เจ็ดสิบคูณเจ็ด ครั้งหรือ เจ็ดสิบเจ็ด ครั้ง?
ขณะ นั้นเปโตรมาทูลพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์ควรยกโทษให้พี่น้องที่ทำผิดต่อข้าพระองค์สักกี่ครั้ง? ถึงเจ็ดครั้งเชียวหรือ? พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “เราไม่ได้บอกท่านว่าเจ็ดครั้ง แต่เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด” (มัทธิว 18:21-22 ฉบับมาตรฐาน)
Peter came up to the Lord and asked, “How many times should I forgive someone who does something wrong to me? Is seven times enough? Jesus answered: Not just 7 times, but 77 times!* (Matthew 18:21-22, Contemporary English Version, Us Revised, 1999)
* 77 times: or “70 times 7” The large number means that one follower should never stop forgiving another.
ถาม พระเยซูทรงสอนเปโตรให้ยกโทษพี่น้องกี่ครั้งกันแน่? 70X7 ครั้ง หรือ 77 ครั้ง? เพราะพระคัมภีร์ไทยฉบับมาตรฐาน 2011 และฉบับอื่นๆ ว่า เจ็ดสิบครั้งคูณด้วยเจ็ด แต่พระคัมภีร์อังกฤษและฉบับอื่นๆ ว่า 77 ครั้ง
ตอบ จากการสังเกต เราพบว่าพระคัมภีร์ไทยเกือบทุกฉบับ (ฉบับ 1940, ฉบับ 1971, ฉบับมาตรฐาน 2011, ฉบับประชานิยม และฉบับคิงเจมส์ไทย) แปลว่า เจ็ดสิบครั้งคูณด้วยเจ็ด พระคัมภีร์ไทยหนึ่งฉบับแปลว่า 77 ครั้ง (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) เมื่อพิเคราะห์ดูพระคัมภีร์อังกฤษ เราก็พบอย่างเดียวกันคือ บางฉบับโดยเฉพาะฉบับเก่าๆ เช่น ฉบับ American Standard Version เป็นต้น มักจะแปลว่า seventy times seven
(=70×7) ส่วนฉบับใหม่ๆ เช่น ฉบับ New International Version เป็นต้น มักจะแปลว่า 77 times และมีเชิงอรรถว่า or 70 times 7 (แปลได้อีกว่า เจ็ดสิบครั้งคูณด้วยเจ็ด)
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้เราได้ข้อคิดที่ดีบางเรื่องคือ หลายครั้งเมื่อเราพบพระ
คัมภีร์ ต่างฉบับกันให้ข้อมูลต่างกัน เราก็มักจะสรุปว่าพระคัมภีร์ฉบับหนึ่งแปลผิดและอีกฉบับหนึ่งแปลถูก การสรุปเช่นนี้ค่อนข้างจะเร็วเกินไป เป็นการตัดสินโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (อัตวิสัย) แทนที่จะตัดสินโดยพิเคราะห์ดูบริบทและความหมายของคำในภาษาเดิมเป็นพื้นฐาน (วัตถุวิสัย) ดังนั้นที่ตัดสินว่าฉบับนี้แปลถูกก็อาจหมายความว่าแปลได้ถูกกับใจตนเองก็ เป็นได้
เนื่องจากพระธรรมมัทธิว 18:22 มีการแปลเป็นสองนัยทั้งในฉบับมาตรฐานภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จึงทำให้คิดว่าคงจะต้องมีเหตุผลบางอย่างอยู่เบื้องหลังแน่นอน ดังนั้นจึงไม่ควรสรุปหรือตัดสินอย่างรวดเร็ว เพราะอาจเกิดความผิดพลาดได้สูง
เพื่อจะตอบคำถามข้างต้น ขอให้เราศึกษาเนื้อความในบริบท และการใช้คำหรือวลีกรีกในพระคัมภีร์เพื่อสื่อความถึงจำนวนเลข โดยเฉพาะเลข 7 และ 70 หลังจากนั้นจึงค่อยมาถึงบทสรุป
การศึกษาเนื้อความในบริบท
ในพระธรรมมัทธิวบทที่ 18 เราพบเรื่องการตักเตือนผู้ที่ทำผิดเพื่อให้เขากลับใจในข้อ 15-20 เรื่องเปโตรมาถามพระเยซูว่าควรยกโทษผู้ที่ทำผิดกี่ครั้ง? ในข้อ 21 และ 22 อันนำไปสู่อุปมาเรื่องทาสที่ไม่ยอมให้อภัยในข้อ 23-35 ดังนั้นเรามองเห็นความเชื่อมโยงกันของคำสอนในข้อ 15-20 กับเหตุการณ์ในข้อ 21-22 และอุปมาในข้อ 23-35 กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อพี่น้องคนหนึ่งคนใดทำผิดต่อเรา เราก็ต้องตักเตือนเขาไปตามลำดับคือส่วนตัวก่อน หากไม่ได้ผลก็ให้หาพยานอีกคนไปยืนยันว่าเขาทำผิด หากไม่ได้ผลก็ต้องให้คริสตจักรทราบและว่ากล่าวตักเตือน หากไม่ได้ผลคือเขาไม่ยอมรับผิด ไม่เสียใจ ไม่กลับใจ ก็ให้เราเลิกคบค้าสมาคมกับเขา แต่หากเขากลับใจเราก็จะได้พี่น้องคืนมาแน่นอนเหมือนในพระธรรมลูกา 17:3 ว่า “จงระวังให้ดี ถ้าพี่น้องทำผิดต่อท่าน จงเตือนเขาและถ้าเขากลับใจแล้ว ก็จงยกโทษให้” แต่เราจะยกโทษให้พี่น้องสักกี่ครั้งดี? เปโตรถามพระเยซูและคิดว่า 7 ครั้งก็มากที่สุดแล้ว แต่พระเยซูตรัสว่ามิใช่ 7 ครั้ง แต่มากกว่านั้น (ไม่ว่าจะเป็น 70X7 หรือ 77 ครั้งก็ตาม) อันที่จริงความหมายของพระเยซูมิใช่อยู่ที่จำนวนเลข(ไม่ว่าจะเป็น 490 ครั้ง หรือ 77 ครั้งก็ตาม) แต่อยู่ที่การยกโทษนั้นต้องกระทำอย่างนับครั้งไม่ถ้วน นั่นหมายความว่าสาวกของพระเยซูต้องให้อภัยเสมอโดยไม่ต้องนับครั้งนั่นเอง แล้วพระองค์ตรัสเล่าอุปมาให้เห็นภาพการอภัยอย่างล้นเหลือของพระเจ้าและความ เหมาะควรที่เราเองผู้ได้รับการอภัยจากพระเจ้าแล้วจะยินดียกโทษผู้อื่นที่ทำ ผิดต่อเราด้วยใจกว้างขวาง
การใช้คำหรือวลีกรีกแทนจำนวนแลข 7 และ 70
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้อ่านบางท่านอาจข้ามไปก็ได้เพราะอาจน่าเบื่อ แต่ผมพยายามจะอธิบายอย่างง่ายๆ โดยการสังเกตการใช้คำวลีในภาษากรีกในที่ต่างๆ ของพระคัมภีร์ เพื่อแทนจำนวนเลขดังต่อไปนี้
1. เจ็ด คำกรีกว่า (เฮปตา) ปรากฏใน วิวรณ์ 1:20 ว่า “ส่วนความล้ำลึก ของดาวทั้งเจ็ดดวง… และของคันประทีปทองคำทั้งเจ็ดนั้น ดาวเจ็ดดวงคือบรรดาทูตสวรรค์ของคริสตจักรทั้งเจ็ด และคันประทีปทั้งเจ็ดนั้นก็คือ คริสตจักรทั้งเจ็ด”
2. เจ็ดครั้ง คำกรีกว่า (เฮปตาคิส) ในลูกา 17:4 ว่า “แม้กระทำผิดต่อท่านวันหนึ่งถึงเจ็ดครั้ง และเขากลับมาหาท่านทั้งเจ็ดครั้ง แล้วบอกว่า ‘ฉันกลับใจแล้ว’ จงยกโทษให้เขาเถิด”
3. เจ็ดสิบ คำกรีกว่า (เฮบโด เมคนตา) ในปฐมกาล 5:12 ว่า “เคนันอยู่มาได้ 70 ปี…” หรือในกิจการอัครทูต 23:23 ว่า “…ทหารม้าเจ็ดสิบ…”
4. เจ็ดสิบห้า ซึ่งตรงกับวลีกรีกว่า (เฮบโดเมคนตา เพนเต) ในกิจการอัครทูต 7:14 ว่า “โยเซฟจึงเชิญยาโคบกับบรรดาญาติของตนเจ็ดสิบห้าคนให้มาหา”
5. เจ็ดสิบครั้ง ตรงกับคำกรีกว่า (เฮบโดเมคนตาคิส) ปรากฏในปฐมกาล 4:24 ว่า “…เมื่อทำร้ายลาเมคต้องรับโทษเจ็ดสิบเจ็ดเท่า” หรือในมัทธิว 18:22 ว่า “เราไม่ได้บอกท่านว่าเจ็ดครั้งแต่เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด”
ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้น ทำให้เราสรุปบางอย่างเมื่อสังเกตข้อ 1 และ 2 จาก “เจ็ด” เป็น “เจ็ดครั้ง” ในภาษากรีกมีการเติมปัจจัย (=ส่วนที่เติมเข้าท้ายศัพท์) “คิส” จาก เฮปตา (7) เป็น เฮปตาคิส (7 ครั้ง) ฉะนั้นโดยหลักการอย่างเดียวกัน สังเกตข้อ 3 และ 5 จาก “เจ็ดสิบ” เป็น “เจ็ดสิบครั้ง” ก็มีการเติมปัจจัย “คิส” ท้ายศัพท์ จาก เฮบโดเมคนตา (70) เป็น เฮบโดเมคนตาคิส (70 ครั้ง) อย่างไรก็ตามในมัทธิว 18:22 วลีกรีกที่แสดงจำนวนเลขที่เป็นข้อสงสัยของเราคือ (เฮบโดเมคนตาคิส เฮปตา) หากแปลตรงตัวก็จะได้ว่า “เจ็ดสิบครั้งเจ็ด” ซึ่งไม่สื่อความหมายที่เข้าใจได้ แต่จากการค้นหาความหมายในพจนานุกรมภาษากรีก-ภาษาอังกฤษของ Bauer, Arndt และ Gingrich หน้า 212 เราได้ข้อเสนอว่า อาจเป็นการเขียนย่อๆ จากเนื้อความเต็มว่า หาก แปลตรงตัวอักษรก็คือ “เจ็ดสิบครั้ง เจ็ดครั้ง” ซึ่งรวมกันแล้วก็คือ “เจ็ดสิบเจ็ดครั้ง” อนึ่งวลี ?βδομηκοντ?κις ?πτ? ยังปรากฏในพระคัมภีร์เดิมฉบับกรีก (LXX) หนึ่งครั้ง คือ ในปฐมกาล 4:24 ว่า “ถ้าหากทำร้ายคาอิน ต้องรับโทษคืนเจ็ดเท่า (?πτ?κις) แล้วเมื่อทำร้ายลาเมคก็ต้องรับโทษเจ็ดสิบเจ็ดเท่า (?βδομηκοντ?κις ?πτ?)” แม้จะใช้วลีกรีกเดียวกันก็ตามแต่ในบริบทของปฐมกาลหมายถึง การเอาโทษ/การล้างแค้น แต่ในบริบทของมัทธิวหมายถึงการยกโทษ มัทธิว 18:22
ดังนั้นจึงมีความโน้มเอียงในพระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานฉบับใหม่ๆ ที่จะแปล “77 ครั้ง” ไว้ในเนื้อหา และใส่เชิงอรรถว่า “แปลได้อีกว่า เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด”
นอกจากนี้ที่มาของคำแปลว่า “เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด” อาจมาจากฉบับภาษาอังกฤษที่แปลว่า “70 times 7” ซึ่งเป็นการแปลตรงตัววลีกรีกดังได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งหากแปลตรงตัวอักษรตามวลีกรีก ก็จะได้ว่า “เจ็ดสิบครั้งเจ็ด” แต่เผอิญในภาษาอังกฤษ “70 times 7” มีความหมายว่า “70 multiplied by 7” (หมายถึง 70 ครั้งคูณ 7) ได้ด้วยอย่างไรก็ดี วลีกรีกข้างต้น ก็มีความหมายคลุมเคลืออาจสื่อความได้สองนัยคืออาจหมายถึง 77 ครั้ง หรือ 70X7 (490 ครั้ง) ก็ได้
สรุปแล้ว เราไม่ควรยึดติดอยู่กับจำนวนเลข ไม่ว่าจะเป็น 70X7 หรือ 77 ครั้ง เพราะในบริบทมัทธิว 18 พระเยซูทรงต้องการสอนเปโตรและสาวกทั้งหลายให้รู้จักยกโทษพี่น้องที่ทำผิดโดย ไม่นับครั้ง เราให้อภัย (forgive) แล้วเราก็ไม่จดจำความผิดนั้นเลย (forget) คำถามมิใช่อยู่ที่เราทำได้หรือไม่? แต่อยู่ที่เราทำแล้วหรือยัง? ขอให้เราระลึกถึงข้อความของอัครทูตเปาโลที่ว่า “จงอดทนต่อกันและกัน และถ้าใครมีเรื่องราวต่อกัน ก็จงให้อภัยกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยพวกท่านอย่างไร ท่านก็จงทำอย่างนั้นด้วย” โคโลสี 3:13
- อ.ปัญญา โชชัยชาญ
- ภาพ www.fusionglobal.org