สำเนาดั้งเดิมของพระคัมภีร์
ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอะไร
แม้พระคัมภีร์ที่เราใช้ในปัจจุบันจะดูเหมือนเป็นหนังสือเล่มเดียว แท้จริงแล้ว พระคัมภีร์ประกอบไปด้วยพระธรรมถึง 66 เล่มที่ถูกเขียนขึ้นโดยคนหลายคนในหลากหลายสถานที่ โดยมีกรอบเวลาในการบันทึกจากเล่มแรกถึงเล่มสุดท้ายนานถึงประมาณ 1,700 ปี บริบทที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาส่งผลให้มีการใช้ภาษาในการบันทึกที่แตกต่างกัน
จากบรรดาสำเนาโบราณของพระคัมภีร์ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน เราทราบว่า ส่วนใหญ่ของพระธรรมต่างๆ ในพันธสัญญาเดิมถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาฮีบรู และส่วนน้อยเป็นภาษาอาราเมค ส่วนพันธสัญญาใหม่นั้นถูกเขียนขึ้นเป็นภาษากรีก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
- ภาษาฮีบรู ก่อร่างสร้างอัตลักษณ์ ภาษาฮีบรูเป็นภาษาของชาวอิสราเอลตั้งแต่โบราณ จัดอยู่ในตระกูลภาษาเซมิติกซึ่งใช้กันในดินแดนแถบตะวันออกกลางและบางส่วนของแอฟริกา เนื่องจากพันธสัญญาเดิมถูกเขียนขึ้นโดยคนอิสราเอลที่ใช้ภาษาฮีบรูเป็นภาษาแม่เพื่อให้คนอิสราเอลอ่าน ต้นฉบับพันธสัญญาเดิมจึงถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาฮีบรู นอกจากนี้ ช่วงศตวรรษที่ 12-10 ก่อน ค.ศ. คือยุคสร้างชาติของอิสราเอล ชาวอิสราเอลสิบสองเผ่าจำเป็นต้องรวมตัวกันให้เป็นปึกแผ่นภายใต้อัตลักษณ์เดียวกัน ซึ่งแสดงออกผ่านทางการเขียนพระคัมภีร์ด้วย
- ภาษาอาราเมค ซึมซับความหลากหลาย ภาษาอาราเมคจัดอยู่ในตระกูลภาษาเซมิติกเช่นเดียวกัน จึงเรียกได้ว่า เป็นภาษาพี่ภาษาน้องของภาษาฮีบรู แต่เดิมภาษาอาราเมคเป็นภาษาของชาวอารัม-ดามัสกัส หรือชาวอาณาจักรซีเรียโบราณ ซึ่งมีอาณาบริเวณครอบคลุมถึงแถบเมโสโปเตเมียในราวศตวรรษที่ 10 ก่อน ค.ศ. ภาษาอาราเมคจึงกลายเป็นภาษากลางของภูมิภาคนี้รวมถึงในสมัยที่อาณาจักรอัสซีเรีย บาบิโลน และเปอร์เซียได้เรืองอำนาจ ด้วยเหตุนี้ ชาวยูดาห์ในช่วงเวลานี้จึงรู้ภาษาอาราเมคด้วย เพียงแต่จำกัดในแวดวงชนชั้นสูง (2 พกษ.18:26; อสย.36:11) จนในศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. เมื่อชาวยูดาห์ตกเป็นเชลยที่บาบิโลน พวกเขาจึงได้หันมาใช้ภาษาอาราเมคเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ พันธสัญญาเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เขียนขึ้นในช่วงของการเป็นเชลย เช่น ดนล.2:4-7:28 ฯลฯ จึงถูกบันทึกเป็นภาษาอาราเมค สิ่งนี้บ่งบอกว่าชาวยิวในช่วงเวลานี้มีการซึมซับความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่เพียงเท่านั้น ต่อมาตัวอักษรอาราเมคยังถูกใช้แทนที่อักษรฮีบรูโบราณในส่วนของพันธสัญญาเดิมที่เขียนเป็นภาษาฮีบรูด้วย
- ภาษากรีก กระจายสู่ทุกชนชาติ ภาษากรีกจัดอยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน เดิมทีเป็นภาษาของกลุ่มชนในคาบสมุทรบอลข่านตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ก่อน ค.ศ. ต่อมาในศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ. อเล็กซานเดอร์มหาราชซึ่งเป็นชาวกรีกได้เดินทางไปพิชิตดินแดนต่างๆ ทางตะวันออกไกลไปจนถึงดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียในปัจจุบัน และได้นำวัฒนธรรมกรีกรวมทั้งภาษากรีกไปเผยแพร่ในดินแดนเหล่านั้นด้วย ภาษากรีกจึงกลายเป็นภาษากลางของโลกโบราณในแถบนั้นเป็นต้นมาจนถึงสมัยที่อาณาจักรโรมขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนในเวลาต่อมา นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแปลพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเป็นภาษากรีก หรือที่เรียกว่า เซปทัวจินต์ (LXX) ด้วยเหตุนี้เอง แม้ผู้เขียนเกือบทั้งหมดของพันธสัญญาใหม่เป็นคนยิว (หรืออิสราเอล) ภาษาที่ใช้กลับเป็นภาษากรีก อีกเหตุผลหนึ่งคือ พันธสัญญาใหม่ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อให้คนยิวเท่านั้นอ่าน แต่ยังเขียนให้คนต่างชาติที่ใช้ภาษากรีกเป็นหลักอ่านด้วย
ดังนั้น การเขียนพระคัมภีร์จึงมีพัฒนาการจากการใช้ภาษาท้องถิ่น (ฮีบรู) ไปสู่ภาษากลางที่แพร่หลาย (อาราเมคและกรีก) โดยมีวัตถุประสงค์ให้พระคัมภีร์เข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้างและสอดคล้องกับบริบทยุคสมัย ถึงตรงนี้บางท่านอาจคิดว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงต้องมีการแปลหรือแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์อีก ในเมื่อปัจจุบันก็มีพระคัมภีร์ในภาษากลางของทุกวันนี้แล้ว เช่น ภาษาอังกฤษ ฯลฯ
คำตอบของคำถามนี้ คือ แม้เราจะมีพระคัมภีร์ในภาษากลางที่เป็น “ภาษาที่เข้าใจ” (Head language) แต่การได้อ่านพระคัมภีร์ในภาษาของตนเองซึ่งเป็น “ภาษาที่เข้าถึงใจ” (Heart language) จะมีพลังและฝังลึกในชีวิตของผู้อ่านมากยิ่งกว่า โดย TBS มีความยินดีที่ได้ปรนนิบัติรับใช้ท่านในพันธกิจนี้ และเราเต็มใจที่จะทำต่อไปในอนาคต ตามความมุ่งหมายของเราที่ว่า “เพื่อให้คนไทยทุกคนมีพระคัมภีร์ใช้ และรู้จักใช้พระคัมภีร์”
- สมาคมพระคริสตธรรมไทย
- ภาพจาก www.freepik.com