เพิ่มสุขดับทุกข์ในองค์กร 2/09

เพิ่มสุขดับทุกข์ในองค์กร

เราทุกคนต้องการทำงานได้อย่างสำเร็จ และถ้าแถมได้ เราก็อยากจะขอแถมว่าทำงานอย่างสำเร็จ และมีความสุขในการทำงานด้วยก็จะนับว่าเลิศประเสริฐยิ่ง ความปรารถนานี้เป็นความปรารถนาของผู้คนทั่วโลก

จนมีคนมากมายพากเพียรค้นคว้าและวิจัยเพื่อให้ได้แนวทางเพื่อให้เราพอจะนำมาใช้จริงบ้าง ดิฉันเองสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และเชื่อว่า ชีวิตนี้ดีขึ้นได้ จึงได้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และนำมาเป็นเป้าหมายในการหาแนวทางเพื่อทำให้เป็นไปได้โดยการเชื่อมโยงกับการคิดของคน
วันนี้เรามานั่งดูกันสองประเด็นคือ ความสำเร็จ และความสุขในการทำงาน ซึ่งเป็นความปรารถนาของคนทำงานทั่วโลก แล้วจึงมาวิเคราะห์ดูว่าการคิดแบบเดิมเป็นเส้นทางนำไปสู่ความปรารถนาของผู้คนได้ในส่วนใดบ้าง และส่วนที่ ขาดอยู่นั่นแหละที่เป็นที่มาของการคิดแบบใหม่ที่จะช่วยให้คนทำงานมีการคิด ครบถ้วนทุกด้านที่จะทำให้เขาทำงานได้อย่างสำเร็จและมีความสุขโดยไม่มีความ ขัดแย้งในองค์กร

ความสำเร็จในงานได้มาจากไหน
ประเด็น ของความสำเร็จนั้น มีคนทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับความสำเร็จที่สุดจำนวนหนึ่งพันคน จากทั่วโลกว่าคนที่จะทำงานอย่างได้รับความสำเร็จควรมีทักษะใดบ้าง ผลปรากฏออกมาว่า ทักษะที่จำเป็นต่อความสำเร็จที่สุดสามทักษะ คือ

• ทักษะด้านการคิด
• ทักษะด้านคน
• ทักษะด้านความรู้

ในสามทักษะนี้ทักษะด้านการคิดเป็นทักษะที่สำคัญที่สุด เพราะทักษะการคิดจะเป็นตัวดึงเอาทักษะอื่นๆ มาใช้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด ในทางตรงข้ามถ้าคนขาดทักษะด้านการคิด แม้จะมีทักษะด้านความรู้อย่างมาก แต่เขาจะไม่สามารถนำความรู้มาทำให้งานสำเร็จอย่างราบรื่น รวดเร็ว และมีคุณภาพได้ทันการณ์เท่าที่ควร คนมีความรู้สูงๆ หลายคนจึงทำงานไม่ค่อยเห็นออกมาเป็นผลงาน

ทักษะด้านคนมีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนทำงานทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะผู้บริหารเพราะผู้บริหารมีภารกิจที่ต้องทำงานให้สำเร็จโดยผ่านคนอื่น ซึ่งได้แก่ทีมงานทั้งหมด ความสามารถในการทำงานกับคนอื่นได้อย่างราบรื่นและปรองดองเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ส่งเสริมให้ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ผู้บริหารจำเป็นต้องสร้างความสามัคคีกลมเกลียวขึ้นในทีมงานเพื่อให้คนทำงานประสานกันได้ดี

ความสุขในการทำงานหาได้จากไหน
ประเด็นของความสุขในการทำงาน การทำงานทำให้เรามีกิจกรรมเพิ่มเข้ามาในชีวิตที่นอกเหนือจากกิจวัตรประจำวันส่วนตัวและกิจกรรมของครอบครัว ในหนึ่งวันเราได้รับข้อมูลเข้ามาสู่ชีวิตจากสองส่วน คือ ข้อมูลจากในบ้าน และข้อมูลจากนอกบ้าน

ข้อมูลชีวิตทั้งสองส่วนมีผลทำให้เกิดเป็นอารมณ์และความรู้สึกของเราในแต่ละวัน ซึ่งถ้าอารมณ์เป็นไปในทางบวกทางดี เราก็มีความพอใจมีความสุข ถ้าอารมณ์เป็นไปในทางลบ ทางกัดกร่อน และในทางอึดอัดขัดเคือง เราก็ทุกข์ร้อนใจ มีความทุกข์
ข้อมูลจากนอกบ้านส่วนใหญ่มาจากที่ทำงานหากเราทำให้คนทำงานได้ข้อมูลชีวิตจากในที่ทำงานที่เป็นทางบวก ทางดี คนทำงานก็จะมีความสุขในการทำงาน และเมื่อเลิกงานแล้วเขากลับบ้าน เขาจะส่งผ่านความสุขนั้นไปถึงคนในครอบครัวจากอารมณ์ ความคิด การพูด และการกระทำของเขา คนที่บ้านก็จะได้รับอานิสงส์จากความสุขที่เขาได้รับจากการทำงานด้วย จะเห็นได้ว่า ถ้าชีวิตการทำงานดีและมีความสุขจะส่งผลดีต่อชีวิตส่วนตัวและครอบครัวไปด้วย

การคิดแบบโต้แย้งช่วยคนสุข งานสำเร็จ
การคิดแบบเดิมเป็นการคิดแบบวิจารณ์ โต้แย้ง และการคิดแบบ “ฉันถูก เธอผิด” โดยใช้วิธีการถกเถียงกัน เพื่อตัดสินว่าใครผิดใครถูก ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็คิดด้วยตรรกหรือลอจิคที่ตนหยิบยกขึ้นมาสนับสนุนความคิดเห็นของตน เนื่องจากการคิดแบบเดิมนี้มีอยู่ในระบบการศึกษาซึ่งผู้คนได้รับการฝึกฝนมาเหมือนกัน คนจึงมีวิธีโต้เถียงไปในแบบเดียวกันได้อย่างคล่องตัว แต่การคิดแบบโต้แย้งทำให้คนทำงานได้สำเร็จ และมีความสุขในการทำงานได้น้อยกว่าที่ควร เพราะเหตุผลดังนี้

1. ทักษะด้านคนลดลง การโต้แย้งคนอื่นโดยเอาความคิดเห็นของตนเองเป็นบรรทัดฐานและถกเถียงกัน ทำให้เกิดผลกระทบทางใจและทางด้านความสัมพันธ์กัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้ทักษะด้านคน ของคนในทีมงานลดลงไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัว เพราะมุ่งให้ความสำคัญกับการเถียงกันเพื่อให้อีกฝ่ายที่ฟังอยู่รู้ว่า เราสิถูก เขานั่นแหละผิด อย่างเคยชินเพราะทำกันมานาน จนลืมเรื่องของมิตรภาพและความสามัคคีปรองดองที่จำเป็นมากในการทำงานร่วมกัน การทำงานให้สำเร็จจึงเกิดได้ช้า
2. อารมณ์ขุ่นมัวส่งผลเสียต่อการทำงาน เมื่อคนชอบโต้เถียงกัน ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นได้ง่าย บ่อย และมาก อารมณ์ที่ได้จากความขัดแย้งมักเป็นไปทางลบ เช่น รำคาญ โกรธ โมโห สับสน เบื่อหน่าย ไม่พอใจ และไม่ชอบใจ เกิดความรู้สึกว่ามีทั้งมิตรและศัตรูในที่ทำงาน และบางคนเป็นทั้งมิตรและศัตรู เช่น บางคนเจอกันในลิฟต์ หรือห้องอาหาร ก็ดูเป็นมิตรดี และ เรารู้สึกเป็นมิตรด้วย แต่พอเข้าประชุมด้วยกัน แล้วถูกเขาโต้แย้งสักครั้งสองครั้ง เราก็เริ่มรู้สึกว่ากำลังถูกเขาโจมตีทั้งๆ ที่ไม่เคยทำความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับเขา
อารมณ์ที่มีต่อคนๆ นั้นก็ค่อยๆ ขุ่นมัว ทัศนคติที่มีต่อเขาก็เปลี่ยนไป และคงมีหลายครั้งที่ผู้คนเกิดอารมณ์ขุ่นมัวผสมกับเสียดาย เสียดายความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อคนๆ หนึ่งก่อนที่จะได้มาเข้าประชุมด้วยกัน เสียดายว่าเขาไม่น่าเป็นคนอย่างนี้เลยหนอ เสียดายว่าจริงๆ เขาคงเป็นคนใจดีมีเมตตาน่ารักอย่างที่เราคิดนั่นแหละ แต่อะไรนะที่มาเข้าสิงเขาให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นในที่ประชุมหรือทีมงานได้เช่นนี้ได้เหมือนไม่มีเลือดเนื้อ ความรู้สึกสับสนเช่นนี้ก่อกวนอารมณ์ของคนทำงานได้อย่างมาก และได้ผลยาวนาน
เมื่อออกจากที่ประชุมก็ต้องหาที่ๆ ปลอดภัย ปรารภกับเพื่อนสนิทถึงพฤติกรรมการโจมตีอันน่าตกใจของคนๆ นั้นบ้าง คนๆ นี้บ้าง อารมณ์ขุ่นและกรุ่นเช่นนี้ มักถูกแพร่กระจายไปสู่คนในทีมงานและเพื่อนฝูงอย่างรวดเร็ว แล้วก็มีคนไม่ชอบขี้หน้ากันเกิดขึ้น แม้จะทำงานในฝ่ายเดียวกัน แผนกเดียวกัน ทีมเดียวกัน แต่ต้องเห็นหน้ากันอยู่ทุกวัน
ตราบใดที่คนยังใช้การโต้แย้ง ถกเถียงกันขัดแย้งกัน อารมณ์ขุ่นมัวในการทำงานก็มีครุกรุ่นอยู่ในที่ทำงานเสมอ อย่างไรก็ตามทุกอย่างพอแก้ไขได้ด้วยการคิดแบบใหม่และมีการพิสูจน์กันมาแล้ว

เหตุของสุขในงาน คือ การทำงานได้สำเร็จอย่างราบรื่น คิดแก้ปัญหาได้ตลอด ได้ทำประโยชน์ให้คนอื่น ได้พัฒนาตนเอง และสามารถเข้ากับคนอื่นได้ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น

ส่วนเหตุแห่งทุกข์ในงาน คือ การคิดแก้ปัญหาไม่ได้ ทำงานไม่ราบรื่น มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับคนรอบข้าง ทำงานแบบไปวันๆ ไม่ได้พัฒนาตนเอง
คนที่ได้รับความสำเร็จในชีวิตหนึ่งพันคนทั่วโลกลงความเห็นว่า ทักษะที่ทำให้คนได้รับความสำเร็จไม่ว่าจะเรื่องงานและชีวิตนั้น มีสามอย่างคือ ทักษะด้านการคิด ทักษะด้านความรู้ และทักษะด้านคน
ทักษะที่สำคัญมากที่สุดในบรรดาทักษะทั้งสามอย่างนี้ ก็ คือ ทักษะด้านการคิด เพราะหนึ่งทักษะด้านการคิดเป็นตัวดึงเอาความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ และสองทักษะการคิดเป็นอย่างไรทักษะด้านคนก็เป็นอ ย่า ง นั้นเพราะการพูดและการกระทำของคนล้วนมีต้นทางมาจากการคิด การคิดเป็นที่มาของการพูดและการกระทำ คนคิดอย่างไรก็พูดไปทำนองนั้น และทำไปทำนองนั้น

การคิดของคนๆ หนึ่งได้มาจากไหนบ้าง
1. ได้จากทักษะการคิดและทัศนคติของคนในครอบครัว เช่น วิตกกังวล ขี้กลัว ไม่พอใจ ขี้หงุดหงิด ทำตามอารมณ์ตนเอง ไม่สนใจคนอื่น ซึ่งเป็นการคิดทางลบ หรือ ถ้าเป็นการคิดทางบวก ก็เช่น มองโลกสนุกสนาน อยากช่วยเหลือผู้คน กล้าคิดสิ่งใหม่ ลองทำสิ่งใหม่ที่ดีงามขึ้นมา เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ มาเพิ่มให้กับตัวเองเพื่อพัฒนาตนเอง
2. ได้จากทักษะการคิดและทัศนคติของคนนอกครอบครัวเช่น เพื่อนเล่น เพื่อนบ้าน และครูในโรงเรียน
3. ได้จากระบบการศึกษาทั้งด้านเนื้อหาความรู้ มุมมองและทัศนคติที่ผู้เขียนใส่ไว้เนื้อหาของแต่ละวิชา
4. ได้จากวิธีการสอบซึ่งใช้เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของผู้เรียนในระบบการศึกษา
5. ได้จากการฝึกอบรมที่องค์กรที่ตนทำงานด้วยจัดฝึกให้ หรือส่งให้ไปฝึกเพื่อนำมาใช้ในการทำงาน

ทุกข์ในงาน เกิดจากการคิด ดังนี้
1. คิดแบบเดิม คือ คิดแบบคำตอบที่ถูกต้องมีเพียงคำตอบเดียว ซึ่งทำให้แก้ปัญหาไม่ค่อยได้
การคิดแบบเดิมที่เราได้มาจากระบบการศึกษา ได้แก่ การคิดแบบตรรก การคิดแบบตัดสินประเมิน และการคิดแบบ ฉันถูก-เธอผิด การคิดแบบเดิมมีประโยชน์ในการทำงานในยามที่ทุกอย่างดำเนินไปดังที่กำหนดไว้ เช่นตั้งระบบการทำงานไว้อย่างนี้ ถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างนี้ทุกประการ งานทุกอย่างจะราบรื่น แต่ถ้ามีบางอย่างไม่เป็นไปตามระบบที่ตั้งไว้ พนักงานจะรู้สึกว่าเป็นปัญหา และเห็นทางแก้อยู่ทางเดียวคือ ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบให้ได้ ถ้าทำอย่างนั้นไม่ได้ก็รู้สึกว่าหมดทางแก้ และ คิดไม่ออกว่าจะแก้ด้วยวิธีอื่นได้อย่างไร เมื่อคิดไม่ออกก็รู้สึกอึดอัดและเครียด นี่คืออาการแห่งทุกข์ในงานที่คนพูดถึงกันคือแก้ปัญหาไม่ได้ มีอุปสรรคที่ทำให้งานไม่ราบรื่นแล้วไม่รู้จะจัดการอย่างไร
2. คิดลบ มองเห็นแต่ความยากลำบาก ทำให้ไม่พอใจ หงุดหงิด รำคาญ เวลามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่ว่าจะจากลูกค้า จากทีมงาน หรือจากผู้บังคับบัญชา คนที่มีการคิดทางลบครอบงำก็มักไม่พอใจ อึดอัดขัดใจและรำคาญใจถ้าคนในทีมงานคิดทางลบ จะทำให้เกิดความไม่พอใจกันได้ง่าย การทำงานร่วมกัน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า เมื่อคิดทางลบต่อคนอื่นการพูดจากับคนอื่นด้วยกลิ่นอายและอารมณ์ที่เป็นไปในทางลบ และรับฟังไปในทางลบด้วย จึงเกิดความไม่พอใจกันจนเกิดเป็นความทุกข์ในการทำงาน
3. คิดแบบทะนงตน มองว่าตนเหนือกว่าคนอื่น คิดว่าตนเองคิดอะไรก็ดีที่สุด “ตกหลุมพราง” ของความฉลาด ไม่เปิดใจ รับฟังความคิดเห็นของใคร เพราะเห็นว่าตนเองแน่กว่าใคร จึงเอาตนเองเป็นที่ตั้ง ตนเองก็ทุกข์ใจเพราะคนอื่นทำไม่ได้ดังใจ ไม่ทำตามที่ตนคิด ไม่ชอบคนอื่น และคนอื่นก็ไม่ชอบตน จึงมีทุกข์ในงาน

สุขในงานเกิดจากการคิดทางสร้างสรรค์
การคิดแบบใหม่ การคิดแบบใหม่จะต่างจากการคิดแบบเดิมในมุมที่จะมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งเพิ่มสุขในงานได้โดยตรง ดังนี้
1. คิดทางบวก คือ มองเห็นความสดใสของทุกสิ่งอย่าง และทุกคน มองเห็นความเป็นไปได้ในการทำสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นได้ ชอบการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง พัฒนาความเข้มแข็งขององค์กร ได้ทำแล้วก็เกิดความภูมิใจ
2. คิดนอกกรอบ คือ ความสามารถคิดหาทางแก้ปัญหาได้มากมาย และหลากหลาย และแตกต่างจากวิธีแก้ปัญหาที่เคยใช้อยู่แต่ไม่ได้ผลแล้ว สมองของคนเราจำสิ่งที่รู้และทำจนเคยชินได้ดีและมักพาให้เราคิดติดอยู่ในกรอบความคิดความจำเดิมๆ ของตนเสมอ การคิดนอกกรอบจึงช่วยให้คิดแก้ปัญหาได้ทุกครั้งจริงๆ และแน่นอน จึงลดทุกข์และเพิ่มสุขในงานได้อย่างดีมาก
3. คิดมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ คือ การคิดที่เป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน จึงสามารถคิดได้รอบคอบ รัดกุม ครอบคลุมครบทุกด้าน จะแก้ปัญหาใดๆ หรือคิดพัฒนางานต่างๆ ที่ทำอยู่ให้มีประสิทธิภาพที่สุดก่อนลงมือทำ งานจะสำเร็จได้ดีและเร็ว เพราะคิดดีแล้วก่อนที่จะทำงานมีเกิดปัญหาน้อยลง จะสามารถสื่อสารและอธิบายสิ่งต่างๆ รวมถึงความคิดของตนให้คนอื่นฟังอย่างเข้าใจตรงจุด ทำให้ลดทุกข์และเพิ่มสุขในงานได้เป็นอย่างดี
สุขและทุกข์ในงานมาจากทักษะการคิดของคนในองค์กร ถ้าคนมีความสุขในงาน งานจะสำเร็จได้เร็ว และองค์กรก็เจริญรุ่งเรืองเร็วขึ้นด้วยองค์กรที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลจึงใส่ใจในการพัฒนาการคิดของคนในองค์กรให้เป็นไปทางสร้างสรรค์ให้มากที่สุด การคิดแบบใหม่ทางสร้างสรรค์นี้ไม่มีในระบบการศึกษา ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงควรฝึกเพิ่มให้กับคนในองค์กรเอง

  • ข้อมูลอ้างอิง : อาจารย์รัศมี ธันยธร ผู้อำนวยการศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ บริษัทศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ จำกัด www.creativitycenter.co.th