พระธรรมมาระโกและพญาสีหนาท

พระธรรมมาระโกและพญาสีหนาท

เจ้าพญาสีหนาท ผู้มีอำนาจและมีตำแหน่งสูงในเมืองลำปาง ได้เดินทางลงมากรุงเทพฯประมาณปี ค.ศ. 1858 ท่านได้พบกับนายแพทย์แดน บิช บรัดเลย์ (ค.ศ. 1835-1873) และได้รับหนังสือภาษาไทยซึ่งเป็นพระกิตติคุณมาระโก (พิมพ์ที่ประเทศสิงคโปร์ปี ค.ศ.1840)

ท่านได้นำหนังสือนี้กลับไปยังจังหวัดลำปาง อาจเข้าใจได้ว่าท่านเป็นคนแรกในภาคเหนือที่ได้อ่านพระคัมภีร์ของคริสเตียน แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงความเชื่อของท่านจากการได้อ่านพระวจนะของพระเจ้า เพราะเวลานั้นที่ลำปางไม่มีโบสถ์คริสเตียนและไม่มีมิชชันนารี 20 ปีต่อมาความศรัทธาได้นำมาสู่การเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ ประมาณปี ค.ศ. 1877-1878 พญาสีหนาทได้ประสบกับปัญหาทางการเมืองและปัญหาส่วนตัว ปัญหาการเมืองคือได้มีการแบ่งแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า และพวกเจ้าที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับพญาสีหนาทเริ่มมีอำนาจมากขึ้นในการปกครอง ปัญหาส่วนตัวคือเจ้าพญาสีหนาทเป็นหนี้คนอื่นด้วยเงินเป็นจำนวนมาก และท่านไม่มีเงินพอจะชำระหนี้ และความจริงนั้นท่านถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่มีความยุติธรรม ท่านจึงไม่ยอมชำระหนี้ ด้วยปัญหาดังกล่าว พญาสีหนาทจึงเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจะขอความช่วยเหลือจากเจ้าอุปราชซึ่งเป็นเพื่อนของท่าน ตอนแรกเจ้าอุปราชเชียงใหม่สัญญาว่าจะช่วยเหลือในปัญหาดังกล่าว ในช่วงเวลาที่พักอยู่ในเมืองเชียงใหม่ พญาสีหนาททราบว่ามีมิชชันนารีมาประจำอยู่ที่ เชียงใหม่และอยากทราบอีกว่าเป็นกลุ่มเดียวกับหมอบรัดเลย์ที่มอบพระคัมภีร์ให้ท่านหรือไม่ พญาสีหนาทจึงไปพบมิชชันนารีผู้นั้นซึ่งก็คือศาสนาจารย์ดานิเอล แมคกิลวารี (ค.ศ.1858–1911)

ทันทีที่ศาสนาจาร์แมคกิลวารีได้เผชิญหน้ากับพญาสีหนาท เขารู้สึกทึ่งที่ได้เห็นว่าชาวล้านนาเชื้อสายเจ้าท่านนี้มีร่างกายสูงสง่าดุจขุนนาง พญาสีหนาทเอานิ้วชี้ทั้งสองชี้ไปที่หูของตน ถามว่า “ถ้าศาสนาจารย์แมคกิลวารีพูดว่า “เอฟฟาธา” จะทำให้คนหูหนวกได้ยินหรือหายเหมือนพระเยซูคริสต์ตรัสแก่คนหูหนวกหรือไม่” ศาสนาจารย์แมคกิลวารีแปลกใจมากที่ได้ยินชาวล้านนาพูดภาษาอาราเมคว่า “เอฟฟาธา” ด้วยสำเนียงชาวลำปาง ที่พญาสีหนาทถามคำถามนี้ก็เพราะท่านได้อ่านเรื่องนี้ในพระกิตติคุณมาระโก 7:31-37 และพญาสีหนาทท่านเป็นคนหูตึงนั่นเอง เนื่องด้วยท่านมีปฏิสัมพันธ์กับมิชชันนารี เจ้าอุปราชเชียงใหม่ซึ่งเป็นน้องชายของเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ (พ.ศ. 2399-2413) ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านมิชชันนารีและคริสเตียน จึงได้เลิกให้ความช่วยเหลือท่าน ทำให้ท่านผิดหวังมากทีเดียว แต่ในอีกมุมมองหนึ่งของชีวิต ท่านกำลังสมหวังในพระคำของพระเจ้าที่ท่านได้รับเมื่อ 20 ปีมาแล้วจากนายแพทย์แดน บิช บรัดเลย์ ซึ่งเป็นพ่อตาของศาสนาจารย์แมคกิลวารี ที่มาเปิดสถานีมิชชั่นในเชียงใหม่ ศาสนาจารย์แมคกิลวารีได้ใช้เวลาอบรมเรื่องความเชื่อและคำสอนในพระคัมภีร์ให้พญาสีหนาท จนกระทั่งท่านตัดสินใจรับบัพติศมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1878 (พ.ศ. 2421)

เมื่อพญาสีหนาทกลับถึงเมืองลำปาง ข่าวการเป็นคริสเตียนของท่านได้แพร่ไปทั่วลำปาง ท่านถูกเรียกตัวไปสอบสวน ผลการสอบสวนทำให้เจ้านครลำปางตัดสินลงโทษท่าน เพราะท่านออกจากศาสนาเดิมไปเป็นคริสเตียน พญาสีหนาทถูกไล่ออกจากตำแหน่งทันทีและเจ้าเมืองลำปางได้ยึดทรัพย์สินของท่าน ผลกระทบที่ตามมาก็คือ บรรดาเพื่อนๆ และญาติพี่น้องไม่ยอมให้ความสัมพันธ์กับท่าน ท่านจึงกลายเป็นคนจนและคนนอกสังคม แต่พญาสีหนาทมีความเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างมั่นคง มีความกล้าหาญ ได้ประกาศและเป็นพยานถึงองค์พระเยซูคริสต์และมีคนกลับใจเชื่อพระเยซูคริสต์ถึง 5 คน รวมทั้งภรรยาของท่านด้วย ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1880 ศาสนาจารย์ดานิเอล แมคกิลวารี ได้เดินทางจากเชียงใหม่ไปลำปางเพื่อเยี่ยมพญาสีหนาท และเห็นว่ามีผู้รับเชื่อแล้ว ท่านจึงตั้งคริสตจักรลำปางขึ้นในเดือนนั้น และสถาปนาพญาสีหนาทเป็นผู้ปกครองคริสตจักร พร้อมกับให้บัพติศมาแก่ผู้รับเชื่ออีก 5 คนนั้น คริสตจักรลำปางจึงเป็นคริสตจักรที่สามในภาคเหนือ (คริสตจักรที่สองคือคริสตจักรเบธเลเฮ็ม สถาปนาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1880) หลังจากคริสตจักรที่ 1 ลำปางได้รับการสถาปนา ก็มีปัญหาเกิดขึ้นคือเจ้าเมืองลำปางไม่พอใจ จึงข่มเหงคริสเตียนกลุ่มของพญาสีหนาท ได้จับพญาสีหนาทซึ่งเป็นหัวหน้าคริสตจักรลำปางในเดือนตุลาคม ค.ศ.1881 และตัดสินลงโทษให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยตั้งข้อหาว่าเป็นหนี้สินกับผู้อื่น ซึ่งความจริงเป็นเพราะพญาสีหนาทเป็นคริสเตียนนั่นเอง การข่มเหงครั้งนี้มีผู้เชื่อเหลืออยู่เพียง 3 คน เท่านั้น คือพญาสีหนาท ภรรยาของท่าน และคนรับใช้อีกคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1885 คณะธรรมทูตก็ได้จัดตั้งศูนย์กลางการประกาศพระกิตติคุณเป็นแห่งที่สองแม้จะมีคริสเตียนเหลือเพียง 3 คนก็ตาม พระเจ้าได้เลือกพญาสีหนาทเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ โดยมีนายแพทย์ แดน บิช บรัดเลย์ เป็น “ผู้หว่าน” พระวจนะของพระเจ้าคือพระกิตติคุณมาระโกเมื่อปี ค.ศ. 1858 ซึ่งพระกิตติคุณนี้พิมพ์ที่ประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1840 แล้วศาสนาจารย์ดานิเอล แมคกิลวารี ซึ่งมีฐานะเป็นลูกเขยมาอยู่ที่เชียงใหม่เมื่อ ค.ศ. 1867 ได้เป็น “ผู้เก็บเกี่ยว” วิญญาณดวงนี้ในอีก 20 ปีต่อมาคือปี ค.ศ.1878 และนี่คือแผนการของพระเจ้าที่ให้พระกิตติคุณเผยแพร่สู่นครลำปาง ผ่านชีวิตของพญาสีหนาทผู้เป็นวีรบุรุษแห่งความเชื่อในพระเยซูคริสต์

บรรณานุกรม McFarland, George Bradley (ed.). Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828-1928 (Bangkok: White Lotus Co., Ltd.), 1999. จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล (แปล) กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทย และคนลาว อัตชีวประวัติของศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี ดี.ดี. (พิมพ์ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน 2544) ศาสนาจารย์เฮอร์เบิร์ด สวอนสัน วิเคราะห์การทำพันธกิจของมิชชันนารี (เอกสารพิมพ์โรเนียว วันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ.1984) ดร.เคนเนท อี. แวลส์ ประวัติศาสตร์โปรเตสแตนท์ในประเทศไทย 1828-1958 พิมพ์โดยสภาคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ.1958 วิลเลี่ยม เอล แบรดเลย์ สยามสามสมัยจากสายตาหมอบรัดเลย์ (เก่งกาจ งามขจรวิวัฒน์, ธัญญา ผลอนันต์ แปล) สำนักพิมพ์เพื่อนชีวิต ธันวาคม 2527

  • ศจ. ชำนาญ แสงฉาย
  • ภาพ http://olparticle.blogspot.com/