เอลี กับ เอโลอี เหมือนกันหรือไม่?
ถาม: ทำไมคำตรัส ของพระเยซูคริสต์บนไม้กางเขนในพระธรรมมัทธิว 27:46 จึงไม่เหมือนกับ มาระโก 15:34 ทั้งๆ ที่แปลเป็นภาษาไทยเหมือนกัน
ตอบ: มัทธิว 27:46 พอเวลาประมาณบ่ายสามโมง พระเยซูทรงร้องเสียงดังว่า “เอลี เอลี ลามา สะบักธานี” แปลว่า “พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย?”
มาระโก 15:34 พอถึงบ่ายสามโมง พระเยซูก็ทรงร้องเสียงดังว่า “เอโลอี เอโลอี ลา มา สะบักธานี” แปลว่า “พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์?”
ทั้งคำว่า “เอลี” และ “เอ โลอี” ต่างก็แปลว่า “พระเจ้าของข้าพระองค์” แต่ “เอลี” เป็นภาษาฮีบรู ส่วนคำว่า “เอโลอี” นั้นนักวิชาการบางคนบอกว่าเป็นภาษาอาราเมค บ้างก็บอกว่าเป็นภาษาฮีบรู อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าคำนี้มาจากคำว่า “เอโลอา” ซึ่งเป็นรูปเอกพจน์ของ “เอโลฮิม” ซึ่ง เป็นภาษาฮีบรูแปลว่า “พระเจ้า” การใช้รูปเอกพจน์ แบบนี้ปรากฏหลายแห่งในพระธรรมโยบ ส่วนอีกสองคำถัดมาคือ “ลามา” เป็นภาษาฮีบรู แปลว่า “ทำไม” “สะบักธานี” เป็นภาษาอาราเมคแปลว่า “ทอดทิ้งข้าพระองค์”
ความแตกต่างของการออกเสียงของพระธรรมสองเล่มนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการต่าง ก็ถกเถียงกันว่าในสมัยของพระเยซูนั้น คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาอาราเมคหรือภาษาฮีบรูเป็นหลักกันแน่ ในปัจจุบันนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าพระเยซูพูดภาษาอาราเมคเหมือนกับชาวยิว ทั่วไปแต่ขณะเดียวกันพระองค์ก็มีความรู้ภาษาฮีบรู เพราะเมื่อพระองค์อายุเพียง 12 ปี พระองค์สามารถซักถามพวกอาจารย์ในพระวิหารได้ (ลูกา 2:45-47)
ภาษาอาราเมคเป็นภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาฮีบรู แลเริ่มมีการใช้กันตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสต์ศักราช เมื่ออัสซีเรียเรืองอำนาจ ภาษาอาราเมคได้กลายเป็นภาษาสากลของคนที่อาศัยอยู่ในโลกตะวันออกใกล้ (ปัจจุบัน คือประเทศอิรักและอิหร่าน) และถูกใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยพระคัมภีร์ใหม่ถึงแม้ภาษากรีกจะมีอิทธิพลมากขึ้น ก็ตาม เมื่อจักพรรดิอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ทำให้กรีกเป็นมหาอำนาจ ได้นำภาษากรีกและวัฒนธรรมกรีกไปเผยแพร่ยังดินแดนที่พระองค์ได้ยึดครอง จนภาษากรีกเป็นภาษาที่ใช้เขียนพระคัมภีร์ใหม่ แต่ภาษาอาราเมคก็ยังเป็นภาษาที่ใช้พูดกันในดินแดนปาเลสไตน์ เราพบว่ายังมีคำภาษาอาราเมคหลายคำถูกใช้ทับศัพท์ในพระคัมภีร์ใหม่เช่น “ทาลิธาคูม” (มาระโก 5:41) “เอฟฟาธา” (มาระโก 7:34) ในขณะเดียวกัน ภาษาฮีบรูก็ยังเป็นภาษาที่มีอิทธิพลอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ เช่น สาวกคนหนึ่งของพระเยซู มีชื่อทั้ง 3 ภาษา คือ เปโตร (กรีก) ซีโมน (ฮีบรู) เคฟาส (อาราเมค) (ยอห์น 1:42 และ เชิงอรรถของข้อนี้)
จากตัวอย่างบางตอนในพระคัมภีร์ เราพอจะสรุปได้ว่าการใช้ 2-3 ภาษาร่วมกันเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากสังคมในสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจากหลายชาติหลายภาษา เช่นเดียวกับสังคมไทยที่แม้จะมีความพยายามที่จะให้คนไทยใช้ภาษาไทยที่ บริสุทธิ์ไม่ปนภาษาต่างชาติ แต่ในความเป็นจริงเราพบว่าคนไทยเลือกใช้คำศัพท์ที่สะดวกและเข้าใจง่าย เช่น “มือถือ” แทนคำว่า “โทรศัพท์เคลื่อนที่” หรือ “โมบายโฟน” และเลือกที่จะพูดว่า “ต่อเน็ต” มากกว่าที่จะพูดว่า “เชื่อมต่อ ระบบเครือข่ายสมองกล”
การที่ผู้เขียนพระธรรมมาระโกและมัทธิวต้องใช้เสียงทับศัพท์ของภาษาฮีบรูและ ภาษาอาราเมคในเวลาเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่าผู้ว่าพระธรรมทั้งสองเล่มอาจจะเคยได้ยินคำเหล่านั้นมาก่อน แล้ว และเป็นการให้ผู้อ่านคิดถึงคำอธิษฐานคร่ำครวญในพระธรรมสดุดี 22:1 ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระเยซูไม่เพียงรับสภาพของมนุษย์ด้าน ร่างกายเท่านั้น พระองค์ยังทรงมีความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพระองค์ทรงแบกรับความบาปของมนุษย์ไว้บนไม้กางเขน ทำให้พระองค์ถูกแยกจากพระเจ้า
นอกจากนั้น การใช้คำทับศัพท์ในตอนนี้เป็นการชี้ชัดว่าพระเยซูเรียกหาพระเจ้า ไมได้เรียกหาผู้เผยพระวจนะเอลียาห์อย่างที่คนยืนใกล้กางเขนเข้าใจผิด เพราะคำว่า “เอลี” เป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับชื่อ “เอลียาห์” (มัทธิว 27:47-49)
เมื่อพระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์แล้ว พระธรรมมัทธิวได้บันทึกต่อไปว่าได้เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งอาจถูกตีความว่าเป็นเหตุการณ์ที่พระเจ้าลงโทษคนที่ตรึงพระเยซูก็ได้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคนเสียชีวิตจากแผ่นดินไหว ในทางตรงกันข้าม แผนดินไหวได้ทำให้อุโมงค์ฝังศพหลายแห่งเปิดออก และมี “ธรรมิก ชน” (คนที่เชื่อพระเจ้า) ที่ตายไปแล้วฟื้นขึ้นมา (มัทธิว27:52) หลังจากนั้นพระเยซูก็ถูกนำไปฝังไว้ในอุโมงค์ และมีหินก้อนใหญ่ปิดปากอุโมงค์ไว้ และพระธรรมมัทธิวก็ได้บันทึกต่ออีกว่า ในเวลาใกล้รุ่งเช้าวันต้นสัปดาห์ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ยิ่งนัก และพระเยซูก็ได้เป็นขึ้นมาจากความตาย (มัทธิว 28:1-10) การ เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ก็ไม่มีใครเสียชีวิตเช่นเดียวกัน
เราจะเห็นว่าการเกิดแผ่นดินไหวทั้งตอนที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ และตอนที่พระองค์ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายนั้น แทนที่จะเป็นการทำลายล้างชีวิตกลับเป็นการให้ชีวิต ดังนั้น ขอให้เราถือเหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องเตือนใจให้เราคาดหวังถึงสิ่งดีที่จะเกิด ขึ้นภายหลังจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะกับเหตุคลื่นยักษ์สึนามิซึ่งเป็นความสูญเสียที่ใหญ่หลวง แต่เราก็ได้เห็นความรักความเอื้ออาทรจากทั้งคนไทยและต่างชาติที่หลั่งไหลไป สู่ผู้ประสบภัย นอกจากนั้น มีรายงานว่าชายหาดหลายแห่งสวยงามกว่าเดิม เพราะไม่มีสิ่งปลูกสร้างมาบดบังธรรมชาติไว้ ส่วนนักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่าทะเลจะมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ที่สำคัญที่สุด สึนามิเป็นปรากฏการณ์ที่เตือนใจให้มนุษย์เตรียมพร้อมที่พบกับการเปลี่ยนแปลง เสมอ
เทศกาลอีสเตอร์เป็นโอกาสที่เราจะยืนยันความจริงที่ว่าความตายไม่ใช่จุดจบของ ชีวิต เมื่อพระเยซูคริสต์ได้สิ้นพระชมน์บนไม้กางเขนแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย พระองค์จึงทรงเป็นความหวังของผู้ที่เชื่อในพระองค์ เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้นในชีวิต เราไม่ควรลืมอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า เพราะพระองค์สามารถเปลี่ยนเหตุร้ายให้กาลเป็นดีได้
- ศจ.ดร.เสรี หล่อกัณภัย
- ภาพ Starline – Freepik.com