ไม่ได้นับถือศาสนาของคนยิว แต่มีความเชื่อ ลูกสาวของเธอจึงได้รับการรักษา เรื่องราวของผู้หญิงคนนี้มีส่วนคล้ายคลึงกับเรื่องราวของเอลียาห์กับหญิงม่ายในเมืองศาเรฟัท ซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองไซดอน (1 พงศ์กษัตริย์ 17:7-24)

คำว่า “ต่างศาสนา” ปรากฏในพระธรรมอีกตอนหนึ่งคือ 1 โครินธ์ 12:2 ซึ่งฉบับมาตรฐาน ฉบับ 1971 และฉบับคาทอลิกแปลเหมือนกัน แต่คำนี้มาจากคำศัพท์กรีกอีกตัวหนึ่งคือ “” อ่านว่า “เอ็ทเน” ซึ่งมาจากรากศัพท์ว่า “” อ่านว่า “เอ็ทนอส” ซึ่งคำกรีกนี้จะแปลว่า “ต่างชาติ” ก็ได้ แต่จากบริบทของ 1 โครินธ์ 12:2 ซึ่งอาจารย์เปาโลกล่าวว่า “พวก​ท่าน​รู้​แล้ว​ว่า​แต่​ก่อน​ที่​ยัง​เป็น​คน​ต่าง​ศาส​นา​อยู่​นั้น พวก​ท่าน​ถูก​ชักจูง​และ​นำ​ให้​หลง​ไป​นับ​ถือ​รูป​เคารพ​ซึ่ง​พูด​ไม่​ได้ ไม่​ว่า​จะ​ด้วย​ทาง​ใด” คำว่า “เอ็ทเน” น่าจะแปลว่า “ต่างศาสนา” มากกว่า “ต่างชาติ” เพราะคริสเตียนชาวโครินธ์ยังคงสภาพเป็นคนต่างชาติอยู่ถึงแม้พวกเขาได้ต้อนรับพระเยซูคริสต์แล้ว แต่สิ่งที่พวกเขาเปลี่ยนไปจากเดิมคือ ความเชื่อ ในอดีตของพวกเขานั้นยังไม่มีความเชื่อในพระเยซูคริสต์จึงเป็นคนต่างศาสนา

เมื่อเราพิจารณาการแปลของพระคัมภีร์ทั้งสองตอนแล้ว เราจะเห็นว่าคำกรีกแต่ละคำนั้นอาจจะมีความหมายได้หลายความหมาย การที่ผู้แปลจะตัดสินใจว่าจะแปลอย่างไรนั้น จำเป็นต้องพิจารณาบริบทของพระธรรมตอนนั้นๆ ให้รอบคอบ และหากบริบทใดมีความซับซ้อนก็จำเป็นต้องมีเชิงอรรถให้ผู้อ่านเลือกคำแปลที่แตกต่างออกไป 

  • ศาสนาจารย์ ดร.เสรี หล่อกัณภัย
  • ภาพ LUMO project