รถรบ หรือ โล่?
ถาม พระธรรมสดุดี 46:8-9 ฉบับ 1971 มาเถิด มาดูพระราชกิจของพระเจ้า ว่าพระองค์ทรงกระทำให้เริศร้างในแผ่นดินโลกอย่างไร พระองค์ทรงให้สงครามสงบถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก พระองค์ทรงหักคันธนูและฟันหอกเสีย พระองค์ทรงเผารถรบเสียด้วยไฟ
พระธรรมสดุดี 46:8-9 ฉบับ Good News Bible (GNB) Come and see what the Lord has done. See what amazing things he has done on earth. He stops wars all over the world; he breaks bows, destroys spears, and sets shields on fire.
เมื่ออ่านพระธรรมสดุดี 46:8-9 ในฉบับสองภาษาคือ ไทย-อังกฤษ เปรียบเทียบกันแล้วพบคำแปลที่แตกต่างกันบางจุดคือ คำ “เริศร้าง” (ฉบับ 1971) กับ “amazing things” [สิ่งที่น่าอัศจรรย์] (ฉบับ Good News Bible) ในข้อ 8 และคำ”รถรบ”กับ “shields” [โล่] ในข้อ 9 คำถามก็คือ ทำไมคำแปลไม่ตรงกัน? และคำแปลไหนถูกต้อง? เพราะอะไร?
ตอบ เราจะพบกรณีแบบนี้อยู่เสมอๆ เมื่ออ่านพระคัมภีร์เปรียบเทียบกันระหว่างภาษาหนึ่งกับอีกภาษาหนึ่ง หรือระหว่างฉบับหนึ่งกับอีกฉบับหนึ่ง และหากเรานิยมชมชอบหรือไว้วางใจฉบับใดฉบับหนึ่ง แล้วพบฉบับอื่นมีคำแปลที่ไม่ตรงกับฉบับนั้น เราก็มักจะสรุปว่า ฉบับที่คำแปลไม่ตรงกับฉบับที่ตนชอบนั้นแปลผิด การสรุปเช่นนั้นง่ายและเร็ว แต่มีแนวโน้มสูงว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้นทางที่ปลอดภัยก็คือ ก่อนจะตัดสินอะไร ควรศึกษาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน พระเยซูตรัสว่า “อย่าพิพากษาตามที่เห็นภายนอก แต่จงพิพากษาอย่างยุติธรรมเถิด.” ยอห์น 7:24, ฉบับมาตรฐาน
จากพระธรรมสดุดี 46:8-9 ผู้ถามได้อ่านเปรียบเทียบและพบความแตกต่างในคำแปล จึงให้ข้อสังเกตและตั้งคำถาม (และอาจเป็นไปได้มากทีเดียวที่ผู้ถามมีคำตอบอยู่แล้วในใจ) ดังนั้น เพื่อให้ได้คำตอบ เราจึงมิได้ยึดฉบับภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน เป็นหลัก แต่ต้องกลับไปหาความหมายของคำนั้นๆ ในภาษาเดิมคือ ภาษาฮีบรู ว่ามีหมายความว่าอย่างไร?
ในข้อ 8 คำฮีบรูคือ Shammoth มาจากคำพื้นฐานว่า Shammah ซึ่งหมายถึง ที่ร้าง หรือ สิ่งที่น่าสะพรึงกลัว (หรือ น่าหวาดหวั่น) หรือ สิ่งอัศจรรย์ กล่าวคือสิ่งที่คนเห็นแล้วรู้สึกกลัว หรือตกใจ หรือประหลาดใจ. เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จะพบว่า พระคัมภีร์ไทยก็มิได้แปลผิดที่เลือกความหมายว่า “ที่ร้าง” และหากพิจารณาพระคัมภีร์อังกฤษฉบับอื่นๆ ในข้อนี้ เราพบว่า ส่วนมากแปลคำฮีบรู Shammah ว่า desolation ซึ่งหมายถึง การทิ้งร้างหรือความอ้างว้าง นั่นก็หมายความว่า พระเจ้าจะทรงทำให้เกิดการร้างเปล่าขึ้นบนแผ่นดินโลก อย่างไรก็ดี พระคัมภีร์ฉบับ Good News Bible แปลคำฮีบรูนี้ว่า “amazing things” [สิ่งที่น่าอัศจรรย์] ก็มิได้แปลผิดแต่อย่างใด ดังนั้นทั้งพระคัมภีร์ไทยฉบับ 1971 และพระคัมภีร์อังกฤษฉบับ Good News Bible จึงแปลถูกต้อง ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ความถูกต้องแต่อยู่ที่ความเหมาะสม นั่นก็คือ ความหมายใดจะเหมาะแก่บริบทมากกว่ากัน? หากเราพิเคราะห์ดูเนื้อความก่อนข้อ 8 และหลังข้อ 8 ก็จะพบเหตุการณ์ที่เขย่าอารมณ์ของผู้เห็นเหตุการณ์ ดังนั้นคำแปลของฉบับอังกฤษคือGood News Bible น่าจะเหมาะกว่า.
ในข้อ 9 คำฮีบรูคือ agaloth มาจากคำพื้นฐานว่า agalah มีความหมายได้สองอย่างคือ หนึ่ง รถสำหรับขนส่ง ยกตัวอย่างในพระธรรมปฐมกาล 45:19,21,27 และ 46:5 กล่าวถึง รถที่ฟาโรห์ส่งไปรับครอบครัวของโยเซฟที่คานาอัน และสอง โล่กลม ซึ่งในสมัยโบราณทำด้วยไม้และหนังสัตว์ บ่อยครั้งที่ขัดถูด้วยน้ำมันมะกอก และนี่เองคือเหตุผลที่มันติดไฟง่าย (ข้อมูลนี้ นำมาจากหนังสือ A Handbook on Psalms ของ United Bible Societies) ดังนั้น เราจึงพบว่า ทั้งพระคัมภีร์ไทยฉบับ 1971 และพระคัมภีร์ฉบับ Good News Bible แม้จะแปลคำฮีบรูเดียวกันไว้ต่างกัน คือฉบับ 1971 แปลว่า รถรบ ส่วนฉบับ Good News Bible แปลว่า shields [โล่] ต่างก็แปลถูกต้อง แต่ความหมายใดเหมาะกว่ากัน? นักวิชาการพระคัมภีร์ส่วนใหญ่เห็นว่า ความหมายว่า “โล่” น่าจะเหมาะกว่า อีกทั้งพระคัมภีร์เซปทัวจินต์ (หมายถึง พระคัมภีร์เดิมฉบับภาษากรีก) พระคัมภีร์ทาร์กุม (หมายถึง พระคัมภีร์เดิมฉบับภาษาอาราเมค) และพระคัมภีร์วัลเกต (หมายถึง พระคัมภีร์ฉบับภาษาลาติน) ก็สนับสนุนโดยแปลคำฮีบรู agaloth ในความหมายว่า “โล่”
สรุป คำฮีบรูหนึ่งคำอาจมีความหมายได้มากกว่าหนึ่งความหมายดังนั้น การที่จะตัดสินอย่างเด็ดขาดว่าคำนั้นมีความหมายใดความหมายหนึ่ง อาจทำได้ยาก หรือ ทำได้แต่ก็ไม่มั่นใจเต็มร้อย อย่างไรก็ดี โดยปกติ บริบท หรือ เนื้อความแวดล้อม จะมีส่วนช่วยกำหนดความหมายของคำนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีบางกรณีที่บริบทไม่ช่วยในเรื่องนี้ จึงทำให้มีการแปลได้หลายนัย และแต่ละนัยก็มีความหมาย ดังนั้น ในฐานะผู้ศึกษาพระคัมภีร์ เราจึงไม่ควรรีบร้อนสรุปความ หรือ ตัดสินสิ่งใดเร็วเกินไป เพราะอาจผิดพลาดได้
- อ.ปัญญา โชชัยชาญ
- ภาพ www.crosswalk.com