แผนการ แห่งความรอด ของพระเจ้า 4/19

แผนการ แห่งความรอด ของพระเจ้า

นานมาแล้วในศตวรรษที่หนึ่ง นายคุกผู้ว้าวุ่นใจถามผู้นำคริสตชนสองท่านว่า “ข้า​แต่​ท่าน ข้าพ​เจ้า​ต้อง​ทำ​อย่าง​ไร​จึง​จะ​ได้​รับ​ความ​รอด?” (กจ.16:30) นี่คือคำถามสำคัญที่สุดซึ่งไม่ว่าใครต่างก็ถามเพื่อจะรู้ความจริง เราว้าวุ่นใจไม่เพียงเพราะความชั่วร้ายที่มีให้เห็นอย่างดาษดื่นในโลกนี้เท่านั้น ในใจของเราก็มีความผิดอยู่มากมายด้วยเช่นกัน เรารู้สึกสำนึกผิด ในความชั่วที่ออกมาจากคำพูด และการกระทำของตนเอง สามัญสำนึกบอกเราว่าเป็นสิ่งที่ ไม่ถูกต้อง บางทีเรารู้สึกตัวว่าตนสมควรถูกพระเจ้าพิพากษา หากเป็นเช่นที่ว่านี้ เราจะแก้ไขอย่างไร หรือมีอะไรบ้างที่แก้ไขไปแล้ว ที่จะช่วยกอบกู้เราจากสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้? คำตอบอยู่ที่การเข้าใจแผนการของพระเจ้าโดยสังเขปและราชกิจเพื่อนำเอาความรอดมาให้เราทั้งหลาย ดังรายละเอียดความจริงที่จะนำมาเปิดเผยให้เห็นชัดเจนดังนี้

แผนการของพระเจ้าโดยสังเขป

  • การเนรมิตสร้าง พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างโลกและสรรพสิ่งในนั้น “ใน​ปฐมกาล ​พระ​เจ้า​ทรง​เนรมิต​สร้างฟ้า​และ​แผ่นดิน​…พระ​เจ้า​จึง​ทรง​สร้าง​มนุษย์​ขึ้น​ตาม​พระ​ฉายา​ของ​พระ​องค์ ตาม​พระ​ฉายา​ของ​พระ​เจ้า​นั้น ​พระ​องค์​ทรง​สร้าง​มนุษย์​ขึ้น” (ปฐก.1:1,27) พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เหมือนกับพระองค์ เพื่อจะมีความผูกพันใกล้ชิดกับพระองค์อย่างแนบแน่น เมื่อทุกสิ่งสำเร็จแล้ว พระเจ้า “ทรง​เห็น​ว่า​ดี​นัก” (ปฐก.1:31)
  • การกบฏ แม้นว่าอาดัมและเอวา มนุษย์คู่แรกที่พระเจ้าทรงสร้างมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ ในการมีชีวิตที่สนิทสนมและไว้วางใจพระองค์ ทว่าพวกเขากลับเลือกกบฏต่อพระองค์ (ปฐก. 3:1-7) ทั้งนี้เพราะพระเจ้าทรงประสงค์ให้อาดัมเป็นผู้แทนของมนุษยชาติ ความบาปของเขาจึงเป็นหายนะอันใหญ่หลวงไม่เพียงเกิดขึ้นกับตัวเขาเท่านั้น หายนะนี้เกิดขึ้นกับเราทั้งหลายด้วย “การ​พิพากษา​ลงโทษ​ได้​มาถึง​คน​ทั้ง​ปวง เพราะ​การ​ละเมิด​ครั้ง​เดียว” (โรม 5:18) ความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้าจึงขาดสะบั้นลง แทนการได้ชื่นชมยินดีในความชอบพระทัยของพระองค์ เรากลับต้องเผชิญกับพระพิโรธอันชอบธรรมของพระเจ้า จิตวิญญาณของเราทั้งหลายต้องตาย เพราะความบาปของเขา (ดู รม.3:1-20; อฟ.2:1-10) และโลกทั้งหมดได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า พระเจ้าทรงแช่งสาปโลก ซึ่งมนุษย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ครอบครอง ในฐานะผู้แทน (ดู ปฐก.3:17-19) “เพราะ​ว่า​สรรพ​สิ่ง​เหล่า​นั้น​ต้อง​เข้า​อยู่​ใน​อำ​นาจ​ของ​อนิจ​จัง ไม่​ใช่​ตาม​ใจ​ชอบ​ของ​ตน​เอง แต่​เป็น​ไป​ตาม​ที่​พระ​เจ้า​ได้​ทรง​ให้​เข้า​อยู่​นั้น” (รม. 8:20) และด้วยเหตุนี้ ชีวิตของทุกคนต่างมีบาปต่อสู้กับพระเจ้า “เพราะ​ว่า​ทุก​คน​ทำ​บาป และ​เสื่อม​จาก​พระ​สิริ​ของ​พระ​เจ้า” (รม.3:23)
  • การไถ่ให้รอด พระเจ้าสามารถปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามนั้น โดยให้มนุษย์ทั้งปวงตกอยู่ภายใต้การพิพากษาที่ชอบธรรมของพระองค์ กระนั้นก็ตาม พระองค์หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ แทนการกระทำดังกล่าว พระเจ้าทรงมีแผนการเพื่อช่วยกู้ประชากรของพระองค์จากความบาป การที่ต้องถูกพิพากษา และปลดปล่อยสรรพสิ่งที่ทรงสร้าง ซึ่งตกอยู่ภายใต้บาปและคำแช่งสาป พระองค์ทำอย่างไร? ก็โดยการส่งพระบุตรของพระองค์ ผู้เป็นมนุษย์แท้ ผู้จะมารับโทษบาปของเรา และตายแทนที่เราทั้งหลาย “พระ​คริสต์​วาย​พระ​ชนม์​เพราะ​บาป​ของ​เรา ตาม​ที่​เขียน​ไว้​ใน​พระ​คัม​ภีร์” (1 คร.15:3) ข้อพระธรรมที่รู้จักดีที่สุดในพระคัมภีร์สรุปให้เห็นถึงการตอบสนองต่อข่าวดี ดังนี้ “พระ​เจ้า​ทรง​รัก​โลก​ดัง​นี้ คือ​ได้​ประทาน​พระ​บุตร​องค์​เดียว​ของ​พระ​องค์ เพื่อ​ทุก​คน​ที่​วาง​ใจ​ใน​พระ​บุตร​นั้น​จะ​ไม่​พินาศ แต่​มี​ชีวิต​นิรันดร์” (ยน.3:16) การ “เชื่อใน” พระเยซูรวมทั้งการไว้วางใจการการที่พระองค์ทรงให้อภัยความบาปทั้งหลายอย่างสุดจิตสุดใจ และตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะละทิ้งบาปของตน หรือการ “กลับใจใหม่” บรรดาผู้ที่ “กลับ​ใจ​ใหม่ (จากบาปทั้งหมดของตน) และ​เชื่อ​ (พระเยซูให้อภัยบาปของตน)” จะได้รับความรอด (มก. 1:15) จะได้กลับคืนดี มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้าอีกครั้ง การ “เชื่อใน” ในพระเยซูจำเป็นต้องมีสัมพันธ์สนิท และไว้วางใจพระเยซู ผู้ทรงเป็นสัจจะ มิใช่เพียงบุรุษผู้หนึ่งจากประวัติศาสตร์โบราณ แต่เชื่อว่า พระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงพระชนม์อยู่ในขณะนี้ ผู้ทรงทราบจิตใจของเราและยินดีรับฟังคำอธิษฐานของเราทั้งหลายเสมอ
  • ความสำเร็จสมบูรณ์ พระเจ้ามิได้เพียงช่วยกู้คนบาปทั้งหลายให้รอดเท่านั้น พระองค์ทรงนำทุกสิ่งทุกอย่างกลับสู่สภาพดีดังเดิมด้วย พระธรรมโรม 8:21 กล่าวว่า “ด้วย​มี​ความ​หวัง​ว่า สรรพ​สิ่ง​เหล่า​นั้น​จะ​ได้​รอด​จาก​อำ​นาจ​แห่ง​ความ​เสื่อม​สลาย และ​จะ​เข้า​ใน​เสรี​ภาพ​และ​ศักดิ์​ศรี​แห่ง​ลูกๆ ของ​พระ​เจ้า” ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกจะ “หายลับไป” และจะสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่เหลือสิ่งเก่าให้เห็นอีกต่อไป (2 ปต.3:7-19; วว.21:1) เราเห็นรัศมีรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่นี้ในพระธรรมวิวรณ์ เมื่อบรรดาประชากรของพระเจ้า ผู้ได้รับการไถ่แล้ว จะได้พำนักอยู่กับพระเจ้าตลอดไปเป็นนิตย์ (วว. 21:1-22:6) นี่คือภาพของชีวิตที่ควรจะเป็น ตามพระประสงค์ของพระเจ้าตั้งแต่เริ่มแรก

รายละเอียดของเรื่องราวทั้งหมด

เพื่อให้เข้าใจแผนการทั้งหมดของพระเจ้าอย่างละเอียด จึงควรที่จะเข้าใจคำถามซึ่งเกี่ยวกับ พระเจ้า มนุษย์ พระคริสต์ การตอบสนองและผลที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ ดังต่อไปนี้ 

  • พระเจ้า พระเจ้าในพระคัมภีร์ คือพระองค์เดียวผู้ทรงเป็นพระเจ้าแท้ ทรงเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เหนือบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งปวง พระองค์ทรงดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ใดหรือสิ่งใด พระองค์ทรงดำรงอยู่ตลอดนิรันดร์ เป็นพระเจ้าเดียว ในสามพระภาค คือ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นสภาพที่ล้ำลึกเกินกว่าความเข้าใจของเรา ทว่า มิได้มีความขัดแย้งกันและกัน พระองค์ทรงวางแผนและดำเนินกิจการทุกอย่างตามพระทัยซึ่งทรงเห็นว่าดี “​ตาม​พระ​เจต​นา​รมณ์​ของ​พระ​เจ้า​ผู้​ทรง​ทำ​กิจ​ทุก​อย่าง​ตาม​พระ​ดำริ​แห่ง​พระ​ทัย​ของ​พระ​องค์” (อฟ.1:11) พระเจ้าทรงสร้างโลกและทำกิจการต่างๆ ในปัจจุบัน ตามแผนงานที่ทรงเห็นว่าสมบูรณ์แบบ บริสุทธิ์ ดีงาม และกระทำด้วยความรัก ในทำนองเดียวกัน พระเจ้าผู้สมบูรณ์แบบพระองค์นี้ ทรงสร้างสรรพสิ่งตามพระประสงค์ของพระองค์อย่างไร พระองค์ก็ทรงกอบกู้คนทั้งหลายที่ได้กบฏต่อสู้กับพระองค์อย่างนั้น กิจการนี้ก็เช่นกัน มิได้กระทำเพราะมีผู้ใดหรือสิ่งใดภายนอกบังคับให้ต้องทำ ทว่า ทรงกระทำ “โดย​พระ​เมต​ตา​ล้น​เหลือ​ของ​พระ​องค์ ทรง​โปรด​ให้​เรา​บัง​เกิด​ใหม่ เข้า​ใน​ความ​หวัง​ที่​ยั่ง​ยืน โดย​การ​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​คริสต์” (1 ปต.1:3)
  • มนุษย์ มนุษย์ถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระเจ้า (ปฐก.1:27) ข้อความนี้หมายถึงอะไร? ในความหมายส่วนหนึ่งก็คือ เราได้รับสิทธิพิเศษให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพระเจ้า ผู้รับอำนาจปกครองรองมาจากพระองค์ เพื่อปกครองสรรพสิ่งที่พระองค์สร้างไว้ ปกครองเหนือสิ่งมีชีวิตในโลก เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าพระเจ้าทรงปกครองเราอย่างดีเพียงใด สิทธิอำนาจของเราได้รับมาจากพระเจ้า (อฟ.3:14-15) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสื่อให้เห็นการปกครองของพระองค์ แต่เหนือกว่าการทำหน้าที่นี้ การมีพระฉายาของพระเจ้า หมายถึงการมีลักษณะเหมือนพระเจ้าในหลายด้าน เช่น เรามีชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ คิดหาเหตุผล เหมือนพระเจ้า เรามีการติดต่อสื่อสาร และสร้างความสัมพันธ์ เหมือนพระเจ้า ชีวิตของเราดำรงอยู่ตลอดนิรันดร์ เหมือนพระเจ้า อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์สอนเราด้วยว่า ผลกระทบจากความบาปของอาดัมและเอวา ตามที่บันทึกไว้ในปฐมกาลบทที่ 3 ดำรงอยู่ตลอดไปด้วยเช่นกัน เพราะความบาป เราจึงเกิดมามีสภาพลักษณะนิสัยได้รับผลของการล้มลงในบาป เรามีอุปนิสัยหันเหไปจากพระเจ้าและหันหน้าไปหาบาปในทุกสิ่งของชีวิต แม้ว่าไม่ได้เลวร้ายอย่างสุดขั้วอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็หาได้เป็นคนดีได้อย่างที่ควรจะเป็นเช่นเดียวกัน ขณะนี้เราทุกคนเป็นคนบาป ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตล้วนอยู่ในวังวนของบาป (รม.3:23) เราต่างเสื่อมทรามและเลือกดำเนินชีวิตในทางผิดเสมอ เราไม่ใช่คนบริสุทธิ์ ความจริงแล้วมีแนวโน้มทำสิ่งชั่วร้าย ไม่รักพระเจ้า และด้วยเหตุนี้จึงอยู่ภายใต้การลงโทษที่ยุติธรรม นำไปสู่ความพินาศนิรันดร์ โดยที่ไม่อาจปกป้องตัวเองหรือแก้ตัวได้เลย เราผิดเพราะทำบาปต่อสู้พระเจ้าอย่างต่อเนื่อง ไม่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า และตกอยู่ภายใต้คำแช่งสาปของปฐมกาลบทที่ 3 พระสัญญาของการพิพากษาโทษอันยุติธรรมของพระเจ้าที่จะตกแก่เราในอนาคต ได้รับการยืนยันว่าจะเกิดขึ้นแก่เราตลอดไป (“เพราะ​ว่า​ค่า​จ้าง​ของ​บาป​คือ​ความ​ตาย” รม. 6:23) นี่คือสภาพการณ์ที่เราจำเป็นต้องหลุดพ้นให้ได้

  • พระเยซูคริสต์ จากสภาพที่สิ้นหวังและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ของบรรดามนุษย์ ทำให้พระเจ้าผู้ “ทรง​รัก​เรา และ​ทรง​ใช้​พระ​บุตร​ของ​พระ​องค์​มาเพื่อ​เป็น​เครื่อง​บูชา​ลบ​บาปของ​เรา” (1 ยน.4:10)
    • ทรงเป็นพระเจ้าแท้ พระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงดำรงอยู่นิรันดร์ร่วมกับพระบิดาและพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทรงมีคุณลักษณะความเป็นพระเจ้าครบถ้วนทุกประการ ได้เสด็จมาเป็นมนุษย์ พระองค์ประสูติจากมารีย์ หญิงพรหมจารี มีพระนามว่า เยซู พระบุตรเสด็จเข้ามาในโลกโดยมีเป้าหมาย พระองค์เสด็จมาเพื่อ “ให้​ชีวิต​ของ​ท่าน​เป็น​ค่า​ไถ่​คน​จำ​นวน​มาก” (มก. 10:45) ซึ่งหมายถึง พระองค์เสด็จมาเพื่อไถ่เราทั้งหลายจากความบาปและความผิด พระองค์ไม่ได้เสด็จมาเป็นเครื่องบูชาโดยไม่มีเจตนาหรือไม่สมัครใจ ทรงปฏิบัติตามพระ บิดาของพระองค์ เลือกที่จะรักมนุษย์โลกเช่นนี้ แม้นว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์แท้ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแท้ด้วยเช่นกัน ตลอดเวลาที่ทรงประทับอยู่ในโลกนี้ (และยังคงเป็นพระเจ้าแท้จนถึงทุกวันนี้) พระเยซูทรงสอนอย่างชัดเจน ให้เห็นความเป็นพระเจ้าของพระองค์ที่สำเร็จตามคำพยากรณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสด็จมาของพระเจ้า (มก.14:61-62) พระเยซูทรงอภัยบาปทั้งหลาย (มก.2:5) ทรงยอมรับการนมัสการ (ยน.20:28; วว.5) และสอนว่า “เรา​กับ​พระ​บิดา​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน” (ยน.10:30)
    • ทรงเป็นมนุษย์แท้ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นมนุษย์แท้ด้วย พระองค์ไม่ใช่พระเจ้าที่แสร้งมาเป็นมนุษย์ ทั้งที่ไม่ใช่มนุษย์ พระเยซูทรงเป็นมนุษย์แท้ (และยังคงเป็นมนุษย์แท้จนถึงทุกวันนี้) พระองค์ทรงถือกำเนิดและมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของบิดามารดาในโลกนี้ พระองค์มีร่างกายเป็นมนุษย์แท้ “​เจริญ​วัย​แข็ง​แรง​ขึ้น เต็ม​เปี่ยม​ด้วย​สติ​ปัญ​ญา” (ลก.2:40) พระองค์เรียนรู้อาชีพการเป็นช่างไม้ (มก.6:3) เคยผ่านประสบการณ์ความหิวโหย กระหายน้ำ และอ่อนเพลีย เผชิญการทดลอง และในที่สุดทนทุกข์ทรมานจนตาย พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าแท้และเป็นมนุษย์แท้ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เป็นพระบุตรนิรันดร์ของพระบิดา เสด็จมาเป็นมนุษย์ เพื่อช่วยคนบาปทั้งหลายให้รอด ทรงมีชีวิตสมบูรณ์แบบ พระเยซูคริสต์ทรงมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ความจริงแล้ว การประพฤติและการกระทำทุกอย่างของพระองค์ดีพร้อมไร้ตำหนิ พระดำรัสของพระองค์ดีงาม ทรงตรัสตามที่พระบิดาทรงตรัสไว้ “​สิ่ง​ที่​เรา​พูด​นั้น เรา​ก็​พูด​ตาม​ที่​พระ​บิดา​ทรง​บอก​เรา” (ยน. 12:50) พระองค์ทรงกระทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระบิดา (ยน. 5:19 ตัวอย่างเช่น ลก.22:42) ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูจึงสรุปว่า “เพราะ​ว่า​เรา​ไม่​ได้​มี​มหา​ปุโร​หิต​ที่​ไม่​สา​มารถ​จะ​เห็น​ใจ​ใน​ความ​อ่อน​แอ​ของ​เรา แต่​ทรง​เคย​ถูก​ทด​ลอง​ใจ​เหมือน​เรา​ทุก​อย่าง ถึง​กระ​นั้น​พระ​องค์​ก็​ยัง​ปราศ​จาก​บาป” (ฮบ. 4:15) พระเยซูทรงดำเนินชีวิตด้วยความรักพระบิดาอย่างสุดจิตใจต่อเนื่องไม่มีบกพร่อง ซึ่งอาดัมและ เอวา คนอิสราเอล และเราทั้งหลาย ควรดำเนินชีวิตเฉกเช่นเดียวกัน พระองค์ไม่สมควรต้องรับการลงโทษจากพระเจ้า เพราะไม่เคยขัดขืน ไม่เชื่อฟัง
    • ทรงสั่งสอน พระเยซูเสด็จมาเพื่อสอนความจริงของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับพระองค์เอง (มก.1:38; 10:45; ลก. 20:42; 24:44) พระองค์สอนความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของพระองค์กับพระเจ้า (ยน.14) การเสด็จมาทำหน้าที่ของพระองค์ และหน้าที่ในการตอบสนองของเรา พระองค์ทรงอธิบายความหมายของพระคัมภีร์ในพันธ-สัญญาเดิมที่เกี่ยวกับพระองค์ (ลก. 24:44)
    • ทรงถูกตรึงกางเขน แต่ทว่าพระเจ้าทรงให้พระบุตรของพระองค์มาเพื่อตายเพื่อเราทั้งหลายโดยเฉพาะ (มก.10:45;ยน.3:16-18) นี่คือวิธีที่พระเจ้าทรงเผยให้เห็นความรักของพระองค์ที่มีต่อเราทั้งหลาย (รม.5:8; 1 ทธ.2:6) พระเยซูทรงชำระโทษความตายของเราด้วยความตายของพระองค์ การตรึงพระเยซูบนไม้กางเขนเป็นการกระทำที่น่าสยดสยองจากน้ำมือของคนที่ก่อการวุ่นวาย ปฏิเสธไม่ยอม รับพระองค์ พวกเขาลงโทษ ดูหมิ่นล้อเลียน ทรมาน และตรึงพระองค์ แต่ในขณะเดียวกัน กลับเป็นสิ่งที่เผยให้เห็นถึงความรักที่เสียสละอย่างไม่เห็นแก่ตัวของพระเจ้าเช่นกัน ในเมื่อ พระบุตรของพระเจ้ายอมมารับโทษ พระพิโรธของพระเจ้าอันเนื่องมาจากความบาปของเราทั้งหลาย (ฉธบ.21:23;อสย.53:5;รม.3:25-26; 4:25; 5:19; 8:3; 2 คร.5:21;ฟป. 2:8;ฮบ.9:28)
    • ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย เสด็จขึ้น และการเสด็จกลับมา หลังจากถูกตรึงจนสิ้นพระชนม์ ในวันที่สาม พระเจ้าทรงโปรดให้พระเยซูเป็นขึ้นมาจากความตาย สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการทำหน้าที่รับใช้ของพระคริสต์ได้รับการยอมรับจากพระเจ้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าทรงยอมรับการถวายบูชาของบรรดาผู้ที่กลับใจใหม่และเชื่อการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู (รม.1:4; 4:25) พระองค์เสด็จขึ้นไปสวรรค์และ “จะ​เสด็จ​มา​อีก​ใน​ลักษณะ​เดียว​กับ​ที่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ได้​เห็น​พระ​องค์​เสด็จ​ไป​ยัง​สวรรค์​นั้น” (กจ.1:11) การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูจะทำให้แผนการไถ่ให้รอดของพระเจ้าสำเร็จสมบูรณ์
  • การตอบสนองของเรา เมื่อพระเจ้าทรงกระทำทุกสิ่งเหล่านี้โดยพระคริสต์ เราทั้งหลายต้องทำสิ่งใดเพื่อจะรอด? เราจะต้องหันกลับไปหาพระเจ้าโดยทางพระคริสต์ โดยมีเงื่อนไขว่าเราต้องหันหลังให้ความบาป หากเรา กลับใจใหม่ (ตัดสินใจละทิ้งและหัน เสียจาก) ความบาปของตนเอง (ตามที่เราเข้าใจดี) และวางใจในพระคริสต์ ว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ เราจะรอดจากพระพิโรธอันชอบธรรมของพระเจ้าที่ต่อความผิดบาปของเรา การตอบสนองด้วยการกลับใจใหม่และมีความเชื่อ (หรือวางใจ) มีคำอธิบายดังรายละเอียดต่อไปนี้
    • หันมาหาพระเจ้า ในพันธสัญญาเดิม พระเจ้าทรงตรัสสั่งให้ประชาชนหันกลับไปหาพระองค์ และเพื่อจะรอด (ตัวอย่าง เช่น อสย.6:10;ยรม.18:8) ในพันธสัญญาใหม่ พระคริสต์ทรงเทศนา ประกาศให้คนทั้งหลายให้หันกลับมาหาพระเจ้า และเปาโลได้สรุปนำเอาถ้อยคำนั้นมาประกาศในการเทศนาของท่านว่า “เพื่อ​ให้​เขา​ทั้ง​หลาย​กลับ​ใจ​ใหม่​และ​หัน​มา​หา​พระ​เจ้า และ​ทำ​สิ่ง​ที่​แสดง​ถึง​การ​กลับ​ใจ​ใหม่” (กจ.26:20 เปรียบเทียบกับ กจ.26:18) ด้วยเหตุนี้ ขณะที่เปาโลกล่าวไว้แล้วก่อนหน้านี้ ท่านประกาศว่า “เป็น​พยาน​ทั้ง​กับ​พวก​ยิว​และ​พวก​กรีก​เรื่อง​การ​กลับ​ใจ​มา​หา​พระ​เจ้า​และ​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​เยซู​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ของ​เรา” (กจ.20:21) กลับใจใหม่ หมายถึงกลับมา และการกลับมาที่เราเรียกร้องให้ทำนี้ เพื่อจะรอดนั้น เป็นพื้นฐานของการเข้าหาพระเจ้า ยากอบ กล่าวถ้อยคำต่อไปนี้ ท่านกล่าวถึงคนต่าง ชาติ “ผู้ ​กลับ​มา​หา​พระ​เจ้า” (กจ.15:19) การ “กลับมาหา” ในพระคัมภีร์ คือการหันเหชีวิตของท่านไปหาผู้ใดผู้หนึ่ง ในฐานะประชากรของพระเจ้า คือบรรดาผู้ที่รอดแล้ว เรามีบทบาทในฐานะของบุตรหลงหาย ผู้สำนึกได้ว่าเป็นคนบาป ทำผิด และโง่เขลา หนีไปจากพระบิดา (ลก.15:20) เปาโลเรียกร้องให้ชาว ลิสตราให้หันมาหาพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ (กจ.14:15) เปาโลกล่าวถึงคริสตชนชาวกาลาเทีย ว่าให้มาหาพระเจ้าในฐานะผู้ “รู้จักพระเจ้าแล้ว” (กท.4:9) การกลับใจใหม่คือการกระทำดังต่อไปนี้ เราหันกลับมาหา เรากลับมาหาพระเจ้า และนับตั้งแต่นี้ต่อไป รู้จักพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าที่ให้อภัยความบาปทั้งหลายของเรา และรับเราไว้ด้วยเห็นแก่พระคริสต์
    • หันจากบาป การกลับมาหาพระเจ้าหมายถึง ความจำเป็นที่ต้องหันมาจากบาป พระคัมภีร์ทั้งเล่ม ทั้งพันธสัญญาเดิมและใหม่ สอนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการกลับใจใหม่คือ “ยอม​รับ​พระ​นาม​ของ​พระ​องค์ และ​หัน​กลับ​จาก​บาป​ของ​ (เรา) เขา” (1 พกษ.8:35 เปรียบเทียบกับ 2 พศด.7:14 ยรม.36:3 อสค.14:6; 18:30 กจ.3:19; 8:22; 26:18 วว.2:21; 9:20-21; 16:11) เราไม่สามารถเริ่มต้นแสวงหาพระเจ้าและบาปในเวลาเดียวกัน พระธรรม 1ยอห์น กล่าวไว้ชัดเจนถึงพื้นฐานเบื้องต้นของหนทางชีวิตว่า ถ้าไม่หันกลับไปหาพระเจ้าและความสว่างของพระองค์ ก็หันไปหาความมืดและความบาป แม้ว่าในชีวิตนี้ คริสตชนยังคงมีบาป แต่เป็นสิ่งที่ต่อสู้กับความปรารถนาส่วนลึกในใจ และการพินิจพิจารณาที่ดีของเราเสมอว่า ไม่ให้บาปนำทางชีวิตเหมือนเมื่อก่อน เราไม่เป็นทาสของบาปอีกต่อไปแล้ว ถึงแม้ว่ายังคงปล้ำสู้กับความบาปอยู่ก็ตาม (กท.5:17) พระเจ้าได้มอบของประทานการกลับใจใหม่ (กจ.11:18) และเราเป็นอิสระจากอำนาจการครอบงำของบาปแล้ว
    • เชื่อและวางใจ หากจะกล่าวในอีกแง่หนึ่ง การตอบสนองของเราคือ การเชื่อและวางใจในพระสัญญาของพระเจ้าในพระคริสต์ และมอบชีวิตของเราในฐานะสาวกให้แก่พระองค์ผู้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ ในบรรดาพระดำรัสแรกของพระเยซูในพระกิตติคุณมาระโก เมื่อทรงตรัสว่า “จง​กลับ​ใจ​ใหม่ และ​เชื่อ​ข่าว​ประ​เสริฐ” ความเชื่อฟังซึ่งประชากรของพระเจ้าแสดงออกมาให้เห็น เริ่มต้นด้วยการกลับใจใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อและวางใจที่เรามีต่อพระองค์และในพระดำรัสของพระองค์ (ตัวอย่างเช่น ยชว.22:16 กจ.27:25) ด้วยเหตุนี้ บางครั้งมีการเรียกความบาปว่าเป็นการ “ละเมิดความเชื่อที่มีต่อพระเจ้า” (ตัวอย่างเช่น อสร.10:2,10) การมีความเชื่อในพระคริสต์ ซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ประทับตราความสนิทสนมไว้แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงนับว่า ความชอบธรรมของพระคริสต์ คือความชอบธรรมของเรา (รม.3: 21-26; 5:17-21;กท.2:16;อฟ.2:8-9;ฟป. 3:9) ดังที่เปาโลกล่าวไว้ว่าเป็น “ความ​รอด​โดย​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​เยซู​คริสต์” (2ทธ.3:15) บ่อยครั้ง ที่การกลับใจใหม่และความเชื่อมีจุดเริ่มต้นมาจากการแสดงออกต่อพระเจ้าด้วยการอธิษฐานต่อพระองค์
    • เจริญขึ้นในทางของพระเจ้าและต่อสู้เพื่อจะได้ความบริสุทธิ์ คำกล่าวเกี่ยวกับความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่เราปฏิบัติ ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งนี้เป็นของประทานจากพระเจ้า “เพราะ​ว่า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ได้​รับ​ความ​รอด​แล้ว​ด้วย​พระ​คุณ​โดย​ทาง​ความ​เชื่อ ความ​รอด​นี้​ไม่​ใช่​มา​จาก​ตัว​ท่าน แต่​เป็น​ของ​ประ​ทาน​จาก​พระ​เจ้า ไม่​ใช่​มา​จาก​การ​กระ​ทำ เพื่อ​ไม่​ให้​ใคร​อวด​ได้” (อฟ.2:8-9) ในขณะเดียวกัน เปาโลอธิบายว่า คริสตชนรู้จักการต่อสู้ภายในตัวของเขาดี “เพราะ​ว่า​ความ​ต้อง​การ​ของ​เนื้อ​หนัง​ขัด​แย้ง​พระ​วิญ​ญาณ และ​พระ​วิญ​ญาณ​ก็​ขัด​แย้ง​เนื้อ​หนัง เพราะ​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​ต่อ​สู้​กัน ดัง​นั้น​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จึง​ไม่​สา​มารถ​ทำ​สิ่ง​ที่​ท่าน​ปรารถ​นา​จะ​ทำ” (กท.5:17) ของประทานความรอดของพระเจ้าได้มอบให้แก่ คริสตชนทั้งหลาย เพียงแต่หลักฐานความรอดนั้นแสดงให้เห็นจากการดำเนินชีวิตตามความรอดนั้น ซึ่งเป็นภารกิจต่อเนื่องโดยพระวิญญาณของพระเจ้า เราอาจหลอกตัวเองได้ ดังนั้นเปาโลจึงหนุนใจผู้อ่านของท่านว่า “จง​พิจาร​ณา​ตัว​เอง​ดู​ว่า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ดำ​รง​อยู่​ใน​ความ​เชื่อ​หรือ​ไม่ จง​พิสูจน์​ตัว​เอง พวก​ท่าน​ไม่​ตระ​หนัก​ว่า​พระ​เยซู​คริสต์​สถิต​อยู่​ใน​ท่าน​ทั้ง​หลาย​หรือ? นอก​จาก​พวก​ท่าน​ไม่​สา​มารถ​ผ่าน​การ​พิสูจน์” (2คร.13:5) เปโตรหนุนใจคริสตชนให้เติบโตขึ้นในทางของพระเจ้า และมีความมั่นใจในการได้รับการทรงเลือกมากยิ่งขึ้น (2ปต.1) เรามิอาจสร้างความรอดของตนเองด้วยการประพฤติ ทว่า เราสะท้อนและแสดงออกมา และเติบโตอย่างยั่งยืนในความรอดนั้น เพราะคริสตชนเช่นเรามีความโน้มเอียงหลอกลวงตนเอง จึงควรอุทิศเวลาในการศึกษาพระวจนะของพระเจ้า เพื่อจะได้รับการสั่งสอนและหนุนใจในความรอด และสิ่งใดที่ไม่สอดคล้องกับพระวจนะ พระเยซูทรงตรัสถึงลักษณะของผู้ติดตามพระองค์ไว้ (ดู มธ.5-7) หรือเปาโลได้แจกแจงผลของพระวิญญาณซึ่งทำงานอยู่ในเราทั้งหลาย (ดู กท.5:22-23) พระวจนะทำหน้าที่เหมือนแผนที่จิตวิญญาณ ช่วยให้เราเห็นว่า ขณะนี้ดำเนินไปตามหนทางแห่งความรอดหรือไม่

ผลลัพธ์

แผนการของพระเจ้ามีไว้เพื่อช่วยประ-ชากรของพระองค์ให้รอดพ้นจากบาปทุกอย่าง ที่สุดแล้วก็เพื่อนำคนเหล่านั้นมาหาพระองค์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ (มธ.1:21; 2 ทธ.2:10) อีกนัยหนึ่ง ประสบการณ์ในความรอดของ คริสตชนในชีวิตนี้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และเราคาดหวังที่จะได้รับความรอดครบบริบูรณ์ในอนาคต คริสตชนรอดแล้วจากโทษของบาป ทั้งหลายของเรา ขณะนี้จึงอยู่ในสภาพของผู้ที่รอดแล้วจากอำนาจของบาป และสักวันหนึ่ง เมื่อแผนการแห่งความรอดของพระเจ้าสำเร็จสบูรณ์ เมื่อเราทั้งหลายได้อยู่กับพระคริสต์แล้ว ก็จะเป็นเหมือนพระองค์ และจะรอดพ้นจากการปรากฏของบาปอย่างสิ้นเชิง นี่แหละคือ แผนการไถ่ให้รอดของพระเจ้า

  • แปลโดย ศาสนาจารย์ ดร.สุรเชษฐ์ อินสม 
  • ภาพ www.freepik.com