แอปเปิ้ลหรือลูกท้อ? 1/07

แอปเปิ้ลหรือลูกท้อ?

คำถาม : ในพระธรรม “เพลงซาโลมอน” มีหลายตอนที่พระคัมภีร์ไทยใช้คำว่า “ลูกท้อ” แต่ในฉบับภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ใช้คำว่า “แอปเปิ้ล” (apple)   เช่นเพลงซาโลมอนบทที่ 2 ข้อ 5   “จงชูกำลังของดิฉันด้วย ขนมองุ่นแห้ง   ขอทำให้ดิฉันชื่นใจด้วยผลลูกท้อ   เพราะดิฉันป่วยเป็นโรครัก”  ทำไมพระคัมภีร์ไทยจึงไม่ใช้ “แอปเปิ้ล” ตามพระคัมภีร์ภาษา อังกฤษ?

คำตอบ :   คำว่า “ลูกท้อ” หรือ “ต้น ท้อ” ยังมีปรากฏอยู่อีกสามแห่งในเพลงซาโลมอน (2:3; 7:8; 8:5) แต่ในฉบับภาษาอังกฤษหลายฉบับ (เช่น King James, NIV, NRS, RSV)และพจนานุกรมฮีบรู – อังกฤษหลายเล่ม แปลคำนี้เป็น “แอปเปิ้ล” (apple) ซึ่งเป็นไม้คนละชนิดกับท้อในพระ คัมภีร์ไทย อีกทั้งสมาคมพระคริสตธรรมไทยก็ไม่ได้ใช้คำว่า“แอปเปิ้ล” ในพระคัมภีร์ไทยเลย 

ในพระคัมภีร์เล่มที่เป็นโคลงกลอนได้บอกให้เรารู้ถึงลักษณะของพืชผลชนิดนี้ ว่า มีร่มเงา สวยงาม มีกลิ่นหอม และมีความหวาน เพลงซาโลมอนได้บรรยายลักษณะคนรักของเจ้าสาวเหมือนต้นไม้นี้ คือมีร่มเงาที่น่ารื่นรมย์ (2:3; 8:5)  ผลก็มีรสหวาน (2:3) และเจ้าสาวที่ป่วยเป็นโรครักก็ตามหาผลของมัน (2:5) ทั้ง ลมหายใจของเจ้าสาวก็เหมือนกับกลิ่นหอมของผลไม้นี้ (7:8) ในพระ ธรรมสุภาษิตก็อ้างถึงผลไม้ชนิดเดียวกันนี้คือ “ถ้อยคำที่พูดเหมาะๆ จะเหมือนลูกท้อทองคำ ล้อมเงิน” (25:11) ในบริบทนี้อาจจะเป็นสีตามธรรมชาติของลูกท้อ หรือเป็นการประดับประดาให้สวยงามยิ่งขึ้น แต่ที่แน่นอนคือมันมีความสวยงาม 

เมื่อมาวิเคราะห์ดูคำที่ใช้ใน ภาษาฮีบรู คือ ทัพพูอัค   การแปลคำนี้เป็น “แอปเปิ้ล” นั้นอาจ ตรงในเชิงคุณลักษณะที่บรรยายไว้ในพระคัมภีร์ เนื่องจาก “แอปเปิ้ล” เป็นไม้ให้ร่มเงา มีกลิ่นหอมและหวาน แต่ในความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์แล้วไม่มีต้นไม้นี้ในดินแดนพระคัมภีร์ (ประเทศในแถบปาเลสไตน์ปัจจุบัน) เว้นเสียแต่ในที่ห่างไกลมากๆ และในพื้นที่ห่างไกลเหล่านั้นถึงแม้จะมี “แอปเปิ้ล” แต่ผลที่ได้ก็มีคุณภาพต่ำคือผลเล็กและมีรส ชาติเปรี้ยวซึ่งแตกต่างจากลักษณะที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์ คาดว่าพระคัมภีร์ฉบับแปลอังกฤษเหล่านั้นคงจะเชื่อม ทัพพูอัค เข้ากับ ทัฟฟัค ในภาษาอาหรับที่แปลว่า “แอปเปิ้ล” ซึ่งคงเป็นความเข้าใจผิด ฉะนั้น “แอปเปิ้ล” (ชื่อ ทางวิทยาศาสตร์ Pyrus malus หรือ Malus pumila) จึงไม่น่าจะเข้ากับภาพลักษณ์เชิงโคลงกลอนในสมัยพระ คัมภีร์ จึงได้มีการพิจารณาใหม่ว่าที่จริงแล้วต้นหรือผลนี้คือพืชชนิดใดแน่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ดังต่อไปนี้
มะงั่ว (citron) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Citrus medica ซึ่งใช้หมักดองหรือเชื่อม 

สัมสีทอง (golden orange) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Citrus sinensis ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ในปัจจุบัน 
ควินซ์ (quince) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Cydonia oblonga เป็นผลไม้พื้นเมืองของดินแดนพระคัมภีร์เพียงหนึ่งเดียว ในหมู่พืชผลที่ได้รับการเสนอให้ใช้แทน “แอปเปิ้ล” 
แอปริคอท (apricot) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Prunus armeniaca  เป็นผลไม้ที่สำคัญในดินแดนพระคัมภีร์ในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นที่มาของคำแปล “ท้อ” (peach ชื่อทาง วิทยาศาสตร์Prunus persica) ในพระคัมภีร์ไทยเพราะ อยู่ในสกุล (Genus) เดียวกัน 

เมื่อพิจารณาผลไม้ที่เป็นไปได้ 4 ชนิดตามรายชื่อด้านบน ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้
มะงั่วซึ่งมีพื้นเพอยู่ทางเปอร์เซีย ไม่ได้ปรากฏในดินแดนปาเลสไตน์กระทั่งเข้าสู่ยุคคริสเตียน เช่นเดียวกับส้มสีทองซึ่งไม่ได้เพาะปลูกในปาเลสไตน์ในสมัยของซาโลมอน 
การศึกษาคำที่มาจากรากหรือ ต้นกำเนิดทางความหมายเดียวกันกับ ทัพพูอัค ในจารึกภาษาอูการิต (Ugaritic)  ได้พบว่าชิ้นส่วนที่ 121:II:11 (ชิ้น ส่วนจารึกแตกหักทำให้ข้อความไม่ครบ) ได้กล่าวอ้างถึงผลไม้ซึ่งต้นของมันปรากฏในประเทศซีเรียในศตวรรษที่สิบสี่ ก่อนคริสต์ศักราช ทัพพูอัค เป็นชื่อเมืองภาษาฮีบรูในเชเฟลาห์ (อ้างถึงเนินเขายูเดียทางตะวันออก) และที่ราบสูงตอนกลาง นักวิชาการได้โต้เถียงกันว่าต้นไม้เหล่านี้ปรากฏในดินแดนปาเลสไตน์อย่างเร็ว ที่สุดคือศตวรรษที่สิบเจ็ดก่อนคริสต์ศักราช เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาแล้ว “แอปเปิ้ล”ไม่น่าจะใช่ ทัพพูอัค มากที่สุด แต่แอปริคอท มะงั่ว และส้ม ก็ไม่ได้ รับการสนับสนุนจากทฤษฎีนี้ มีเพียงควินซ์เท่านั้นที่เหลืออยู่ แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ควินซ์มีผิวหยาบ และมีรสขม จึงขัดกับลักษณะของ ทัพพูอัค ในพระคัมภีร์ 

ดังนั้น พืชผลที่ดูเหมือนจะมีคุณลักษณะตามที่ต้องการทั้งหมดคือ แอปริคอท ทั้งนักพฤกษศาสตร์ก็ลงความเห็นว่าแอปริคอทนั้นเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นพืชผลที่มีแพร่หลายมากที่สุดในดินแดนพระคัมภีร์ เป็นอันดับสองรองจากมะเดื่อ แอปริคอทนี้เป็นผลไม้ดั้งเดิมของประเทศจีน ซึ่งถูกนำเข้ามาในเมโสโพเทเมียและปาเลสไตน์ก่อนสมัยของอับราฮัม1ลักษณะต้น มีกิ่งก้านสาขามาก จึงเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาและมีผลดก 
จากเหตุผลข้างต้น จึงสรุปได้ว่า ที่พระคัมภีร์ไทยแปล ทัพพูอัค เป็น “ท้อ” นั้น ก็ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในสมัยพระคัมภีร์มากกว่าฉบับแปลอังกฤษมาตรฐาน หลายฉบับ 
พระธรรมเพลงซาโลมอนเป็นบทกลอนไพเราะกินใจที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า เป็นบทเพลงที่เปิดเผยความงดงามและความมีเสน่ห์ของความรักอันเป็นของประทาน อันประเสริฐจากพระเจ้า ความรักที่กล่าวถึงนี้เป็นความรักบริสุทธิ์ มีพลังรุนแรง พร้อมประจันหน้าศัตรูที่น่ากลัวคือความตาย ค่าของความรักสูงยิ่งนัก เงินทองก็ซื้อไม่ได้ และจะเอาอะไรแลกเปลี่ยนก็ไม่ได้ 
ในวันวาเลนไทน์นี้ ถ้าจะเปลี่ยนบรรยากาศที่จำเจ แทนที่จะให้ดอกกุหลาบกับคนที่คุณรัก ลองเปลี่ยนเป็นมอบผลท้อให้แทนก็ดูจะให้ความหมายที่ดีตามนัยทางพระคัมภีร์ —– R.K. Harrison, “APPLE; APPLE-TREE,” The International Standard Bible Encyclopedia, Vol.1, (Grand Rapids: Eerdmans, 1979), pp.214-215

  • อ.ประณต บุษกรเรืองรัตน์
  • ภาพ Azerbaijan_Stockers – Freepik.com