สุสาเมืองป้อม?
คำถาม จากพระธรรมเอสเธอร์บทที่ 2 ข้อ 3 และบทที่ 3 ข้อ 15 เราพบคำแปลต่างกันในพระคัมภีร์ต่างฉบับ เกี่ยวกับเมืองหลวงของอาณาจักรเปอร์เซีย ดังนี้คือ สุสาปราสาท (ฉบับคิงเจมส์ไทย) สุสาเมืองป้อม (ฉบับ 1971 และฉบับ 2011) ป้อมเมืองสุสา (ฉบับอมตธรรมมร่วมสมัย) นครสุสาราชธานี (ฉบับคาทอลิค) นครหลวงสุสา (ฉบับประชานิยม) อยากทราบว่า ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่?
คำตอบ คำ แปลต่างกันมาจากคำฮีบรูสองคำคือ Shushan Habira เราไม่มีปัญหากับคำแรกคือ Shushan เพราะทุกฉบับแปลออกมาตรงกันคือ สุสา ซึ่งเป็นชื่อเมืองหลวงหนึ่งในสี่ของจักรวรรดิเปอร์เซียในกลางศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล แต่สำหรับคำที่สองคือ Habira นั้น มีการแปลออกมาหลายนัย แท้จริงคำนี้มาจากคำ Bira ซึ่งอาจหมายถึง ปราสาท หรือ พระราชวัง (พระตำหนัก) หรือ พระวิหาร ก็ได้. ดังนั้น การพยายามตอบคำถามข้างต้นจากภาษาศาสตร์จึงไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนตายตัว. เราจำเป็นต้องอาศัยศาสตร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เข้ามาช่วยเพื่อให้ได้ความกระจ่างชัด.
ก่อน อื่น ขอให้สังเกตว่า Shushan Habira ปรากฏในพระธรรมเนหะมีย์หนึ่งครั้ง (1:1) ในพระธรรมดาเนียลหนึ่งครั้ง (8:2) และในพระธรรมเอสเธอร์สิบครั้ง (1:2,5 ; 2:3,5,8 ; 3:15 ; 8:14 ; 9:6,11,12 ) ดังนั้น หากจะแปลวลีนี้ก็ควรแปลให้เหมือนกันในทุกที่ที่ปรากฏ. ส่วนคำ Shushan อย่างเดียว เราพบห้าครั้งด้วยกันในพระธรรมเอสเธอร์ (3:15 ; 9:13-15,18)
สุสาเป็นพระตำหนักฤดูหนาวของจักรพรรดิเปอร์เซียอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ อิหร่านปัจจุบัน. สุสาห่างจากเมืองบาบิโลนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ระยะทาง 320 กิโลเมตร นักวิชาการพบว่ามีสุสาอยู่สองแห่งด้วยกัน แห่งหนึ่งอยู่บนทีสูง (acropolis) แห่งนี้คือ Shushan Habira มีเนื้อที่ 1,200,000 ตารางเมตร มีกำแพงล้อมรอบ เป็นเหมือนป้อมขนาดใหญ่ ยากที่ศัตรูจะจู่โจมและยึดครอง ภายใน Shushan Habira มีพระราชวังหรือพระตำหนักซึ่งมีเนื้อที่ 50,000 ตารางเมตร เป็นที่ประทับของกษัตริย์เปอร์เซียในฤดูหนาว
อีกแห่งหนึ่งคือ Shushan อยู่ทางตะวันออกของ Shushan Habira แต่อยู่ในพื้นที่ต่ำกว่า. ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า Shushan Habira มีความสำคัญเพราะเป็นที่ประทับของกษัตริย์ และคงเป็นศูนย์กลางการปกครอง ฉะนั้น จึงต้องอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ให้ความปลอดภัยสูงกับกษัตริย์และข้าราชการชั้น สูง เมื่อพิเคราะห์ดูก็เห็นว่าน่าจะแปลว่า สุสาเมืองป้อม แม้ว่าอาจเป็นคำที่ไม่คุ้นเคยหรือคุ้นหู แต่ผู้แปลฉบับ 1971 ก็ได้พิจารณาแล้วและเห็นว่า เมืองป้อม ตรงกับสภาพจริงเวลานั้นที่สุด หมายถึงเมืองที้งเมืองเป็นป้อมปราการเข้มแข็ง ไม่ใช่แค่ป้อมเล็กๆ อย่างป้อมพระสุเมรุบ้านเรา. ส่วนจะแปลว่า ป้อมเมืองสุสา ก็ดูจะเล็กไป. อนึ่ง สำหรับ Shushan ก็น่าจะแปลว่า เมืองสุสา
เรา พบ Shushan Habira และ Shushan อยู่ในข้อเดียวกันคือ เอสเธอร์ 3:15 ฉบับมาตรฐาน 2011 มีใจความว่า “ผู้ถือสารก็รีบไปตามรับสั่งของกษัตริย์ ส่วนกฤษฎีกานั้นก็ออกใช้ในสุสาเมืองป้อม กษัตริย์ก็ประทับและทรงดื่มกับฮามาน ขณะที่เมืองสุสาสับสนวุ่นวาย”
- อ.ปัญญา โชชัยชาญ
- ภาพ https://ifpnews.com