ม้าแก่
เศรษฐีคนหนึ่งมีม้าแก่ตัวหนึ่งที่เคยใช้งานมานานปีแล้ว แต่เวลานี้มันชรามากจนทำอะไรไม่ได้ เศรษฐีจึงคิดว่า… “ม้าตัวนี้ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว ข้าจะหาม้าหนุ่มตัวใหม่มาใช้งานแทน” คิดแล้วจึงไล่ม้าแก่นั้นออกไปจากฟาร์มของเขา
ในเมืองนั้นมีพระราชาที่ทำคล้ายๆ กับพ่อขุนรามคำแหง และเปาบุ้นจิ้น คือ ทรงแขวนระฆังมีเชือกยาวไว้หน้าประตู เมื่อใดที่ประชาชนเดือดร้อนก็มาดึงระฆังร้องทุกข์ได้
วันหนึ่งพระราชาเห็นว่าเชือกเก่าแล้ว จึงรับสั่งกับคนสวนว่า “เชือกเก่าใช้ไม่ได้แล้ว เจ้าจงไปหาเชือกเส้นใหม่มาเปลี่ยน”
“พระเจ้าค่ะ” คนสวนรับพระบัญชา แต่เขาเห็นว่า ระยะหลังไม่ค่อยมีใครมาดึงเชือกร้องทุกข์เลย จึงไม่รีบร้อนไปซื้อเชือก แต่แก้ขัดไปก่อนด้วยการตัดหญ้ามาควั่นเป็นเชือกยาวสำหรับดึงระฆังแล้วกลับไปบ้าน
ส่วนเจ้าม้าแก่ที่กำลังหิวโหยเดินสอดส่ายหาหญ้ากินเป็นอาหาร เห็นหญ้าเส้นยาวที่แขวนกับระฆังก็งับเข้าปาก หมายกินให้หายหิว เป็นเหตุให้ระฆังถูกโยกสั่นดัง “ติงๆ ตังๆ”
พระราชาจึงทรงบัญชาให้มหาดเล็กออกไปดู
“ผู้ที่ตีระฆังเป็นม้าแก่ตัวหนึ่งพระเจ้าค่ะ” มหาดเล็กรายงาน
“เจ้าจงออกไปสืบดูทีว่าเป็นม้าของใคร” ทำไมมาสั่นระฆังหน้าวังข้า พระราชาพระบัญชา
จากนั้นไม่นาน มหาดเล็กก็กลับมารายงานว่า “ม้าแก่ตัวนี้เป็นม้าของเศรษฐีคนหนึ่ง แต่ตอนนี้เจ้าของไม่ต้องการมันแล้ว เพราะมันแก่เกินกว่าจะใช้งานได้แล้ว มันถูกไล่ออกมาไม่มีอะไรกิน เมื่อพบเชือกที่คนสวนทำด้วยหญ้าจึงใช้ปากงับหมายจะกิน จึงดึงเชือกจนเกิดเสียงตึงตังพระเจ้าค่ะ” มหาดเล็กรายงาน
“ถ้าอย่างนั้น ทหารจงไปตามเศรษฐีคนนั้นมาหาเราโดยด่วน และพาเจ้าม้าตัวนั้นไปกินหญ้าในสวนของเราก่อน” พระราชาทรงบัญชา
เมื่อเศรษฐีเจ้าของม้าชรามาถึง “เจ้าเป็นเจ้าของม้าชราตัวนั้นใช่หรือไม่” พระราชาทรงถาม
“ใช่ พระเจ้าค่ะ” เศรษฐีตอบ
“ทำไมเจ้าจึงไล่มันออกมา?” พระราชาตรัสถาม
เพราะว่ามันแก่เกินกว่าจะทำอะไรได้แล้วพระเจ้าค่ะ”?” เศรษฐีตอบ
“หมายความว่า ถ้ามันแก่แล้ว มันไม่ต้องกินไม่ต้องดื่มใช่ไหม?” พระราชาตรัสต่อไปด้วยความกริ้ว
“..เมื่อเจ้าแก่ตัวลงแล้ว ถ้าลูก ๆ ของเจ้าขับไล่เจ้าไปอยู่กลางถนน ให้หาอาหารน้ำกินดื่มเอง เจ้าจะพอใจไหม? ม้าตัวนี้ทำงานให้เจ้ามานานปี นับว่ามีบุญคุณต่อเจ้า ตอนนี้มันแก่ลง เจ้าน่าจะเลี้ยงดูมันมากกว่าขับไล่มันให้ไปอดตายไม่ใช่หรือ?”
เมื่อเศรษฐีได้ยินพระดำรังเช่นนั้นก็รีบก้มลงกราบทูลว่า
“พระเจ้าค่ะ…ข้าพระองค์ผิดไปแล้ว ขอทรงพระราชทานอภัยที่ข้าพระองค์ไม่ทันคิดว่ามันทั้งน่าสงสาร ทั้งหิวโหย และหนาวสั่น…ทั้งๆ ที่มันเคยเป็นม้าที่ขยันช่วยงานด้วยดีมาตลอด..ต่อไปนี้ข้าพระองค์จะดูแลมันเป็นอย่างดี”
จากนั้น เศรษฐีก็นำม้าตัวนั้นกลับไปเลี้ยงดูอย่างเช่นเคยทำมาแต่ก่อน..
ผมอ่านเรื่องเกี่ยวกับ “ม้าแก่” ตัวนี้แล้ว รู้สึกสะอึกมาถึงคอหอย!
ผมเลยถามตัวเองว่า ถ้าผมเป็นเหมือนเจ้าม้าแก่ตัวนี้บ้างล่ะ คือ หลังจากที่ตนเองได้ทำงานรับใช้ในหน้าที่อย่างสัตย์ซื่อต่อเจ้านายมาตลอดชีวิต แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับเป็นอย่างที่เจ้าม้าแก่ตัวนี้ได้รับ ผมจะรู้สึกอย่างไร? บ่อยครั้งที่คนแก่มักจะถูกคนหนุ่มสาวดูถูกทั้ง โดยเจตนาและไม่เจตนา
สาเหตุก็คงมาจากสภาพสังขารทางกายและทางสมองที่เสื่อมโทรมลงตามอายุขัย ทำให้คนชราเหล่านี้กลายเป็นปัญหาหรือภาระสำหรับคนหนุ่มสาวไป ทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกรำคาญและไม่เห็นคุณค่าของผู้อาวุโสเหล่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกคนหนุ่มสาวเอามาตรฐานทางการทำงานมาเป็นตัววัดคุณค่า คนงานชราก็จะกลายเป็นกลุ่มแรกที่ถูกหมายหัว!
เพราะเงินเดือนสูงเนื่องจากอยู่มานาน แต่ทำงานให้ไม่คุ้มในสายตาของผู้บริหารสมัยใหม่ ยิ่งถ้าคนงานชราผู้นั้นเป็นคนที่หมดความสามารถในการทำงานด้วยแล้ว ชนิดเข็นเท่าไรก็ไม่ขึ้นเหมือน “เข็นครกขึ้นภูเขา” ด้วยละก็ จะยิ่งกลายเป็นคนที่ถูกมองว่า ถ่วงความเจริญของคนอื่นและของหน่วยงานไป และก็จะถูกจัดเข้าไว้ในจำนวน “ม้าแก่” หรือ “เต่าล้านปี”
และผู้บริหารที่ถือผลงานเป็นหลักก็จะพยายามหาช่องทางกำจัด “ม้าแก่”เหล่านี้เสีย ซึ่งมีทั้งวิธีที่นุ่มนวลและวิธีทีแข็งกร้าว!
- วิธีนุ่มนวล ก็อาจจะเป็นการรอให้ “ม้าแก่” นั้นเกษียณอายุงาน ถ้าหากเห็นว่าไหนๆ ก็ใกล้ถึงเวลาเกษียณแล้ว อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการถนอมน้ำใจกันบ้าง หรืออาจจะย้าย “ม้าแก่” นั้นไปทำงานที่มีความรับผิดชอบน้อยลงก็เป็นได้!
- วิธีที่แข็งกร้าว ก็อาจจะเป็นการลดงาน ลดเงิน และลดตำแหน่งหรืออาจจะยกงานที่ “ม้าแก่” นั้นกำลังทำอยู่หรือน่าจะได้ทำให้กับ “ม้าหนุ่ม” อื่นๆ ไปทำแทน และถ้า “ม้าแก่” นั้นเกิดแสดงอาหารไม่ยอมรับหรือไม่พอใจก็อาจท้าให้ลาออกไปเสียชนิดตัดบัวไม่เหลือใยกันเลย!
อย่างไรก็ตาม คุณสมศักดิ์ ชาญศิริศักดิ์สกุล ได้ให้คำแนะนำไว้ในหนังสือ “ข้อคิดนักบริหาร” ว่า ถ้าคุณเป็นนายจ้าง และจำเป็นต้องให้พนักงาน (ซึ่งอาจชราหรือไม่ชราก็ได้) ของคุณออกจากงาน ก็ควรจะดำเนินการให้นุ่มนวล โดยพิจารณาสิ่งเหล่านี้ด้วย
- เวลาที่เหมาะสม เพราะถ้าปลดเขาออกตอนต้นปี (มกราคม) จะทำให้เขาหางานใหม่ได้ง่ายกว่าให้เขาออกในช่วงใกล้ปลายปีอย่างเดือนกันยายนหรือตุลาคมที่หางานยากกว่า
- การชดเชยที่เหมาะสม พราะครอบครัวของเขาอาจจะลำบาก ถ้าเขาไม่มีงานทำและขาดรายได้ ดังนั้น ถ้านายจ้างให้เงินชดเชยเขามากพอสมควร เขาก็จะไม่เดือดร้อนมากนัก
- การช่วยหางานใหม่ที่เหมาะสม เพราะคนเรายังต้องการมีคุณค่า และคุณค่าของคนเราอยู่ที่การมีงานทำ คงจะคล้าย ๆ กับที่ลูเซียส อันเนอุส ซีเนคา นักปราชญ์ชายโรมัน (4 ก.ค.ศ–ค.ศ 65) เคยกล่าวไว้ว่า…”ให้ข้าฯ เจ็บป่วยยังดีกว่าอยู่อย่างเรื่อยเฉื่อย”
ดังนั้น ถ้านายจ้างเก่าจะเขียนใบรับรองอย่างดีให้เขา เขาก็อาจจะหางานใหม่ได้เร็วขึ้น หรือนายจ้างเก่าอาจจะช่วยฝากฝังให้ทำงานกับเพื่อนฝูงล่วงหน้าก่อนปลดออกก็จะยิ่งดี เพราะอย่างน้อยก็ยังทิ้งความทรงจำที่ดีไว้ให้บ้าง
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็น “เจ้าของม้าแก่” หรือเป็นตัว “ม้าแก่” เองก็ล้วนแต่มีเรื่องที่ต้องขบคิดและทำใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
จะเห็นได้ว่าในเวลานี้คำว่า “ม้าแก่” ของผมเริ่มมีความหมายกว้างขึ้นกว่าเดิมแล้วนะครับ!
ในตอนแรกผมหมายถึง “คนงานแก่ (ชรา) ที่หมดเรี่ยวแรงและทำงาน (หนัก) ไม่ได้แล้ว”
ในตอนหลังผมเริ่มขยายความหมายถึง “คนงานที่ไร้ประสิทธิภาพที่ไม่จำกัดว่าเป็นคนหนุ่มสาวหรือคนแก่ที่เจ้านายต้องการปลดออก”
อนึ่งเจ้านายทั้งหลายก็มักจะมีวิธีการหลากหลายชนิดที่จะกำจัด “ม้าแก่” ให้พ้นสายตา
ลักษณะอาการต่อไปนี้อาจเป็นสัญญาณที่เตือนให้ “ม้าแก่” อย่างพวกเราตื่นตัวขึ้นบ้าง อาทิเช่น เจ้านาย
- เคยยิ้มทักทายให้ทุกวัน เดี๋ยวนี้หน้าบึ้งตึงกับเราเสอม!
- เคยทักทายเราเมื่อเดินผ่าน เดี๋ยวนี้หลีกเลี่ยงไม่เดินผ่านเรา!
- เคยชวนรับประทานอาหารด้วยกัน เดี๋ยวนี้ไม่ชวนอีกเลย!
- เคยพูดเล่นหยอกล้อกับเรา เดี๋ยวนี้ถือตัววางมาด!
- เคยอนุญาตให้เราเข้าพบทุกครั้ง เดี๋ยวนี้ไม่ให้เข้าพบอีกเลย!
- เคยเรียกปรึกษางานในโครงการต่าง ๆ เดี๋ยวนี้ไม่เคยเรียกหาอีก!
- เคยสั่งงานเราโดยตรง เดี๋ยวนี้ให้คนอื่นสั่งแทน!
- เคยให้อำนาจแก่เราในการตัดสินใจ เดี๋ยวนี้ลดอำนาจของเราลง!
แถมยังมีพฤติกรรมแปลกๆ อื่นๆ ประสมอีกเช่น
- หาผู้ช่วยให้เราโดยไม่ปรึกษาเรา! (อีกทั้งเป็นคนของเขาเองโดยตรง)
- หาเรื่องกับเราอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเป็นเรื่องมาก่อน และมักชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่อยู่เนือง ๆ!
- หาคนงานใหม่ในตำแหน่งเดียวกับเรา! ฯลฯ
ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับคุณ ก็ให้รู้เถิดว่า คุณอาจกำลังจะกลายเป็น “ม้าแก่” ตัวต่อไป และเหตุผลที่ “เจ้าของม้าแก่” มักจะยกมาอ้างก็มีหลายประการอาทิเช่น
- หน่วยงานของคุณมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับสูง–ทำให้มีการโยกย้ายตำแหน่ง แต่บังเอิญไม่มีตำแหน่งให้ “ม้าแก่” อย่างคุณลง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างคุณ
- คุณมีเงินเดือนสูงเกินไป-ทำให้ต้องหาคนอื่นที่มีค่าจ้างถูกกว่าเข้ามาทำงานแทนคุณ จึงเสียใจที่ต้องหาคนใหม่แทนคุณ
- คุณโกหกเมื่อตอนสมัครงาน เพราะเวลานี้เราพบว่า คุณสมบัติและความสามารถขอคุณที่กรอกไว้ในใบสมัครนั้นไม่ตรงกับที่คุณมีอยู่ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างคุณ
- คุณมีความสามารถไม่สอดคล้องกับที่เขาต้องการ ประกอบกับเศรษฐกิจไม่ดี แม้ว่าคุณจะมีความสามารถสูงก็ตาม ดังนั้น คุณควรจะหาที่ทำงานใหม่ที่เหมาะกับคุณ
- คุณมีปัญหาเรื่องความไม่สม่ำเสมอในการทำงาน ขาดงานบ่อย ลามาก สายเป็นประจำ ทำให้เสียระบบและระเบียบของสำนักงาน จึงสมควรพิจารณาตัวเอง
- คุณมีปัญหาเรื่องบุคลิกภาพ และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับที่ทำงาน และผู้ร่วมงาน ผลคือ สร้างความอึดอัดและความเสียหายให้กับหน่วยงานมาก จึงจำใจต้องหาคนใหม่มาทำหน้าที่แทนคุณ ฯลฯ
ถ้าเจ้านายของเราสามารถหาข้ออ้างมากมายเช่นนี้ออกมาได้แล้ว “ม้าแก่” อย่างเราจะอยู่รอดได้อย่างไร?
อย่างไรก็ตาม วันนี้ ไม่ว่าเราจะเป็น “เจ้าของม้าแก่” หรือตัว “ม้าแก่” ขอให้เรามีความเข้าใจกันและกัน
ถ้าคุณ “เป็นเจ้าของม้าแก่” คือ เป็นเจ้าของกิจการหรือธุรกิจ หรือเป็นเจ้านายและหัวหน้างาน ก็ขอให้เรามีจิตเมตตาต่อผู้ร่วมงานหรือคนงานของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนงานชรา” ภายใต้การบังคับบัญชาของเราที่เราเรียกว่า “ม้าแก่”
ขอให้เราอย่างทำอย่างเศรษฐีเจ้าของม้าแก่ ในอุทาหรณ์ตอนต้นเรื่อง ขอให้เราเลี้ยงคนงานที่สัตย์ซื่อของเราให้ดี
เหมือนกับเป็นสมาชิกในครอบครัว แม้แต่ในยามที่เขาเฒ่าชรา เพราะเขาควรได้รับรางวัลแห่งความสัตย์ซื่อและงานหนักนั้น!
และถ้าคุณเป็น “เจ้าม้าแก่” ก็ขอให้คุณจงสำรวจดูตัวเองว่า ชีวิตและงานของคุณที่ผ่านมานั้นได้สำแดงถึงความสัตย์ซื่อ และการทุ่มเทของคุณออกมาให้เห็นมากน้อยเพียงใด?
คุณสามารถพูดได้อย่างเต็มปากแล้วหรือไม่ว่า คุณได้ทำหน้าที่ของคุณอย่างดีที่สุดแล้ว?
คุณสามารถพูดได้อย่าง ไมเคิล แองเจโล สถาปนิก จิตรกร และกวีเอกของโลกชาวอิตาเลียน (ค.ศ. 1475-1564) หรือไม่ ที่กล่าวว่า “ถ้าใครได้เห็นความอุตสาหะของข้าฯ ในงานแต่ละชิ้นแล้ว ผู้นั้นจะไม่คิดว่า นั่นเป็นสิ่งมหัศจรรย์แต่ประการใด” และถ้า เป็นเช่นนั้นแล้ว คนอื่นไม่เห็นคุณค่าของตัวเรา ก็ไม่รู้จะช่วยอะไรได้แล้วจริงไหม?
ให้เราสัตย์ซื่ออยู่เสมอกับเจ้านายของเรา แม้ว่าเขาจะไม่สัตย์ซื่อกับเราก็ตามที่ อย่าให้ความไม่สัตย์ซื่อของเขา ทำลายความเป็นคนสัตย์ซื่อของเราเป็นเด็ดขาด จำไว้ว่า “เป็นหมา” (ม้า)ที่รู้จักบุญคุณคน ยังดีกว่าคนที่ไม่รู้จักบุญคุณหมา(ม้า)
กษัตริย์ดาวิดที่ยิ่งใหญ่ท้าทายให้เราเป็นคนชอบธรรมที่เปรียบเหมือนต้นอินทผลัมและต้นสนสีดาร์แห่งเลบานอน (ที่ดีที่สุด) ที่ “คนได้ปลูกมันไว้ในพระนิเวศของพระเจ้า มันเจริญขึ้นในบริเวณของพระเจ้า มันแก่แล้วก็ยังเกิดผล มันมีน้ำเลี้ยงเต็มและเขียวสดอยู่ (สดุดี 92:13-14)
แล้วชีวิตของคุณล่ะ ยิ่งแก่ยิ่งเกิดผลหรือเปล่า?
- ศาสนาจารย์ธงชัย ประดับชนานุรัตน์
- ภาพ Karlyukav – Freepik.com