สมาคมฯ แปลดีแล้วหรือ? เกี่ยวกับเนื้อความสุดท้ายของพระธรรมเอสรา 4:7 2/11

สมาคมฯ แปลดีแล้วหรือ? เกี่ยวกับเนื้อความสุดท้ายของพระธรรมเอสรา 4:7

ถาม เกี่ยวกับเนื้อความสุดท้ายของพระธรรมเอสรา 4:7
“…ฎีกานั้นได้เขียนขึ้นเป็นอักขระอารัม แล้วก็แปลเป็นภาษาอารัม” ฉบับ 1971
“…จดหมายนั้นได้เขียนขึ้นเป็นภาษาอาราเมคและอธิบายด้วยภาษาอาราเมค” ฉบับมาตรฐาน 2011

ผู้ถามมิได้ สนใจความแตกต่างเล็กน้อยของคำแปลสองฉบับ ไม่ว่าจะเป็น ฎีกาหรือจดหมาย การแปลหรือการอธิบาย ภาษาอารัมหรือภาษาอาราเมค แต่ผู้ถามเห็นว่า ทางสมาคมฯ ได้แปลข้อนี้โดยไม่สื่อความหมายชัดเจนและสมเหตุสมผล กล่าวคือเมื่ออ่านข้อนี้แล้ว ยังทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมจดหมายที่เขียนเป็นภาษาอาราเมคแล้วยังต้องแปลหรืออธิบายด้วยภาษาอาราเม คอีก? เหมือนกับว่า จดหมายเขียนเป็นภาษาไทยแล้ว ทำไมต้องแปลเป็นไทยหรืออธิบายด้วยภาษาไทยอีก?

ตอบ เพื่อจะตอบคำถามข้างต้น ขอให้เราทำความเข้าใจบริบทก่อนคือ ในเวลานั้น ศัตรูของคนอิสราเอลไม่ต้องการเห็นกรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารได้รับการซ่อม แซม ดังนั้นจึงเขียนจดหมายฟ้องร้องกล่าวโทษคนอิสราเอลไปยังราชสำนักเปอร์เซีย ทั้งในรัชกาลอาหสุเอรัส และในรัชกาลของอาทารเซอร์ซีสกษัตริย์แห่งเปอร์เซีย เพื่อยับยั้งมิให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์เกิดขึ้น ในพระธรรมเอสรา 4:7 จดหมายนั้นเขียนด้วยภาษาอาราเมค ซึ่งเป็นภาษาทางการของอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งก็หมายความว่า ราชสำนักเปอร์เซียและกษัตริย์เปอร์เซียรู้ภาษาอาราเมคเป็นอย่างดี เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีการแปลหรืออธิบายด้วยภาษาใด รวมทั้งภาษาอาราเมคด้วย ดังนั้นข้อความ “แล้วก็แปลเป็นภาษาอารัม” (ฉบับ 1971) “และอธิบายด้วยภาษาอาราเมค” (ฉบับมาตรฐาน 2011) จึงน่าจะละไว้ หรืออย่างน้อยก็ให้เหลือข้อความเพียง “แล้วก็แปล” (ฉบับ 1971) อย่างในเชิงอรรถของพระคัมภีร์อังกฤษฉบับ NIV อย่างไรก็ดี เราจะทำอย่างนั้นไม่ได้คือ เราจะละข้อความนั้นไม่ได้ ทั้งนี้เพราะข้อความนั้นมีปรากฏในสำเนาต้นฉบับภาษาฮีบรู เราต้องแปลและให้ข้อความนั้นคงอยู่ แน่นอนข้อความนั้นย่อมมีความหมายซึ่งจะอธิบายต่อไป

คำ “อาราเมค” ที่ปรากฏครั้งที่สองในพระธรรมเอสรา 4:7 ทำให้ยากในการเข้าใจและในการแปลเพื่อสื่อความหมาย ดังนั้นนักวิชาการพระคัมภีร์จึงพยายามอธิบายความหมายข้อความนั้น บ้างก็ว่าจดหมายฉบับนั้นมีการแปลจากภาษาอาราเมคเป็นภาษาฮีบรู บ้างก็ว่าแปลจากภาษาอาราเมคเป็นภาษาเปอร์เซียบ้างก็ว่าเมื่ออ่านจดหมายฉบับนั้นต้องใช้ล่ามแปล (ฉบับประชานิยม)
สำหรับ เรื่องนี้ คำตอบที่เป็นไปได้อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้คือ หนึ่ง จดหมายฉบับนั้นเขียนขึ้นเป็นภาษาอาราเมค แล้วมีการอธิบายแก่ผู้ฟังขณะอ่านจดหมายเพื่อให้ความชัดเจนแก่ผู้ฟังด้วยภาษา อาราเมค (คำกริยาสำคัญคือ   อ่านว่า “ทิร-กัม” หมายถึงแปลความหรือตีความ ซึ่งมากกว่าการแปลคำต่อคำ นั่นคือ มีการอธิบายหรือขยายความเพิ่มเติมด้วย)
หรือ สอง คำ “อาราเมค” ที่ปรากฏครั้งที่สอง อาจแยกออกจากข้อความหลัก เพื่อจะเป็นบทนำแก่ข้อความต่อมา (คือข้อความใน อสร. 4:8-6:18) ว่าเขียนด้วยภาษาอาราเมค ทั้งนี้เพราะข้อความก่อนบท 4 ข้อ 8 และหลังบท 6 ข้อ 18 นั้นเขียนด้วยภาษาฮีบรู ดังนั้นเราจึงเห็นโครงสร้างพระธรรมเอสรดังนี้คือ

1:1-4:7 …จดหมายนั้นได้เขียนขึ้นเป็นภาษาอาราเมคและอธิบายด้วย
(เนื้อความใน 1:1-4:7 เขียนด้วยภาษาฮีบรู)

ภาษาอาราเมค
4:8-6:18
(เนื้อความใน 4:8-6:18 เขียนด้วยภาษาอาราเมค)
6:19-10:44
(เนื้อความใน 6:19-10:44 เขียนด้วยภาษาฮีบรู)

  • อ.ปัญญา โชชัยชาญ
  • ภาพ Rembrandt