วัยรุ่นใจยักษ์ 2/09

วัยรุ่นใจยักษ์ 

ถ้ากำลังอยากอ่านเรื่องพฤติกรรมของวัยรุ่นที่โหดเหี้ยม ชอบสร้างปัญหา ผมคงทำให้ผิดหวังแล้วล่ะครับ แต่ถ้าท่านเป็นวัยรุ่น หรือมีวัยรุ่นที่ต้องดูแล ผมมีความจริงที่อยากเล่าสู่กันฟังว่ามียักษ์อยู่ในใจของวัยรุ่นจริงๆ ยักษ์ตนนี้ถ้าท่านไม่เข้าใจมันจะกลายเป็นเหมือนทศกัณฐ์ ที่สร้างความเดือดร้อนจนกลายเป็นสงครามเหมือนในวรรณคดีรามเกียรติ์ แต่หากท่านเข้าใจและใส่ใจอย่างถูกวิธี ยักษ์ตัวนี้จะทำให้วัยรุ่นเหมือนจินนี่ ที่สามารถให้พรวิเศษแก่ชีวิตคุณได้ทีเดียว 

“อย่าให้ใครหมิ่นประมาทความอ่อนวัยของท่าน แต่จงเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ ทั้งในด้านวาจาและการประพฤติ ทั้งในด้านความรัก ความเชื่อ และความบริสุทธิ์” (1 ทธ.4:12) เป็นพระคำที่อาจารย์เปาโลฝากไว้กับวัยรุ่นที่ชื่อทิโมธี ต้องยอมรับว่านี่เป็นเรื่องจริงที่เรามักได้ยินว่าคนอายุน้อยมักถูกสบประมาทว่าไม่สามารถสร้างความสำเร็จได้ คำดูถูกที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ก็คือ “โธ่เอ๊ย พวกเด็กปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม” “อายุแค่นี้จะทำอะไรเป็น” คำพูดหมิ่นประมาทเหล่านี้จะว่าไปก็พอมีสาเหตุที่ทำให้คิดอย่างนั้นได้นั่นเพราะวัยนี้ยังมีการพัฒนาที่สมองส่วนหน้าไม่เต็มที่ ทำให้วัยรุ่นมีลักษณะนิสัยใจร้อนเมื่อเทียบกับวัยอื่นๆ เมื่อใจร้อนก็อาจไม่รอบคอบหรือมีเรื่องมีราวได้ง่าย อย่างที่เราเคยได้ยินว่าบางครั้งแค่มองหน้ากันแล้วไม่ถูกชะตา ก็ชักปืนขึ้นมายิงได้ง่ายๆ ข้อพระคำตอนนี้สะท้อนความเชื่อที่สังคมมีต่อวัยรุ่น และไม่เพียงแต่ในยุคอดีตเท่านั้นความเชื่อนี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันด้วย แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สิ่งที่วัยรุ่นทำได้ไม่เพียงแต่ไม่ให้ใครหมิ่นประมาท หรือดูถูกเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นแบบอย่างให้กับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดได้อีกด้วย และในทุกๆ ด้าน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เป็นจริงได้หากเรารู้เท่าทันและหมั่นฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ เพราะผมบอกแล้วว่าวัยรุ่นทุกคนมียักษ์อยู่ในตัวเอง ซึ่งหมายถึงพลังงานและทรัพยากรภายใน ลองคิดดูสิครับว่าวัยไหนที่มีเรี่ยวแรงมากที่สุด ขนาดที่ว่าอดนอนสามคืนก็ยังไหว (แต่ไม่แนะนำให้ทำนะครับ) วัยไหนที่มีทั้งความสามารถในการเรียนรู้แบบเด็กๆ และความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่ผสมผสานกัน ถ้าจะเปรียบไปวัยรุ่นก็เหมือนรถยนต์ที่แรงม้ามากๆ วิ่งเร็ว แต่สิ่งที่ยากก็คือการควบคุมรถคันนี้ไม่ให้ตกไหล่ทางหรือพุ่งชนรถคันอื่นเสียก่อนที่จะถึงเส้นชัย ผมจึงอยากหยิบยกข้อคิดที่วัยรุ่นและผู้ที่ใกล้ชิดวัยรุ่นจะนำไปปรับใช้ได้

ในพระคัมภีร์ตอนนี้ได้เตือนให้เราเป็นแบบอย่างแก่คนอื่นใน 5 ด้านด้วยกันและด้านต่างๆ นี้เองที่จะนำวัยรุ่นสู่ความเป็นเลิศ เป็นคนที่มีใจใหญ่ ใจยักษ์ในทางที่ดี

ด้านแรกก็คือ “แบบอย่างในเรื่องคำพูด” มีสุภาษิตหนึ่งกล่าวว่า “คำตอบนุ่มนวลช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไป แต่คำกักขฬะเร้าโทสะ” (สภษ.15:1) การจะทำได้เราจำเป็นต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องนี้เสียก่อน นั่นเพราะมีวัยรุ่นจำนวนมากเชื่อว่าการพูดเพราะเป็นการแสดงถึงความไม่สนิทสนม คนที่สนิทกันควรพูด “กู มึง” หรือ “ข้า แก” หรือคำหยาบอื่นๆ แต่ถ้าเราลองย้อนคิดดูสักหน่อยเราก็จะพบว่าคนที่เกลียดกันทุกคนก็พูดคำหยาบเหล่านี้ แต่คนที่รักเราหลายคนไม่ได้พูดคำเหล่านี้เลย เช่น เวลาที่แม่แสดงความรักกับเรา แต่ถ้าแม่ด่าเราบางทีเราถึงจะได้ยินคำว่า “กู” ออกมาบ้างก็ได้ ในสุภาษิตไทยก็ยังมีคำว่า “สำเนียงส่อภาษากิริยาส่อสกุล” ดังนั้นถ้าต้องการการยอมรับด้วยใจของคนอื่นสิ่งแรกที่เราต้องเอาชนะก็คือลิ้นของเรานั่นเอง

ด้านที่สอง “แบบอย่างในเรื่องการกระทำ” คนที่คนรังเกียจและดูถูกมากที่สุดก็คือคนที่พูดอย่างทำอย่าง เหมือนคำพูดที่ว่า “การกระทำเสียงดังกว่าคำพูด” คำพูดที่ดีทำให้คนนิยมและนึกอยากฟังสิ่งที่เราพูด อยากติดตามดูชีวิตของเรา แต่สิ่งที่เราทำจะแยกแยะระหว่างเราว่าเป็นคนจริงใจ หรือคนหน้าซื่อใจคด ความเชื่อของชาวจีนบอกว่าคำพูดมีค่าเหมือนทองคำ เพราะในอดีตไม่มีการทำสัญญาค้าขาย ดังนั้นการตกลงด้วยวาจาจึงมีความศักดิ์สิทธิ์มาก คนที่พูดอย่างทำอย่างสุดท้ายก็จะไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย ยิ่งโกหกบ่อยเท่าไรคำพูดของคนผู้นั้นก็ยิ่งลดค่าของตัวเอง

ด้านที่สาม “เป็นแบบอย่างในเรื่องความรัก” คนส่วนใหญ่มักมองว่าวัยรุ่นไม่เข้าใจความลึกซึ้งเรื่องความรัก อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ รักง่ายหน่ายเร็ว ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ก็ไม่ขึ้นอยู่กับวัยเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับทัศนคติของคนๆ นั้นเองว่าเชื่ออย่างไรหากเราสังเกตจะพบว่าเรื่องหนึ่งซึ่งสร้างความด่างพร้อยให้กับคนๆ หนึ่งได้มากที่สุดมักเป็นเรื่องความรัก เหมือนอย่างที่อดีตประธานาธิปดีสหรัฐฯ บิล คลินตัน เคยทำผิดพลาดกับลูวินสกี้ ยิ่งในสังคมตะวันออกอย่างประเทศไทย เรื่องชีวิตรักเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญมาก ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าประเทศไทยมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี แล้วคุณต้องเลือกคนสองคนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน คนหนึ่งมีภรรยาเพียงคนเดียว แต่อีกคนมีภรรยาน้อยมากมาย คุณจะเลือกใครมาเป็นผู้นำประเทศ ในเรื่องนี้ผมอยากแนะนำให้เราระวังในการเลือกเสพสื่อต่างๆ เพราะมันจะกลายเป็นค่านิยมติดตัวเราได้ในอนาคต

ด้านที่สี่ “เป็นแบบอย่างในเรื่องความเชื่อ” อะไรคือแก่นแท้ความเชื่อในชีวิตของเราสิ่งนั้นจะสะท้อนออกมาในการกระทำของเราด้วย เช่น ถ้าเราเชื่อว่า เงินคือพระเจ้า แม้เราจะพยายามซื่อสัตย์ แต่ความเชื่อนี้จะล่อใจเราให้คดโกง รวมไปถึงเลือกให้เกียรติเฉพาะคนที่มีฐานะดีเท่านั้น แต่หากเราเชื่อในคุณค่าของคนเราก็จะเป็นคนที่ให้เกียรติผู้อื่นโดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องสำรวจความเชื่อของเราเอง อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือความเข้มแข็งในความเชื่อ ถ้าความเชื่อที่ถูกต้องเป็นเหมือนหางเสือของเรือแล้วละก็ ความเข้มแข็งในความเชื่อก็เหมือนกำลังของเครื่องยนต์ที่ทำให้เรือมุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว วิธีง่ายๆ ที่จะสามารถรู้ว่าเรามีความเข้มแข็งในความเชื่อมากแค่ไหนก็คือ ถามตัวเองว่าเราเคยสงสัยความเชื่อของเราบ่อยครั้งแค่ไหน ทุกครั้งที่เราสงสัยเรามักจะช้าลงหรือหยุดทำในสิ่งที่เราควรทำ เช่นถ้าท่านมีคนรัก แต่ท่านอาจสงสัยว่าในอนาคตอีกสองปีท่านอาจเจอคนที่ดีกว่านี้ ทุกครั้งที่สงสัยความสัมพันธ์เรื่องความรักก็จะพลอยหยุดชะงักไปด้วย กลายเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ และไม่ทุ่มเท เพราะมัวแต่เชื่อว่าดอกไม้ที่สวนถัดไปจะสวยกว่านี้

ด้านสุดท้าย “เป็นแบบอย่างในเรื่องความบริสุทธิ์” ในยุคปัจจุบันความโปร่งใสของบุคคลเป็นเรื่องที่เราให้ความสนใจกันมาก เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ที่เราจะทำผิด แต่สิ่งที่ถูกก็คือเราควรจัดการกับสิ่งนั้น โดยการสารภาพผิดและตั้งใจจริงที่จะกลับตัวกลับใจ มิเช่นนั้นก็จะไม่ต่างอะไรกับที่เรากวาดเศษขยะไว้ใต้พรม แม้ท่านซ่อนขยะจากสายตาคนทั่วไปได้ ท่านก็ไม่อาจซ่อนกลิ่นขยะใต้พรมของท่านเองได้ ความผิดที่ถูกซ่อนไว้เป็นเหมือนฝันร้ายที่จะตามหลอกหลอนยามหลับ และความกังวลที่รบกวนยามตื่น วัยรุ่นแม้จะยังเด็ก แต่ถ้าเป็นคนที่กล้าทำกล้ารับก็ย่อมได้รับคำยกย่องว่าเป็นคนจริงคนหนึ่ง
ถ้าเราสามารถดูแลความเป็นเลิศทั้งห้าประการในชีวิตได้ รถยนต์แรงม้าสูงของวัยรุ่นก็จะกลายผู้นำตัวจริงในสนามแข่งแห่งชีวิต สุดท้ายผมอยากแนะนำให้อ่านพระธรรมสุภาษิตในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล เพราะจะเป็นแนวทางเชิงปฏิบัติที่ช่วยเสริมความเป็นเลิศทั้งห้าประการให้เป็นจริงได้ในชีวิตวัยรุ่น ขอพระเจ้าอวยพรครับ

  • อ.วิทยา วุฒิไกรเกรียง
  • ภาพ Cookie_Studio – Freepik.com