สัตว์ที่เป็นมลทินตามธรรมบัญญัตินั้นมีลักษณะอย่างไร?
ถาม อีเห็น หนู ตัว เงิน ตัว ทอง ตุ๊กแก ตะกวด แย้ จิ้งเหลน และกิ้งก่า มีอะไรที่เหมือนกันจึงเป็นมลทิน
ตอบ ถ้าจะมองอย่างกว้างๆ เราพบว่าสัตว์ที่มีรายชื่ออยู่นี้เป็นสัตว์สี่เท้าเหมือนกัน แต่มีขนาดไม่เท่ากัน ตุ๊กแก กับตะกวดอาจจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตะกวดก็มีขนาดใหญ่กว่าตุ๊กแกมาก และดูเหมือนหนูกับอีเห็นก็จะไม่เข้าพวกสัตว์เหล่านี้เท่าไร และถ้าจะจัดแบบวิทยาศาสตร์ หนูนั้นเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีสี่เท้า แต่ก็มีบางอย่างที่ไม่เหมือนสัตว์สี่เท้าที่เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ คือมันมีขาที่ค่อนข้างสั้น เนื่องจากขาที่สั้นนี้เองก็เป็นไปได้ที่เวลามันเคลื่อนที่ไปนั้น ท้องหรือตัวของมันก็จะติดหรือถูกพื้นดินได้ง่าย ส่วนตุ๊กแก ตะกวด แย้ และจิ้งเหลนนั้น ถูกจัดอยู่ในพวกสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งก็จะมีขาที่สั้น และเมื่อเคลื่อนไหว ท้องหรือลำตัวก็จะติดพื้นดิน
ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูจะเรียกสัตว์พวกนี้ว่า เชเรทซ เพราะเป็นสัตว์ที่มาจากหลายประเภท ไม่เพียงแต่สัตว์เลื้อยคลาน แต่รวมถึงสัตว์บก สัตว์น้ำ และพวกแมลงด้วย บางครั้งคำนี้มีคำที่พ้องกันในภาษาฮีบรูคือ เรเมส ซึ่งโดยปกติจะแปลว่า สัตว์เลื้อยคลาน พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ จะแปลว่า creeping things และมีบางฉบับแปลว่า reptiles ส่วนคำว่าเชเรทซ พระคัมภีร์ภาษาอังกฤษมักจะแปลว่า swarmersหรือ swarming things ซึ่งมีความหมายว่าเป็นลักษณะสัตว์ที่เป็นมลทินสัตว์เล็กที่อยู่เป็นกลุ่ม และปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากในธรรมชาติ แต่โดยความเป็นจริงแล้วเมื่อเราดูรายชื่อของสัตว์ที่ปรากฏในพระธรรมเลวีนิติ 11:29-30จะเห็นว่าสัตว์พวกนี้ไม่ใช่เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก และก็ไม่ได้อยู่รวมกันเป็นฝูง ดังนั้นนิยามของภาษาอังกฤษจึงไม่น่าจะถูกต้องนัก
เมื่อพิจารณาบริบทของการใช้คำว่าเชเรทซ เราจะพบว่าคำนี้เป็นคำนามซึ่งจะใช้คู่กับคำกริยาที่มีรากศัพท์เดียวกันคือ ชาราทซ ซึ่งมักจะอยู่ในรูปของ participle และตามด้วยวลีในภาษา ฮีบรูที่แปลตรงตัวว่า “บนดิน” ยกเว้นสิ่งมีชีวิต ที่อยู่ในน้ำ (เลวีนิติ 11:10) แต่คำบุพบทในภาษา ฮีบรูคำหนึ่งๆ นั้นมีความหมายได้หลายอย่าง คำว่า “บน” ที่ เป็นบุพบทในบริบทนี้น่าจะหมายถึง การอยู่ด้านบนแต่แนบกับพื้นดิน หรือ อยู่ติดพื้นดินด้านบน แต่เมื่อคำกริยา ชาราทซ ไม่ได้ใช้คู่กับคำนาม เชเรทซ มักจะไม่มีวลีดังกล่าวปรากฏอยู่ด้วย และความหมายของคำกริยานี้จะกว้างกว่าคือ การเคลื่อนที่ไปมาโดยทั่วไป จะใช้กับสิ่งมีชีวิตหรือสัตว์ชนิดใดก็ได้
ในพระคัมภีร์ฉบับ 1971 มักจะแปลคำนาม เชเรทซ ตามนิยามของ swarming things เช่น ในเลวีนิติ 5:2 แปลว่า “สัตว์เล็กๆที่มีมาก” และ ในเลวีนิติ 11:29 แปลว่า “สัตว์เล็กๆ ที่มีมากบนดิน” ส่วนในเลวีนิติ 11:41 แปลว่า “บรรดา สัตว์เลื้อยคลานที่ไปเป็นฝูงๆ” ซึ่งฉบับ 1971 จะ เน้นที่ปริมาณมาก หรือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก่อน ซึ่งการอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากไม่น่าจะทำให้เป็นมลทิน เพราะมีสัตว์หลายชนิดที่อยู่ด้วยกันเป็นฝูง แต่ถูกนับว่าเป็นสัตว์สะอาด เช่น โค แพะ และแกะ
สิ่งที่ทำให้สัตว์ที่ถูกเรียกว่า เชเรทซ เป็นมลทินน่าจะเป็นลักษณะการเคลื่อนที่โดยลำตัวของพวกมันสัมผัสกับพื้นดิน จะเห็นได้จากเลวีนิติ 11:20-21 แมลงมีปีกมีอยู่ 2 ประเภท โดยแบ่งตามลักษณะการเคลื่อนที่เมื่อไม่ใช้ปีก ประเภทที่ไม่สามารถกระโดดได้ ถูกนับว่าเป็นมลทิน ส่วนที่กระโดดได้ถูกนับว่า เป็นสัตว์สะอาด แสดงว่า การเคลื่อนที่โดยลำตัวไม่สัมผัสกับพื้นดินเมื่อใช้ขาทำให้มันไม่เป็นมลทิน เช่น ตั๊กแตน ถึงแม้มันจะเคลื่อนที่เป็นฝูง แต่ก็ไม่ได้ทำให้มันเป็นมลทิน เพราะมันเป็นแมลงมีปีกที่กระโดด
ดังนั้นกรรมการยกร่างคำแปลฯ จึงได้ตัดสินใจแปล เชเรทซ ว่า “สัตว์ ที่เคลื่อนที่ติดพื้นดิน” ยกเว้นที่อยู่ในน้ำ จะแปลว่า “สัตว์ ที่เคลื่อนที่ติดพื้น” (เลวีนิติ 11:10) ทั้งนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงลักษณะร่วมกันของสัตว์เหล่านี้ที่ทำให้พวกมันเป็นมลทิน คือ การเคลื่อนที่ติดพื้นดิน
ซึ่งการตีความหมายเช่นนี้จะสอดคล้องกับคำอธิบายที่ปรากฏในหนังสือคู่มือช่วย ผู้แปลพระคัมภีร์ของสหสมาคมพระคริสตธรรม คือ Edward R. Hope, All Creatures Great and Small: Living Things in the Bible (New York: UBS, 2005, p.169) ที่ได้ให้นิยามของ เชเรทซว่า “The Hebrew word sherets literally means “swarming things” and refers to mammals and reptiles that move close to the ground in groups or swarms.” จุด ที่ชัดเจนในการอธิบายนี้คือ “close to the ground” นั่นคือ การเคลื่อนที่ติดพื้นดิน
- ศาสนาจารย์ ดร.เสรี หล่อกัณภัย