พระเจ้าทรงมีพระนามว่าอะไร? ยะโฮวา หรือ เยโฮวาห์ หรือ ยาห์เวห์ กันแน่?

พระเจ้าทรงมีพระนามว่าอะไร? ยะโฮวา หรือ เยโฮวาห์ หรือ ยาห์เวห์ กันแน่?

ถาม ในพระคริสตธรรมคัมภีร์นั้น พระเจ้าทรงมีพระนามว่าอะไร? ยะโฮวา หรือ เยโฮวาห์ หรือ ยาห์เวห์ กันแน่?

ตอบ  เราพบพระนามพระเจ้าว่า “ยะโฮวา” จากพระคัมภีร์ไทยฉบับแปลเก่า (ฉบับ 1940) และ “เยโฮวาห์” จากพระคัมภีร์ไทยฉบับปัจจุบัน (ฉบับ 1971) อีกทั้ง “ยาห์เวห์” จากพระธรรมสดุดีของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์. ดังนั้น จึงทำให้เกิดความสงสัยขึ้นว่า พระเจ้าของเราทรงมีพระนามใดกันแน่? หรือ ทรงมีทั้งสามพระนามแล้วแต่การออกเสียงคำฮีบรูที่แตกต่างกันในแต่ละภาษา คำถามเกี่ยวกับพระนามเฉพาะของพระเจ้านั้น เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าคำถามเกี่ยวกับชื่อบุคคลในพระคัมภีร์ ซึ่งอาจเรียกแตกต่างกัน อาทิ โยฮัน (ฉบับ 1940) กับ ยอห์น (ฉบับ 1971) มาจาก โยอันเนส (ฉบับกรีก) หรือ ยาโกโบ (ฉบับ 1940) กับ ยากอบ (ฉบับ 1971) มาจาก ยาโคโบส (ฉบับกรีก) หรือ ยะโฮซูอะ (ฉบับ 1940) กับ โยชูวา (ฉบับ 1971) มาจาก เยอะโฮชุอะ (ฉบับฮีบรู) เป็นต้น

ก่อนที่จะตอบคำถามสำคัญข้างต้น ก็อยากจะกล่าวถึง ที่มาและความสำคัญของชื่อบุคคลในพระคัมภีร์ดังนี้
1. ที่มาของชื่อบุคคล
ก. บิดามารดา หรือ ญาติผู้ใหญ่ อาจตั้งชื่อให้บุตรหลานของตนเอง
ตามบุคลิกลักษณะของบุตรหลานเมื่อเกิดมา อาทิ ชื่อ เอซาว เนื่องจากบุตรนั้นมีขนดก (ปฐมกาล 25:25)  ชื่อ ยาโคบ เนื่องจากเด็กนั้นจับส้นเท้าพี่ (ปฐมกาล 25:26) เหมือนกับกำลังแย่งชิง (ปฐมกาล 27:36 แปลว่า หลอก) ชื่อ นาบาล เนื่องจากขาดสติและโง่เขลา (1ซามูเอล 25:25) เป็นต้น
ตามสถานการณ์ที่เกิดกับบิดาหรือมารดาหรือตัวเองในเวลานั้น อาทิ ชื่อ เบนโอนี (แปลว่า บุตรชายแห่งความระทม) เนื่องจากความเจ็บปวดถึงชีวิตเมื่อมารดาคือนางราเชลคลอดบุตรคนนี้ (ปฐมกาล 35:17-18) ชือ โมเสส เนื่องจากพระธิดาของฟาโรห์ได้ฉุดเด็กนี้ขึ้นจากน้ำ (อพยพ 2:10) เป็นต้น.
ข. พระเจ้า (หรือ ทูตสวรรค์) ประทานให้ อาทิ ชื่อต่อไปนี้ อับราฮัม (ปฐมกาล 17:5) ซาราห์ (ปฐมกาล 17:15) อิสราเอล(ปฐมกาล 32:28) เยดีดิยาห์ (2ซามูเอล 12:25) เยซู (มัทธิว 1:21) ยอห์น (ลูกา 1:13) เป็นต้น
2.ความสำคัญของชื่อบุคคล
ปัจจุบัน ชื่อเป็นเพียงคำเรียกที่ระบุเจาะจงความแตกต่างระหว่างบุคคลหนึ่งกับอีกบุคคล หนึ่ง อาทิเช่น ยากอบบุตรอัลเฟอัส กับ ยากอบบุตรเศเบดี เป็นต้น
แต่ในสมัยโบราณ ชื่อนอกจากจะเป็นคำเรียกดังกล่าวแล้ว ชื่อบุคคลยังบ่งบอกลักษณะนิสัยและเอกลักษณ์ตัวตนแท้จริงของบุคคลนั้นด้วย. ฉะนั้น หากมีเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ๋เกิดกับบุคคลนั้นจนเขากลายเป็นคน ใหม่ เขาก็จะมีชื่อใหม่ด้วย อาทิเช่น ชื่อ นาโอมี (สุขสบาย) เปลี่ยนเป็น มารา (ขมขื่น) ในพระธรรมนางรูธ 1:20-21 หรือ ชื่อ ยาโคบ เปลี่ยนเป็น อิสราเอล ในปฐมกาล 32:28 เป็นต้

พระนามของพระเจ้า
1. พระเจ้าก็เช่นกัน พระนามของพระองค์บ่งบอกพระลักษณะบางอย่างของพระองค์ อาทิเช่น
ก. หวงแหน (อพยพ 34:14)
หมายความว่า พระเจ้าทรงประสงค์ให้อิสราเอลประชากรของพระองค์ผูกพันสนิทกับพระองค์แต่ผู้ เดียว ไม่ปันจิตใจไปให้กับสิ่งอื่นหรือพระอื่น
ข. เยโฮวาห์ (อพยพ 3:14-15)
พระนามนี้มาจากคำกริยาฮีบรูที่แปลว่า ดำรงอยู่ ดังนั้นอาจหมายถึง 1) พระองค์ดำรงอยู่ พร้อมที่จะช่วยเหลือ. หรือ 2) พระองค์ทรงเป็นเหตุให้สิ่งสารพัดบังเกิดขึ้นหรือมีอยู่ (พระองค์ทรงเป็นพระผู้เนรมิตสร้างสรรพสิ่ง)
2. ความแตกต่างระหว่างพระนามเฉพาะกับพระนามทั่วไป
ครูประจำชั้นอนุบาลหนึ่ง ถามเด็กคนหนึ่งในชั้นว่า “คุณพ่อของหนูชื่ออะไร?” เด็กคนนั้นตอบว่า “ชื่อ ป่าป๊า” ครูก็อมยิ้มไม่พูดอะไรอีก แท้จริงแล้วคำ “คุณพ่อ” ในภาษาไทยและ “ป่าป๊า” ในภาษาจีน ก็หมายถึงสิ่งเดียวกัน กล่าวคือเป็นชื่อระบุสถานะหรือตำแหน่งในครอบครัว ไม่ใช่ชื่อเฉพาะ ครูประจำชั้นต้องการทราบชื่อเฉพาะของบิดาเด็กนั้น ไม่ใช่ต้องการทราบชื่อที่แสดงฐานะในครอบครัว แต่เด็กนั้นยังเล็กมาก เขาไม่ทราบชื่อบิดาตนเอง จึงบอกคำติดปากที่เขาเรียกบิดาของเขา
ในพระคัมภีร์ก็เช่นกัน “ฟาโรห์” เป็นชื่อระบุตำแหน่งสูงสุดในการปกครองแผ่นดินอียิปต์ ฟาโรห์แต่ละสมัยก็มีชื่อเฉพาะต่างกันไป เข่น ฟาโรห์ราอัมเสส ฟาโรห์เนโค ฟาโรห์ชิชัก เป็นต้นหากมีผู้ถามคริสตชนว่า “พระเจ้าที่ท่านนับถือมีชื่อว่าอะไร?” คริสตชนจะตอบเขาอย่างไร? หากตอบว่า “ไม่ทราบ.” นั่นก็น่าละอายเพราะเขาจะว่า “ทำไมพระเจ้าที่ตัวเองนับถือยังไม่รู้จักชื่อเลย?”  แต่หากตอบว่า “ชื่อ พระเจ้า” เขาก็จะหัวร่องอหาย เพราะนั่นไม่ใช่ชื่อเฉพาะของพระเจ้า แต่เป็นชื่อระบุสถานะหรือตำแหน่ง และอาจมีบางคนตอบโดยอ้างพระนามเฉพาะของพระองค์ต่างกันเป็นสามอย่างคือ ยะโฮวา หรือ เยโฮวาห์ หรอ ยาห์เวห์ เขาก็จะถามต่อว่า “พระเจ้าของคริสตชนมีสามชื่อหรืออย่างไร หรือว่า พระองค์มีชื่อเดียว แต่ออกเสียงต่างกันไป แล้วแต่ยุคแต่สมัย?”
3. พระนามเฉพาะของพระเจ้า
พระนามเฉพาะของพระเจ้าที่ทรงสำแดงแก่โมเสสคือ ยหวห (ตัวพยัญชนะสี่ตัวในภาษาฮีบรูที่ถูกถอดถ่ายเป็นพยัญชนะไทยแล้ว หรือ tetragrammaton) แน่นอน มีแต่พยัญชนะไม่มีสระกำกับ เราอ่านไม่ได้ แต่คนยิวอ่านได้. พระคัมภีร์ของคนยิว (คือ พระคัมภีร์เดิมของเรา) แต่เดิมนั้นเขียนด้วยพยัญชนะล้วนๆ ไม่มีสระกำกับเลย. (ต่อมาภายหลัง จึงมีการใส่สระกำกับให้) หากจะเปรียบเทียบภาษาฮีบรูกับบางคำในภาษาไทย ก็คงจะได้แก่คำ “ทรหดอดทน” เราอ่านได้ แม้ไม่มีสระกำกับ
พระนามเฉพาะ ยหวห ปรากฏในพระคัมภีร์เดิม ประมาณ 6,800 ครั้ง นั่นแสดงว่า พระเจ้าประสงค์จะให้เรารู้จักพระองค์โดยพระนามนี้อย่างแน่นอน.
4. ความจริงเกี่ยวกับพระนามเฉพาะของพระเจ้า
เราทราบแน่ว่าพระนามของพระเจ้าเขียนอย่างไร? แต่เราจะอ่านอย่างไรดี? นี่เป็นคำถามที่น่าคิดทีเดียว เพื่อจะตอบคำถามนี้ ขอให้ศึกษาจากธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ดังนี้

ตามธรรมเนียมปฏิบัติของคนยิว
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า พระคัมภีร์ของคนฮีบรูหรือคนยิว แต่เดิมเขียนด้วยพยัญชนะโดยไม่มีสระกำกับ แต่ต่อมาราวๆ คริสตศตวรรษที่สิบ นักวิชาการยิวที่เรียกว่า พวกมาโซเรท ได้ใส่สระกำกับทุกคำในพระคัมภีร์ พร้อมเครื่องหมายวรรคตอน แต่เมื่อจะใส่สระลงไปที่คำ ยหวห พวกเขาได้เอาสระของคำฮีบรูอีกคำหนึ่ง คือ คำ “อโดนาย” (แปลว่า “องค์เจ้านายของข้าฯ” ใส่กำกับ แต่มิได้มุ่งหมายให้ผู้อ่านประสมพยัญชนะกับสระและอ่านออกมา แต่เพื่อคนยิวเมื่ออ่านพระคัมภีร์ของเขามาถึงคำ ยหวห เขาจะอ่านว่า “อโดนาย” แทน. เหตุที่พวกมาโซเรททำเช่นนี้ ก็เพราะคนยิวสมัยหลังกลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลนคิดเห็นว่า พระนามเฉพาะของพระเจ้าบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าที่จะอ่านออกเสียงได้ใน ที่สาธารณะ แต่อ่านส่วนตัวได้ นอกจากนี้ ยังถือว่าผู้ใดออกพระนามเฉพาะของพระเจ้า ก็ได้ทำผิดพระบัญญัติข้อที่สามในพระบัญญัติสิบประการที่ว่า “ ห้ามออกพระนาม ยหวห พระเจ้าของเจ้าอย่างไม่สมควร…”(อพยพ 20:7)

ตามฉบับเซปทัวจินต์ ( พระคัมภีร์เดิมฉบับแปลเป็นภาษากรีก)
ประมาณปี 280 ก่อนคริสตศักราช คนยิวผู้ทรงความรู้เจ็ดสิบสองคนมาชุมนุมกันที่เมืองอเล็กซานเดรีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอียิปตฺ) เพื่อแปลพระคัมภีร์ของคนฮีบรูออกมาเป็นภาษากรีก ทั้งนี้เพื่อให้คนยิวจำนวนมากที่กระจัดกระจายไปยังดินแดนต่างๆ และไม่คุ้นเคยกับภาษาฮีบรูเท่ากับภาษากรีกจะสามารถอ่านพระคัมภีร์ได้. พระคัมภีร์ฉบับนั้นเรียกว่า พระคัมภีร์ฉบับเซปทัวจินต์? พวกเขาแปล ยหวห เป็นคำกรีกว่า คูริโอส ซึ่งตรงกับคำฮีบรูว่า อโดนาย (แปล่า องค์เจ้านายของข้าฯ)

ตามธรรมเนียมการแปลฉบับภาษาอังกฤษ
ส่วนมากจะแปลพระนามเฉพาะของพระเจ้าตามแบบฉบับเซปทัวจินต์ คือแปล ยหวห ว่า LORD โดยใช้อักษรตัวใหญ่ทั้งหมด และแปลคำฮีบรู อโดน ว่า Lord (อย่างไรก็ดี หากพบวลีฮีบรูว่า อโดน ยหวห พวกเขาจะแปลว่า the Lord GOD แทนที่จะแปลว่า the Lord LORD) อนึ่ง ฉบับอังกฤษก็ยังมีข้อจำกัดอีกคือ เมื่อผู้อ่านอ่านเองก็มองเห็นความแตกต่างของตัวอักษร และทราบได้ว่าที่อ่านนั้นเป็นพระนามเฉพาะหรือไม่ แต่เมื่อเป็นผู้ฟัง เขาก็ไม่อาจแยกความแตกต่างได้เลยว่าที่ได้ยินคือ LORD หรือ Lord กันแน่

ตามธรรมเนียมของพระคัมภีร์ไทย
เรามีธรรมเนียมของเราเอง เราไม่ตามธรรมเนียมของคนยิว หรือ ของฉบับเซปทัวจินต์ หรือ ของฉบับอังกฤษ เราแปลพระนามเฉพาะของพระเจ้าออกมาตรงๆ โดยไม่หลบเลี่ยง ทั้งนี้เพราะเราไม่ได้คิดว่าการออกพระนามเฉพาะของพระเจ้าเป็นการผิดพระ บัญญัติข้อที่สามแต่อย่างใด เพราะจุดประสงค์ของพระบัญญัติข้อนี้คือ ให้ชุมชนอิสราเอลเคารพนับถือและให้เกียรติแด่พระนามพระเจ้า ดังนั้น คนยิวจึงสาบานและให้พรกันในพระนาม ยหวห ได้ (เยเรมีย์ 4:2) แต่ห้ามอ้างพระนาม ยหวห ในการสาบานเท็จคือสาบานแล้วไม่จริงใจทำตามที่พูด (เลวีนิติ 19:12, เศคาริยาห์ 5:4) หรือ อ้างพระนาม ยหวห ในการเผยพระวจนะที่ไม่ได้มาจากพระองค์ (เยเรมีย์ 27:15)

ดังนั้นพระคัมภีร์ไทยจึงแปลพระนามเฉพาะออกมาตรงๆ โดยพระคัมภีร์ฉบับแปลเก่า (ฉบับ 1940) แปลว่า พระยะโฮวา ทุกครั้งที่ ยหวห ปรากฏ. ส่วนพระคัมภีร์ฉบับปัจจุบัน (ฉบับ 1971) แปลว่า พระเยโฮวาห์ เฉพาะตอนสำคัญที่จำเป็นต้องระบุพระนามเฉพาะของพระเจ้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น อพยพ 3:14-15 เป็นต้น นอกจากนี้ พระธรรมสดุดีของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพระคัมภีร์ได้แปลพระนามเฉพาะของพระ เจ้าทุกครั้งว่า พระยาห์เวห์ ฉะนั้น เราพบว่าพระนามเฉพาะของพระเจ้าที่เขียนด้วยตัวอักษรสี่ตัวคือ ยหวห นั้น มีการอ่านออกเสียงต่างกัน 3 แบบในพระคัมภีร์ไทย คือ ยะโฮวา เยโฮวาห์ และยาห์เวห์ นี่ไม่ได้หมายความว่า พระเจ้าทรงมีพระนามสามพระนาม พระองค์มีพระนามเฉพาะพระนามเดียวคือ ยหวห ซึ่งฉบับฮีบรูให้อ่านว่า อโดนาย (เพื่อเลี่ยงการออกพระนามแท้จริง) ฉบับกรีกแปลและอ่านว่า คูริโอส (คือ องค์เจ้านาย หรือ องค์พระผู้เป็นเจ้า) ฉบับอังกฤษส่วนมากแปลว่า the LORD ส่วนฉบับไทยแปลออกมาต่างกัน 3 แบบ ซึ่งอาจทำให้คนไทยสับสนและเข้าใจว่าเป็นพระเจ้าคนละองค์ก็ได้. เพราะฉะนั้น จึงควรแปลออกมาทางเดียวกัน แต่นี่เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น
5. พระคัมภีร์ไทยควรแปลพระนามเฉพาะของพระเจ้าอย่างไรจึงจะถูกต้องและเหมาะสม?
คำถามนี้ค่อนข้างตอบยาก เพราะความถูกต้องกับความเหมาะควร บางครั้งไปทางเดียวกัน แต่บางครั้งก็แยกกันไปคนละทาง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้วิจารณญาณพิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจ ซึ่งมิใช่เพื่อคนรุ่นปัจจุบันเท่านั้น แต่เพื่อคนในอนาคตด้วย

จากเนื้อความที่กล่าวมาแล้ว เราเพียงทราบว่า พระนามเฉพาะของพระเจ้ามีการแปลและการอ่านออกมาอย่างไรบ้าง? แต่การอ่านอย่างถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร? คนยิวก่อนสมัยพระวิหารซาโลมอนถุกทำลายในปี 586 ก่อนคริสตศักราช จะอ่านพระนามเฉพาะ ยหวห ตรงๆ พร้อมกับสระที่ถูกต้อง แต่คนยิวนับตั้งแต่ศตวรรษที่สามก่อนคริสตศักราชเป็นต้นมา จะอ่านว่า “อโดนาย” แทน เพื่อหลีกเลี่ยงการออกพระนามตรงๆ ต่อมาราวคริสตศตวรรษที่สิบ พวกมาโซเรท(นักวิชาการยิว) ได้ใส่สระกำกับทุกคำในพระคัมภีร์ฉบับฮีบรู และพวกเขาใส่สระของคำ “อโดนาย”ที่พระนามเฉพาะ ยหวห เพื่อคนยิว เมื่ออ่านมาถึง ยหวห จะได้อ่านว่า “อโดนาย” แทนที่จะออกพระนามตรงๆ ต่อมาในสมัยกลางตอนต้น นักวิชาการยุโรปที่เริ่มศึกษาภาษาฮีบรู เมื่ออ่านพระคัมภีร์ฉบับฮีบรูมาถึง ยหวห พร้อมกับสระกำกับของคำ “อโดนาย” เนื่องด้วยความไม่เข้าใจจึงประสมพยัญชนะกับสระ อ่านว่า ยโหวาห์ หรือ ยะโฮวาห์ หรือ เยโฮวาห์ แล้วก็เข้าใจว่านี่คือพระนามเฉพาะของพระเจ้า ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นการอ่านที่ไม่ถูกต้องเลย ส่วนนักวิชาการปัจจุบันเชื่อว่าพระนามเฉพาะของพระเจ้าคือ ยาห์เวห์ ที่พวกเขาเชื่อเช่นนั้นก็เพราะคำยืนยันของ ธีโอโดเรทแห่งไซรัส (คริสตศตวรรษที่สี่) ว่า พวกสะมาเรียผู้ได้รับพระธรรมห้าเล่มแรกเช่นเดียวกับพวกยิว ออกพระนามเฉพาะของพระเจ้าว่า ยาเว นอกจากนี้ คลีเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย (ต้นคริสตศตวรรษที่สาม) ได้ถอดถ่ายตัวอักษร (transliterate) พระนามเฉพาะของพระเจ้าออกมาเป็นภาษากรีกว่า ยาอูเอ (หรือ ยาเว)ดังนั้น หากว่ากันด้วยเรื่องความถูกต้องแล้ว การออกพระนามเฉพาะของพระเจ้าว่า “ยะโฮวา หรือ เยโฮวาห์” นั้นผิดแน่นอน. ส่วนการออกพระนามว่า “ยาห์เวห์”นั้นถูกต้องกว่าและเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักวิชาการยิวและอื่นๆ ทั่วโลกอย่างไรก็ตาม คริสตชนไทยพร้อมรับการปรับเปลี่ยนพระนามเฉพาะของพระเจ้าเพื่อความถูกต้อง หรือไม่? อย่างไร? เราควรปรับเปลี่ยนหรือไม่? อย่างไร? การปรับเปลี่ยนจะส่งผลกระทบด้านบวก และ/หรือ ด้านลบอย่างไร? ท่านผู้อ่านสามารถเสนอความคิดเห็นของท่านมายังฝ่ายการแปล สมาคมพระคริสตธรรมไทยได้ ทางเราขอน้อมรับทุกความเห็นมาพิจารณาด้วยความขอบพระคุณยิ่ง ขอพระเจ้าทรงอวยพรท่าน

  • อ.ปัญญา โชชัยชาญ
  • ภาพ Photoangel – Freepik.com