รู้ปัจจุบัน… เพื่อเลือกอนาคต 3/10

รู้ปัจจุบัน… เพื่อเลือกอนาคต

การกระทำและการพูดของคนมาจากการคิด ส่วนแนวทางการคิดวิธีคิด หรือความเคยชินในการคิดของคนส่วนใหญ่ได้มาจากข้อมูลและประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตที่แต่ละคนได้รับ ได้รู้ และได้สัมผัสมา ดิฉันขออนุญาตเรียกข้อมูลและประสบการณ์ต่างๆ นี้ว่า “ข้อมูลชีวิต”

ข้อมูลชีวิต
นี้มีพนักงานคนหนึ่งทำหน้าที่จัดเก็บ และจดจำไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ พนักงานคนนี้คือ สมอง สมองของเราจดจำข้อมูลชีวิตต่างๆ โดยเก็บไว้เป็นกล่องๆ ข้อมูลชีวิตข้อมูลหนึ่งก็จะถูกเก็บไว้กล่องหนึ่ง คนเราแต่ละคนมีข้อมูลชีวิตสารพัดกล่องมากน้อยตามที่ตนเองได้รับมาจากคนรอบข้างทั้งจากคนในครอบครัว และคนนอกครอบครัว ทั้งที่เป็นระบบและแบบที่เป็นไปตามธรรมชาติ

จุดสำคัญคือ กล่องข้อมูลชีวิต (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า “กล่อง”) ของเราแต่ละคนเป็นอย่างไรและไปในแนวทางไหนเราก็มีทัศนคติและวิธีคิดเป็นไปในแนวทางนั้นโดยอัตโนมัติ

ทัศนคติและวิธีคิดที่เราเก็บสะสมมาและใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่เสมอนั้นเป็นที่มาของแนวทางการคิด การพูด และการกระทำของเรา 

ด้วยเหตุที่โดยธรรมชาติแล้วสมองมีหน้าที่เก็บจำข้อมูลไว้เป็นกล่องๆ และทำให้เราอยากทำซ้ำอย่างที่เคยทำ อยากเป็นอย่างที่เคยเป็น ทำให้คนมีแนวโน้มสูงว่าแต่ละคนจะมีการพูดและการกระทำที่ซ้ำเดิมเป็นส่วนใหญ่จนเป็นความเคยชิน ซึ่งเรียกว่านิสัย  

เมื่อก่อนเราเชื่อกันว่า คนแต่ละคนมีนิสัยอย่างไรก็มักเป็นอย่างนั้นไปตลอด เปลี่ยนไม่ได้ แก้ไขอะไรไม่ได้ ใครที่มีนิสัยน่ารักก็จะน่ารักไปตลอด คนที่มีนิสัยน่าเบื่อก็คงต้องน่าเบื่อไปเรื่อยๆ ไม่มีทางปรับเปลี่ยนได้ แต่ปัจจุบันมีผลการศึกษาวิจัยพบว่า เมื่ออายุ 25 ปี ร่างกายของคนเราไม่โตขึ้นแล้ว แต่จิตใจและสติปัญญาของคนเราสามารถพัฒนาให้เติบโตงอกงามได้อย่างไม่มีข้อจำกัด หมายความว่าคนเราเคยเป็นอย่างไรมาก็ตาม หากตั้งใจเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง เขาก็สามารถเป็นแบบใหม่ได้ จุดสำคัญคือ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนคนอื่นได้คนเราสามารถเปลี่ยนได้แต่เฉพาะตนเองเท่านั้น การเปลี่ยนตนเองเป็นผลการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่มหาศาลอย่างหนึ่งทีเดียว  

พฤติกรรมของคนไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการกระทำ ล้วนมีที่มาจากการคิด คือ คิดอย่างไร ก็จะพูดไปตามแนวที่คิด คนที่เป็นคนน่าเบื่อก็คือ คนที่มีการพูด และการกระทำที่น่าเบื่อ ถ้าเรามาดูว่าการพูดและการกระทำที่น่าเบื่อมาจากการคิดแบบไหน แล้วตั้งใจเปลี่ยนไปในแบบที่น่ารักให้มากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น การพูดและการกระทำของเราก็จะเป็นไปในทางน่ารักและสร้างสรรค์เช่นเดียวกันไป เท่านี้เราก็สามารถเสริมเพิ่มเติมความเป็นคนน่ารักให้กับตนเองได้ มีแต่คนอยากคบหาสมาคมขอเล่าสู่กันฟังว่าการคิดแบบไหนนะที่ทำให้คนๆ หนึ่งกลายเป็นคนน่าเบื่อไปได้ แม้จะเป็นคนที่เรียนเก่งมากทำงานเก่งมาก หรือทำอะไรก็เก่งมาก เรามาช่วยกันค่อยๆ ดูและดีดตัวให้ห่างจากการคิดแบบนี้ให้ได้ อย่าให้การคิดแบบนี้มาติดอยู่กับบุคลิกของเรา หมั่นบังคับตัวเองให้ได้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เท่านั้น ตัวอย่างหนึ่งของการคิดที่เป็นที่มาของการพูดที่น่าเบื่อคือ การคิดแบบโต้แย้ง 

การคิดแบบโต้แย้งทำให้เป็นคนน่าเบื่อเพราะเป็นการคิดหาจุดอ่อนมาคัดง้างการพูดของคนอื่นในทำนองที่ว่า “ที่คุณคิดนั้นอาจจะผิดก็ได้ ความจริงอาจเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่อย่างที่คุณคิด” 

คนที่เคยชินกับการคิดแบบโต้แย้งจะสามารถหาข้อคัดค้านมาล้มการพูดและการคิดของคนอื่นได้อย่างคล่องแคล่ว และรวดเร็ว โดยแทบไม่ต้องใช้เวลาคิดเลย บางครั้งดูเหมือนจะเป็นมุขตลก ซึ่งคนที่ฝึกตนให้มีความคิดสร้างสรรค์จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอย่างมาก เพราะคนที่มีมุขเช่นนี้มักคิดสร้างสรรค์ไม่ค่อยออก

ตัวอย่าง การพูดจากการคิดแบบโต้แย้ง
ตัวอย่างที่ 1
คนพูด : ดูซิ คนจัดดอกไม้นี่มีความคิดสร้างสรรค์มากเลยนะเอาดอกอะไร ใบอะไรแปลกๆ มาจัดรวมกันแล้วดูดี๊ดีได้
คนแย้ง : คนจัดอาจจะไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์อะไรเลยก็ได้อาจจะมีคนบอกให้เขาจัดแบบโน้น แบบนี้ คนจัดก็อาจจะแค่เสียบๆ ไปตามที่เขาบอกมาเท่านั้นเองก็ได้
ตัวย่างที่ 2
คนพูด : เสื้อสวยจังเลยค่ะ
คนแย้ง : สวยแต่เสื้อ แล้วคนใส่ขี้เหร่หรือไง
ตัวอย่างที่ 3
คนพูด : วันนี้คุณพรีเซ้นท์งานได้ดีมาก
คนแย้ง : แปลว่าวันอื่นไม่ได้เรื่องใช่มั้ย

เราทุกคนได้ทักษะการคิดแบบโต้แย้งมาจากระบบการศึกษา โดยผ่านกระบวนการหลายส่วน และส่วนที่มีอิทธิพลซึ่งหล่อหลอมคนที่ผ่านระบบการศึกษาเดียวกันมาให้มีการคิดแบบโต้แย้งเหมือนกันหมด คือ การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

ตัวอย่างคือ การใช้ข้อสอบแบบปรนัยที่มี 4 ข้อ หรือ 4 Choice โดยมีคำตอบที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสมอยู่ 3 ตัวเลือก วิธีทำข้อสอบอย่างมีเหตุผลก็คือ เมื่ออ่านโจทย์เสร็จหนึ่งข้อ เราจะอ่านตัวเลือกทั้ง 4 ข้อ และตัดข้อที่ไม่ถูกต้องหรือข้อที่มีจุดอ่อนออกไปทีละข้อจนหมด 3 ข้อ และเลือกตอบข้อที่เหลือว่าเป็นข้อที่ถูกต้อง

การทำข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือก 1 ข้อเราได้ฝึกหาข้อบกพร่องจุดอ่อน และข้อผิดพลาด 3 ครั้ง คนๆ หนึ่งกว่าจะเรียนจบมาจนถึงทุกวันนี้ได้ทำข้อสอบปรนัย 4 ตัวเลือกมากี่ข้อ ลองเอา 3 คูณเข้าไป เราจะพบว่าเราได้ฝึกมองข้อบกพร่อง จุดอ่อน ข้อผิดพลาดของสิ่งต่างๆ มามากมายจนคล่อง จนเคยชิน จนแทรกเข้ามาอยู่ในการคิดของเราทุกคน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยว่า เราทุกคนมีการคิดแบบโต้แย้งติดตัวกันมาทุกคนมากบ้างน้อยบ้าง ถ้าเราไม่คุมใจและคุมปากของตนเอง เราแทบทุกคนสามารถหาจุดที่จะตำหนิ ติเตียน โต้แย้ง หรือวิจารณ์ใครได้อย่างง่ายดาย แทบไม่ต้องใช้เวลาคิด เพราะเราฝึกมาจนชำนาญจากการทำข้อสอบแบบเดียวกันนี้

ประเด็นที่ยกมา ณ ที่นี้ คือ ถ้าเราเผลอนำมาใช้คัดง้างโต้แย้งคนอื่นอย่างสะใจ เราจะเป็นคนน่าเบื่อ โดยไม่ทันรู้ตัว ให้ความรู้สึกไม่ดีแก่ผู้คน ไม่ต่างกันกับไปขัดขาคนให้ถลาเสียหลักเล่นๆ แล้วเราขำที่ได้เห็นถ้าเลี่ยงได้ก็จะปิดช่องของการมีความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่นได้ แล้วหันมาตั้งใจฟังคนรอบข้างให้มากๆ ฟังจนจบ เข้าใจสิ่งที่เขาพูดอย่างที่เขาอยากให้เราเข้าใจ เห็นภาพเดียวกับที่เขาอยากให้เราเห็น แค่นี้ความน่ารักก็เพิ่มพูนได้อย่างน่าชื่นใจค่ะ

  • อ.รัศมี ธันยธร
  • ภาพ Ijeab – Freepik.com