เด็กติดเกม 1/09

เด็กติดเกม

โลกของวัยรุ่น “เกม” ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิต โดยที่ผู้ปกครองและศิษยาภิบาล อาจจะไม่ทันคิด ว่าเกมจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในชีวิตของวัยรุ่นเหล่านี้ การที่เด็กนั่งเล่นเกมที่บ้านก็ดีกว่าเด็กจะออกไปเที่ยวนอกบ้าน นั่งในร้านเกม ก็ดีกว่านั่งในผับหรือแหล่งอบายมุข ร้านเกมกลายเป็นบ้านหลังที่สองของเด็กๆ ศิษยาภิบาลได้เริ่มสังเกตุว่าเด็กหายไปจากคริสตจักรโดยสาเหตุมาจากหนีไปเล่นเกม แต่ไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร นอกจากการอธิษฐานเผื่อเด็กอย่างเดียว เกมได้สร้างปัญหาให้กับเด็กในระยะยาวโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว และกลายเป็นปัญหาระดับชาติ สาเหตุและทางออกของปัญหานี้อยู่ที่ไหน

สถานการณ์ปัญหาเด็กติดเกม สรุปได้ว่า เด็กอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 76.5 เล่นเกมออนไลน์มากที่สุด รองลงมาคืออายุ 15-19 ปี ร้อยละ 71.6 และอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 59.5 โดยเฉลี่ยจะเล่นเกมวันละ 9.2 ชม เด็กหนีออกจากบ้านมากขึ้น โดยส่วนมากจะพบที่ร้านเกม และมีบางส่วนที่ยังตามตัวไม่เจอ

สาเหตุของการเสพติดเกม
1. ความเหงาเด็กถูกทิ้งให้อยู่บ้านคนเดียว ความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ เด็กไม่มีเพื่อนเล่น สร้างความรู้สึกเจ็บปวด เด็กคิดว่า เขาถูกปฏิเสธ ขาดการยอมรับ ขาดความรักจากครอบครัว พ่อแม่ที่มุ่งเน้นทำงานหนัก จนลืมให้เวลากับลูก ลืมสวมกอด และใช้เวลากับลูก จะทำให้เด็กโหยหาความรักและการยอมรับสูง โดยสิ่งที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างทันทีของเขาคือ เกม เพราะในเกมช่วยทำให้หายจากความเหงา ความเบื่อ เขาได้เจอเพื่อนในเกม มีสังคมใหม่ เมื่อเขาพัฒนาการเล่นในระดับสูง เขาจะได้รับการยอมรับจากสังคมของโลกไซเบอร์ ถึงตอนนั้นความรักจากครอบครัวก็เป็นสิ่งที่เขาเองอาจจะไม่ต้องการอีกต่อไปแล้ว

2. เด็กขาดระเบียบวินัยบางครอบครัว พ่อแม่รักลูก เอาใจและตามใจลูกมากเกินไป เมื่อลูกเล่นเกม ก็ไม่กล้าจะตักเตือน หรือออกกฎในการเล่นเกม เพราะว่ากลัวลูกไม่รัก ทำให้ลูกขาดระเบียบวินัย เอาแต่ใจตัวเอง จนนานเข้า เด็กไม่สามารถแยกแยะความถูกผิด ควบคุมตัวเองไม่ได้ เมื่อเด็กเสพติดเกม ทำให้ไม่สามารถเอาชนะตัวเอง และผลคือสูญเสียชีวิตประจำ เช่นการเรียน การเฝ้าเดี่ยว และเข้าสังคมกับเพื่อน
3. เด็กไม่รู้จักลักษณะเฉพาะของตัวเอง (Identity)ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ตัวเองเป็นใคร มีความสามารถพิเศษอะไร มีบุคคลิกแบบไหน เมื่อเขาไม่รู้จักตัวเอง เขาก็จะเอาลักษณะเฉพาะของกลุ่มมาเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้จะชอบดาราอย่างคลั่งไคล้ตามแบบเพื่อน ชอบแต่งตัวตามสมัยนิยมแต่ก็ไม่เข้ากับตัวเอง ชอบกินอาหารฟาสต์ฟู้ด(อาหารจานด่วน)ราคาแพง ตามเทคโนโลยีให้ทันสมัยตลอดเวลา ซึ่งเด็กจะต้องพยายามเลียนแบบเพื่อนเพื่ออยู่ในสังคมนั้นให้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเพื่อนของเขาเล่นเกม แน่นอนเด็กกลุ่มนี้จะต้องเล่นเกม และเป้าหมายของการเล่นเกมคือการไปถึงระดับที่สูงที่สุด แต่ว่าเกมในปัจจุบันไม่มีจุดสิ้นสุด (endless) ผลก็คือเด็กจะเล่นเกมจนไม่สามารถดึงตัวเองกลับมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงได้

เด็กที่ติดเกมจะมีผลกระทบทั้งฝ่ายสติปัญญา ร่างกายจิตใจ และจิตวิญญาณดังนี้

  • ผลกระทบทางด้านร่างกายเด็กจะผอมโซ เป็นโรคกระเพาะ เพราะทานอาหารไม่ตรงเวลา ป่วยง่ายเนื่องจากไม่ได้ออกกำลัง ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดตา และกระดูก มีการกระตุ้นของสารโดปามีน ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอีกต่อหนึ่ง ทำให้เด็กสนุกเกินความพอดี มีแรงมากเหมือนใช้ยาบ้า ทำให้เด็กเกิดอาการโหยหา และเกิดอาการโรคกล้ามเนื้อเกร็ง ข้อเส้นเอ็นอักเสบเรื้อรัง และหนักเข้าก็อาจเป็นโรคลมชัก
  • ผลกระทบทางด้านสติปัญญาทำให้เสียการเรียน เสียงาน เด็กหลายคนหนีเรียนไปเล่นร้านเกม แม้เวลาใกล้สอบแล้วแต่ก็ยังคงเล่นอยู่ทำให้การเรียนตกต่ำ บางคนเล่นจนดึก ไม่สามารถตื่นไปเรียนได้ เด็กหลายคนไม่ยอมทำการบ้าน ไม่อ่านหนังสือ ไม่มีสมาธิในการเรียน สมองเฉื่อย
  • ผลกระทบทางด้านสังคมเด็กจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง EQ.ต่ำ เข้ากับเพื่อนคนอื่นไม่ได้ นอกจากเพื่อนที่เล่นเกมด้วยกัน ชอบเอาชนะ โมโหร้าย
  • ผลกระทบทางด้านจิตวิญญาณเด็กจะไม่อยากอ่านพระคัมภีร์ ไม่เฝ้าเดี่ยวและอธิษฐาน โดดนมัสการ  ไม่ไปโบสถ์
    สิ่งที่สำคัญในผลเสียของการเล่นเกม คือการที่เด็กได้อยู่ในโลกเสมือนจริง ดูเหมือนเขามีความสุขจากการได้การยอมรับจากเพื่อนที่ติดเกมด้วยกัน แต่เกมจะตอกย้ำในสิ่งที่เขาอยากจะเป็น โดยที่ขัดกับโลกแห่งความเป็นจริง ทำลายตัวตนที่แท้จริงของเขา เช่นเด็กผู้ชายก็จะสวมบทบาทเป็นผู้หญิงในโลกเสมือนจริง จนเขาคิดว่าเขาคือผู้หญิง และเกมได้ทำลายจริยธรรม ศีลธรรมเพราะในโลกไซเบอร์ ไม่มีตำรวจมาคอยจับคนร้าย ทุกคนสามารถหลอกลวง ขโมยของ โกหก สวมหน้ากากเข้าหากัน ทำร้ายกัน โดยไม่มีบทลงโทษ เด็กจะติดอยู่ในโลกเสมือนจริงจนไม่สามารถเอาตัวเองออกมาจากโลกไซเบอร์ได้ ทั้งที่ความจริงเขาต้องดำเนินชีวิตในโลกแห่งความจริง เด็กไม่สามารถแยกแยะความถูกต้อง ความเหมาะสมได้ เด็กที่เสพติดเกม จะเล่นเกมหนักขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเขาโตขึ้นเขาจะไม่สามารถเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ ไม่สามารถเติบโตฝ่ายวิญญาณได้

แนวทางแก้ไข

  1. ผู้ปกครอง พ่อแม่ควรเอาใจใส่ลูก มอบความรัก ด้วยการสวมกอด และให้เวลากับเขาอย่างเพียงพอ ยอมรับเขา สถาบันครอบครัวที่มีความรักมอบให้กันอย่างเป็นรูปธรรม เด็กสัมผัสและยอมรับได้ จะเป็นเกาะป้องกันเด็กติดเกมได้ดีที่สุด ไม่มีคำว่ารักลูกมากเกินไปเพียงแต่การแสดงออกของความรักอย่างถูกต้องเหมาะสม พยายามตั้งกฎให้ลูกในการเล่นเกม มีระยะเวลา ขอบเขต เมื่อลูกเล่นเกม ควรสังเกตและอธิบายให้ลูกเข้าใจการเล่นเกมที่ถูกต้อง เมื่อเขาไม่สามารถปฏิบัติตามกฎได้ควรมีบทลงโทษบ้าง ไม่ควรตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ที่ห้องส่วนตัวของเด็ก ควรสนับสนุนเขาเมื่อผู้ปกครองได้เห็นศักยภาพของลูกบางอย่าง เช่น ศิลปะ ร้องเพลง ดนตรี และสนับสนุนเขาให้พัฒนาขึ้น โดยให้สอดคล้องกับน้ำพระทัยของพระเจ้า
  2. คริสตจักรควรดูแล อภิบาลอนุชนในคริสตจักร สอดส่องเด็กที่หายไป มีพฤติกรรมน่าสงสัย โดยการให้คำปรึกษา เด็กที่ติดเกมมักจะมีปัญหาภายในครอบครัวและหาทางออกโดยการเล่นเกม นำกลับมาที่พระวจนะของพระเจ้า เพื่อรักษา (Healing) ทนุ-ถนอมให้กำลังใจ ปลอบโยน (Sustaining) นำทางเขา ชี้แนะแนวทางเมื่อเขาต้องตัดสินใจ (Guiding) นำเขาให้คืนดีกับพระเจ้ากับคนอื่นๆ ให้อภัย และป้องกันเขา (Preventing) ฉีดวัคซีนป้องกันเขา อย่าให้เขากลับไปติดเกม หรือป้องกันเขาไม่ให้ติดเกม เพราะการป้องกันย่อมง่ายกว่าการรักษา และควรจะสร้างกิจกรรมในช่วงปิดเทอม เช่นจัดค่ายพระคัมภีร์ จัดสอนพิเศษ สอนดนตรี กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ เพื่อเด็กจะมีทางออกในการเข้าสังคม เด็กจะไม่เหงา ผู้ปกครองจะสบายใจเมื่อรู้ว่าลูกอยู่ที่คริสตจักร
  • อ.ทรงกลด รื่นรมณ์วารี