เพราะเหตุใดพระกิตติคุณจึงมีสี่เล่ม? 8/24

เพราะเหตุใดพระกิตติคุณจึงมีสี่เล่ม?ทำไมพระกิตติคุณในพันธสัญญาใหม่จึงมีสี่เล่ม ไม่น้อยหรือมากกว่านั้น เพื่อที่จะเข้าใจเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าพระกิตติคุณคืออะไรและมาอยู่ในพระคัมภีร์ได้อย่างไร

คำว่า “พระกิตติคุณ” หรือ “พระวรสาร” (Gospel) มาจากคำกรีกว่า εὐαγγέλιον (euaggelion) ซึ่งเป็นรากของคำว่า evangelism ในภาษาอังกฤษ แปลตรงตัวว่า “ข่าวสารที่ดี” และไม่ใช่แค่ข่าวสารทั่วไปเท่านั้น แต่เป็นข่าวสารที่สำคัญหรือยิ่งใหญ่ เช่น ข่าวสารที่ดีเรื่องชัยชนะในสงคราม หรือเรื่องการเสด็จมาเยือนของจักรพรรดิ เป็นต้น คริสเตียนยุคแรกได้นำคำนี้มาใช้เรียกเรื่องราวพระชนม์ชีพและพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ขณะที่พระองค์ทรงอยู่บนโลกนี้ นอกจากนี้ คำนี้ยังถูกแปลได้อีกว่า “ข่าวประเสริฐ” ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย

แท้จริง มีเอกสารโบราณที่ถูกเรียกว่าพระกิตติคุณอยู่หลายเล่ม แต่เมื่อคริสตจักรยุคแรกทำการพิจารณาจัดตั้งสารบบพระคัมภีร์เพื่อป้องกันคำสอนผิดหรือคัมภีร์เทียมเท็จ ก็มักจะยึดหลักเกณฑ์ที่สำคัญสามประการคือ ความยึดโยงกับอัครทูต (Apostolicity) หลักคำสอนที่ถูกต้อง (Orthodoxy) และการใช้ประโยชน์ (Utility) เป็นรากฐานของสารบบพันธสัญญาใหม่ ปรากฏว่า พระกิตติคุณที่ได้รับการยอมรับให้อยู่ในสารบบพระคัมภีร์มีเพียงสี่เล่ม นั่นคือ มัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์น

อย่างไรก็ดี มักจะมีคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของพระกิตติคุณทั้งสี่เล่ม ด้วยเหตุว่าบางครั้งเรื่องราวเดียวกันที่ถูกบันทึกไว้กลับมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในแต่ละเล่ม ความจริงก็คือผู้เขียนพระกิตติคุณแต่ละเล่มบอกเล่าเรื่องราวจากมุมมองที่แตกต่างกัน นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า พระกิตติคุณแต่ละเล่มมีกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านที่เฉพาะ กล่าวคือ มัทธิวเขียนขึ้นสำหรับผู้อ่านชาวยิวที่คุ้นเคยกับพันธสัญญาเดิม ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาหลายตอนที่อ้างอิงถึงพันธสัญญาเดิมและรูปแบบวรรณกรรมที่สะท้อนความคิดแบบยิว มาระโกเป็นพระกิตติคุณเล่มที่สั้นที่สุดและเน้นสิ่งที่พระเยซูทรงกระทำมากกว่าคำสอนของพระองค์ ซึ่งน่าจะเหมาะกับผู้อ่านชาวโรมันที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าปรัชญาความคิด นายแพทย์ลูกาเป็นชาวกรีกจึงชำนาญภาษากรีก และบรรยายภาพของพระเยซูเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบซึ่งเป็นสิ่งที่คนกรีกให้ความสำคัญ ยอห์นเขียนขึ้นสำหรับผู้อ่านที่ได้รับอิทธิพลของปรัชญาแบบกรีก โดยเห็นได้จากการอธิบายเรื่องพระเจ้าผู้เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ผ่านปรัชญาแบบกรีก (ดูบทความ ทำไมยอห์นจึงเรียกพระเยซูว่า “พระวาทะ” ใน TBS’s Friends ฉบับที่ 6) พระกิตติคุณสามเล่มแรกเน้นเรื่องพระราชกิจของพระเยซูในแคว้นกาลิลีทางตอนเหนือ ในขณะที่พระกิตติคุณยอห์นเน้นเหตุการณ์ในแคว้นยูเดียและกรุงเยรูซาเล็มทางตอนใต้ อย่างไรก็ตาม ทุกเล่มต่างให้ความสำคัญกับเรื่องราวช่วงสัปดาห์สุดท้ายของพระเยซูอันนำไปสู่การตรึงกางเขนและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ ซึ่งเป็นหัวใจของข่าวประเสริฐ ดังนั้น พระกิตติคุณทั้งสี่เล่มจึงมีทั้งรายละเอียดที่เหมือนกันและแตกต่างกัน

ความจริงนี้เป็นข้อสนับสนุนความน่าเชื่อถือของพระกิตติคุณ เพราะเนื้อหาแต่ละเล่มไม่ได้เกิดจากมติร่วมหรือมีการครอบงำทางความคิดต่อกัน ซึ่งจะทำให้มีพระกิตติคุณเพียงเล่มเดียว หรือหากมีหลายเล่มก็จะมีเนื้อหาตรงกันทุกเล่ม (ซึ่งจะให้ความจริงเพียงด้านเดียวด้วย) แต่เนื้อหาจากหลายมุมมองได้ร่วมกันล้อมกรอบความจริงแบบรอบด้าน หรือที่นักวิชาการเรียกกันว่า “วงแหวนแห่งความจริง” (Ring of Truth) อันช่วยส่งเสริมความน่าเชื่อถือของสาระสำคัญที่มีร่วมกันในข่าวประเสริฐเรื่องพระเยซูคริสต์

ด้วยเหตุนี้ พันธสัญญาใหม่จึงมีพระกิตติคุณสี่เล่ม ซึ่งแม้จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ก็มีคุณค่าและความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะต่างก็ประกอบกันขึ้นและช่วยให้ผู้อ่านได้รู้จักเรื่องราวของพระเยซูคริสต์อย่างรอบด้าน

  • ภาพจาก www.facsimilefinder.com