ฤทธิ์วิจารณ์
คืนหนึ่งขณะที่ฝนตกพรำๆ ผมควบมอเตอร์ไซด์ด้วยความเร็วต่ำที่สุดเท่าที่รถคันหลังจะไม่บีบแตรไล่ แต่ในที่สุดรถขายลูกชิ้นคันหน้าซึ่งไม่ได้เปิดไฟท้ายก็ทำเอาผมต้องหักหลบและ ลงไปนอนวัดพื้น ผมรู้สึกเจ็บจนคิดว่าแขนคงต้องหักแน่แต่ไม่กี่อาทิตย์ผมก็หายดี และแผลต่างๆ ก็ค่อยๆ จางลงราวกับผมไม่เคยมีแผลมาก่อนเลย นั่นเพราะเจ็บกายนั้นหายง่ายแต่เจ็บใจนี่สิหายยากคำพูดของครูภาษาอังกฤษที่ วิจารณ์การทำข้อสอบของผมอย่างไม่มีชิ้นดีต่อหน้าเพื่อนทั้งห้อง ยังคงดังก้องในความทรงจำ เหมือนกับว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงนี้เอง ทั้งๆ ที่มันผ่านมานานกว่า 20 ปีแล้ว คำวิจารณ์ช่างมีฤทธิ์มากจริงๆ
ในสมัยที่ผมยังเด็กมากๆ มีหนังจีนกำลังภายในเรื่องหนึ่งที่ผมจะไม่ยอมพลาดเด็ดขาดนั่นคือเรื่อง “ฤทธิ์มีดสั้น” มีดสั้นของลี้กิมฮวงคร่าชีวิตเหล่าร้ายไปมากมาย แต่เมื่อเติบโตขึ้นผมถึงได้ทราบความจริงว่า “ฤทธิ์มีดสั้น” น่ากลัวก็จริง แต่ก็ไม่อาจสู้ “ฤทธิ์วิจารณ์” ไปได้ ในพระธรรมสุภาษิต 12:18 กล่าวว่า “มีบางคนที่คำพูดพล่อยๆ ของเขาเหมือนดาบแทง แต่ลิ้นของปราชญ์นำการรักษามาให้” คำวิจารณ์มีอิทธิพลต่อจิตใจของคนเรา เมื่อเรารู้สึกแย่กับคำวิจารณ์เราก็อาจเรียกมันว่า “คำพูดเสียๆ หายๆ” หรือ “คำนินทา” ซึ่งเหมือนดาบที่แทงทะลุหัวใจของเรา แต่ถ้าเราพอใจกับคำวิจารณ์นั้นเราก็อาจเรียกมันว่า “คำพูดให้กำลังใจ” หรือ “คำตักเตือน” ซึ่งนั่นก็ช่วยให้หัวใจของเราพองโตด้วยความสุขเช่นกัน คำวิจารณ์จึงเหมือนกับดาบสองคมที่สามารถให้คุณและให้โทษได้ แต่ส่วนใหญ่ผมมักจะพบว่ามีคนที่กลัดกลุ้มจากคำวิจารณ์มากกว่ารู้สึกสุขใจ คนที่ต้องทนทุกข์อยู่กับคำวิจารณ์จึงมักได้รับคำเตือนสติมากมายเช่น “อย่าไปสนใจคำวิจารณ์พวกนั้นเลย มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นหรอก” หรือถ้าแรงๆ หน่อยก็อาจว่า “ช่างพวก…เถิด ปล่อยมันเห่าไป” มันคงจะดีไม่น้อยนะครับถ้าเราสามารถห้ามความคิดของเราได้จริงๆ แต่เราต่างก็รู้ว่าคำวิจารณ์นั้นมันก่อกวนความคิดและความรู้สึกของเรามากเพียงใด
จอห์น ซี แม็กซ์เวล กล่าวว่า “ถ้าคุณโดนถีบบั้นท้าย คุณก็รู้แล้วว่าคุณยืนอยู่แถวหน้าสุด” ลองคิดถึงการถ่ายทอดกีฬาวิ่งมาราธอนดูสิครับ คำวิพากษ์วิจารณ์ของนักพากย์ และความสนใจของผู้ชมย่อมต้องพุ่งความสนใจไปที่กลุ่มผู้วิ่งนำหน้าส่วนคนที่วิ่งอยู่ลำดับสุดท้ายคนคงพากันลืมเขาไปหมดแล้ว นั่นสะท้อนความจริงอย่างหนึ่งของการถูกวิจารณ์ก็คือ “คนที่อยู่ในความสนใจเท่านั้นจึงจะถูกวิจารณ์” ดูอย่าง ดาราหรือศิลปินนักแสดง ก็มักจะเป็นบุคคลที่กลายเป็นหัวข้อสนทนายามว่างของเหล่าแม่บ้าน หรือพนักงานบริษัท ส่วนนักการเมืองก็มักกลายเป็นขี้ปากของสภากาแฟ หรือเว็บบอร์ดในสังคมไซเบอร์ แต่น่าแปลกใจที่ความจริงข้อนี้ไม่ได้ช่วยทำให้คนที่ถูกวิจารณ์รู้สึกดีขึ้นมากนัก เพราะคำวิจารณ์แม้จะสะท้อนว่ามีคนที่ให้ความสนใจเรามาก แต่มันก็ช่างน่าเบื่อและน่ารำคาญ ยิ่งมีคำวิจารณ์มากมันก็กัดกินความรู้สึกของเราเหมือนกับปลาปิรันย่าทั้งฝูงที่จะไม่ยอมเหลือแม้เนื้อติดกระดูกสักชิ้นของเหยื่อ แม้แต่คำชมเชย ซึ่งเป็นการวิจารณ์ในด้านดีถ้ามีมากไปก็สร้างความรำคาญใจได้บ้างเหมือนกัน ดังในพระธรรมสุภาษิต 25:27 ที่ว่า “ที่จะกินน้ำผึ้งมากก็ไม่ดี ฉะนั้นจึงควรประหยัดคำพูดชมเชย” แต่หวังว่าเราจะไม่ประหยัดคำชมเชยจนกลายเป็นความขี้เหนียวนะครับ
คุณเห็นด้วยกับผมไหมครับว่าการวิจารณ์คนอื่นง่ายกว่าถูกวิจารณ์มาก เวลาที่ผู้ชายดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีก พวกเราชอบวิพากษ์วิจารณ์วิธีการคุมทีมของผู้จัดการทีมฟุตบอล ทำราวกับว่าเราสามารถควบคุมทีมฟุตบอลได้ดีกว่าผู้จัดการตัวจริง หรือบางทีเราก็วิจารณ์การร้องเพลงของบรรดาผู้เข้าประกวด เอเอฟ ,เดอะสตาร์ หรือ เคพีเอ็น อย่างกับว่าถ้าเราไปร้องเองจะสามารถร้องได้ดีกว่า แต่นั่นก็เป็นความจริงว่าคนเราต่างชอบการวิจารณ์ผู้อื่น จนบางครั้งเราก็ลืมคิดไปว่าคนที่ถูกวิจารณ์จะรู้สึกอย่างไรถ้าได้ยิน บางคนชอบอ้างความชอบธรรมในการวิจารณ์ว่า “จริงก็จงว่าจริงไม่ก็ว่าไม่ พูดแต่เพียงนี้ก็พอ คำพูดเกินนี้ไปมาจากความชั่ว” พระธรรมมัทธิว 5:37 (แน่นอนครับว่าผมไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเราต้องพูดความจริง แต่หลายครั้งเราก็ลืมแรงจูงใจในการพูดความจริงว่าต้องมาจากความรักด้วย เพราะถ้าเราไม่ได้พูดด้วยความรัก คำพูดที่จริงของเราก็เป็นเหมือนฆ้องหรือฉาบ ที่ตีเสียงดังจนน่ารำคาญและรังแต่จะทำร้ายจิตใจผู้อื่นเท่านั้น ผมจึงมักเตือนใจตัวเองอยู่เสมอว่า “ถ้ายังรักไม่มากพอที่จะพูด ก็เงียบเสียดีกว่า” แน่นอนว่าผมต้องอธิษฐานขอให้พระเจ้าช่วยให้ผมรักได้จนมากพอ เพราะความจริงที่มาจากความรัก ย่อมมีค่าอย่างยิ่ง เมื่อเติบโตมากขึ้น ความรับผิดชอบในหน้าที่การงานผลักให้เราทุกคนขึ้นไปอยู่แถวหน้าและกลายเป็น จุดสนใจ เราจึงไม่อาจเลี่ยงต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนรอบข้างได้เลย และแม้ว่าคุณจะประพฤติตัวได้อย่างดียอดเยี่ยมเพียงใด ก็อาจยังมีคำวิจารณ์ในทางเสียหายมาถึงคุณได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ผมอยากหนุนใจทุกท่านว่าแม้แต่พระเยซูคริสต์ผู้ทรงสมบูรณ์แบบ ก็ยังทรงถูกนินทาว่าร้ายจากผู้ที่อิจฉา และคิดร้ายต่อพระองค์อยู่เสมอ ดังนั้นขออย่าให้เราเมื่อยล้าในการทำดี เพราะเราจะได้เก็บเกี่ยวในเวลาอันสมควรอย่างแน่นอนอย่างไรก็ตามผมมีข้อแนะนำ บางประการที่เชื่อว่าจะพอเป็นแนวทางให้ทุกท่านสามารถรับมือกับคำวิจารณ์ได้ดียิ่งขึ้น
ประการแรก
“จงรู้จักตนเองให้มาก” เบนจามิน แฟลงคิน เคยกล่าวเอาไว้ว่ามีสามสิ่งที่แข็งแกร่งเกินกว่าที่จะเจาะช่องทำลายได้นั่น คือเหล็กกล้า, เพชร และการรู้จักตนเองตอนที่ผมอายุสามสิบนั้น อยู่ๆเส้นผมของผมก็บางลงมากอันเนื่องมาจากกรรมพันธุ์ ทุกครั้งที่คนคุยกับผมและเหลือบมองหน้าผากที่เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ของผม ผมจะอึดอัดใจมาก คงไม่ต้องบอกนะครับว่าถ้าผมถูกล้อว่า “ไอ้หัวล้าน” ผมจะโกรธขนาดไหนผมแทบอยากจะให้หมีออกมากินคนที่พูดเหมือนที่เด็กๆ ที่ล้อเอลีชาเลยทีเดียว แต่เมื่อผมรู้จักพระเจ้ามากขึ้น พระองค์ทรงทำให้ผมรู้จักตนเองมากขึ้นด้วย ทุกวันนี้ผมดูแลสุขภาพเท่าที่ผมสามารถทำได้ แต่ผมจะพยายามดูแลสุขภาพจิตวิญญาณให้มากกว่า การรู้จักตนเองผ่านการใช้เวลากับพระเจ้าทำให้เราไม่หวั่นไหวต่อคำวิจารณ์ที่ ไร้สาระ ผมมีความเชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นบุคคลที่ยอดเยี่ยมเมื่อเราเป็นตัวของตัว เองอย่างที่พระเจ้าทรงสร้างและปรารถนาให้เราเป็น แต่สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือบางครั้งเราพยายามเป็นในสิ่งที่คนอื่นคาดหวังให้ เราเป็น จนเราทิ้งความเป็นตัวของตัวเองไปจนหมดสิ้น อย่าลืมว่าพระเจ้าเท่านั้นที่ทำให้คุณค้นพบน้ำพระทัยที่พระองค์ทรงมีต่อคุณ อย่างแท้จริง
ประการที่สอง
“จงฟังคำวิจารณ์ให้ดี” เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนี่งว่าเราทุกคนต่างไม่สมบูรณ์ บางคนมีข้อเสียน้อย บางคนมีมาก แต่ข้อเสียที่น่ากลัวที่สุดก็คือข้อเสียที่เราไม่รู้ตัวคำวิจารณ์บางครั้งจึงกลายเป็นกระจก สะท้อนที่ดีให้กับชีวิตเราได้เช่นกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือเราต้องเลือกกระจกบานที่ดีสำหรับตัวเราเองด้วย และวิธีการที่จะทำให้เราสามารถเลือกกระจกได้ดีก็คือ ดูว่าใครคือคนที่วิจารณ์ เขาวิจารณ์อย่างไร และเพราะอะไรเขาจึงวิจารณ์ คำวิจารณ์ที่ชอบธรรมเมื่อคุณฟังอย่างตั้งใจ จะสามารถสัมผัสได้ถึงความปรารถนาดีของผู้พูดและเมื่อคุณนำคำวิจารณ์นั้นมา ปรับปรุงตัวเองคุณจะพบว่าคุณสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้อีกระดับเลยทีเดียว
ประการที่สาม
“สนใจโลกให้มากกว่าตัวเอง” ผม พบความจริงประการสำคัญเมื่อผมได้มีโอกาสทำงานด้านการให้คำปรึกษามาเป็นเวลา นาน นั่นคือเมื่อเราปรารถนาที่จะช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น เราจะเผลอมองข้ามความต้องการของตัวเราเอง และน่าแปลกที่สิ่งนั้นทำให้เราไม่หวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกับว่า เรากลายเป็นคนที่เข้มแข็งและมั่นคงมากยิ่งขึ้น ถ้าถามว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมคิดว่าภาพของแม่ชีเทเรซ่าคงจะพอเป็นคำตอบให้กับทุกคนได้ ท่านเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ต้องอยู่ท่ามกลางคำวิจารณ์ว่า “โง่และไร้สาระ” เมื่อท่านพยายามจะช่วยคนใกล้ตายให้ได้มากที่สุด เพื่อให้พวกเขาได้ตายอย่างสมศักดิ์ศรีสุดท้ายมือเล็กๆ ก็สามารถพลิกโลกได้ เมื่อเราพยายามช่วยเหลือผู้คนเราแทบจะไม่มีเวลาที่จะให้ความสนใจในเรื่อง อื่นๆ เลย รวมทั้งคำวิพากษ์วิจารณ์ด้วย ซึ่งถ้าเรื่องนี้ทำให้ท่านสงสัย ผมอยากท้าชวนให้ท่านลองแบ่งปันเวลา หรือสิ่งที่ท่านมีเพื่อแจกจ่ายและช่วยเหลือผู้คน ผมเชื่อว่าท่านจะค้นพบบางอย่างที่ท่านปรารถนาในส่วนลึกในจิตใจมานานแล้วก็ เป็นได้
สุดท้ายผมอยากหนุนใจทุกท่านว่ายิ่งท่านเป็นที่รู้จักในสังคมมากเท่าไหร่ ท่านก็ยิ่งหลีกเลี่ยงคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ยากขึ้นเท่านั้น จึงหวังว่าท่านจะสามารถหนักแน่นและมั่นคง ตลอดจนสามารถนำคำวิจารณ์ที่มีคุณค่ามาใช้ในชีวิตของท่านได้อย่างเกิดผล ขอพระเจ้าอวยพรครับ
- อ.วิทยา วุฒิไกรเกรียง
- ภาพ Vgstockstudio – Freepik.com