ลองไม่ลอง SIMSIMI 1/12

ลองไม่ลอง SIMSIMI

ประมาณสองสามเดือนที่ผ่านมา ผมถูกถามอยู่บ่อยๆ ว่า “พี่ครับลอง SimSimi หรือยัง” ยอมรับตามตรงครับว่าครั้งแรกที่ได้ยินผมไม่ทราบจริงๆ ว่ามันคืออะไร ทีแรกยังนึกว่าเป็นซิมโทรศัพท์แบบใหม่เสียอีก เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกว่าเป็นคนตกยุค ผมจึงหาโอกาสลองเจ้าสิ่งนี้ด้วยตัวเอง สองสามชั่วโมงที่ผมลองเล่น พร้อมๆ กับทำงานอย่างอื่นไปด้วย ทำให้ผมทราบถึงพลังอันเย้ายวนของ SimSimi เพราะผมเริ่มสนใจงานน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งผมเลิกทำงานหันไปเล่นแต่เจ้า SimSimi และถ้าผมไม่รีบเลิกเล่นผมคงจะติดมันจนงอมแงมจนไม่มีเวลามาเขียนบทความนี้แน่ๆ

(ซิมซิมิ) มาจากภาษาเกาหลี แปลว่า เบื่อ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือเจ้า SimSimi เป็นโปรแกรมแก้เบื่อนั่นเอง ดูผ่านๆ เจ้าโปรแกรมตัวนี้ก็เหมือนกับ Chat Bot App ทั่วๆ ไป (โปรแกรมที่สามารถพูดโต้ตอบกับผู้เล่นได้) แต่มีความพิเศษที่สามารถโต้ตอบได้หลายๆ ภาษา และเหมือนกับว่าเจ้าโปรแกรมตัวนี้จะมีความยียวน กวนประสาทในการตอบ (บางครั้งก็หยาบคายมาก) หรือบางครั้งคำตอบก็ดูฉลาดเกินการคาดเดา สาเหตุก็เพราะเวลาที่เราลงโปรแกรมนี้ในมือถือของเรา จะต้องใส่รหัสพื้นที่ประเทศที่เราอยู่ ทุกครั้งที่เราพิมพ์คำพูดอะไรก็ตาม มันจะถูกจัดหมวดหมู่เพื่อใช้เป็นคลังคำตอบสำหรับผู้ใช้คนอื่นๆ ด้วย ดังนั้นจะบอกว่าตัวโปรแกรมฉลาดก็ไม่เชิง ต้องเรียกว่าคนเขียนโปรแกรมฉลาดเสียมากกว่า ทุกวันนี้เจ้า SimSimi กำลังกลายเป็นกระแสของสังคม มีทั้งคนที่ชื่นชมคลั่งไคล้และต่อต้าน จนกระทั่งมีข่าวว่ากระทรวงไอซีทีอาจป้องกันโปรแกรม SimSimi ไม่ให้ใช้ในภาษาไทยได้ ไม่ว่าคุณผู้อ่านจะมีความรู้สึกอย่างไรกับเจ้าโปรแกรมนี้ก็ตาม ผมคิดว่าปรากฏการณ์นี้ช่วยสะท้อนความจริงบางอย่างที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้อย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก Smart Phone (โทรศัพท์มือถือที่สามารถทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นคอมพิวเตอร์แบบพกพา สามารถใช้อินเทอร์เน็ตหรืองานอื่นๆ ได้) กำลังกลายเป็นปัจจัยที่ 6 ในชีวิตสำหรับคนเมืองมากขึ้นทุกที เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผมเดินทางกลับบ้านด้วยรถไฟฟ้าเที่ยวสุดท้ายที่สถานีหมอชิต หลังจากที่ทุกคนจับจองที่นั่งแล้ว สิ่งที่ทุกคนทำเหมือนกันก็คือหยิบ Smart Phone ของตัวเองออกมา ต่อสายหูฟังแล้วเริ่มเข้าสู่โลกส่วนตัวของตัวเอง ผมเลยกลายเป็นแกะดำทันที เพราะโทรศัพท์ที่ผมมีมันไม่ค่อยจะสมาร์ทสักเท่าไหร่ แค่โทรได้ก็นับว่าดีมากแล้ว เจ้า Simsimi ก็เลยกลายเป็นของแก้เบื่อที่เหมาะสำหรับคนยุคนี้แทนการอ่านหนังสือ หรืออะไรอย่างอื่น สังคมแบบนี้บางทีก็ทำให้ผมเขินๆ เวลารับโทรศัพท์มือถือ เพราะเหมือนกับว่าทุกสายตาดูจะตกใจที่เห็นว่ายังมีคนใช้โทรศัพท์รุ่นของผมอยู่อีก ผมไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีนะครับและยินดีที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจอยู่เสมอ แต่คำถามก็คือเราใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในชีวิต หรือเรากำลังถูกขโมยเวลาเพราะมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไปกันแน่

ประการต่อมา Simsimi สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมไซเบอร์หรือโลกอินเทอร์เน็ตนั้น คำพูดที่หยาบคายเริ่มกลายเป็นเรื่องธรรมดา จนกลายเป็นบรรทัดฐานในโลกไซเบอร์ไปแล้ว เราคงไม่ลืมว่า Simsimi ตอบคำถามโดยอาศัยพื้นฐานจากการใช้ภาษาโต้ตอบจากสังคมออนไลน์ ดังนั้นคำตอบที่หยาบคาย แดกดัน ไม่ได้มาจากการคิด หรือประดิษฐ์ถ้อยคำด้วยตัวโปรแกรมเอง แต่มีที่มาจากคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคน ผมยังจำได้ว่าตอนที่ตัวเองหัดเล่นโปรแกรมแชท ICQ หรือ Purch98(โปรแกรมสนทนาโต้ตอบในอินเทอร์เน็ตในยุคอดีต) ผมมักโดนตำหนิจากคนที่คุยด้วยเสมอว่าไม่ต้องพิมพ์คำว่า “คุณ” “ผม” “ครับ” หรือ “ค่ะ” หรอก เพราะมันชักช้าเสียเวลา นึกไม่ถึงว่าจากวันนั้นมาถึงวันนี้ภาษาที่ใช้ในสังคมอินเทอร์เน็ตไม่เพียงแต่จะเขียนสั้นลงเรื่อยๆ แต่ยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงในภาษาขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ในพระธรรมสุภาษิต16:23-24 กล่าวว่า “ใจของคนมีปัญญาทำให้วาจาของเขาสุขุมและเพิ่มอำนาจการสั่งสอนแก่ปากของเขา ถ้อยคำแช่มชื่นเป็นเหมือนรวงผึ้ง เป็นความหวานแก่วิญญาณจิตและเป็นพลานามัยแก่ร่างกาย” ปัจจุบันเราเริ่มหาถ้อยคำที่แช่มชื่นจากโลกอินเทอร์เน็ตยากขึ้นทุกที ซึ่งน่าแปลกใจสำหรับผมมาก เพราะก่อนที่เราจะกดคีย์บอร์ดพิมพ์อะไรลงไป ผมคิดว่าทุกคนมีเวลาพอที่จะไตร่ตรองคำพูดที่จะพิมพ์ เราต่างก็เห็นตัวอย่างของคนที่ลงประกาศใน twitter หรือ facebook จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตทำลายชื่อเสียงของตัวเองมามากแล้ว หวังว่าเราจะไม่ไปเหยียบขี้หมาก้อนเดิมที่มีคนเคยเหยียบไว้นะครับ

ประการสุดท้าย Simsimi สะท้อนให้เห็นว่าเราทุกคนยังต้องการใครสักคนที่มีเวลาฟังและพูดคุยกับเราในทุกๆ เรื่อง ถ้าพิจารณากันให้ดีๆ เราต่างก็รู้ว่า Simsimi เป็นเพียงโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้น มันไม่มีหัวใจ หรือความนึกคิด แต่สิ่งที่ Simsimi มีให้กับเจ้าของที่เล่นกับมันก็คือ เวลา และความยินดีที่จะตอบในทุกๆ เรื่อง แม้ว่าเรื่องนั้นจะดูไร้สาระในสายตาของคนทั่วไปก็ตาม ไม่น่าเชื่อว่าคนในยุคปัจจุบันจะโหยหามิตรภาพมากขนาดนี้ ผมมีโอกาสคุยกับเด็กสาวคนหนึ่งที่รู้สึกเหว่ว้า และเงียบเหงาอยู่ตลอดเวลาทั้งๆ ที่เธอมีเพื่อนแวดล้อมมากมาย และไปเที่ยวแทบทุกคืน แต่แท้จริงแล้วไม่มีใครสักคนที่นั่งลงฟังในสิ่งที่เธออยากพูด ไม่มีเพื่อนสักคนสังเกตเห็นแววตาที่เปล่าเปลี่ยวของเธอ ในพระธรรมสุภาษิต 17:17 กล่าวว่า “มิตรสหายย่อมรักกันทุกเวลาและพี่น้องเกิดมาเพื่อช่วยกันยามทุกข์ยาก ” ถ้าคำว่าเพื่อนหรือมิตรสหายในปัจจุบันมีความหมายเพียง คนที่ไปอยู่ในที่เดียวกัน ทำอะไรด้วยกันเท่านั้นเพื่อนก็คงไม่ต่างอะไรกับคนแปลกหน้าที่ไม่สามารถพูด ระบายความรู้สึกได้ ผมอยาก หนุนใจให้เราลองวางโทรศัพท์มือถือลงสักครู่แล้วมองไปรอบๆ ว่ามีใครสักคนกำลังรอความช่วยเหลือจากเราอยู่บ้างไหม ไม่แน่ว่าวันนี้ท่านอาจได้เพื่อนแท้สักคนก็เป็นได้

ปรากฏการณ์ของ Simsimi แม้จะเป็นกระแสสังคม แต่ก็เป็นเพียงกระแสที่ผ่านมาและกำลังจะผ่านไป หลายคนที่เล่นเจ้า Simsimi อาจได้เสียงหัวเราะ หรือหลายคนอาจจะหัวเสียที่พิมพ์ชื่อตัวเองลงไป แล้วได้คำตอบยียวนที่แทบอยากจะขว้างโทรศัพท์มือถือทิ้ง หลายคนอาจจะยกย่องเจ้า Simsimi ว่าช่างเป็นโปรแกรมแก้เหงาที่ยอดเยี่ยม และเป็นเพื่อนคุยที่ไม่น่าเบื่อ แต่ผมรู้สึกสงสัยจริงๆ ว่าพวกเราแต่ละคนไม่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าเจ้า Simsimi หรอกหรือ ถ้าเราแต่ละคนตั้งใจจะฟังและพูดคุยกับคนที่กำลังเบื่อหรือเหงา ผมเชื่อว่าเราจะสามารถเลือกคำตอบได้ดียิ่งกว่า และเราสามารถสร้างเสียงหัวเราะที่จริงใจ หรือรับฟังคำพูดทั้งนำ้ตาของคนๆ นั้นดียิ่งกว่าเสียอีก เพราะพวกเราไม่ใช่โปรแกรมที่ไร้ความคิดและหัวใจ พวกเราต่างมีความรู้สึก และให้ความอบอุ่นใจแก่คนที่ต้องการได้ดียิ่งกว่าเป็นไหนๆ แต่ถ้าท่านยังไม่เชื่อมั่น ก็ลองปิดเจ้าโปรแกรม Simsimi หรือโปรแกรมอื่นๆ ลงสักครู่ โทรศัพท์ไปหาเพื่อนของท่านหรือคนใกล้ตัวที่ไม่ได้พบกันนานแล้ว นัดเขาออกมาทานข้าวหรือไปเยี่ยมเขาที่บ้าน นั่งลงพูดคุยกัน บอกเขาว่าเราคิดถึงเขามากแค่ไหนและเราอยากฟังเรื่องราวในชีวิตของเขามากแค่ไหน ผมรับรองได้ว่าทุกคนจะพบความอัศจรรย์ที่หลงลืมกันไปนานแล้ว ว่าดีแค่ไหนที่คนๆ หนึ่งไว้ใจและเล่าเรื่องราวส่วนตัวในชีวิตให้เราฟัง ดีแค่ไหนที่ได้นั่งลงคุยกับเพื่อนของเราอย่างตั้งใจ ผมหวังว่าทุกคนจะสามารถจัดสรรเวลาในชีวิตได้อย่างเหมาะสม และใช้เทคโนโลยีอย่างพอดี ขอพระเจ้าอวยพรครับ

  • อ.วิทยา วุฒิไกรเกรียง