“มั่นใจ หรือ ไว้วางใจ”
คำถาม จากพระธรรมฮีบรู10:35 ฉบับมาตรฐานมีเนื้อความว่า “เพราะฉะนั้น อย่าละทิ้งความไว้วางใจของท่าน อันจะนำมาซึ่งบำเหน็จยิ่งใหญ่” มีผู้เห็นว่าทางสมาคมฯ น่าจะปรับแก้คำว่า“ความไว้วางใจ” เป็น “ความมั่นใจ” เพื่อให้ได้คำแปลตรงกับคำว่า “confidence” ในพระคัมภีร์อังกฤษหลายฉบับ และเพื่อจะเป็นการแปลคำกรีกคำเดียวกันอย่างเสมอต้นเสมอปลายเช่นในพระธรรม 1 ยอห์น 3:21; 4:17; 5:14 ที่แปลว่า “ความมั่นใจ” ทางสมาคมฯ คิดเห็นอย่างไร?
คำตอบ ทางสมาคมฯ ขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่นำเสนอข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์มายังเรา และต้องขออภัยท่านด้วยที่ตอบสนองความเห็นของท่านช้า เพราะต้องทยอยตอบคำถามของหลายท่าน นอกจากนี้ยังต้องขออภัยด้วยในบางกรณีที่เราอาจไม่ได้ทำตามที่ท่านเสนอมา อย่างไรก็ดีทางสมาคมฯ ไม่ได้เพิกเฉยต่อความคิดเห็นของท่าน แต่ยินดีนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจกันว่า พระคริสต-ธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับมาตรฐาน 2011 นั้นไม่ได้แปลมาจากพระคัมภีร์อังกฤษ แต่แปลจากสำเนาต้นฉบับภาษาเดิม (อันได้แก่ ภาษาฮีบรู ภาษาอาราเมค และภาษากรีก) โดยเทียบเคียงคำแปลกับฉบับมาตรฐานฉบับก่อนๆ ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ที่บางตอนไม่ตรงกับฉบับอังกฤษ อย่างไรก็ดีเพื่อตอบคำถามข้างต้น ก็จะขอตอบในมุมต่างๆ ดังนี้
ก. ความหมายตามดิกชันนารี
เมื่อพิเคราะห์ดูความหมายของคำ“confidence” ในพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยและพจนานุกรมอังกฤษ-อังกฤษ เราพบความหมายหลากหลายอย่าง เช่น ความไว้วางใจ ความมั่นใจ(Loy’s English-Thai Dictionary), ความเชื่อมั่นความไว้ใจ (Modern English-Thai Dictionary),ความเชื่อมั่น ความไว้ใจ ความเชื่อถือ (English-Thai Nontri Dictionary), ความไว้วางใจ ความมั่นใจ ความลับ (พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ของ สอเสถบุตร) เป็นต้น ดังนั้น เราพบว่า “confidence” มิใช่แปลได้อย่างเดียวว่า ความมั่นใจ แต่อาจแปลว่า ความไว้วางใจ ด้วยก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะเห็นว่าฉบับมาตรฐานไม่ได้แปลต่างจากฉบับอังกฤษ เพราะ“confidence” ยังแปลได้อีกว่า “ความไว้วางใจ”
ข. ความหมายตามพจนานุกรมไทย
เรามาถึงคำถามด้านภาษาไทยว่า ความไว้วางใจ กับ ความมั่นใจนั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร? เพื่อให้เห็นภาพ ก็ขอยกเรื่องเล่าสองเรื่องมาเปรียบเทียบดังนี้
เรื่องที่หนึ่ง แม่กับลูกสาว ผู้หญิงคนหนึ่งมีลูกสาวเมื่อตัวเองอายุ35 ปี ต่อมาลูกอายุได้ 5 ขวบขณะยืนบนบันได แม่เรียกให้ลูกโดดลงมาแล้วแม่จะรับ ลูกสาวมองดูแม่ ลังเลนิดหนึ่ง แล้วโจนลงมาจากบันได แม่ก็รับเธอไว้มากอดแนบอก ลูกสาวมั่นใจว่าแม่รับเธอได้ และวางใจว่าแม่รักเธอ แม่จะไม่ปล่อยให้อันตรายเกิดกับเธอแน่นอน แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีก 10 ปี ลูกสาวอายุ 15 ปี เธอย่างเข้าสู่วัยรุ่น ขณะที่แม่ย่างเข้าวัยชราอายุ 50 ปี แล้วในวันหนึ่ง เหตุการณ์คล้ายกันนั้นก็เกิดขึ้นอีกลูกสาวอยู่บนบันได แม่อยู่เชิงบันได แม่ร้องเรียกให้ลูกโดดลงมา ลูกมองดูแม่ ลังเลนิดหนึ่งแล้วค่อยๆเดินลงบันไดมาหาแม่ ขณะที่แม่กำลังร้องไห้เสียใจที่ลูกไม่วางใจเธอลูกเองก็ร้องไห้กอดแม่แน่น แล้วบอกว่า “หนูรักแม่ หนูรู้ว่าแม่รักหนู หนูวางใจในความรักของแม่เสมอ แต่ครั้งนี้หนูไม่มั่นใจว่าแม่จะรับหนูได้ หนูกลัวว่า หนูจะทำให้แม่บาดเจ็บ”
สรุปเรื่องที่หนึ่ง ในเรื่องที่ยกมานั้น เราพบว่า ลูกสาววางใจในความรักของแม่เสมอไม่ว่าตอนเธออายุ5 ขวบ หรือ อายุ 15 ปี แต่เมื่อแม่อายุมากขึ้นเธอเริ่มไม่มั่นใจในความสามารถของแม่ว่าจะรับเธอได้เหมือนแต่ก่อน เมื่ออ่านดูแล้ว ก็จะเห็นว่า ความรักของแม่แตกต่างจากความสามารถของแม่ และ“วางใจ” กับ “มั่นใจ” ก็ต่างกันด้วยนั่นคือเธอไว้วางใจแม่ เธอวางใจในความรักของแม่แต่เธอไม่มั่นใจในความสามารถของแม่1
เรื่องที่สอง นักกายกรรมไต่ลวด นักกายกรรมคนหนึ่งนำลวดมาขึงเหนือน้ำตกจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งสูงจากพื้นดินมาก แล้วเขาก็เดินไปมาบนเส้นลวดนั้น นั่นทำให้คนข้างล่างตกใจมาก เพราะกลัวเขาจะตกลงมา แต่เขาก็เดินได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย หลังจากนั้น เขาก็เปลี่ยนมาเข็น รถเข็นล้อเดียวบนเส้นลวดนั้นเขาเข็นไปมาอย่างทะมัดทะแมง คนที่เฝ้าดูรู้สึกทึ่งและหวาดเสียว แต่เขาก็ทำได้สำเร็จ แล้วเขาตะโกนถามคนที่อยู่ข้างล่างว่า“คุณเชื่อมั้ยว่า ผมเดินบนเส้นลวดนี้ได?้ ” พวกเขาตอบว่า “เชื่อ” นักกายกรรมถามต่อว่า “คุณเชื่อมั้ยว่า ผมเข็นรถเข็นนี้บนเส้นลวดได้?” พวกเขาก็ตอบว่า “เชื่อ” ดังนั้น เขาจึงร้องขอสักคนหนึ่งมานั่งบนรถเข็นล้อเดียวนี้แล้วเขาสัญญาว่าจะพาไปส่งอีกฟากหนึ่งอย่างปลอดภัย แต่ไม่มีใครอาสาเลยสักคนเดียว
สรุปเรื่องที่สอง เรื่องนี้ทำให้เรามองเห็นความแตกต่างระหว่างความเชื่อกับความไว้วางใจ หลายคนเชื่อหรือมั่นใจเพราะเห็นกับตาว่านักกายกรรมเดินบนเส้นลวดได้ หรือเข็นรถเข็นล้อเดียวบนเส้นลวดได้ แต่ไม่มั่นใจว่าเขาจะพาผู้อื่นไปด้วยได้เพราะยังไม่เคยเห็นความไม่มั่นใจนั้นทำให้ไม่ไว้วางใจนักกายกรรมว่าจะสามารถพาตนไปถึงอีกฝั่งได้อย่างปลอดภัยจึงไม่มีใครกล้าเอาชีวิตไปเสี่ยงกับเขาโดยปกติ การมีประสบการณ์จะนำไปสู่ความเชื่อหรือมั่นใจ และความมั่นใจนำไปสู่ความวางใจ2และความวางใจนำไปสู่ความกล้าหาญ (การไม่กลัว) แต่ในบางกรณี การไม่มีประสบการณ์แต่มีความเชื่อก็จะนำไปสู่การวางใจและการวางใจนำไปสู่ความกล้าหาญ(การไม่กลัว)3 ในทางตรงข้ามหากไม่มั่นใจก็จะไม่วางใจ และที่สุดก็จะกลัวจากพจนานุกรมไทยและหนังสือคลังคำของดร.นววรรณ พันธุเมธา เราพอสรุปได้ว่า
1. มั่นใจ = แน่ใจ = เชื่อ
2. ไว้ใจ = วางใจ = ไว้วางใจ = เชื่อใจ
ข้อสังเกตการใช้คำในภาษาไทย
1. มั่นใจ
- อาจใช้กับตัวเองหรือใช้กับผู้อื่นก็ได้ มักพุ่งความสนใจไปที่ความรู้และความสามารถ ยกตัวอย่าง สมจิตมั่นใจตัวเองมาก สมจิตมั่นใจว่าจะเอาชนะเขาได้ หรือ สมจิตมั่นใจว่าสมปองทำงานนี้ได้ หากมั่นใจตัวเอง ก็จะกล้า ไม่กลัว ในการทำสิ่งใดๆ
- นอกจากนี้ เรามีวลี“เชื่อมือ” เช่น สมจิตเชื่อมือสมปอง ซึ่งหมายความว่า สมจิตเชื่อในความสามารถของสมปอง และมั่นใจการปฏิบัติงานของเขา. เราอาจกล่าวว่า สมจิตวางใจสมปองในเรื่องความสามารถทำบางสิ่งบางอย่าง
- เรายังมีอีกวลีหนึ่งคือ “เชื่อใจ” ซึ่งหมายถึง ไว้วางใจ ยกตัวอย่าง เธอไม่เชื่อใจสามี ซึ่งน่าจะหมายความว่า เธอไม่มั่นใจในความซื่อสัตย์ของสามี เป็นต้น
2. วางใจ
- ใช้กับผู้อื่นมากกว่า เราไม่ค่อยพูดว่า ฉันวางใจตัวเอง แต่พูดว่า ฉันวางใจเขา คำ“วางใจ” พุ่ง ความสนใจไปที่คุณธรรมของบคุ คลและอาจไปที่ความสามารถด้วย ยกตัวอย่าง
- แม้อยู่ห่างกันแต่สมหมายก็ยังวางใจ/เชื่อใจสมศรีเสมอนั่นหมายความว่า สมหมายวางใจในความซื่อสัตย์ของสมศรีว่าจะไม่ปันใจให้ชายอื่น ดังนั้นสมหมายจึงไม่กังวล
- เจ้านายไว้วางใจมอบหมายงานสำคัญให้เขาทำนั่นหมายความว่า เจ้านายเชื่อว่าเขาสามารถทำงานสำคัญให้สำเร็จได้ด้วยดี
- ช้เรียกความมั่นใจจากผู้อื่นมาที่ผู้พูด ยกตัวอย่าง คุณวางใจได้, ผมจะไม่ทำให้คุณผิดหวังดังนั้นหากเราเปรียบเทียบคำแปลระหว่าง“อย่าละทิ้งความมั่นใจ” กับ “อย่าละทิ้งควาใจ”ลอยๆ โดยไม่มีบริบท ก็จะพบว่า “ความมั่นใจ” หากไม่มีเนื้อความขยายแล้วก็ไม่ชัดเจนว่าหมายถึงความมั่นใจในตัวเองหรือในผู้อื่นสิ่งอื่น แต่ “ความวางใจ” มักนำความคิดของเราไปยังผู้อื่นหรือสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราเอง ดังนั้นความชัดเจนถือเป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่งในการเลือกว่าจะใช้คำแปลใด
ค. ความหมายในภาษากรีก
คำกรีกที่เป็นประเด็นในข้อนี้คือ παρρησίαปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่31 ครั้ง 4 ในความหมายต่างๆ ตามที่ปรากฏในพจนานุกรมภาษากรีก 5 ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้คือ
- เกี่ยวกับการพูด
- พูดอย่างเปิดเผย(ไม่ปิดบัง, ในที่ชุมชน)เช่น มาระโก 8:32; ยอห์น 7:13,26; 18:20
- พูดอย่างแจ่มแจ้ง(ไม่คลุมเครือ ไม่ใช้อุปมาหรือเรื่องเปรียบเทียบ) เช่น ยอห์น 16:25,29
- พูดตรงๆ(ไม่อ้อมค้อม) เช่น ยอห์น10:24; 11:14
- พูดอย่างกล้าหาญ เช่น กิจการของอัครทูต4:29,31; 28:31; 2 โครินธ์ 3:12
- เกี่ยวกับท่าทีในใจ
- ความกล้าหาญ เช่น กิจการของอัครทูต4:13 (แสดงออกมาในการพูด); ฮีบรู 4:16; 10:19 (แสดงออกโดยการเข้าเฝ้าพระเจ้าในสถานศักดิ์สิทธิ์)
- ความไว้ใจ, ความไว้วางใจ เช่น 2 โครินธ์7:4; ฮีบรู 10:35
- ความมั่นใจ เช่น1 ยอห์น 2:28; 3:21;4:17; 5:14
- เกี่ยวกับการกระทำที่โดดเด่นในที่ชุมชน
- การปรากฏตัวอย่างเปิดเผย เช่น ยอห์น7:4; 11:54
- การประจาน เช่น โคโลสี2:15อย่างไรก็ดี ความหมายของคำในพระคัมภีร์ไม่ได้ถูกกำหนดโดยพจนานุกรมเท่านั้น แต่กำหนดโดยบริบทหรือเนื้อความแวดล้อมของพระคัมภีร์ตอนนั้นๆด้วยไม่ว่าจะเป็นบริบทวงกว้างหรือวงแคบก็ตาม เราจึงต้องถามต่อไปว่า แล้วในบริบทของพระธรรมฮีบรู ควรใช้คำใดจึงจะเหมาะ?
ง. ความหมายในบริบทของพระธรรมฮีบรู
เราไม่ทราบชัดเจนว่าผู้เขียนและผู้รับพระธรรมฮีบรูคือใคร แต่จากเนื้อหาของพระธรรม6 เราทราบว่าผู้เขียนมีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับภาษากรีกศาสนพิธีของคนยิว ผู้เขียนอ้างอิงพระคัมภีร์เดิมฉบับกรีกไว้ในพระธรรมฮีบรูหลายตอน ส่วนผู้รับจดหมายฮีบรูน่าจะเป็นคนยิวที่เชื่อพระเยซู แต่พบการกดขี่ข่มเหงอย่างหนักจึงคิดจะละทิ้งพระองค์ เพื่อกลับไปสู่ทางเดิมคือการรักษาธรรม-บัญญัติของบรรพบุรุษ จดหมายฮีบรูเขียนขึ้นเพื่อ 1. หนุนใจให้พวกเขายืนหยัดความเชื่อในพระเยซูต่อไปจนถึงที่สุดเพราะพระเยซูทรงเหนือกว่าทูตสวรรค์ เหนือกว่าโมเสสและโยชูวา เหนือกว่าอาโรนมหาปุโรหิต เครื่องบูชาของพระองค์ก็สมบูรณ์แบบกว่าของอาโรน พระเยซูทรงเป็นผู้เชื่อมโยงเราเข้ากับพระเจ้า เราสามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าได้ทางพระองค์เท่านั้น2. เตือนสติพวกเขาถึงหายนะอันใหญ่หลวงหากเขาละทิ้งพระคริสต์เพื่อหาความหมายของคำ παρρησίαในพระธรรมฮีบูร เราจำเป็นต้องศึกษาการใช้คำนี้ในบริบททั้งวงกว้างและวงแคบ เพื่อเข้าใจว่าผู้เขียนตั้งใจใช้คำนี้ในความหมายอย่างไรบ้าง เราพบว่าคำนี้ปรากฏสี่ครั้งในพระธรรมฮีบรู7
ฮีบรู 3:6 “แต่พระคริสต์นั้นทรงซื่อสัตย์ในฐานะพระบุตร ผู้อยู่เหนือชุมชนของพระเจ้า และเราก็เป็นชุมชนนั้นหากเพียงแต่เราจะยึดความมั่นใจและความภูมิใจในความหวังนั้นไว้” ดู คำอธิบายที่ เชิงอรรถท้ายเรื่อง 7 ลำดับที่ 4
ฮีบรู 4:16 “ฉะนั้นขอให้เราเข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณด้วยความกล้า เพื่อเราจะได้รับพระเมตตา และจะพบพระคุณที่ช่วยเราในยามต้องการ” บริบทของข้อนี้ได้แก่ ข้อ 14-16 ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูอธิบายว่าเนื่องจากคริสตชนยิวและตัวท่านเองมีพระเยซูผู้เป็นมหาปุโรหิตที่เห็นใจในความอ่อนแอของพวกเขา พวกเขาก็ควรทำสองสิ่งคือ หนึ่ง ยึดมั่นในหลักความเชื่อที่ประกาศรับไว้ดู ฮีบรู 3:1; 10:23 และ สอง กล้าเข้าไปถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณ (ซึ่งน่าจะหมายความว่า กล้าเข้าเฝ้าพระเจ้าอย่างใกล้ชิดอย่างเดียวกับที่มหาปุโรหิตเข้าเฝ้าพระเจ้าในห้องอภิสุทธิสถาน) คำπαρρησίαในที่นี้น่าจะแปลว่า“ความกล้า”เพราะโดยปกติ ไม่มีคนยิวคนใดจะกล้าเข้าเฝ้าพระเจ้าในห้องอภิสุทธิสถานเนื่องจากเขาไม่มีสิทธิ์ทำเช่นนั้นตามธรรมบัญญัติ แต่ผู้เชื่อพระคริสต์กล้าเข้าใกล้ชิดพระเจ้าอย่างนั้นทางพระเยซู
ฮีบรู10:19 “เพราะฉะนั้นพี่น้องทั้งหลายเมื่อเรามีใจกล้าที่จะเข้าไปในสถานศักดิ์สิทธิ์โดยพระโลหิตของพระเยซู”
คำสันธาน“เพราะฉะนั้น” ในข้อ 19 แสดงความเชื่อมโยงเนื้อความก่อนซึ่งเป็นเหตุเข้ากับเนื้อความตอนนี้ซึ่งเป็นผลหากพิจารณาคร่าวๆ ข้อ10, 14, 19 และ 21 เป็นเหตุ ส่วนข้อ 22-25 เป็นผล โดยสังเกตวลี “ให้เรา…” กล่าวคือ
เหตุ: ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์, มีใจกล้าเข้าเฝ้าพระเจ้า, มีปุโรหิตใหญ่
ผล: ให้เราเข้าเฝ้าพระเจ้าอย่างใกล้ชิด ให้เรายึดหลักความเชื่อแห่งความหวังที่ประกาศรับไว้ให้เราปลุกใจกันให้รักและทำความดี อย่าขาดการประชุม หนุนใจกันเพราะเวลาของพระคริสต์มาใกล้แล้ว
คำπαρρησίαในที่นี้น่าจะแปลว่า“ใจกล้า” เพราะเกี่ยวข้องกับการเข้าเฝ้าพระเจ้าในสถานศักดิ์สิทธิ์ (ซึ่งน่าจะหมายถึง อภิสุทธิสถาน)เหตุผลในการแปลก็คล้ายๆ กับ ฮีบรู 4:16
ฮีบรู10:35 “เพราะฉะนั้น อย่าละทิ้งความไว้วางใจของท่าน อันจะนำมาซึ่งบำเหน็จยิ่งใหญ่” คำ παρρησίαในข้อนี้ แปลว่า“ความไว้วางใจ” เป็นคำแปลที่ดีและเหมาะแล้วหรือ? หากพิเคราะห์บริบทวงแคบคือ ข้อ 32-39 เราพบว่าตอนนี้เป็นคำกำชับและคำหนุนใจให้ผู้อ่านยืนหยัดในความเชื่อต่อไปจนถึงที่สุดดังนั้น คำกรีกนี้อาจแปลว่า “ความกล้าหาญ”(boldness หรือ courage) ซึ่งตามบริบทหมายถึงความกล้าเผชิญการกดขี่ข่มเหง กล้าเผชิญความยากลำบาก กล้าเผชิญการสูญเสียทรัพย์สินและอิสรภาพอันเนื่องมาจากความเชื่อในพระเยซูคริสต์เจ้า (ดู มัทธิว 5:12 ประกอบ) พระคัมภีร์อังกฤษที่สนับสนุนการแปลอย่างนี้ ได้แก่ ASV, NCV,TS2009 และ YLT
หรือ อาจแปลว่า “ความเชื่อ” ดูข้อ38-39หรือ “หลักความเชื่อ” ดู ข้อ 23หรือ อาจแปลว่า “ความไว้วางใจ” (confidence)ซึ่งน่าจะหมายถึง ความวางใจในพระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อต่อพระสัญญาของพระองค์ (ข้อ 23)
หรือ อาจแปลว่า “ความมั่นใจ” แต่ไม่ใช่ความมั่นใจในตัวเอง หากแต่เป็นความมั่นใจในพระสัญญาของพระเจ้าฉะนั้นถ้าเราแปลข้อนี้ว่า“…อย่าละทิ้งความมั่นใจของท่าน” โดยไม่มีคำขยายความก็จะมีจุดอ่อนคือมีแนวโน้มนำผู้อ่านเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความหมายตามบริบท เพราะอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นความมั่นใจในตัวเองแทนที่จะเป็นความมั่นใจในพระเจ้าหรือในพระสัญญาของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ คำแปลว่า “ความไว้วางใจ”น่าจะสื่อ ความหมายได้ดีกว่า เพราะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นความวางใจในพระเจ้า ดังนั้น คำแปลของฉบับมาตรฐานจึงน่าจะเหมาะสมแล้ว คือ “…อย่าละทิ้งความไว้วางใจ…” แม้ว่าคำ παρρησίαใน ฮีบรู10:35อาจแปลออกมาได้ต่างๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่ก็ยังต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมในเชิงอรรถฉบับศึกษาเพื่อขยายความให้เข้าใจชัดเจนแก่ผู้อ่าน อย่าลืมว่าπαρρησίαเป็นของล้ำค่า หากละทิ้งแล้วก็จะทำให้ขาดบำเหน็จ 8 การแปลเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ดังนั้นผู้แปลจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะแปลความตั้งใจของผู้เขียนพระคัมภีร์ออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแปลมีขีดจำกัด ไม่ว่าจะในเรื่องภาษาเดิมของพระคัมภีร์หรือภาษาไทย ตลอดจนถึงความเข้าใจภูมิหลังของพระคัมภีร์ ดังนั้นผู้รู้บางท่านบอกว่า“การแปลคือการทรยศ” หมายความว่าแปลเป็นการตีความและอาจตีความเบี่ยงเบนไปจากความตั้งใจของผู้เขียนโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ดีที่สุดคือไม่ต้องแปล แต่ถ้าไม่แปลแล้วก็ยากที่คนไทยจะอ่านพระคัมภีร์ในภาษาเดิมให้เข้าใจได้ดังนั้นการแปลจึงยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
เชิงอรรถท้ายเรื่อง
1 แต่หากเราปรับเปลี่ยนคำใหม่ว่าลูกสาวมั่นใจในความรักของแม่เสมอ แต่เวลานี้เธอไม่มั่นใจในความสามารถของแม่ว่าจะรับเธอได้ นั่นก็จะทำให้เห็นว่าลูกสาวมีทั้งความมั่นใจและความไม่มั่นใจในเวลาเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะพบว่า
1.ความรักต่างจากความสามารถ
2.“วางใจ” กับ “มั่นใจ” ไม่ได้ต่างกันในบริบทที่กำหนดขึ้นนี้เมื่อเราเปรียบเทียบสองประโยคคือ
ก. ลูกสาววางใจในความรักของแม่ และ ข.ลูกสาวมั่นใจในความรักของแม่
2 ยกตัวอย่าง เรื่องการคืนพระชนม์ของพระเยซู พระองค์ตรัสทำนายการสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์กับพวกสาวกล่วงหน้า(มธ.20:18-19) แต่เมื่อพวกอัครทูตได้ฟังคำพยานของพวกผู้หญิงว่าพระองค์ทรงเป็นขึ้นจากตายแล้ว พวกเขากลับไม่เชื่อแต่เห็นเป็นเรื่องเหลวไหล (ลก.24:11) เปโตรและยอห์นวิ่งไปที่อุโมงค์ฝังศพ เปโตรไปถึงทีหลังแต่เข้าไปข้างในอุโมงค์ก่อน เขาเห็นผ้าป่านวางอยู่ แต่ผ้าพันพระเศียรพับไว้ต่างหาก ยอหน์ เข้าไปทีหลังก็เห็นเช่นกันและเชื่อ (ยน.20:4-8) ต่อมาพระเยซูทรงปรากฏแก่พวกสาวกในค่ำวันอาทิตย์
หนึ่งและให้พวกเขาดูพระหัตถ์และสีข้างของพระองค์ พวกเขาจึงเชื่อและยินดี(ยน.20:20) พวกสาวกบอกโธมัส แต่เขาไม่เชื่อจนพระเยซูมาปรากฏและให้โธมัสพิสูจน์เขาจึงเชื่อและวางใจพระองค์ (ยน.20:24-28) พระเยซูตรัสว่า “เพราะท่านเห็นเรา ท่านจึงเชื่อหรือ? คนที่ไม่เห็นเราแต่เชื่อก็เป็นสุข” (ยน.20:29) จากเรื่องราวข้างต้น เราพบว่า การเห็นหรือมีประสบการณ์ตรงนำไปสู่ความเชื่อหรือความมั่นใจและสู่ความวางใจ อย่างไรก็ดีพระเยซูตรัสว่าคนที่ไม่เห็นแต่ (ได้ยินเรื่องราวพระองค์และ) เชื่อก็เป็นสุข นั่นหมายความว่า คนที่ไม่ได้เห็นแต่ได้ยินและเชื่อก็เป็นสุขด้วยเหตุนี้อัครทูตยอหน์จึงบันทึกพระกิตติคุณเพื่อให้คนอ่านคนฟังมีความเชื่อและได้รับชีวิตนิรันดร์ (ยน.20:31) ดังนั้นจากพระคัมภีร์ข้างต้น เราพบว่า 1.การเห็นทำให้เชื่อหรือมั่นใจในคำตรัสของพระคริสต์ว่าเป็นความจริง 2. การไม่ได้เห็นแต่ได้ยินได้ฟังคำพยาน
ก็ทำให้เชื่อหรือมั่นใจได้เช่นกัน ดัง รม.10:17 ว่า “ฉะนั้นความเชื่อเกิดขึ้นได้ก็เพราะการได้ยิน และการได้ยินเกิดขึ้นได้ก็เพราะการประกาศพระคริสต์”
3. ยกตัวอย่าง คนโรคเรื้อนสิบคนที่มาขอให้พระเยซูรักษาพวกเขา คนเหล่านั้นน่าจะไม่เคยพบหรือมีประสบการณ์กับพระองค์มาก่อนพวกเขามีความเชื่อและความวางใจพระองค์ ดังนั้น จึงกล้าทำตามคำสั่งของพระองค์โดยการไปปรากฏตัวต่อหน้าปุโรหิต ขณะเดินไป พวกเขาก็หายสะอาด (ลก.17:11-19)
4.ได้แก่ มก.8:32; ยน.7:4,13,26; 10:24; 11:14,54;16:25,29; 18:20; กจ.2:29; 4:13,29,31; 28:31; 2 คร.3:12; 7:4; อฟ.3:12; 6:19; ฟป.1:20; คส.2:15; 1 ทธ.3:13; ฟม.8; ฮบ.3:6; 4:16; 10:19,35; 1 ยน.2:28; 3:21; 4:17; 5:14
5. Thayer, Joseph Henry. “A Greek-English Lexicon of the New Testament”
6. เนื้อหามีลักษณะเหมือนการรวมคำเทศนาเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนมากกว่าลักษณะของจดหมาย ทั้งนี้เพราะพระธรรมฮีบรูไม่มีหัวจดหมาย แม้จะมีคำลงท้ายแบบจดหมายก็ตาม นอกจากนั้น เนื้อหาเป็นการบรรยายว่าพระเยซูทรงเป็นช่องทางที่พระเจ้าตรัสกับประชากรของพระองค์ในวาระสุดท้าย และทรงเป็นหนทางเดียวที่จะให้มนุษย์เข้าถึงพระเจ้าได้ และยังเปรียบเทียบพระเยซูกับทูตสวรรค์ กับโมเสส กับมหาปุโรหิต และกับระบบการถวายสัตวบูชา เพื่อให้ผู้อ่านสมัยแรกคือคริสตชนยิวมองเห็นว่าพระเยซูทรงสมควรอย่างยิ่งแก่การยอมรับการไว้วางใจ และ การภักดีของพวกเขาจนถึงที่สุด
7. ฮบ.3:6 “แต่พระคริสต์นั้นทรงซื่อสัตย์ในฐานะพระบุตร ผู้อยู่เหนือชุมชนของพระเจ้า และเราก็เป็นชุมชนนั้น หากเพียงแต่เราจะยึดความมั่นใจและความภูมิใจในความหวังนั้นไว้” ฮบ.4:16 “ฉะนั้นขอให้เราเข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณด้วยความกล้า เพื่อเราจะได้รับพระเมตตา”
ฮบ.10:19 “เพราะฉะนั้น พี่น้องทั้งหลาย เมื่อเรามีใจกล้าที่จะเข้าไปในสถานศักดิ์สิทธิ์โดยพระโลหิตของพระเยซู” ฮบ.10:35 “เพราะฉะนั้นอย่าละทิ้งความไว้วางใจของท่าน อันจะนำมาซึ่งบำเหน็จยิ่งใหญ่”
จากข้อพระคัมภีร์ทั้ง4 ตอนนี้เราพอสรุปได้ว่า
ก. คำกรีก παρρησίαที่ใช้ในพระธรรมฮีบรูล้วนเกี่ยวกับท่าทีในใจเกี่ยวกับความไว้วางใจ ความมั่นใจ ความกล้าหาญ และความเชื่อ
ข. คำนั้น แปลออกมาอย่างไม่เสมอต้นเสมอปลายในฉบับมาตรฐาน
ค. คำกรีกคำหนึ่งอาจมเงาความหมายหลายอย่างอยู่ในตัว จึงทำให้มีคำแปลในภาษาไทยได้หลายคำเราอาจคิดว่าคำกรีกคำหนึ่งน่าจะคู่กับคำไทยคำหนึ่งเท่านั้นจะคู่กับคำไทยอื่นไม่ได้อีกแล้ว แต่ในความเป็นจริง อาจไม่ใช่ทุกกรณีก็ได้ บริบทเป็นตัวบีบรัดว่าคำกรีกนั้นน่าจะออกมาในความหมายใด ยกตัวอย่าง คำกรีก πιστεύωที่แปลว่า“วางใจ” ในยน.3:16 เป็นคำเดียวกันที่ใช้ใน ยน.3:12 ที่แปลว่า “เชื่อ” หากเราจะยืนยัน แปล ยน.3:12 ว่า “วางใจ” โดยไม่สนใจบริบท ก็จะทำให้เนื้อความแปลกๆ ดังนี้ “ถ้าเราบอกพวกท่านถึงสิ่งต่างๆ ทางฝ่ายโลกและพวกท่านไม่วางใจ แล้วท่านจะวางใจได้อย่างไร ถ้าเราบอกท่านถึงสิ่งต่างๆ ทางฝ่ายสวรรค์” เราพบว่าใน ยน.3:12 คำแปลที่ดีและเหมาะนั้นไม่ใช่ “วางใจ” แต่เป็น “เชื่อ” ต่างหาก ในทางกลับกัน ยน.3:16 แปลคำกรีกนั้นว่า “วางใจ” ก็เหมาะและดีกับบริบทมากกว่าคำ“เชื่อ” ลองพิเคราะห์วลี “เชื่อในพระบุตร” กับ “วางใจในพระบุตร” อย่างไหนเหมาะกว่ากันในบริบทข้างต้น ดังนั้น คำกรีก παρρησίαก็อาจมีคำแปลหลายอย่างแล้วแต่บริบท อาทิ ความกล้าหาญ ความมั่นใจ ความวางใจ การเปิดเผยตัวหรือความคิด เป็นต้น คำกรีก παρρησίαไม่จำเป็นต้องผูกไว้กับคำแปลเดียวว่า“ความมั่นใจ” เพราะทั้งหมดขึ้นกับบริบทนั้นๆ เป็นตัวกำหนด
ง. คำไทยหนึ่งคำก็อาจตรงกับคำกรีกมากกว่าหนึ่งคำก็เป็นได้ ยกตัวอย่าง คำว่า “ความมั่นใจ” ใน ฮบ.3:6 และ3:14 มาจากคำกรีกคนละคำกันคือ παρρησίαและ ὑπόστασιςตามลำดับ หากพิจารณาในบริบท ฮบ.3:1-6 ผู้เขียนได้เปรียบเทียบพระคริสต์กับโมเสส เพื่อผู้อ่านจะมองเห็นว่าพระคริสต์ทรงเหนือกว่าโมเสส และให้ผู้อ่านยังคงยึด παρρησία(น่าจะหมายถึงความเชื่อในพระคริสต์ หรือ ความกล้าหาญที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าทางพระคริสต์) และความภูมิใจในความหวัง (ที่จะได้ตามพระสัญญา) นั้น เพื่อผู้อ่านจะเป็นชุมนุมชนของพระเจ้า
หากพิจารณาในบริบท ฮบ.3:7-19 ผู้เขียนได้หยิบยกพระคัมภีร์เดิมมาเพื่อจะเตือนสติผู้อ่านไม่ให้มีจิตใจดื้อรั้นและไม่เชื่อฟังพระเจ้าอย่างที่บรรพบุรุษทำและถูกลงโทษไม่ให้เข้าแผ่นดินพระสัญญาเพื่อจะได้การหยุดพักสงบ หากผู้อ่านยังยึด ὑπόστασις(น่าจะหมายถึงความเชื่อที่ประกาศรับไว้แต่แรกเมื่อได้ยินข่าวประเสริฐ) อย่างมั่นคงจนถึงที่สุด เขาก็จะมีส่วนร่วมกับพระคริสต์ (อนึ่ง ὑπόστασιςปรากฏใน ฮบ.11:1 “ความเชื่อคือความมั่นใจในสิ่งที่หวังไว้ เป็นความแน่ใจในสิ่งที่มองไม่เห็น”) ในโครงสร้างประโยคภาษากรีกของ ฮบ.3:6 และ ฮบ.3:14 มีความคล้ายคลึงกันอยู่มากจนอาจทำให้คิดว่าπαρρησίαกับ ὑπόστασιςน่าจะมีความหมายอย่างเดียวกัน และนี่คือเหตุผลที่ฉบับมาตรฐานแปลออกมาเหมือนกัน
8. ในหนังสือดรุณศึกษา ชั้นประถมปีที่2 บทที่ 25 เรื่องนักบุญมาร์ตีร์สี่สิบองค์ ได้ให้แง่คิดที่ดีเกี่ยวกับการละทิ้งและการรักษา παρρησία
- อาจารย์ ปัญญา โชชัยชาญ
- ภาพ Juanmarmolejos – Freepik.com