วาระสุดท้าย Eschatology
คำว่า “วาระสุดท้าย“ในความหมายของคริสต์ศาสนานี้มีรากศัพท์มาจากคำภาษากรีกสองคำคือ เอสคาทอส ซึ่งแปลว่า “สุดท้าย” กับ โลกอส ซึ่งแปลว่า “ถ้อยคำ” หรือ “สิ่งที่สำคัญ” คำว่า “วาระสุดท้าย” จึงเป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับวาระสุดท้าย หรือ ยุคสุดท้ายของโลก
ในพระคัมภีร์เดิม หมายถึงยุคของพระเมสสิยาห์ (อสย.2:2; มคา.4:1) แต่สำหรับผู้เขียนพระคัมภีร์ใหม่ พวกเขาเข้าใจว่าตนอาศัยอยู่ในวาระสุดท้ายแล้ว เช่นในวันเพ็นเทคอสต์เปโตรได้อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตามคำที่โยเอลผู้เผยพระวจนะกล่าวไว้ว่า ‘พระเจ้าตรัสว่า ในวาระสุดท้าย เราจะเทพระวิญญาณของเราบนมนุษย์ทั้งหมด…'”(กจ.2:16-17) เหตุการณ์วันนั้นจึงเป็นการสำเร็จตามคำเผยพระวจนะในพระธรรมโยเอล 2:28 ยังมีผู้เขียนพระธรรมฮีบรูที่ได้ประกาศว่า “นานมาแล้วพระเจ้าตรัสกับบรรพบุรุษของเราหลายครั้ง และหลายวิธีผ่านทางพวกผู้เผยพระวจนะ แต่ในวาระสุดท้ายนี้ พระองค์ตรัสกับเราทางพระบุตร” (ฮบ.1:1-2) จากพระคัมภีร์ใหม่หลายตอน เราจะเห็นว่า วาระสุดท้ายได้เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จมาในโลกและกระทำพระราชกิจของพระองค์ แต่ก็ยังไม่ถึงจุดสุดท้ายจริงๆ เพราะพระเยซูได้ตรัสสอนว่า “ข่าวประเสริฐเรื่องแผ่นดินของพระเจ้านี้จะถูกประกาศไปทั่วโลก ให้เป็นคำพยานแก่บรรดาประชาชาติ แล้วที่สุดปลายจะมาถึง” (มธ.24:14) คำตรัสของพระเยซูบอกเราว่าวาระสุดท้ายจะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับสมัยของพระองค์และสมัยของเราด้วย นอกจากนี้เปาโลเองก็กล่าวถึงวาระสุดท้ายว่าเป็นเรื่องของอนาคต “แล้วก็จะเป็นเวลาอวสานซึ่งพระคริสต์จะทรงมอบอาณาจักรแห่งพระเจ้าพระบิดา และจะทรงทำลายภูตผีที่ครอบครองทั้งหมด ภูติผีที่มีสิทธิอำนาจและที่มีฤทธานุภาพ เพราะว่าพระคริสต์ทรงต้องครอบครองจนกว่าพระเจ้าจะทรงปราบศัตรูทั้งหมดให้อยู่ใต้พระบาทของพระคริสต์” (1 คร.15:24-25) ดังนั้นวาระสุดท้ายในพระคัมภีร์ใหม่จึงเป็นเหตุการณ์ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ วาระสุดท้ายจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จกลับมา เราอาจกล่าวได้ว่าวาระสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมาก
สำหรับพระคัมภีร์เดิม วาระสุดท้ายในมุมมองของผู้เขียนมักเป็นเหตุการณ์ช่วงสั้นๆ ที่จะเกิดขึ้นใน “วันแห่งพระยาห์เวห์” อันเป็นวันพิพากษาสุดท้ายที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับคนที่ไม่ยอมกลับใจจากบาป แต่ในขณะเดียวกันกลับเป็นวันแห่งความรอดสำหรับคนของพระเจ้า (เช่น อสย.2:12-22; อสค.13:5; อมส.5:18-24; ศฟย.1:7, 14)
ในส่วนพระธรรมดาเนียล จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนพระธรรมเล่มนี้นำเสนอเรื่องวาระสุดท้ายต่างไปจากผู้เขียนพระคัมภีร์เดิมท่านอื่นๆ คือท่านแสดงให้เห็นว่าในวาระสุดท้ายนั้น คนของพระเจ้าจะต้องเผชิญกับความทุกข์ยากจากการข่มเหงของกษัตริย์ต่างชาติเป็นเวลานานพอสมควร ก่อนที่จะได้รับการช่วยกู้จากพระเมสสิยาห์ และท่านคงกล่าวถึงช่วงเวลาของอาณาจักรกรีก หรืออย่างไกลสุด ช่วงแรกของอาณาจักรโรมัน คือตรงกันข้ามกับผู้เผยพระวจนะอื่นๆ เพราะวาระสุดท้ายในพระธรรมดาเนียลหมายถึง ช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การพิพากษาครั้งสุดท้ายของโลก
- ข้อมูลจาก พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับศึกษา ดาเนียล
- ภาพ http://novice.najdi.si/